ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการการศึกษาทดลองการใช้เศษวัสดุในท้องถิ่นสิบชนิดเพื่อลดต้นทุนการผลิตเห็ดนางฟ้าภูฐาน

ปีที่เริ่มวิจัย
-
ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
สาขางานวิจัย
การพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน

  ความเป็นมาและความสาคัญของปัญหา 
        เห็ดในกลุ่มของเห็ดนางรม (oyster mushroom) เป็นเห็ดที่คนไทยคุ้นเคยกันดีเนื่องจากเป็นเห็ดซึ่งอยู่ในกลุ่มแรก ๆ ที่มีการนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อการค้าและต่อมาได้รับความนิยมค่อนข้างสูงทั้งจากผู้เพาะเลี้ยงและผู้บริโภค  เพราะเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงง่าย  มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างสูง  ในระยะเริ่มแรกผู้คนรู้จักเห็ดนางรมก่อนเห็ดชนิดอื่นที่อยู่ในสกุลเดียวกัน  ในเวลาต่อมาได้มีเห็ดชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันนี้ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันออกมาให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในตลาด   เช่น  เห็ดนางฟ้า  เห็ดนางนวล  และ เห็ดเป๋าฮื้อ  เป็นต้น   เห็ดต่าง ๆ เหล่านี้แท้จริงมีชื่อสามัญประจำสกุลชื่อเดียวกันคือ เห็ดนางรม หรือ oyster mushroom โดยมีชื่อสกุล คือ Pleurotus แต่มีชื่อของชนิดแตกต่างกันไป  เห็ดที่เป็นสมาชิกของสกุล Pleurotus นี้บางชนิดสามารถจำแนกได้ด้วยลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันเด่นชัดแต่บางชนิดกลับมีความคล้ายคลึงกันมากจนจำแนกไม่ออกด้วยตาเปล่า   ต้องตรวจสอบลักษณะใต้กล้องจุลทรรศน์จึงจะแยกชนิดได้ เช่น  จำแนกจากลักษณะของสปอร์  ในบางครั้งถึงกับต้องใช้ถิ่นกำเนิดตลอดจนสภาพทางนิเวศวิทยาของถิ่นกำเนิดและแหล่งกระจายพันธุ์มาช่วยพิจารณาร่วมกับลักษณะภายในและภายนอกของดอกเห็ดจึงจะจำแนกชนิดได้ถูกต้อง

เห็ดในสกุล Pleurotus (Pleurotaceae)
        เห็ด Pleurotus ที่นำมารับประทานและนำมาเพาะเลี้ยงได้นั้นเป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ   แต่ชนิดที่มีการนำมาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยนั้นมีการให้ชื่อสามัญไทยด้วยซึ่งมักจะตั้งตามลักษณะเด่นของชนิดนั้น ๆ ดังนี้  
        1. Pleurotus citrinopileates Singer มีชื่อสามัญไทย คือ เห็ดนางรมสีทอง (ภาพที่ 1)และชื่อสามัญอื่น ๆ คือ golden oyster mushroom, tamogitake (ญี่ปุ่น)  il’mak (รัสเซีย)  เห็ดนางรมชนิดนี้มีสีของหมวกดอกสีเหลืองค่อนข้างสดใส  แต่หมวกดอกค่อนข้างบอบบาง  มีรสขมและเผ็ดเล็กน้อย  แต่เมื่อปรุงจนสุกแล้วรสนี้จะหายไปเหลือเพียงรสมัน  เพาะเลี้ยงได้บนอาหารฟางหมักและอาหารขี้เลื่อยเจริญเติบโตได้ในสภาพอุณหภูมิค่อนข้างสูง  มีถิ่นกำเนิดและแหล่งกระจายพันธุ์อยู่ในป่าของเขตกึ่งร้อนของโลก  พบมากในจีนและญี่ปุ่นตอนใต้

ภาพที่ 1 ดอกเห็ดของเห็ดนางรมสีทอง (Pleurotus citrinopileates


       2. Pleurotus cystidiosus O.K. Miller มีชื่อสามัญไทยว่าเห็ดเป๋าฮื้อและชื่อสามัญอื่น ๆ ว่า albalone mushroom, maple oyster mushroom, Miller’ oyster mushroom  เป็นเห็ดเป๋าฮื้อที่เพาะเลี้ยงกันในสหรัฐอเมริกา  แต่เห็ดเป๋าฮื้อที่เพาะเลี้ยงกันแพร่หลายในแถบเอเชียโดยเฉพาะในไทยและใต้วันนั้นเป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อชนิดแตกต่างกัน คือ Pleurotus abalonus Han, Chen&Cheng (ภาพที่ 2) แต่ลักษณะภายนอกของเห็ดเป๋าฮื้อ 2 ชนิดนี้ซึ่งมีถิ่นกำเนิดห่างไกลกันนั้นกลับมีความคล้ายคลึงกันมาก

ภาพที่ 2 เห็ดเป๋าฮื้อ (Pleurotus abalonus)


              3. Pleurotus djamor (Fries) Boedjin semsu lato มีชื่อสามัญไทยว่าเห็ดนางนวล (ภาพที่ 3) และชื่อสามัญอื่น ๆ คือ pink oyster mushroom, salmon oyster mushroom, strawberry oyster mushroom, flamingo mushroom, takiiro hiratake (ญี่ปุ่น) และ tabang myungut (บอร์เนียว)  เห็ดนางนวลนี้มีหมวกดอกสีชมพูจึงได้ชื่อสามัญหลาย ๆ ชื่อที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของเห็ดชนิดนี้  เป็นเห็ดที่พบขึ้นตามธรรมชาติทั่วไปในเขตร้อนของโลก  เห็ดชนิดนี้ออกดอกเห็ดได้รวดเร็ว  เพาะเลี้ยงง่ายเนื่องจากขึ้นได้ในอาหารเพาะเลี้ยงที่หลากหลาย  ที่สำคัญคือเป็นเห็ดที่ทนทานต่ออากาศร้อน  เส้นใยของเห็ดนางนวลมีความสามารถในการแข่งขันสูงและมักจะขยายปริมาญเส้นใยได้เร็วกว่าเชื้อราอื่น ๆ  เนื่องจากเห็ดนางนวลมีถิ่นกำเนิดอยู่ในหลายแหล่งของโลกจึงมีความใกล้เคียงกันมาก  ส่วนเห็ดที่มีความสับสนอยู่ในกลุ่มเห็ดนางนวลนี้มีชื่อชนิด คือ Pleurotus djamor, P. fabellatus (Berk. And Br.) Saccardo, P. ostreato-roseus Singer และ P. salmoneo-stramineus Vasil.  ส่วนเห็ด Pleurotus อีกชนิดหนึ่งเป็นเห็ดนางนวลที่มีถิ่นกำเนิดในอัฟริกา คือ P. eous (Berkeley) Saccardo โดยที่เห็ดนางนวลอัฟริกานี้มีความคล้ายคลึงกันมากกับเห็ด P. djamor 

ภาพที่ 3 เห็ดนางนวล (Pleurotus djamor)


                 4. Pleurotus euryngii (De Candolle ex Fries) Quelet sensu lato มีชื่อสามัญไทยว่าเห็ดนางรมหลวง (ภาพที่ 4) และชื่อสามัญอื่น ๆ คือ King oyster และ boletus of the Steppes  เป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีรสชาติดีกว่าเห็ดอื่นๆ ในสกุลเห็ดนางรมด้วยกัน  เห็ดนางรมหลวงเป็นที่นิยมบริโภคกันมากในยุโรปเพราะเป็นเห็ดที่มีเนื้อแน่น  เป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย  มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์อยู่ในแถบตอนใต้ของยุโรป  ตอนเหนือของอัฟริกา  เอเชียกลาง  และ  รัสเซียตอนใต้

ภาพที่ 4 เห็ดนางรมหลวง (Pleurotus euryngii)


