ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

                       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ณ พื้นที่โครงการ ฯ สรุปได้ว่า ให้ดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ ทดสอบ วางแผนและจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดำเนินการในลักษณะเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระราชทานพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง จำนวน ๗ ครั้ง และครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ สรุปได้ว่าในส่วนที่ดินที่นายสี วรรณเทวี บริจาคให้ดำเนินการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกต้นไม้เพื่อเปรียบเทียบกับที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ซื้อไว้ โดยปล่อยไว้ตามธรรมชาติเพื่อเก็บข้อมูล.

                    โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยพื้นที่ ๔ ส่วน คือ

                    (๑) พื้นที่ซึ่งพลตำรวจตรีทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน เนื้อที่ประมาณ ๖๙๔ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นฟาร์มปศุสัตว์ พื้นที่ถูกชะล้างพังทลาย มีสภาพเสื่อมโทรมจนเกือบใช้ประโยชน์ไม่ได้ อีกทั้งได้มีการขุดดินลูกรังไปใช้ประโยชน์

                    (๒)   พื้นที่ซึ่งนายสี วรรณเทวี ได้น้อมเกล้า ฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก จำนวน ๖๓ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา

                    (๓) พื้นที่ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อเพิ่มเติม จำนวน ๙๑ ไร่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา รวมพื้นที่โครงการ ฯ ทั้งสิ้น ๘๔๙ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา

                    (๔) พื้นที่ซึ่งนางสาววรรณา พูนผล ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน ๒๐ ไร่ รวมพื้นที่โครงการฯ ทั้งสิ้น ๘๖๙ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา

 

การดำเนินงานโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ ให้เป็นไปอย่างบูรณาการ สรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้

                    ๑. งานพัฒนาดิน

                        ๑.๑ การปลูกหญ้าแฝก การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการฟื้นฟูและปรับปรุงร่องน้ำแบบลึกหลังจากปลูก ๙ ปี พบว่า จากพื้นที่ดินเสื่อมโทรมกลายเป็นพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น พื้นที่เดิมซึ่งมีแต่ชั้นหิน กลายเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีตะกอนดินตกทับถมแถวหญ้าแฝกสูงเฉลี่ย ๑.๖ เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังได้นำหญ้าแฝกมาปลูกบริเวณที่มีน้ำซับ ทำให้แก้ไขปัญหาน้ำซับได้และสามารถนำมาใช้ปลูกพืชผักได้เป็นอย่างดี เป็นที่สนใจของประชาชนที่มาดูงาน

                           ๑.๒ การฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้ปรับปรุงฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมโดยการใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์น้ำและปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง ถั่วพร้าแล้วไถกลบ การใช้หญ้าแฝกฟื้นฟูดินและรักษาความชุ่มชื้นในดินและการปลูกพืชคลุมดิน เช่น ถั่วลาย ถั่วคาโลโปเนียม ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของดินดีขึ้น จากเดิมที่มีปริมาณอินทรียวัตถุ ร้อยละ ๐.๕๘ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๑.๗

                        ๑.๓ การศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน มีการเก็บข้อมูลดินเปรียบเทียบในช่วงปี ๒๕๕๒ และ ปี ๒๕๕๕ ดังนี้

                           ๑) ปี ๒๕๕๒ ได้เก็บข้อมูลดินที่ระดับความลึก ๐-๑๕ เซนติเมตร จำนวน ๑๐ จุด ได้แก่ แปลงป่าธรรมชาติ แปลงป่าปลูกใหม่ แปลงปลูกพืชไร่ แปลงไม้ผล แปลงนา แปลงสบู่ดำ แปลงยางนา แปลงไผ่แปลงผักและแปลงหญ้าแฝกในที่ดิน นายสี วรรณเทวี น้อมเกล้า ฯ ถวาย และนำไปวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางเคมีของดินพบว่า

                            - แปลงปลูกไผ่ มีปริมาณอินทรียวัตถุ ในดินมากที่สุด คือ ร้อยละ ๒.๖๑ หรือ ๒๖.๑๐ กรัม/กิโลกรัม เพราะว่า ต้นไผ่ มีปริมาณรากฝอย และใบที่ร่วงหล่นมากกว่า ตลอดจนมีการทับถมมาเป็นเวลา ๒๐ ปี และแปลงป่าธรรมชาติ มีปริมาณอินทรียวัตถุน้อยกว่าแปลงป่าปลูกใหม่ พืชไร่ ไม้ผล ข้าว สบู่ดำ ยางนา และแปลงผัก เพราะว่า ปริมาณอินทรียวัตถุที่เกิดขึ้นในป่าธรรมชาติได้มาจากการร่วงหล่นของใบไม้ และเกิดการทับถมย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุเพียงอย่างเดียว ส่วนแปลงหญ้าแฝกในที่ดินของนายสี ฯ มีอินทรียวัตถุน้อยที่สุด เพราะว่าเป็นพื้นที่บ่อลูกรัง มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก

