ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ ๑๒

โครงการนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ ๑๒

ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗

-------------------------------------

๑.  หลักการและเหตุผล

                   ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศไว้อย่างมากมาย ครอบคลุมในทุกสาขาการพัฒนาและวิถีชีวิตของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า  เฉพาะพระราชดำริที่ได้ดำเนินการเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น บัดนี้นับได้มากกว่า ๕,๐๐๐ โครงการ แนวพระราชดำริทั้งหลายนี้เป็นการตกผลึกแห่งพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงผสมผสานระหว่างหลักวิชา ประสบการณ์ และบริบทแวดล้อม เกิดเป็นหลักการทรงงาน ปรัชญา ทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนาด้านต่างๆ ที่วางรากฐานอยู่บนหลัก“ภูมิสังคม” อาทิ ทฤษฎีใหม่ แกล้งดิน ฝายชะลอความชุ่มชื้น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ซึ่งล้วนบังเกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับสรรเสริญและน้อมนำไปปฏิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะดำเนินพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา โดยพระราชทาน พระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

                    สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานและดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี มีความเห็นว่าการขับเคลื่อนให้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั้น เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกกระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งหลายอยู่แล้ว แต่ยังเป็นไปในลักษณะที่เน้นภารกิจขององค์กรของตนหรือความถนัดของตนเป็นหลัก ดังนั้น หากมีช่องทางให้ผู้บริหารในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เหล่านี้ได้ร่วมรับรู้หลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ หลักการทรงงาน ตลอดจนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปประยุกต์ใช้ในภาพรวมอย่างครบถ้วน  รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการอยู่ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสองประการ ได้แก่ ประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริ  บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และประโยชน์ต่อการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการประยุกต์ใช้ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายคือประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ สมดังพระราชดำริที่พระราชทานในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการศึกษา วิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างมีบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายที่ประชาชน  ความว่า

                   ...กรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้าน ได้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรองดองกัน ประสานกัน...  ก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือ  ประชาชนจะได้รับประโยชน์และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์...

                     นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดำเนินงานตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงาน กปร. ระยะ ๔ ปี(พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐) ให้บรรลุวัตถุประสงค์วิสัยทัศน์ของแผนฯ คือ บุคลากรมีเอกลักษณ์คน กปร. เพื่อขับเคลื่อนการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสนองพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอด การพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยระบุถึงคุณลักษณะที่บุคลากรควรได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างเอกลักษณ์คน กปร. ผ่าน ๕ หมวดหมู่การเรียนรู้ ได้แก่ ๑) สืบสาน รักษา ต่อยอด ๒) ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติงาน ๓) ความรู้เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ๔) ทักษะ Soft Skills และ ๕) ทักษะดิจิทัลและการใช้ภาษาอังกฤษ

ผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรได้รับการเสริมสร้างเอกลักษณ์คน กปร. ตัวคูณผ่านการเรียนรู้หมวดหมู่ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรในกลุ่มนี้ได้รับการปลูกฝังองค์ความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อันจะช่วยส่งเสริมการสร้างเอกลักษณ์ตัวคูณของสำนักงาน กปร. และนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับการการศึกษาอบรมไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                     ในการนี้ สำนักงาน กปร. โดยสถาบันอนุชิตพิพรรธน์ กองบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสำนักงาน กปร. จึงได้ดำเนินการจัดทำ โครงการนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ ๑๒  เพื่อส่งเสริมการสร้างเอกลักษณ์คน กปร. ตัวคูณไปยังผู้เข้าอบรมจากหน่วยงานเครือข่าย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ คาดว่าจะมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน ๕๐ คน ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะต้องเข้าร่วมการสรุปผลการเรียนรู้ เพื่อผ่านการอบรมและรับมอบประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะ            

๒.  วัตถุประสงค์

                    ๑) เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันหลักที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ

                    ๒) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ตลอดจนสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้นำองค์กร
ในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                    ๓) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับลึกซึ้ง

                    ๔) เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักบริหารในการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                    ๕) เพื่อส่งเสริมการสร้างเอกลักษณ์คน กปร. ตัวคูณไปยังผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานเครือข่าย

๓.  กลุ่มเป้าหมาย จำนวนรุ่นละ ๕๐ คน  ดังนี้

          ๓.๑ กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าศึกษาอบรม ดังนี้

                   (๑) ข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทบริหารต้น อำนวยการสูง เชี่ยวชาญ อำนวยการต้นหรือชำนาญการพิเศษ (ระดับชำนาญการพิเศษต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี และต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานอำนวยการหรือหัวหน้ากลุ่มงาน)