                 5. Pleurotus euosmus (Berkeley apud Hussey) Saccardo ไม่มีชื่อสามัญไทยเพราะไม่มีการนำเห็ดนางรมชนิดนี้มาปลูกในประเทศไทย  มีชื่อสามัญทั่วไปเพียงชื่อเดียว คือ Tarragan oyster mushroom เห็ดชนิดนี้มีความคล้ายคลึงมากกับ P. ostreatus หรือเห็ดนางรมที่ปลูกเลี้ยงกันทั่วไปในประเทศไทย  จึงเรียกได้ว่า P. euosmus เป็นพันธุ์หนึ่งของ P. ostreatus เพียงแต่มีกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป  ผู้เพาะเลี้ยงเห็ดในอังกฤษและสกอตแลนด์กล่าวว่าเห็ดทั้ง 2 ชนิดเมื่อนำมาเพาะเลี้ยงแล้วจะดูคล้ายคลึงกันมาก  สำหรับเห็ดนางนวลชนิด P. oeus นั้น ถึงแม้ว่าจะมีชื่อของชนิดคล้ายกับ P. euossmus แต่ลักษณะกลับไปคล้ายคลึงกับ P. djamor มากกว่า
                 6. Pleurotus ostreatus (Jacquin ex Fries) Kumer คือเห็ดนางรมที่เพาะเลี้ยงกันทั่วไป มีชื่อสามัญไทยว่าเห็ดนางรม ชื่อสามัญอื่น ๆ คือ oyster mushroom, oyster shelf, tree oyster, straw mushroom hiratake (ญี่ปุ่น) และ tamogitake (ญี่ปุ่น)  ปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์จึงมีชื่อสามัญแตกต่างกันออกไปตามลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์  ได้แก่  เห็ดนางรมสีขาว  (white type oyster mushroom ; Florida type mushroom) (ภาพที่ 5)   เห็ดนางรมสีเทา (gray type oyster mushroom ; winter type oyster mushroom) (ภาพที่ 6)   เห็ดนางรมดอย (blue type oyster mushroom) (ภาพที่ 7)   และ  เห็ดนางรมฮังการี (tree oyster mushroom) (ภาพที่ 8)   เห็ดนางรมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเมืองหนาวและป่าเมืองร้อนทั่วไปของโลก  ได้รับความนิยมมากทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้เพาะเลี้ยง  เนื่องจากมีรสดีและเพาะเลี้ยงง่าย  P. ostreatus มีความคล้ายคลึงกับ Pleurotus อีกชนิดหนึ่งมาก คือ P.  pulmonarius (Fries) Quelet มากเพียงแต่ชนิดหลังนี้ชอบขึ้นบนภูเขาสูง

ภาพที่ 5 กลุ่มดอกเห็ดของเห็ดนางรมสีขาว

ภาพที่ 6 ดอกเห็ดของเห็ดนางรมสีเทา

ภาพที่ 7 กลุ่มดอกเห็ดของเห็ดนางรมดอย

ภาพที่ 8 ดอกเห็ดของเห็ดนางรมฮังการี


                    7. Pleurotus pulmonarius (Fries) Quelet หรือ P. sajor-caju มีชื่อสามัญว่า เห็ดนางฟ้าหรือเห็ดนางรมอินเดีย (ภาพที่ 9)  ชื่อสามัญอื่น ๆ คือ phoenix mushroom, Indian oyster sajor-caju, dhingri (อินเดีย)  เห็ดชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับเห็ดนางรมชนิด P. ostreatus หรือเห็ดนางรมทั่วไปมากจนเกือบจะแยกกันไม่ออกนอกจากการใช้ถิ่นกำเนิดและแหล่งกระจายพันธุ์มาเป็นปัจจัยในการจำแนกเนื่องจาก P. pulmonarius ชอบขึ้นอยู่ในป่าบนที่สูงกว่า P. ostreatus   แต่ก่อนนักอนุกรมวิธานจำแนกเห็ดชนิดนี้ไว้ในสกุล Agaricus คือ Agaricus pulmonarius Fr. ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ P. populinus Hilber and Miller และ P. ostreatus มาก  แต่ภายหลังจำแนกออกจากกันได้โดยใช้ถิ่นกำเนิดและแหล่งกระจายพันธุ์รวมทั้งลักษณะที่เห็นด้วยตาเปล่าและไม่เห็นด้วยตาเปล่ามาจำแนกออกจากกัน   และในที่สุดเห็ดนางฟ้าจึงได้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็น P. pulmonarius ดังเช่นปัจจุบัน  ส่วนชื่อ P. sajor-caju นั้นที่จริงไม่ได้เป็นชื่อสำหรับเห็ดนางรมอีกชนิดหนึ่ง   แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกเห็ดนางฟ้าหรือ P. pulmonarius นั่นเอง   เพียงแต่มีผู้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าส่วนหนึ่งเข้าใจผิดและคิดว่ามีเห็ดนางฟ้าพันธุ์หนึ่งเป็นชนิดที่แตกต่างออกไปจาก P. pulmonarius   จึงได้จำแนกเห็ดนางฟ้าพันธุ์นั้นเป็นระดับชนิด  แทนที่จะเป็นเพียงระดับพันธุ์   จึงเกิดชนิด P. sajor-caju ขึ้นมา  แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการอนุโลมให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของเห็ดนางฟ้าทั้ง 2 ชื่อดังระบุไว้ข้างต้น   เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสับสนไปมากกว่านี้ขึ้นมาในกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงเห็ดและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ 

 

ภาพที่ 9 ดอกเห็ดของเห็ดนางฟ้า

 

ภาพที่ 10 ดอกเห็ดของเห็ดนางฟ้าภูฐาน


                           8. Pleurotus tuberregium (Fr.) Singer มีชื่อสามัญว่าเห็ดนางรมหัว (ภาพที่ 11) และชื่อสามัญอื่น ๆ คือ king tuber oyster mushroom, tiger milk mushroom, Omon’s oyster mushroom  เห็ดนางรมชนิดนี้มีลักษณะแปลกกว่าเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมีการสร้าง sclerotium ซึ่งเป็นกลุ่มของเส้นใยที่รวมตัวกันหนาแน่นจนเกิดเป็นก้อนขนาดใหญ่   มีรูปร่างกลมเหมือนกับหัวของพืชขึ้นมาก่อนแล้วดอกเห็ดจึงจะงอกออกมาจากหัวนี้  ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเป็นการค้า  เห็ดนางรมหัวเป็นเห็ดพื้นเมืองของไนจีเรียและประเทศที่อยู่รอบนอกของทะเลทรายซะฮาราของทวีปอัฟริกา  นอกจากนี้เห็ดนางรมหัวยังมีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลียอีกด้วย  ส่วนแหล่งพบกระจายพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย  ปาปัวนิวกินี  นิวคาเลโดเนีย  อินโดนีเซีย  พม่า  และ  ยูนนานของจีน

 

ภาพที่ 11 ดอกเห็ดของเห็ดนางรมหัว

 

ลักษณะทั่วไปของเห็ดนางฟ้าและการจำแนก
        เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดในสกุลเห็ดนางรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดนางรมชนิด Pleurotus ostreatus ซึ่งเป็นเห็ดนางรมชนิดที่เพาะเลี้ยงและบริโภคกันมากมาตั้งแต่เริ่มแรก  เห็ดนางฟ้ามีลักษณะโดยทั่วไปคือเป็นเห็ดที่มีดอกเห็ดซึ่งอาจจะออกมาเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก (ภาพที่ 12)  ดอกเห็ดมีหมวกดอก  มีก้านดอกสั้นหรือค่อนข้างยาวขึ้นอยู่กับสภาพการเพาะเลี้ยง  ก้านดอกมีเนื้อแน่น  สีขาว  ไม่มีวงแหวนรอบก้านดอก  หมวกดอกแผ่กว้างและแบนเมื่อแผ่ออกเต็มที่ ตรงกลางเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อย  หมวกดอกมีเนื้อแน่น  ขอบหมวกดอกอาจจะม้วนขึ้นด้านบนเมื่อดอกเห็ดเจริญเต็มที่แล้ว ขอบหมวกดอกอาจมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย (ภาพที่ 13)  ขนาดความกว้างของหมวกดอกคือ 5-20 เซนติเมตร หมวกดอกมีสีเทาอ่อน (ภาพที่ 14) หรือสีเนื้อ (ภาพที่ 15) หรือสีเทาอมม่วงจางหรือสีน้ำตาลปนเทา (ภาพที่ 16)  และบางครั้งมีสีชมพูหรือสีส้มเจือเล็กน้อย (ภาพที่ 17)  ถ้าเพาะเลี้ยงในสภาพที่มีอุณหภูมิสูงหมวกดอกจะมีสีจางกว่าปกติ  และถ้าอุณหภูมิขณะเพาะเลี้ยงต่ำสีของหมวกดอกจะเข้มขึ้น (ภาพที่ 18)  ครีบดอกมีสีขาว  สร้างสปอร์ที่ครีบดอก  สปอร์ของเห็ดนางฟ้ามีสีขาวถึงเหลือง  และเป็นสีเทาอมม่วงเมื่ออยู่เป็นกลุ่มอย่างหนาแน่น  รูปร่างของสปอร์เป็นรูปทรงกระบอกมีขนาด ยาว x กว้าง เป็น 7.5-11.0 x 3.0-4.0 ไมครอน  มีข้อยึดระหว่างเซลล์ (clamp connection) เส้นใยเป็นแบบ monomitic  เส้นใยเป็นเส้นยาวเรียว  สีขาว  เมื่อเส้นใยรวมกันเป็นกลุ่มมีลักษณะเหมือนปุยฝ้าย  ในระยะที่เลี้ยงเส้นใยบริสุทธิ์ลงในอาหารเมล็ดธัญพืชเส้นใยจะปล่อยกลิ่นหอม

 

ภาพที่ 12 กระจุกของดอกเห็ดนางฟ้าภูฐาน

 

ภาพที่ 13 ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้าภูฐาน
(C = cap ; G = gill ; S = stalk)

 

ภาพที่ 14 ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานสีเทาอ่อน

 

ภาพที่ 15 ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานสีเนื้อ

 

