ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

นายมณเฑียร บุญช้างเผือก

ภูมิภาค
ภาคเหนือ
จังหวัด
เชียงใหม่
ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
ด้านศูนย์
อนุรักษ์ทรัพยากรณ์ธรรมชาติ

ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านป่าสักงาม /นายมณเฑียร บุญช้างเผือก (ผู้แทนกลุ่ม)


ข้อมูลรายละเอียด
จํานวนพื้นที่ (ไร่) 37,000 ไร่ (ที่ดินของชุมชน 37,000 ไร่)

     ก่อนเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในอดีต เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2503 เริ่มมีการทำไม้โดยการสัมปทานของโรงเลื่อยไม้ ชาวบ้านได้เข้ารับจ้างในการคัดเลือกไม้ ตีตราไม้ ตัดโค่นไม้ให้กับผู้รับสัมปทาน ชาวบ้านบางรายลงทุนซื้อช้างมารับจ้างชักลากไม้ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการทำไม้เถื่อนเกิดขึ้นโดยพ่อเลี้ยงนอกชุมชน และต่อมาชุมชนก็เริ่มทำไม้เถื่อนเอง ในปี พ.ศ. 2514 ผืนป่ารอบบ้านป่าสักงามได้ถูกขอใช้ประโยชน์เพื่อกิจการเลี้ยงวัว เป็นพื้นที่จำนวน 3,000 ไร่ ทำให้เกิดการทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เช่น ที่ทำนาดำบริเวณทุ่งป่าแขม  นอกจากนี้บริเวณผืนป่าที่ชาวบ้านเคยเข้าเก็บหาอาหาร สมุนไพร ก็ทำได้ยากมากขึ้นเพราะถูกจำกัดสิทธิ์อันเป็นผลมาจากสิทธิในการได้รับอนุญาตให้นายทุนได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า เกิดการขัดแย้งกันระหว่างนายทุนและชาวบ้านอยู่เป็นเนื่องๆ ต่อมาประมาณในปี พ.ศ. 2520 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้เข้ามาดำเนินกิจการตัดไม้แล้วปลูกในพื้นที่ป่าด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ทรัพยากรป่าไม้จึงเสมือนแหล่งการค้าชุมชนเริ่มเข้าร่วมในการลักลอบตัดไม้แปรรูป และทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ ตู้ มากขึ้นเสมือนแข่งขันกับหน่วยงาน ส่งผลให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมสภาพลง พื้นที่ต้นน้ำเสื่อมโทรม ชุมชนได้รับผลกระทบแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มแห้งแล้ง น้ำในชุมชนไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคเมื่อทรัพยากรธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรมมากขึ้น ชุมชนไม่สามารถพึ่งพิงได้ดังเดิม ชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการทำกินโดยออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้านมากขึ้นคนในชุมชนใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้อย่างสิ้นเปลือง เกิดธุรกิจค้าขายไม้เถื่อน ต้นไม้ถูกตัดทำลาย  ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมสภาพลง พื้นที่ต้นน้ำเสื่อมโทรม  ระบบนิเวศเริ่มขาดความสมดุล  ชุมชนยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญของป่าและขาดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง บ้านป่าสักงามเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่โครงการเข้าดำเนินการ โดยมีหน่วยทหารทำหน้าที่ในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า จึงทำให้ชุมชนไม่สามารถทำไม้เถื่อนได้ดังเดิม จึงเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำมาหากิน และในด้านการพัฒนาโครงการได้มีแผนการส่งเสริมอาชีพและการอนุรักษ์ ตามรูปแบบผลการศึกษาการพัฒนาของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชุมชนกับทรัพยากรจึงเกิดการเรียนรู้และมีการปรับความสัมพันธ์ไปสู่การมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

      หลังเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านป่าสักงาม   หมู่ที่  1  ตำบลลวงเหนือ  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นหมู่บ้านหนึ่งในความรับผิดชอบดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหมู่บ้านที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการพัฒนาในระดับต้นๆ ของการดำเนินการโครงการ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่มีความประชิดอ่างมากที่สุด   การดำเนินกิจกรรมชุมชนอาจจะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพลุ่มน้ำได้  หากละเลยต่อกระบวนการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ    และชุมชนบ้านป่าสักงามในอดีตมีพฤติกรรมในด้านการตัดไม้ทำลายป่าแปรรูปไม้จำหน่ายเป็นอาชีพของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน ทัศนะของชุมชนมุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อคุณค่าของชีวิต   ประกอบกับสภาพทรัพยากรโดยทั่วไปมีสภาพเสื่อมโทรม แห้งแล้ง การดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านป่าสักงาม   ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ได้นำแนวพระราชดำริซึ่งเป็นผลการศึกษาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปขยายผลสู่การพัฒนา คือ
      1.แนวคิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นลำธาร   การปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  การสร้างฝายต้นน้ำลำธาร การป้องกันไฟป่า  การปลูกเสริมป่าเพื่อพัฒนาความหลากหลายพืชพรรณและสมุนไพร  
      2.แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นทุนในการทำมาหากิน ได้แก่ การเกษตรผสมผสาน การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างชาญฉลาดเพื่อเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างพออยู่พอกิน โดยการพัฒนากลุ่มอาชีพเสริมรายได้ครัวเรือน ประกอบด้วย กลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มปุ๋ยธรรมชาติ กลุ่มเลี้ยงหมูป่า กลุ่มจักสานไม้ไผ่และหวาย กลุ่มสมุนไพร กลุ่มเพาะชำกล้าไม้ 
      3.แนวคิดการพึ่งตนเอง   เป็นรากฐานของการพัฒนาชุมชนที่จะก่อให้เกิดพลังในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายทั้งแกนนำ เยาวชน ผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นพลังให้ชุมชนพัฒนาอย่างเข้มแข็งด้วยการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา 
      4.แนวคิดการมีส่วนร่วม เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนพัฒนาการรับรู้ สติปัญญาและความสามารถในการตัดสินใจกำหนดชีวิตตนเองและชุมชน โดยมีความรู้สึกผูกพันรับผิดชอบต่อส่วนรวม การมีส่วนร่วมอาจเป็นไปในลักษณะต่างๆ กัน โดยใช้หลักการพัฒนาจากระดับตนเอง ครัวเรือน แล้วรวมเป็นกลุ่มกิจกรรมเพื่อการทำงานร่วมกัน

ผลการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านป่าสักงาม สรุปได้ คือ
      1. ชุมชนเรียนรู้ปรับเปลี่ยนแนวคิด ปรับตัวเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยความร่วมมือ การปฏิบัติการพัฒนาในรูปกลุ่มและเครือข่าย การปฏิบัติต่อทรัพยากรโดยไม่สร้างผลกระทบ เกิดการยอมรับจากสังคมและชุมชน โดยการเข้ามาศึกษาดูงาน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักพัฒนา ชุมชน 
      2.   สภาพทรัพยากรชุมชนมีคุณภาพที่ดีขึ้น
      -ระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมกันในการคิด การพัฒนาชุมชน และร่วมกันดูแล อนุรักษ์ป่าไม้ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างแต่ก่อน
     -ป่าซับน้ำประจำหมู่บ้านที่มีสภาพแห้งแล้ง กลับมาทำหน้าที่เป็นแหล่งซับน้ำและแหล่งอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา
     -หวายเป็นพันธุ์พืชที่ชุมชนร่วมกันปลูกเสริมเพิ่มคุณค่าป่า  ได้รับการดูแลจนมีการเจริญเติบโต   และมีปริมาณมากกว่าแสนต้น    ซึ่งชุมชนเริ่มได้รับผลตอบแทนเป็นแหล่งพัฒนาอาชีพการจักสาน
     -ห้วยน้ำจาง   เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ  ที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพลุ่มน้ำอีกประการหนึ่ง   ของการกลับมามีน้ำไหลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมีคุณภาพที่ดีเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงน้ำ ปลา  โดยชุมชนได้รับประโยชน์เป็นแหล่งอาหาร อีกแหล่งหนึ่ง
     -การกลับคืนถิ่นของสัตว์หลายชนิด  ที่ชุมชนสำรวจพบเห็น   เช่น นกยูง  ไก่ป่า  หมาป่า  นกชนิดต่างๆ

         สภาพพื้นที่มีความหลากหลายของลักษณะภูมิประเทศ มีน้ำตกเอเฟรม ถ้ำหลวงที่สวยงาม  มีแหล่งเรียนรู้สำหรับศึกษาธรรมชาติมากมาย ที่สำคัญที่สุดชุมชนมีความเข้มแข็ง ตระหนักถึงคุณค่าและเล็งเห็นสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยร่วมกันกำหนดแนวทางและปฏิบัติตามกฎของชุมชน  ชุมชนกับทรัพยากรจึงเกิดการเรียนรู้และมีการปรับความสัมพันธ์ไปสู่การมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกกับคนในชุมชนสู่คนภายนอก ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดได้จัดตั้งค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้กับสถานที่จริง โดยมีวิทยากรชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดและเดินชมเส้นทางเดินธรรมชาติ  ซึ่งจะมีจุดสำคัญที่มีเรื่องราวองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และมีเอกลักษณ์เฉพาะจุด ทำให้เกิดการซึมซับความรัก ความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี 

รายละเอียดเพิ่มเติม
ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤศิจายน 2562

ข้อมูลที่อยู่

นายมณเฑียร บุญช้างเผือก

ที่อยู่ บ้านป่าสักงาม หมู่ที่ 1 ตําบลลวงเหนือ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 08 3763 4010
  • Fax:
  • อีเมล์:

ผู้ประสานงาน

นายมณเฑียร บุญช้างเผือก

หลักสูตรอบรม

1. การสร้างฝายต้นน้ําลําธาร 2. การทําแนวป้องกันไฟป่า 3. การเพาะกล้าไม้

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Download (1)