                   (๒) ข้าราชการทหารหรือตำรวจที่มีชั้นยศและรับอัตราเงินเดือนตั้งแต่ขั้นพันเอก(พิเศษ) นาวาเอก(พิเศษ) นาวาอากาศเอก(พิเศษ) และพันตำรวจเอก (พิเศษ) ขึ้นไป

                   (๓) พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานอื่นของรัฐต้องดำรงตำแหน่งเทียบได้กับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนตามข้อ (๑)

                  (๔) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี หรือปลัดเทศบาล  มูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงกำไร ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งสำนักงาน กปร. เชิญให้เข้าร่วม

          ๓.๒ บุคคลตามข้อ ๓.๑ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

                   (๑) จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าวุฒิปริญญาตรี

                   (๒) ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร

                   (๓) มีหน้าที่ความรับผิดชอบหรือประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริหรือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                   (๔) อายุไม่เกิน ๕๗ ปี 

          ๓.๓ จำนวนผู้เข้ารับการอบรม ๕๐ คน จากสำนักงาน กปร. ส่วนราชการอื่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการน้อมนำหลักการทรงงานและการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หรือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ

          ๓.๔ การคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม  สำนักงาน กปร. ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมเพื่อให้ได้ผู้มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ ตามจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของการศึกษาอบรมและความเป็นเครือข่ายความร่วมมือ สำนักงาน กปร. อาจพิจารณายกเว้นให้ผู้ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากที่กำหนดเข้ารับการอบรมได้

๔.  การรับการสมัคร

          ๑)  เปิดรับสมัครภายในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๗   

          ๒) หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้คัดเลือกและส่งบุคคลที่มีคุณสมบัติฯ สมัครเข้ารับการศึกษาอบรม

          ๓) เอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมใบสมัคร

                   - รูปถ่ายสีขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๑ รูป โดยติดในใบสมัคร 

๕. วิธีการดำเนินงาน ระยะเวลา และสถานที่

                   ๕.๑ หลักสูตรอบรม โดยมีเนื้อหาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและตอบสนองต่อการเสริมสร้างเอกลักษณ์คนคน กปร. ตัวคูณและหลักสูตรนักบริหารระดับสูงภายใต้กรอบมาตรฐานหลักสูตรนักบริหารระดับสูง ดังนี้

การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและตอบสนองต่อการเสริมสร้างเอกลักษณ์คนคน กปร.
ตัวคูณ
โดยแบ่งเป็น หมวดหมู่

                             หมวดที่ ๑ : สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศไทย ผ่านการสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชน ซึ่งเนื้อหาจะประกอบไปด้วย การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลักการทรงงานต่าง ๆ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของกระแสโลก และแนวทางการพัฒนาประเทศ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชกาลที่ ๑๐ เป็นต้น

                               หมวดที่ ๒ ทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานที่นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพึงมี โดยมุ่งเน้นเนื้อหาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสำหรับนักบริหาร การส่งเสริมให้นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริเข้าใจบทบาทของตนเองในการบริหารและกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ เชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานของตน โดยมีการประยุกต์ใช้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือหนึ่งในขับเคลื่อนการพัฒนาหรือการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) หรือเป็นแนวทางในการบริหารงาน

                             หมวดที่ ๓ ความรู้เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Glocalization) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมชุดความรู้ที่ทำให้นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริตระหนักถึงทิศทางแนวโน้ม และผลกระทบของบริบทการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เช่น ยุทธศาสตร์การบริหารในศตวรรษที่ ๒๑ การพัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์ เป็นต้น ตลอดจนชุดความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยสามารถเชื่อมโยงความรู้ในระดับภูมิสังคมไปยังระดับชาติ และในระดับโลกที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ภารกิจขององค์กร และการพัฒนาระบบบริหารงานราชการได้

                          หมวดที่ ๔ ทักษะ Soft Skills ที่นักบริหารการพัฒนาพึงมี โดยมุ่งเน้นเนื้อหาที่การพัฒนาทักษะ Soft Skills ที่นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพึงมี เช่น การคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ การสื่อสารสำหรับผู้นำ การบริหารการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruptions และ Agility การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อการเป็นผู้นำ การพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะผู้นำกับการทำงานเป็นทีมผู้นำกับการตัดสินใจเชิงคุณธรรมและจริยธรรม การพัฒนาบุคลิกภาพของผู้บริหารระดับสูง การนำเสนออย่างมืออาชีพในฐานะผู้บริหาร การพัฒนาตนเองเพื่อสร้างสมดุลคุณภาพชีวิตและการทำงาน เป็นต้น