                             - ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน มีค่าอยู่ระหว่าง ๕.๔๓ - ๖.๓๗ ซึ่งเป็นค่าระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ที่เหมาะสมในการที่พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี

                           - ปริมาณฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียมและแมกนีเซียม พบว่า แปลงที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยหมักจำนวนมาก มีค่าธาตุต่าง ๆ มากกว่าแปลงอื่น ๆ

 

                        ๒) ปี ๒๕๕๕ ได้มีการเก็บข้อมูลดินที่ระดับความลึก ๐ - ๑๕ เซนติเมตร จำนวน ๑๐ จุด บริเวณเดียวกันกับที่เก็บข้อมูลดินเมื่อปี ๒๕๕๒ และนำไปวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางเคมีของดิน พบว่า

                         - ปริมาณอินทรียวัตถุในแปลงส่วนใหญ่มีค่าลดลง ยกเว้น แปลงป่าธรรมชาติ และแปลงหญ้าแฝกมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ ปี ๒๕๕๒ และแปลงปลูกไผ่ ยังมีปริมาณอินทรียวัตถุในดินมากที่สุด คือ ร้อยละ ๒.๒๘ หรือ ๒๒.๘ กรัม/กิโลกรัม ส่วนแปลงผัก มีปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ร้อยละ ๒.๒๕ ซึ่งมีค่ามากเป็นลำดับที่ ๒ เพราะว่าในการปลูกผักแต่ละครั้งจะมีการนำปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก) ใส่ลงไปทุกครั้ง รวมทั้งยังใช้ใบหญ้าแฝกคลุม ส่วนแปลงหญ้าแฝก มีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ ๑.๑๙ เป็นร้อยละ ๒.๑๓ ในปี ๒๕๕๒ เพราะว่าได้มีการตัดใบหญ้าแฝกคลุมระหว่างแถวหญ้าแฝกทุกปี ๆ ละ ๑ ครั้ง

                         - ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน อยู่ในช่วง ๔.๘๐ – ๖.๙๐ โดยแปลง ยางนามีค่าดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น (๔.๘๐) ส่วนอีก ๙ แปลง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมกับพืช คือช่วง ๕.๔๐ - ๖.๙๐

                        - ปริมาณฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียมและแมกนีเซียม พบว่า แปลงที่มีการใส่ปุ๋ยเคมี ได้แก่ แปลงไม้ผล แปลงผัก จะมีค่ามากที่สุด 

แปลงแฝกสร้างดินในปี ๒๕๕๔

 

                     ๒. งานศึกษาพัฒนาไม้ผล

                             ได้ดำเนินการปลูกไม้ผลพันธุ์ดี เพื่อศึกษา ทดลองและพัฒนาสายพันธุ์ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพดินเสื่อมโทรมในพื้นที่ โดยมีการปลูกมะม่วง ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ มะละกอ มะขาม มะนาว เป็นต้น

 

                    ๓. งานศึกษาพัฒนาป่าไม้และสัตว์ป่า

                            ได้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าโดยใช้แนวพระราชดำริ “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก”คือ ปล่อยให้ป่าฟื้นเองโดยธรรมชาติเพียงแต่ป้องกันไม่ให้คนเข้าไปทำลายและป้องกัน ไฟป่า ทำสภาพป่าบนเขาเขียวและพื้นที่โดยรอบ จำนวน ๓,๖๓๓ ไร่ ฟื้นคืนสภาพเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น โดยมีพันธุ์ไม้ทั้งหมด ๑๖๗ ชนิด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์จากป่าเต็งรังเป็นป่าเบญจพรรณมากขึ้น และมีสัตว์ป่ามาอยู่อาศัยจำนวนเพิ่มมากขึ้น

                          - ความหนาแน่นของป่า พบว่าความหนาแน่นของพันธุ์ไม้ มีจำนวน ๓๗๑ ต้นต่อไร่ และต้นไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกเฉลี่ย มีขนาด ๑๑.๔๐ เซนติเมตร มีพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นทางนิเวศวิทยา ได้แก่ รัง ประดู่ เปล้าแพะ งิ้วแดงเหียง ทำให้สภาพพื้นที่ป่าเปลี่ยนแปลงจากป่าเต็งรัง เป็นร้อยละ ๗๒.๕๕

                         - ได้มีการศึกษาชนิดสัตว์ป่าในปี ๒๕๕๔ พบว่า มีจำนวน ๒๖๐ ชนิด ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๒๗ ชนิด นก ๑๕๙ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ๕๑ ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๑๕ ชนิด โดยมีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๘ ซึ่งมี ๑๘๑ ชนิด