ภาพที่ 16 ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานสีน้าตาลปนเทา
 

ภาพที่ 17 ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานสีเทาเจือชมพู

 

ภาพที่ 18 ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานสีน้าตาลเข้ม

 

เห็ดนางฟ้าภูฐานและประวัติการเพาะเลี้ยง
        เห็ดนางฟ้าภูฐานคือพันธุ์หนึ่งของเห็ดนางฟ้าซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูฐานและแถบภูเขาหิมาลัยในอินเดีย  เห็ดนางฟ้าภูฐานนี้มีชื่อสามัญทั่วไปที่นิยมเรียกกันคือเห็ด sajor-caju เห็ดนางฟ้าพันธุ์นี้มีการนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 โดย ดร.ศิริพงศ์  บุญหลง  ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย  ปรากฏว่าเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศในภาคกลางของไทย  ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำมาทดลองเพาะเลี้ยงในอาหารแบบต่าง ๆ และสภาพต่าง ๆ  พบว่าเห็ดนางฟ้าภูฐานเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศหลายชนิดคล้ายกับเห็ดนางรม  หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2520 กองวิจัยโรคพืช  กรมวิชาการเกษตรได้นำมาทดลองเพื่อขยายผลสู่เกษตรกร จึงมีการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานเพื่อการค้าแพร่หลายขึ้น  มีทั้งผลิตเป็นเห็ดสดและเห็ดแปรรูปเป็นเห็ดกระป๋องหรือรูปแบบอื่น ๆ  
        เห็ดนางฟ้าภูฐานเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิ 15-35 องศาเซลเซียส  โดยมีระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25 องศาเซลเซียส  จากการทดลองเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานพบว่าการเลี้ยงเส้นใยบริสุทธิ์สามารถทำได้ในอาหารวุ้น PDA (potato-dextrose-agar) ที่ใช้ในการเลี้ยงเส้นใยบริสุทธิ์ของเห็ดชนิดต่าง ๆ โดยทั่วไป  แต่ถ้าใช้อาหารวุ้นที่ผสมถั่วเหลืองหรือถั่วเขียวจะช่วยให้เส้นใยของเห็ดนางฟ้าภูฐานเจริญเติบโตได้ดีมาก  เห็ดนางฟ้าภูฐานมีประสิทธิภาพสูงในการย่อยอาหารในก้อนเชื้อมาใช้ในการเจริญเติบโตของเส้นใยและดอกเห็ดจึงสามารถออกดอกได้เร็วมาก  หลังจากเขี่ยหัวเชื้อลงไปในอาหารปุ๋ยหมักได้ 2-3 สัปดาห์ก็จะมีเส้นใยเดินเต็มถุงก้อนเชื้อและพร้อมที่จะให้เปิดดอกได้ทันที  นอกจากนี้แล้วระยะห่างของช่วงการเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้นโดยที่ก้อนเชื้อใช้เวลาในการพักเพียง 5-7 วัน ก็จะออกดอกชุดใหม่ออกมาได้  เส้นใยของเห็ดนางฟ้าพันธุ์นี้มีความต้านทานต่อราเขียวและราดำจึงทำให้ก้อนเชื้อเกิดการปนเปื้อนในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ  เป็นประโยชน์ต่อผู้เพาะเลี้ยง  และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของเห็ดนางฟ้าภูฐานคือสามารถใช้วัสดุในการทำก้อนเชื้อได้หลากหลายและเพาะเลี้ยงได้ทุกฤดูกาล  ผลผลิตของเห็ดพันธ์นี้ค่อนข้างสูงถ้าเพาะเลี้ยงในช่วงปลายฤดูฝนต่อกับต้นฤดูหนาว
        แม้ว่าเห็ดนางฟ้าภูฐานจะเป็นที่รู้จักและเพาะเลี้ยงกันภายหลังจากที่เห็ดนางรมได้แพร่หลายแล้วก็ตามแต่เห็ดนางฟ้าก็ได้รับความนิยมตามมาอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากเพาะเลี้ยงง่ายและให้ผลผลิตเร็วจึงทำให้มีปัญหาในการเพาะเลี้ยงน้อยกว่าเห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ รวมทั้งเห็ดนางรม  สำหรับสายพันธุ์ย่อยของเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นอาจารย์อานนท์  เอื้อตระกูล  ผู้ซึ่งได้รับเชิญจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเห็ดประจำ ณ. ประเทศภูฐาน   ได้รวบรวมและคัดเลือกเชื้อเห็ดนางฟ้าสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในภูฐานแล้วส่งมาทดสอบในประเทศไทยจนกระทั่งเชื้อเห็ดเหล่านั้นปรับตัวและเจริญเติบโตได้ในสภาพของการเพาะเลี้ยงในประเทศไทย  จึงได้พันธุ์ของเห็ดนางฟ้าภูฐานไว้เพาะเลี้ยงมากขึ้น

คุณค่าทางอาหาร
        เห็ดนางฟ้ามีคุณค่าของอาหารค่อนข้างสูง  คือมีโปรตีนหยาบ (N x 4.38) : 14-27 เปอร์เซ็นต์  ไขมัน 2 เปอร์เซ็นต์  คาร์โบไฮเดรต 51 เปอร์เซ็นต์  จากน้ำหนักแห้งของดอกเห็ด  นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารและกรดอะมิโนด้วย  ดังนี้

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
        ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าจำเป็นจะต้องทราบความต้องการปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตเพื่อที่จะได้ปรับสภาพของการเพาะเลี้ยงให้พอเหมาะกับความต้องการเพื่อให้เกิดผลผลิตที่สูงทั้งปริมาณและคุณภาพ  ปัจจัยดังกล่าวมีดังนี้
        1. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญของกลุ่มเส้นใยในระยะที่จะพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด  โดยที่อุณหภูมิในช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเป็นดอกเห็ดของเห็ดนางฟ้าคือประมาณ 25 องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิต่ำลงถึง 15 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เส้นใยไม่พัฒนาไปเป็นดอกเห็ดจึงไม่มีดอกเห็ดออกมาจากก้อนเชื้อ  นอกจากนี้ยังมีรายงานจากการทดลองไว้ว่าการให้ก้อนเชื้อได้รับอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ จะมีผลในการชักนำให้เส้นใยพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดได้ดีขึ้น  หรือถ้าเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงที่กลางคืนมีความหนาวเย็นอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำในสภาพธรรมชาติตามฤดูกาลจะเพียงพอในการช่วยกระตุ้นให้ก้อนเชื้อออกดอกมากขึ้นได้เช่นกัน
        2. ความชื้น เห็ดนางฟ้าต้องการสภาพความชื้นในอากาศค่อนข้างสูงสำหรับการเจริญเติบโต  ดังนั้นในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดจึงควรจะต้องมีการรักษาความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนให้สูง  ให้อยู่ในระดับ 80-85 เปอร์เซ็นต์
        3. ปริมาณธาตุอาหารในก้อนเชื้อ  ความสำคัญของธาตุอาหารในก้อนเชื้อเห็นได้จากผลการทดลองที่ใส่ปุ๋ยแอมโนเนียมไนเตรทลงไปในส่วนผสมของก้อนเชื้อ   พบว่าการใส่ปุ๋ยดังกล่าวทำให้ดอกเห็ดมีธาตุในโตรเจนเพิ่มขึ้นถึง 5.32 เปอร์เซ็นต์  และถ้าใช้ถั่วเหลืองหรือถั่ว alfalfa ลงไปแทนการใส่ปุ๋ย  พบว่าสามารถเพิ่มในโตรเจนได้ 5.46 และ 8.8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ  ดังเห็นได้จากผลงานวิจัย (Zadrazil and Kurtzman, 1982) ในตารางที่ 1
        4. อากาศ ภายในโรงเรือนเปิดดอกต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดีมิเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาของการขาดกาซออกซิเจนซึ่งจะมีผลต่อการสร้างตุ่มดอกเห็ด (primordia) ทำให้ผลผลิตดอกเห็ดต่ำหรือทำให้ตุ่มดอกเห็ดที่เกิดขึ้นมีคุณภาพต่ำและพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดที่มีลักษณะผิดปกติ
        5. แสง แม้ว่าเส้นใยของเห็ดนางฟ้าจะสามารถเจริญเติบโตได้ในที่ซึ่งไม่มีแสงหรือมีแสงน้อย  แต่การที่เห็ดนางฟ้าจะออกดอกดีนั้นจะต้องมีแสงเพียงพอในระดับหนึ่งจึงจะทำให้ดอกเห็ดสมบูรณ์
        6. ความเป็นกรดเป็นด่าง เห็ดนางฟ้าเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่มีสภาพเป็นกรดจนถึงปานกลาง   ค่า pH จึงควรจะอยู่ระหว่าง 5-7

การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐาน
             เห็ดนางฟ้าสายพันธุ์ภูฐานเหมาะสมที่จะเผยแพร่ให้เกษตรกรไทยเพาะเลี้ยงเนื่องจากมีลักษณะและคุณสมบัติที่เด่น ดังนี้
             1. เส้นใยเจริญได้ดีและรวดเร็วทั้งในอาหารวุ้นและในหัวเชื้อหรืออาหารเมล็ดธัญพืชจึงทำให้การเพาะเลี้ยงไม่ยุ่งยากและไม่มีข้อจำกัดมาก  ทำให้สะดวกสำหรับผู้เพาะเลี้ยง
            2. สร้างดอกเห็ดได้เร็วเพราะมีความสามารถสูงในการใช้อาหารเพื่อการเจริญเติบโตจึงออกดอกเร็ว    ดอกเห็ดแก่และพร้อมที่จะให้เก็บเกี่ยวได้เร็ว  ยิ่งถ้าใส่อาหารเสริมลงไปในก้อนเชื้อมากก็จะยิ่งได้ผลผลิตมาก   นอกจากนี้ถ้าสามารถปรับอุณหภูมิในระยะที่บ่มก้อนเชื้อให้อยู่ระหว่าง 24-26 องศาเซลเซียส ก็จะช่วยให้เส้นใยเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  ใช้เวลาเพียง 16-21 วันเท่านั้นก็จะเริ่มปรากฏดอกเห็ดขนาดจิ๋วให้เห็นในถุงก้อนเชื้อ   พร้อมที่จะเปิดดอกได้ทันที
           3. ช่วงของการออกดอกจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งค่อนข้างสั้น คือ 5-7 วัน จึงให้ผลผลิตเร็วและเก็บเกี่ยวได้หลายรุ่น  ไม่ต้องรอนาน
           4. เส้นใยมีความต้านทานต่อราสีเขียวและราสีดำสูงมากจึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อราและแบคทีเรียน้อย  อัตราการสูญเสียของก้อนเชื้อจึงค่อนข้างต่ำ  
           5. เพาะเลี้ยงได้ตลอดปี
           6. ดอกเห็ดสดสามารถเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวได้นานกว่าเห็ดนางรมชนิดอื่นและสายพันธุ์อื่น
           ทั้งนี้ผู้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าในกรุงเทพมหานครได้กล่าวไว้ว่าเห็ดนางฟ้าภูฐานให้ผลผลิตสูงกว่าเห็ดนางรมและเห็ดชนิดอื่น ๆ   ก้อนเชื้อที่หนัก 1 กิโลกรัมจะให้ผลผลิตดอกเห็ดสด 300-500 กรัม  และกล่าวอีกด้วยว่าเห็ดนางฟ้าภูฐานมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศมาก  ถ้าสภาพอากาศปกติการบ่มเชื้อใช้เวลา 21-25 วัน  แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวการบ่มเชื้อใช้เวลาเพียง 15-20 วัน  และในระยะที่เห็ดออกดอกถ้ามีอากาศเย็นดอกเห็ดจะออกเร็วและหมวกดอกมีสีเข้ม  แต่ในช่วงฤดูร้อนดอกเห็ดจะออกช้าและหมวกดอกมีสีซีด
        การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานใช้วิธีการเดียวกันกับการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรม  แต่การดูแลในช่วงเปิดดอกเห็ดอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด  ขั้นตอนของการเพาะเลี้ยงโดยทั่วไปมีดังนี้
        1. การเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ เป็นการเพาะเลี้ยงเส้นใยเพื่อผลิตหัวเชื้อบริสุทธิ์โดยการนำเนื้อเยื่อของดอกเห็ดซึ่งอยู่ในระยะก่อนการปลดปล่อยสปอร์มาเลี้ยงบนอาหารวุ้นให้เกิดการเจริญของเส้นใยเพื่อจะได้นำไปขยายเชื้อให้เส้นใยมีปริมาณมากขึ้น  วิธีการคือนำส่วนผสมของอาหารพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและเส้นใยมาผสมกับผงวุ้นเพื่อให้เป็นอาหารแข็ง แล้วนำเนื้อเยื่อของดอกเห็ดมาเลี้ยงบนอาหารวุ้นนั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นใย   ต่อมาเมื่อเส้นใยเหล่านั้นได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตจากอาหารวุ้นแล้วเส้นใยจะมีการขยายตัวและเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นกลายเป็นเชื้อบริสุทธิ์ที่สามารถนำไปขยายเพื่อเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นต่อไปในอาหารเมล็ดธัญพืช
        เนื้อเยื่อและเส้นใยจากดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานเจริญเติบโตได้ดีในอาหารวุ้นที่ใช้เลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดโดยทั่วไป  คือ  อาหารวุ้น PDA (potato-dextrose-agar)  อาหารชนิดนี้ใช้ส่วนผสมไม่ยุ่งยาก   
มีเพียงมันฝรั่ง 200 กรัม  น้ำตาลกลูโคส 200 กรัม  ผงวุ้น  20 กรัม  และ  น้ำ 1 ลิตร  การเตรียมคือ นำมันฝรั่งที่ปอกเปลือกออกแล้ว  ล้างให้สะอาด  หั่นเป็นแว่นบาง ๆ  ต้มในน้ำ  เมื่อสุกแล้วกรองเอาแต่น้ำ ใส่น้ำตาลและผงวุ้นลงไปแล้วต้มให้เดือดอีกครั้ง  รอจนอาหารวุ้นเหลวเย็นลงจึงกรอกลงในขวดแบน  ใช้จุกสำลีปั้นเป็นก้อนกลมอุดปากขวด  ทับจุกด้วยกระดาษแล้วรัดคอขวดด้วยยางรัด  นำขวดไปวางเอียงเพื่อให้มีพื้นที่ผิวของอาหารมากขึ้นจะได้เลี้ยงเส้นใยได้มากขึ้นตามไป  เมื่ออาหารเย็นลงและแข็งตัวดีแล้วจึงเขี่ยเนื้อเยื่อของดอกเห็ดลงไปเลี้ยงในขวดอาหารนั้น
        การเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จะต้องมีการเริ่มต้นที่ดี  คือ  ต้องเลือกดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานที่จะนำมาผลิตเชื้อบริสุทธิ์ให้เป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์และแข็งแรง   จึงจะได้เส้นใยบริสุทธิ์ที่แข็งแรงตามมา  ดอกเห็ดจะต้องอยู่ในระยะก่อนที่จะปลดปล่อยสปอร์   มิเช่นนั้นเส้นใยจะไม่แข็งแรงนัก   ทำให้ได้เชื้ออ่อนแอที่สามารถสร้างปัญหาให้ภายหลังได้  เมื่อได้ดอกเห็ดมาแล้วจึงทำความสะอาดดอกเห็ดก่อนจะนำไปเขี่ยเนื้อเยื่อในตู้ปลอดเชื้อ  โดยมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเขี่ยเชื้อที่ทำความสะอาดแล้วเช่นกัน
        เมื่อจะเขี่ยเชื้อให้ฉีกดอกเห็ดออก   แบ่งครึ่งตามยาว  ใช้เข็มเขี่ยลนไฟ  เปิดจุกขวดอาหารวุ้นออก   เขี่ยเนื้อเยื่อดอกเห็ดจากบริเวณที่หมวกดอกเห็ดต่อกับก้านดอก  เขี่ยเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้ววางลงบนผิวของอาหารวุ้นตรงกลางพื้นที่ผิว  อุดปากขวดไว้ดังเดิมแล้วนำออกจากตู้ไปวางเรียงในห้องที่สะอาดเพื่อบ่มเชื้อให้เกิดเส้นใยของเชื้อเห็ดออกมาจากเนื้อเยื่อแล้วขยายตัวเพิ่มปริมาณอยู่บนอาหารวุ้นนั้น  เส้นใยจะเกิดจนเต็มภายในเวลา 10-15 วัน  จากนั้นเลือกขวดที่เส้นใยเจริญดีไม่มีการปนเปื้อนของเชื้ออื่นไปใช้ในการขยายเชื้อในอาหารเมล็ดธัญพืชต่อไป 
        2. การขยายเชื้อ  การขยายเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐานใช้วิธีการเดียวกันกับของเห็ดนางรมคือขยายเชื้อในอาหารเมล็ดข้าวฟ่าง  เตรียมโดยการเลือกเมล็ดข้าวฟ่างที่สมบูรณ์มาล้างให้สะอาดแล้วแช่ไว้ในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 15 ชั่วโมง  จากนั้นนำไปต้มให้สุก  เมื่อเมล็ดข้าวฟ่างเย็นลงบรรจุในขวดกลมหรือขวดแบนให้มีปริมาณ 1/2 หรือ 2/3 ของขวด  อุดปากขวดด้วยจุกสำลีปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ รัดปากขวดด้วยยางรัด   นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดัน   ใช้ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว  นึ่งนาน 30 นาที  จากนั้นนำออกมาวางเรียงให้ขวดเย็นลงก่อนที่จะนำไปใช้ขยายเชื้อ
        เมื่ออาหารเมล็ดข้าวฟ่างพร้อมสำหรับการขยายเชื้อแล้วจึงเลือกขวดอาหารวุ้นซึ่งมีเส้นใยที่เป็นเชื้อบริสุทธิ์ที่เกิดจากเนื้อเยื่อของเห็ดนางฟ้าที่เขี่ยลงไปเลี้ยงในขวดอาหารวุ้น  เชื้อที่แข็งแรงจะสังเกตุได้จากการไม่มีเส้นใยอื่นปลอมปนซึ่งแสดงออกโดยการมีเส้นใยที่สีแตกต่างไปจากสีของเส้นใยบริสุทธิ์  การใส่เชื้อบริสุทธิ์ลงไปเลี้ยงในขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่างนั้นเส้นใยจะดึงอาหารที่ย่อยได้จากเมล็ดข้าวฟ่างไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตและการขยายปริมาณของเส้นใยให้มากขึ้น   การที่ต้องขยายเชื้อเห็ดหลังจากที่ได้เส้นใยบริสุทธิ์ให้มีเส้นใยในปริมาณมากขึ้นนั้นเนื่องจากในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้ได้ผลผลิตดอกเห็ดในปริมาณมากนั้นจะต้องใช้เส้นใยในปริมาณมากเช่นกันจึงจะได้ผลผลิตมากตามต้องการ  และการเลี้ยงเส้นใยในอาหารเมล็ดธัญพืชนั้นเป็นวิธีการที่เหมาะสมเพราะว่าเส้นใยจะเกาะอยู่รอบ ๆ เมล็ดธัญพืชเพื่อให้เมล็ดธัญพืชเหล่านั้นเป็นตัวพาเส้นใยลงไปเลี้ยงในอาหารก้อนเชื้อได้สะดวกกว่าการเขี่ยเส้นใยจากอาหารวุ้นโดยตรง
        สำหรับการเขี่ยเชื้อบริสุทธิ์ลงไปในขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่างนั้นต้องทำในตู้ปลอดเชื้อที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว  เมื่อจะเขี่ยเชื้อจึงเปิดปากขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่างและขวดอาหารวุ้นไปพร้อม ๆ กัน  ใช้เข็มเขี่ยที่ชุบแอลกอฮอล์และลนไฟแล้วเขี่ยอาหารวุ้นบริเวณที่มีเส้นใยหนาแน่นออกมาแล้วใส่ลงไปในขวดเมล็ดข้าวฟ่างโดยใส่ลงไปที่บริเวณกลางขวดอาหาร  ปิดจุกสำลีทิ้งไว้ดังเดิม  เขย่าขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างกลบชิ้นวุ้นและเพื่อกระจายความชื้นภายในขวดให้ทั่ว   นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่เขี่ยเชื้อแล้วไปเรียงและบ่มไว้ในห้องที่สะอาด  จนกระทั่งเชื้อเดินเต็มขวด  ตลอดช่วงของการบ่มเส้นใยนี้ต้องสังเกตดูการติดเชื้ออื่นด้วย  เมื่อพบการติดเชื้อในขวดใดก็ตามให้นำออกไปเสียจากห้องบ่ม   ขวดอาหารข้าวฟ่างที่สะอาดจะมีเส้นใยที่มีคุณภาพและแข็งแรงเดินอยู่เต็มและพร้อมที่จะได้รับการนำไปเลี้ยงในก้อนเชื้อเพื่อสร้างดอกเห็ด
        3. การเลี้ยงเชื้อเพื่อผลิตดอกเห็ด  การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานและเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ นั้น ขั้นตอนที่สำคัญและเป็นขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติแบบปลอดเชื้ออีกขั้นตอนหนึ่งก็คือขั้นตอนของการถ่ายเชื้อเห็ดที่ผ่านการขยายปริมาณได้มากแล้วในขวดอาหารเมล็ดธัญพืชลงไปเลี้ยงในอาหารผสมที่เส้นใยสามารถย่อยและสกัดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตออกมา  รวมทั้งจะต้องมีการใส่สารอาหารอื่น ๆ เสริมลงไปด้วยเพื่อกระตุ้นการเจริญและการพัฒนาให้มีการรวมตัวของเส้นใยให้มากพอจนกลุ่มเส้นใยเหล่านั้นมีการเจริญเป็นตุ่มดอกเห็ด (primordia) เพื่อพัฒนาต่อไปเป็นฟรุตติ้งบอดี้ (fruiting body) หรือดอกเห็ดขนาดเล็กแล้วรอเวลาที่จะออกมาเจริญเติบโตภายนอกอาหารเพาะเลี้ยง
        ในขั้นตอนดังกล่าวนี้อาหารที่เลี้ยงเส้นใยจะต้องเป็นอาหารที่มีสภาพและคุณสมบัติเลียนแบบสภาพธรรมชาติที่เห็ดแต่ละชนิดขึ้นอยู่  ซึ่งได้แก่อาหาร 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีเศษไม้เป็นส่วนผสมหลักถ้าหากเห็ดที่จะเพาะนั้นขึ้นอยู่บนตอไม้ผุหรือขึ้นบนต้นไม้และกิ่งไม้   ส่วนอาหารอีกประเภทหนึ่ง คือ อาหารที่มีเศษอินทรียวัตถุหมักเป็นส่วนผสมหลัก ถ้าเห็ดที่เพาะนั้นขึ้นบนปุ๋ยหมักหรือกองของเศษวัสดุอินทรีย์ที่กำลังย่อยสลาย  โดยมีสารอาหารอื่น ๆ เป็นส่วนผสมรอง  ตามความจำเป็นและความเหมาะสม  อาหารผสมเหล่านี้มักจะได้รับการบรรจุลงถุงพลาสติกแล้วเรียกว่าก้อนเชื้อเพื่อเลี้ยงเส้นใยให้เป็นดอกเห็ด   ก้อนเชื้อเหล่านี้จะถูกนำไปถ่ายเชื้อหรือถ่ายเส้นใยจากขวดเมล็ดธัญพืชลงไป   แล้วนำไปบ่มในสภาพที่เหมาะสมเพื่อให้เส้นใยขยายและเพิ่มปริมาณจนรวมตัวกันเป็นเส้นใยซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นจุดกำเนิดของดอกเห็ดดังกล่าวแล้วข้างต้น
        สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นปัจจุบันนิยมใช้ก้อนเชื้อที่มีขี้เลื่อยเป็นส่วนผสมหลักเนื่องจากเป็นวัสดุที่ใช้ได้ผล  แต่อย่างไรก็ตามผู้เพาะเลี้ยงเห็ดบางส่วนใช้ก้อนเชื้อปุ๋ยหมักแทน   ซึ่งพบว่าใช้เลี้ยงได้เหมือนกัน  หรืออาจจะใช้อาหารทั้ง 2 ประเภทผสมกันคือมีทั้งขี้เลื่อยและเศษวัสดุอินทรีย์ที่มีการสลายตัว  จาการปฏิบัติได้สูตรของส่วนผสมของก้อนเชื้อที่ใช้เลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานหลายสูตร ดังนี้