                             หมวดที่ ๕ ทักษะดิจิทัล ที่นักบริหารการพัฒนาพึงมี โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมทักษะดิจิทัลและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพึงมี ตามเป้าหมายของทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๓/ว๖ ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่องทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อนำสมรรถนะทางการบริหารของข้าราชการพลเรือนสามัญนี้ไปใช้ในการวางวิสัยทัศน์ (Visioning) การวางกลยุทธ์ภาครัฐ (Strategic Orientation) การนำศักยภาพเพื่อนำการเปลี่ยนแปลง (Change Leadership) การสอนงานและมอบหมายงาน (Coaching and Empowering Other) เช่น การส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้มี ๔ องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ ประสบการณ์ คุณลักษณะและความสามารถใน ๗ กลุ่มความสามารถ ได้แก่ ความสามารถด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล(Digital Literacy) ความสามารถด้านการควบคุมกำกับ และการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานการจัดการด้านดิจิทัล (Digital Governance, Standard, and Compliance) ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กร (Digital Technology) ความสามารถด้านการออกแบบกระบวนการและการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล (Digital Process and Service Design) ความสามารถด้านด้านการบริหารกลยุทธ์และการจัดการโครงการ (Strategic and Project Management) ความสามารถด้านผู้นำดิจิทัล (Digital Leadership) และความสามารถด้านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล (Digital Transformation)

                    ๕.๒ วิธีการศึกษาอบรม ประกอบด้วย การบรรยายในชั้นเรียน การอภิปราย การสัมมนาการเสวนา การศึกษาดูงาน และการเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่มที่หลากหลาย (ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำรายงานกลุ่มและรายงานรุ่น)

                   ๕.๓ ระยะเวลาและสถานที่อบรม ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม ๒๕๖๗ โดยปกติสัปดาห์ละ ๓ วัน  (วันพฤหัสบดี-วันเสาร์ ยกเว้นกรณีศึกษาดูงาน) ประกอบด้วย

                             - การบรรยาย จำนวน ๑๕ วัน ณ กรุงเทพฯ (สัปดาห์ละ ๓ วัน วันพฤหัสบดี-วันเสาร์)

                             - การศึกษาดูงานในประเทศ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๓ วัน จำนวน ๖ วัน

                             - การศึกษาดูงานต่างประเทศ ๑ ครั้ง จำนวน ๕ วัน                    

                          การศึกษาอบรม รวม ๒๖ วัน เป็นการบรรยายในชั้นเรียน ๑๕ วัน และศึกษาดูงานในประเทศ ๖ วัน ดูงานต่างประเทศ ๕ วัน

                         ทั้งนี้ กำหนดการอบรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

๖.  งบประมาณ

                    ใช้งบประมาณของสำนักงาน กปร. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กำหนด ให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเบิกค่าใช้จ่ายจากต้นสังกัด อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเพื่อเข้ารับการอบรม เป็นต้น

๗.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                      ๑) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการเทิดทูนในฐานะสถาบันหลักที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

                    ๒) ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นในการบริหารจัดการตลอดจนหลักการทรงงานและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับลึกซึ้ง จนพร้อมที่จะนำไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                    ๓) มีผลผลิตที่เกิดจากการพัฒนาองค์ความรู้ในการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานอันเป็นการแสดงถึงศักยภาพในการแปลผลจากการเข้ารับการอบรมไปสู่ภาคปฏิบัติ เช่น โครงการรุ่น ๑ เล่มและรายงานกลุ่มๆ ละ ๑ เล่ม

                    ๔) มีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายของผู้บริหารในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็งแบบบูรณาการ

                    ๕) ผู้เข้ารับการอบรมได้รับการส่งเสริมเอกลักษณ์คนคน กปร. ตัวคูณและสามารถเป็นต้นแบบของการสานต่อพระราชดำริ 

๘.  การประเมินผล

          โครงการกำหนดเกณฑ์ประเมินความสำเร็จของหลักสูตร ดังนี้

                   ๑) ผู้สำเร็จการอบรมเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ของเวลาทั้งหมด

                   ๒) ผู้สำเร็จการอบรมได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอย่างน้อย ๑ ระดับเมื่อเทียบกับก่อนการอบรม        

                   ๓) ผู้สำเร็จการอบรมมีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมากขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และระดับปานกลางขึ้นไปไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐

                   ๔) ผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ผ่านการทดสอบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ด้วยคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ของคะแนนเต็มการทดสอบ

๙.  เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม

                    ๑) ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องมีเวลาเข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ของเวลาทั้งหมด(ไม่น้อยกว่า ๒๒ วัน) จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา

                    ๒) ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอด การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                   


ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่
-โครงการศึกษาอบรม นบร.รุ่นที่ ๑๒ 

-หนังสือถึงหน่วยงานต้นสังกัด 
-ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรมหลักสูตร นบร.๑๒ 
-คำแนะนำและกำหนดการพิธีเปิดอบรม นบร.รุ่นที่ ๑๒