                     ๔. งานพัฒนาแหล่งน้ำ

                         - ดำเนินการในพื้นที่โครงการ ปัจจุบันมีแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่โครงการฯ สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้ม ความจุ ๑๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร บ่อกักเก็บน้ำ ๖ แห่ง ความจุ ๘๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สระเก็บน้ำ ๔ แห่ง รวมความจุ ๓๗,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร บ่อบาดาล จำนวน ๓ บ่อ สามารถสูบน้ำได้ จำนวน ๒๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ๑ บ่อ จำนวน ๓.๕ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ๒ บ่อ และได้จัดหาน้ำเพิ่มเติม โดยติดตั้งระบบการสูบน้ำจากคลองชลประทาน (คลองส่งน้ำสาย ๑ ขวา โครงการแม่กลองใหญ่) ที่ กิโลเมตร ๓๖+๑๐๐ ไปเติมอ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้มปีละ ๒๗๖,๔๐๐ ลูกบาศก์เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของโครงการ ซึ่งเป็นพื้นที่อับฝนให้มีน้ำสนับสนุนพื้นที่โครงการฯ ได้อย่างเพียงพอ

                         -  ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎรหมู่บ้านรอบโครงการ โดยการก่อสร้างฝายทดน้ำ จำนวน ๑๓ แห่ง ได้แก่ ฝายทดน้ำห้วยน้ำโจน ๔ แห่ง ห้วยโป่งแค ๔ แห่ง ห้วยรางจิก ๓ แห่ง ห้วยเขาเสด็จ ๒ แห่ง และได้ดำเนินการขุดสระน้ำหรือปรับปรุงสระเดิม 
จำนวน ๒๓ แห่ง ราษฎรได้ประโยชน์ ๖๕ ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร ๑,๔๗๒ ไร่

                    ๕. การบริหารจัดการน้ำและที่ดิน โดยการจัดทำแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ในเขตอับน้ำฝน

                          - ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรทฤษฏีใหม่พื้นที่ ๑๕ ไร่ เพื่อเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการดินและน้ำ แก่เกษตรกรและผู้สนใจที่เข้าเยี่ยมชมโครงการ ฯ เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ โดยจัดแบ่งเป็นแปลงปลูกข้าว สระน้ำ ที่อยู่อาศัย เล้าหมู เล้าไก่ ปลูกพืชผัก รวมทั้งการปลูกไม้ผล พืชไร่ ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา ๗ ปี (พ.ศ.๒๕๔๘ - ๒๕๕๔) มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๐๔,๘๘๑ บาท

                        ๖. งานขยายผลการพัฒนา

                        -   ได้จัดทำเป็นแปลงสาธิตในการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินด้วย หญ้าแฝก การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดและอินทรียวัตถุต่าง ๆ การปลูกพืชผัก ไม้ผลที่เหมาะสม และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการป่าไม้โดยวิธี “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก”เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และเกษตรกร ได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกอบรมตามความสนใจ

                         -  ได้นำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองและวิจัยด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้หญ้าแฝก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ จนสามารถนำมาปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ไปขยายผลยังชุมชนหมู่บ้านรอบพื้นที่โครงการจำนวน ๑๒ หมู่บ้าน มีประชากร ๒,๕๑๐ ครัวเรือน ๘,๖๓๕ คน พื้นที่การเกษตร ๕,๐๐๐ ไร่

                         -  ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การเกษตรระหว่างเกษตรกรด้วยกัน โดยโครงการ ฯ เข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการ จำนวน ๙ แห่ง

                         - ได้จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ขยายผลโดยก่อสร้างฝายทดน้ำ จำนวน ๑๓ แห่ง และก่อสร้างสระเก็บน้ำไว้ใช้จำนวน ๒๓ แห่ง มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ ๑,๔๗๒ ไร่

 

                            การดำเนินงานด้านต่างๆ ในพื้นที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม เขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม สามารถทำให้พื้นที่เกิดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในด้านดิน น้ำ ป่าไม้และพันธุกรรมต่าง ๆ และขยายผลการพัฒนาไปสู่หมู่บ้าน ในบริเวณใกล้เคียงจำนวน ๑๒ หมู่บ้าน ประชากร ๒,๕๑๐ ครัวเรือน ๘,๖๓๕ คน และเกษตรกรทั่วไป ที่สนใจมาศึกษาดูงานปี ๒๕๕๕ ประมาณ ๔๓,๕๕๐ คน

                            โครงการนี้เป็นตัวอย่างของ “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ที่ชัดเจนและสมบูรณ์ มากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเพียงแต่คนไม่ไปทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะฟื้นฟูธรรมชาติด้วยตนเอง และจะเป็นตัวอย่างในโครงการอื่น ๆ นำแนวทางการดำเนินงานไปประยุกต์ใช้เพื่อให้การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติประสบความสำเร็จด้วยวิธีการประหยัด แต่เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ต่อไป
 

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1

ข้อมูล ณ วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2557

 

สามารถดาวน์โหลด .pdf ได้ที่นี