                การทำก้อนเชื้อขี้เลื่อยทำโดยการนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกให้เข้ากันแล้วค่อย ๆ เติมน้ำลงไปเพื่อปรับความชื้น  ผสมจนเข้ากันดีให้มีความชื้นของส่วนผสมพอดีแล้วจึงนำไปบรรจุลงในถุงพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมให้มีน้ำหนัก 800 กรัม ต่อถุง  อัดให้แน่น  ใส่คอขวดพลาสติกที่ปากถุง  อุดปากขวดด้วยก้อนสำลีที่พันกันแน่น ปิดทับด้วยกระดาษแล้วรัดด้วยยางรัดที่คอขวดให้แน่น  นำขวดเรียงในหม้อนึ่งซึ่งอาจใช้หม้อนึ่งความดันหรือหม้อนึ่งพื้นบ้านก็ได้   ถ้าต้องการผลิตก้อนเชื้อในปริมาณมาก  ผู้เพาะเลี้ยงมักจะใช้หม้อนึ่งพื้นบ้านซึ่งเป็นหม้อนึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหม้อนึ่งซึ่งประดอบด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย  ไม่สิ้นเปลืองแต่ใช้หลักการเดียวกันคือให้ความร้อนสูงจากไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อในก้อนเชื้อ  การใช้หม้อนึ่งพื้นบ้านจะช่วยให้สามารถนึ่งก้อนเชื้อได้ครั้งละมาก ๆ เป็นการประหยัดต้นทุนและเวลาในการนึ่งก้อนเชื้อ (ภาพที่ 19-21)

 

ภาพที่ 19 หม้อนึ่งพื้นบ้านประกอบด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายไม่ซับซ้อน

 

ภาพที่ 20 หม้อนึ่งพื้นบ้านบรรจุก้อนเชื้อได้มาก

 

ภาพที่ 21 หม้อนึ่งพื้นบ้านมีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อในก้อนเชื้อ

 

