ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการฝายห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เรื่องเดิม

            เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการฝายห้วยยางไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ นายอุดม เด่นดวง ราษฎรบ้านนาเมือง ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ขอพระราชทานโครงการฝายห้วยยาง บริเวณพื้นที่บ้านนาเมือง เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบความเดือดร้อน จากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง (ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๘.๓/๑๑๖๓๗ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐)

สาระสำคัญของโครงการ

               กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างฝายน้ำล้นลำห้วยยาง กว้าง 13.20 เมตร ยาว 55 เมตร สูง 2.50 เมตร เพื่อเป็นอาคารบังคับน้ำในลำน้ำให้มีระดับสูงขึ้น และขุดลอกลำห้วยยางด้านเหนือ ความยาว 1,600 เมตร ลึก 1.50 เมตร พร้อมกับดำเนินการรื้อฝาย มข. (เดิม) ที่ชำรุดเสียหาย ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2561

 ฝายน้ำล้นลำห้วยยาง

 บริเวณขุดลอกลำห้วยยาง

ประโยชน์ที่ได้รับ

             ทำให้ราษฎรบ้านนาเมือง ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 183 ครัวเรือน มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 1,750 ไร่ และในฤดูแล้ง 60 ไร่

พื้นที่รับประโยชน์

การมีส่วนร่วมของประชาชน

              ราษฎรในพื้นที่มีความคิดริเริ่มในการแบ่งเบาภาระของภาครัฐด้วยการมีส่วนร่วมในการสูบน้ำเข้าพื้นที่รับประโยชน์เอง โดยมิได้ร้องขอให้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ เพราะเห็นว่าเกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ และจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอ ตลอดจนการมีความคิดริเริ่มในการวางแผนห้วงเวลาในการปลูก แผนการตลาดในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับทุกครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง

ความคิดเห็นของราษฎร

               จากการสัมภาษณ์นายไพศาล บุญทศ เกษตรกร กล่าวว่า เมื่อก่อนในพื้นที่จะเป็นป่ารกร้างจากการถูกใช้เป็นไร่เลื่อนลอยมีการปลูกมันสำปะหลังแต่ต่อมาได้รับผลผลิตไม่เต็มที่เพราะขาดแคลนน้ำ เมื่อโครงการฝายห้วยยางแล้วเสร็จมีการเก็บกักและยกระดับน้ำในลำห้วยให้สูงขึ้นสามารถส่งไปยังแปลงเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง ทุกคนก็สามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะปลูกกะหล่ำปลี ทานตะวัน พริก หอม มะเขือ และมะละกอ โดยเลิกปลูกมันสำปะหลัง เพราะมีรายได้แค่เพียงปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งบางปีราคาต่ำก็ขาดทุน แต่เมื่อมาปลูกพืชอื่นๆ ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ราษฎรบ้านนาเมืองทุกคนดีใจภาคภูมิใจ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายห้วยยางไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

สามารถดาวโหลดไฟล์ pdf.ได้ที่นี่

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2562
ที่มา : กองประสานงานโครงการพื้นที่ 2