สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริบ้านป่าเด็ง ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องเดิม

                    สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชเสาวนีย์กับ พลเอก นพดล วรรธโนทัย  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ ความโดยสรุปว่า “...ช้างเป็นสัตว์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ ที่กินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้างจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้น ขอให้ช่วยกันดูแล มิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งพระทัยที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์
คู่แผ่นดินสืบไป...

                สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชเสาวนีย์กับ ท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ และพลเอก นพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕ ความโดยสรุปว่า “...ขอให้ร่วมมือกับ แม่ทัพภาคที่ ๑ และ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ดำเนินการ เรื่อง การปลูกพืชอาหารช้าง การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่ามีที่อยู่ที่กินของช้างที่แก่งกระจาน เช่นเดียวกับที่กุยบุรี...”

 

ผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ ๒๕๖๒

           กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจัดหาและรวบรวมพืชอาหารช้าง (ไผ่พันธุ์ท้องถิ่น) จำนวน ๔๐,๐๐๐ กล้า ปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า ขนาด ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๒ แห่ง ปรับปรุงทุ่งหญ้าสำหรับเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า จำนวน ๒๐๐ ไร่ ปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์ป่า (โป่งเทียม) จำนวน ๒๐ แห่ง

 

     

        จัดหาและรวบรวมพื้ชอาหารช้างป่า (ไผ่พันธุ์ท้องถิ่น)            ปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า

                                                                                   ขนาด ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

                           

     

    ปรับปรุงทุ่งหญ้าสำหรับเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า         ร่องรอยเท้าช้างและสัตว์ป่าที่มากินโป่งเทียม      

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

           ช่วยเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของช้างป่า รวมทั้งสัตว์ป่าอื่น ส่งผลให้ช้างป่าไม่ออกจากป่ามากินพืชผลการเกษตรของราษฎร ลดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่า นอกจากนี้ ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ

สามารถดาวน์โหลด pdf.ที่นี่