          สำหรับการผสมอาหารก้อนเชื้อที่ใช้วัสดุฟางข้าวแห้งนั้นต้องย่อยฟางให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เสียก่อนด้วยการสับหรือบดหยาบแล้วนำฟางไปหมักเสียก่อน  โดยฉีดน้ำให้กับฟางจนชุ่มแล้วผสมปุ๋ยและดีเกลือลงไปตามสูตรที่เลือกใช้  คลุกให้เข้ากันแล้วขึ้นกองปุ๋ย  คลุมด้วยแผ่นพลาสติก  หมักไว้ 3 วัน  จากนั้นกลับกองปุ๋ยฟางหมักอีก 2 ครั้ง โดยเว้นระยะ 3 วัน  ครั้งสุดท้ายผสมปูนขาวลงไปคลุกให้เข้ากัน  แล้วนำอาหารที่ผสมดีแล้วไปใส่ในถุง   นึ่งฆ่าเชื้อด้วยวิธีเดียวกันกับที่ทำกับสูตรที่ใช้ขี้เลื่อย  แต่ในวิธีนี้ก่อนจะบรรจุอาหารผสมลงถุงควรจะต้องตรวจสอบความชื้นของฟางหมักในกองปุ๋ยเสียก่อน ถ้าเห็นว่าความชื้นมากเกินไปจะต้องเกลี่ยกองปุ๋ยแล้วผึ่งอาหารให้ความชื้นลดลงจนพอเหมาะเสียก่อนแล้วจึงบรรจุลงถุง  เพราะถุงก้อนเชื้อที่มีความชื้นมากเกินไปจะทำให้เชื้อราอื่น ๆ และเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้แล้วเข้าทำลายเชื้อเห็ดในเวลาต่อมา   จากนั้นก้อนเชื้อจะเน่าเสียหาย
        เมื่อก้อนเชื้อผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วจึงนำมาวางเรียงไว้ในห้องที่สะอาด  ลมไม่โกรก  เพื่อการถ่ายเชื้อหรือถ่ายเส้นใยจากขวดอาหารเมล็ดธัญพืชลงไป  การถ่ายเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเชื้อลงไปในก้อนเชื้อนั้น  โดยทั่วไปแล้วหลังจากที่เปิดจุกของก้อนเชื้อจะใช้ไม้แหลมที่สะอาดแทงลงไปให้เกิดรูเพื่อเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างให้ตกลงไปในรู   ปิดจุกไว้ดังเดิม  บ่มก้อนเชื้อไว้ในห้องต่อไปเพื่อกระตุ้นให้เชื้อขยายอยู่ในถุงก้อนเชื้อ  เส้นใยจะรวมกันและพัฒนาเป็นฟรุตติ้งบอดี้ต่อไป   เมื่อมีการเปิดก้อนเชื้อแล้วบ่มไว้ในโรงเปิดดอกที่มีสภาพเหมาะสมดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานจะทยอยกันออกมาจากก้อนเชื้อ  โดยทั่วไปแล้วเส้นใยของเห็ดนางฟ้าภูฐานจะใช้เวลาในการขยายปริมาณหรือเดินเส้นใย 30-40 วัน จึงเดินเต็มถุงก้อนเชื้อ
        4. การเปิดดอกเห็ด การเปิดดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานกระทำหลังจากที่เส้นใยของเห็ดเดินเต็มก้อนเชื้อแล้วและเส้นใยเห็ดรัดตัว  มีการสะสมอาหารเพียงพอเพื่อการเกิดดอกเห็ด   จากนั้นจึงจะนำก้อนเชื้อเหล่านั้นไปเปิดดอกในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด  ซึ่งควบคุมสภาพในโรงเรือนให้เป็นไปตามที่เชื้อเห็ดต้องการ คือให้มีความชื้นสัมพันธ์ภายในโรงเรือนเป็น 80-85 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิที่ 25-30 องศาเซลเซียส  ต้องดูแลความสะอาดของโรงเรือนด้วยให้ปราศจากแมลงที่เป็นศัตรูเข้าทำลายก้อนเชื้อ  เนื่องจากในขณะที่ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานออกมาเจริญเติบโตนอกก้อนเชื้อนั้นดอกเห็ดจะปล่อยกลิ่นหอมออกมาซึ่งกลิ่นนี้สามารถดึงดูดแมลงต่าง ๆ ได้  โดยเฉพาะแมลงหวี่   ทำให้เกิดความเสียหายกับดอกเห็ด
        การเก็บเกี่ยวดอกเห็ดทำโดยการโยกโคนก้านดอกเห็ดหรือกลุ่มดอกเห็ดเบา ๆ ด้วยมือหลังจากการเก็บเกี่ยวดอกเห็ดรุ่นแรกแล้วก้อนเชื้อจะใช้เวลา 5-10 วัน ในการพัก   จากนั้นดอกเห็ดรุ่นต่อมาจะโผล่ออกจากก้อนเชื้อได้อีกเป็นรุ่น  ๆ    การเก็บเกี่ยวผลผลิตจะทำได้หลายรุ่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับสูตรอาหารและการปฏิบัติปลีกย่อยต่าง ๆ ในการดูแลรักษา

แนวคิดในการศึกษาวิจัย
        ฝ่ายศึกษาและทดสอบการปลูกพืชของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อสร้างอาชีพการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน   ได้มีเกษตรกรรวมทั้งผู้เพาะเลี้ยงเห็ดทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงเห็ดอยู่แล้วและผู้ที่มีความสนใจที่จะเริ่มงานมารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก (ภาพที่ 22-26)    จากการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระหว่างการฝึกอบรมทำให้ฝ่ายฯ ได้ทราบปัญหาหลายด้านที่เกิดขึ้นในการเพาะเลี้ยงเห็ดหลายชนิดในสภาพของการเพาะเลี้ยงและวิธีการเพาะเลี้ยงที่แตกต่างกันไป  สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้น  การปรับปรุงเทคนิคในแง่ต่าง ๆ จะช่วยให้การลงทุนเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้มีผลตอบแทนคืนสู่ผู้ประกอบการได้มากขึ้น  ปัญหาหนึ่งที่ฝ่ายฯ ได้นำมาวิจัยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาในด้านการลดต้นทุนการผลิต คือ การปรับปรุงส่วนผสมของก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐาน  โดยการทดสอบความเป็นไปได้ของการใช้วัสดุพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ มาเป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อ  และคาดว่าผลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติเพื่อช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดเป็นอาชีพ

 

ภาพที่ 22 เกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงเห็ด

 

ภาพที่ 23 ประชาชนทั่วไปฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงเห็ด

 

ภาพที่ 24 กลุ่มแม่บ้านและนักเรียนฝึกการเตรียมอาหารเมล็ดธัญพืช

 

ภาพที่ 25 คณะครูและนักเรียนฝึกการเตรียมก้อนเชื้อ

 

ภาพที่ 26 เจ้าหน้าที่จากสาธารณรัฐประชาชนลาวฝึกการเตรียมอาหารวุ้น PDA

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ 
-

วิธีดำเนินการ 
        การศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุพื้นบ้านในการใช้เป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานครั้งนี้เป็นการเลือกใช้  1)วัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตพืชซึ่งได้แก่  ฟางข้าว  เปลือกถั่วเหลือง  รำหยาบ  และ  ชานอ้อย    2) เศษวัชพืช  ได้แก่  จอกหูหนูแห้ง  และเศษไม้ของไมยราพยักษ์  และ  3) ไม้จากต้นไม้ที่หาได้ง่ายในพื้นที่  ได้แก่  ไม้กระถินยักษ์  ไม้ฉำฉา  และ  ไม้มะม่วง  โดยเปรียบเทียบวัสดุต่าง ๆ เหล่านั้นกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องซื้อจากโรงเลื่อย  โดยให้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นกรรมวิธีควบคุมเนื่องจากเป็นวัสดุหลักของส่วนผสมก้อนเชื้อที่ใช้ได้ผลดีในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าเป็นการค้าในปัจจุบัน
        การเตรียมส่วนผสมของก้อนเชื้อนั้นใช้วัสดุดังระบุไว้เป็นส่วนผสมหลัก จึงได้กรรมวิธีการทดลองซึ่งมีวัสดุต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นกรรมวิธีการทดลองรวม 10 กรรมวิธี  กรรมวิธีที่ 1 ถึง 5 (T1-T5) มีวัสดุทดลอง เป็น ฟางข้าว  เปลือกถั่วเหลือง  รำหยาบ  ชานอ้อย  และ  จอกหูหนู ตามลำดับ  กรรมวิธีที่ 6 ถึง 10 (T6-T10) มีวัสดุทดลองเป็นขี้เลื่อยของไม้ 5 ชนิด คือ ไมยราพยักษ์  กระถินยักษ์  มะม่วง  ฉำฉา  และ  ยางพารา  ให้ T1-T9 เป็นกรรมวิธีทดสอบและ T10 เป็นกรรมวิธีควบคุมหรือกรรมวิธีเปรียบเทียบโดยใช้วัสดุหลักในปริมาณ 100 กิโลกรัมและมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใช้ในการทำก้อนเชื้อ คือ รำละเอียด 5 กิโลกรัม  ปูนขาว 1 กิโลกรัม  ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม และ  ใช้น้ำ 50-60 เปอร์เซ็นต์ในการปรับความชื้นให้กับส่วนผสม  แต่กรรมวิธีที่ใช้ฟางข้าวนั้นเพิ่มส่วนผสมอีก 1 อย่าง คือ ยูเรียในปริมาณ1 กิโลกรัมเนื่องจากจะต้องหมักฟางข้าวซึ่งสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะนำไปผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ 
        วิธีการผสมอาหารเพื่อทำก้อนเชื้อในกรรมวิธีที่ 2 ถึง 10 (T2-T10) ใช้วิธีการคลุกส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันแล้วเติมน้ำลงไปในขณะคลุกเพื่อปรับความชื้นให้กับส่วนผสม  ทดสอบความชื้นโดยการกำส่วนผสมที่คลุกแล้วให้แน่น   ถ้าส่วนผสมเกาะกันเป็นก้อนโดยไม่มีน้ำออกมาแสดงว่าความชื้นของส่วนผสมมีพอเหมาะ  ในขณะที่การผสมของกรรมวิธีที่ 1 (T1) ซึ่งเป็นกรรมวิธีของเศษฟางข้าวนั้น  จะต้องหมักฟางข้าวเสียก่อน  โดยการรดน้ำให้กับฟางที่สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ชุ่ม หมักไว้ 3 วัน  จากนั้นกลับกองปุ๋ยฟางพร้อมกับใส่ยูเรียลงไปด้วย  คลุกให้เข้ากัน  ขึ้นกองแล้วคลุมแผ่นพลาสติกเพื่อหมักต่อ  กลับกองปุ๋ยอีกทุก 3 วัน  อีก 2 ครั้ง  จากนั้นนำมาผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ ที่เหลือ คลุกให้เข้ากัน
        บรรจุส่วนผสมของก้อนเชื้อลงในถุงพลาสติกทรงสี่เหลี่ยม  ใส่ส่วนผสมถุงละ 800 กรัม  อัดให้แน่น  ใส่คอขวดและอุดปากขวดด้วยจุกสำลีทับด้วยกระดาษ รัดยางรัด แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งพื้นบ้าน นึ่งซ้ำกัน 3 ครั้งโดยแต่ละครั้งเว้นระยะห่าง 4-5 ชั่วโมง
        การเตรียมเชื้อบริสุทธิ์จากดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นปฏิบัติตามวิธีการมาตรฐานโดยใช้อาหารวุ้น PDA  ส่วนอาหารขยายเชื้อเป็นอาหารเมล็ดข้าวฟ่างและปฏิบัติตามวิธีมาตรฐานเช่นกัน    เมื่อเส้นใยในขวดเมล็ดข้าวฟ่างพร้อมสำหรับการถ่ายเชื้อแล้วจึงถ่ายเชื้อลงในก้อนเชื้อของกรรมวิธีต่าง ๆ ทั้ง 10 กรรมวิธีในวันเดียวกัน  บ่มก้อนเชื้อในห้องเดียวกันนานประมาณ 45 วัน  ในสภาพอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส  จากนั้นนำไปเปิดดอกเห็ดในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดที่มีอุณหภูมิ 32-35 องศาเซลเซียสและมีความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 เปอร์เซ็นต์   เมื่อเปิดก้อนเชื้อในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดได้นาน 7-14 วันมีดอกเห็ดขนาดเล็กอยู่ที่บริเวณปากถุงก้อนเชื้อแล้ว
        การเก็บเกี่ยวดอกเห็ดทำเป็นรุ่นตามความสามารถในการสร้างดอกเห็ดของแต่ละกรรมวิธี  เมื่อก้อนเชื้อหมดสภาพแล้วจึงรวบรวมผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ความสามารถ ในการผลิตดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานของก้อนเชื้อกรรมวิธีต่าง ๆ   รวมทั้งบันทึกการเปลี่ยนแปลงตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดการเพาะเลี้ยงเพื่อประกอบการวิเคราะห์ผลการทดลอง

ผลการศึกษาทดลองวิจัย 
        การศึกษาประสิทธิภาพของวัสดุพื้นบ้านบางชนิดในการเป็นวัสดุหลักในส่วนผสมของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นเป็นการเลือกใช้วัสดุที่เป็นเศษของพืชหรือวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้แก่  เศษฟางข้าว  เปลือกถั่วเหลือง  รำหยาบ  และ  ชานอ้อย  ส่วนเศษวัชพืชนั้นเป็นเศษจอกหูหนูแห้ง  สำหรับการใช้วัสดุจากต้นไม้ที่หาง่ายนั้นใช้ไม้ 4 ชนิดด้วยกัน  โดยใช้ขี้เลื่อยจากไม้เหล่านั้นซึ่งได้แก่  ไม้ไมยราพยักษ์  ไม้กระถินยักษ์  ไม้มะม่วง  และ  ไม้ฉำฉา  วัสดุทดลองดังระบุมานี้ทำให้ได้กรรมวิธีการทดลองรวม 9 กรรมวิธีจากวัสดุพื้นบ้าน 9 ชนิด  โดยมีกรรมวิธีควบคุมเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมทุกชนิดเป็นการค้า
        ผลการทดลองวิเคราะห์จากค่าเฉลี่ยของผลผลิตรวมของดอกเห็ดสดที่เก็บเกี่ยวได้จากกรรมวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานในกรรมวิธีต่าง ๆ ตลอดการทดลอง  รวมทั้งการแสดงออกในแง่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต  โดยมีผลการวิเคราะห์ดังนี้
        1. ผลผลิตรวมของดอกเห็ดสด ผลของการเก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเห็ดสดจากกรรมวิธีการทดลอง 10 กรรมวิธีแสดงในลักษณะของค่าเฉลี่ยของผลผลิตรวม (กรัม) ต่อก้อนเชื้อ 1 ก้อน ซึ่งแสดงไว้ในลักษณะของแผนภาพในภาพที่ 27   จากแผนภาพจะเห็นว่ากรรมวิธีที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมวิธีของวัสดุฟางข้าวให้ผลผลิตดอกเห็ดสดเฉลี่ยต่อก้อนเชื้อ 1 ก้อนสูงกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ และสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม คือ กรรมวิธีที่ 10 เพียงเล็กน้อย  ในขณะที่กรรมวิธีอื่น ๆ นั้นมีกลุ่มที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยปานกลางถึงค่อนข้างสูงเป็นกรรมวิธีของการใช้ขี้เลื่อยไม้ต่าง ๆ ทั้งหมด  ซึ่งให้ผลผลิตใกล้เคียงกันและอีก 1 กรรมวิธีเป็นวัสดุชานอ้อยแห้ง  ในขณะที่กรรมวิธีจอกหูหนูแห้งให้ผลผลิตในระดับค่อนข้างต่ำ  แต่กรรมวิธีเปลือกถั่วเหลืองและรำหยาบซึ่งได้ผลไล่เลี่ยกันนั้นเป็นชุดที่ได้ผลผลิตต่ำมากและต่ำที่สุด

 

ภาพที่ 27 แผนภาพแสดงค่าเฉลี่ยของผลผลิตของดอกเห็ดสด (กรัม) ต่อก้อนเชื้อ 1 ก้อนของกรรมวิธีต่าง ๆ

 

        2. ช่วงเวลาที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นช่วงเวลานับเป็นวันจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของดอกเห็ดสดรุ่นแรกไปจนถึงรุ่นสุดท้ายก่อนที่ก้อนเชื้อจะหมดสภาพ  ผลการบันทึกแสดงไว้ในแผนภาพของภาพที่ 28   ซึ่งจะเห็ดว่าก้อนเชื้อขี้เลื่อยทุกกรรมวิธีรวมทั้งกรรมวิธีควบคุมให้ผลใกล้เคียงกันมากและอยู่ในกลุ่มที่มีค่าสูงกว่ากรรมวิธีที่เป็นก้อนเชื้อเศษวัสดุยกเว้นกรรมวิธีของฟางข้าวและชานอ้อย  ส่วนกรรมวิธีจอกหูหนูนั้นให้ผลผลิตต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่ให้ค่าเฉลี่ยสูง  สำหรับกรรมวิธีรำหยาบและเปลือกถั่วเหลืองนั้นได้ค่าต่ำสุด
       3. จำนวนวันที่ก้อนเชื้อใช้ในการสร้างเส้นใยให้เต็มก้อน ค่าเฉลี่ยของผลการบันทึกนี้แสดงในภาพที่ 29  ซึ่งเป็นแผนภาพของค่าเฉลี่ยที่บันทึกเป็นวัน  จากแผนภาพจะเห็นว่ากรรมวิธีส่วนใหญ่ใช้เวลาไล่เลี่ยกันและไม่ค่อยแตกต่างจากกรรมวิธีควบคุม  ส่วนกรรมวิธีที่ใช้เวลายาวนาน คือ กรรมวิธีเปลือกถั่วเหลือง  ในขณะที่กรรมวิธีรำหยาบและขี้เลื่อยไม้ฉำฉานั้นดีกว่าเปลือกถั่วเหลืองเล็กน้อย

ภาพที่ 28 แผนภาพแสดงค่าเฉลี่ยของช่วงเวลา (วัน) ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในกรรมวิธีต่าง ๆ

 

ภาพที่ 29 แผนภาพแสดงค่าเฉลี่ยของจานวนวันที่ใช้ในการขยายเส้นใยจนเต็มก้อนเชื้อในกรรมวิธีต่าง ๆ


         4. ความเสียหายของก้อนเชื้อ ซึ่งบันทึกในระยะการบ่มเชื้อโดยคิดค่าความเสียหายเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนของสิ่งทดลองทั้งหมดในแต่ละกรรมวิธี  โดยมีจำนวนก้อนเชื้อขณะเริ่มต้นการทดลองเป็น 100 ก้อนในทุกกรรมวิธี   ผลการบันทึกแสดงให้เห็นความรุนแรงของความเสียหายของก้อนเชื้อในกรรมวิธีต่าง ๆ  ดังเห็นได้จากแผนภาพในภาพที่ 30  โดยที่ก้อนเชื้อของกรรมวิธีเปลือกถั่วเหลืองและรำหยาบเสียหายมากที่สุดและความเสียหายสูงมากถึง 91 และ 57 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ  ในขณะที่กรรมวิธีอื่น ๆ รวมทั้งกรรมวิธีควบคุมผลเสียหายเกิดขึ้นน้อยมาก คือ  0-4 เปอร์เซ็นต์

 

ภาพที่ 30 แผนภาพแสดงความเสียหายของก้อนเชื้อ (เปอร์เซ็นต์) ในกรรมวิธีต่าง ๆ


          ผลการทดลองที่ได้ในครั้งนี้เมื่อวิเคราะห์จากภาพรวมแล้วจะเห็นว่า กรรมวิธีที่ได้ผลใกล้เคียงกับกรรมวิธีควบคุม คือ ก้อนเชื้อเศษฟางข้าว ซึ่งให้ผลผลิตดอกเห็ดสูง  เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน  จำนวนวันที่ใช้ในการบ่มเชื้อสั้น  และความเสียหายของก้อนเชื้อในระยะบ่มเชื้อต่ำมาก  ในขณะที่วัสดุเศษพืชอื่น ๆ ให้ผลต่ำกว่าโดยเฉพาะเปลือกถั่วเหลืองและรำหยาบนั้นต่ำกว่ามาก  ส่วนจอกหูหนูนั้นอยู่ในระดับปานกลาง    ผลของความแตกต่างนี้ถ้าพิจารณาจากวิธีการเตรียมก้อนเชื้อจะเห็นว่าฟางข้าวน่าจะได้เปรียบเศษวัสดุอื่น ๆ เนื่องจากมีการหมักเศษฟางก่อนที่จะนำมาทำก้อนเชื้อในขณะที่เศษวัสดุอื่น ๆ ไม่ได้ผ่านการหมักมาก่อนจึงอาจจะมีผลในการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในก้อนเชื้อได้น้อยกว่าฟางหมัก  อนึ่ง การที่เปลือกถั่วเหลืองและรำหยาบให้ผลต่ำมากในทุกด้านนั้นเป็นเพราะว่าก้อนเชื้อเน่าเสียหายในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก  ดังนั้นการที่จะสรุปว่าวัสดุเศษพืชกรรมวิธีอื่น ๆ ได้ผลด้อยกว่าฟางข้าวมากมายนั้นคงจะไม่ได้จนกว่าจะมีการทดลองเพิ่มเติมและปรับปรุงวิธีการเตรียมก้อนเชื้อโดยการหมักเศษวัสดุชนิดอื่น ๆ ให้เหมือนกับฟางข้าวด้วย  เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของสิ่งทดลอง  และติดตามผลโดยละเอียดจึงจะสามารถสรุปได้
        สำหรับการใช้ขี้เลื่อยนั้นน่าจะสรุปได้ในขั้นต้นว่ากรรมวิธีต่าง ๆ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา  และน่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยการปรับปรุงวีธีการเตรียมก้อนเชื้อเป็นต้นว่าการบดหรือสับเศษไม้ให้มีขนาดเล็กลงให้มีความสม่ำเสมอกันทุกกรรมวิธีเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น  เนื่องจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราย่อมจะมีขนาดของชิ้นเล็กกว่าขี้เลื่อยของไม้ในกรรมวิธีอื่นเพราะเป็นขี้เลื่อยที่ได้จากโรงเลื่อยไม้  ในขณะที่ไม้พื้นบ้านนั้นใช้เครื่องบดแทนการเลื่อย
        ดังนั้นจากผลการวิเคราะห์ข้างบนนี้จึงสรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงในการใช้วัสดุพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นเศษพืช  ซากวัชพืช  หรือ  ขี้เลื่อยของไม้ที่หาได้ง่ายก็ตาม  แต่จะต้องมีการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติให้ประณีตและสม่ำเสมอกว่าครั้งนี้  ตลอดจนต้องมีการทดลองซ้ำและเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำกว่านี้


สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
                   การศึกษาการลดต้นทุนการผลิตเห็ดนางรมภูฐานด้วยการใช้วัสดุพื้นบ้านมาเป็นส่วนผสมของก้อนเชื้อแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา  พบว่าในกลุ่มของวัสดุที่เป็นเศษพืชและเศษวัชพืชนั้น  ฟางข้าวที่ผ่านการหมักแล้วนำมาเป็นวัสดุหลักของก้อนเชื้อให้ผลทัดเทียมกับก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพาราในทุก ๆ ด้าน  ซึ่งได้แก่  ผลผลิตรวมของดอกเห็ดสด  ช่วงเวลาที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากก้อนเชื้อ  จำนวนวันในการเดินเส้นใยในห้องบ่มเชื้อ  และ  ความเสียหายของก้อนเชื้อในระยะบ่มเชื้อ  แต่วัสดุอื่น ๆ คือ เปลือกถั่วเหลือง  รำหยาบ  ชานอ้อย  และ  จอกหูหนูแห้งนั้นแม้ว่าจะแสดงประสิทธิภาพต่ำก็ตามแต่ก็อาจจะเป็นผลของความไม่สม่ำเสมอในการเตรียมก้อนเชื้อ   โดยเฉพาะไม่มีการหมักวัสดุเสียก่อนที่จะนำมาผสมเป็นก้อนเชื้อในขณะที่ฟางข้าวได้รับการหมักก่อน  ส่วนขี้เลื่อยของไม้ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ คือ ไม้กระถินยักษ์  ไม้ไมยราพยักษ์  ไม้มะม่วง  และ  ไม้ฉำฉานั้นแสดงศักยภาพค่อนข้างสูงในการนำมาใช้ทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราในทุก ๆ ด้านของการวัดผล

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Download (1)

บทคัดย่อ

การศึกษาทดลองการใช้เศษวัสดุท้องถิ่นในการผลิตเห็ดนางฟ้าภูฐานมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดต้นทุนการผลิตเห็ดชนิดนี้ มีวิธีการโดยนำวัสดุบางชนิดที่เป็นผลพลอยได้จากการเกษตร เศษวัชพืช และ ขี้เลื่อยของไม้ชนิดที่หาได้ง่ายมาเป็นวัสดุหลักของส่วนผสมก้อนเชื้อเพื่อผลิตเห็ดนางฟ้าภูฐานเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตเห็ดเพื่อการค้าในปัจจุบัน กรรมวิธีการทดลองประกอบด้วย ฟางข้าว เปลือกถั่วเหลือง รำหยาบ ชานอ้อย จอกหูหนู ขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์ ขี้เลื่อยไม้กระถินยักษ์ ขี้เลื่อยไม้มะม่วง ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา และขี้เลื่อยไม้ยางพารา รวม 10 กรรมวิธี ผลการทดลองปรากฏว่าผลผลิตรวมของดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานที่เก็บเกี่ยวได้จากกรรมวิธีการใช้ฟางข้าวสูงกว่ากรรมวิธีควบคุมคือขี้เลื่อยไม้ยางพาราโดยมีน้ำหนักของดอกเห็ดสดเฉลี่ยเป็น 156.2 และ 140.4 กรัมต่อก้อนเชื้อ 1 ก้อน ตามลำดับ ในขณะที่กรรมวิธีที่ให้ผลผลิตของดอกเห็ดสดต่ำที่สุด คือ เปลือกถั่วเหลือง ได้ค่าเฉลี่ยเพียง 21.1 กรัมต่อก้อนเชื้อ 1 ก้อน และกรรมวิธีที่ให้ผลผลิตต่ำใกล้เคียงกันคือ 23.0 กรัม นั้นได้แก่ กรรมวิธีของรำหยาบ ผลการทดลองครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าวัสดุที่ไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ในการผลิตก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐาน คือ เปลือกถั่วเหลืองและรำหยาบเนื่องจากมีการเสียหายของก้อนเชื้อในระหว่างการบ่มเชื้อสูงมาก คือ 91 และ 57 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ผู้วิจัย / คณะวิจัย -
ดำเนินการ -
ระยะเวลา -
งบประมาณ -
พระราชทานพระราชดำหริ -