ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการการศึกษาทดลองการใช้เศษวัสดุในท้องถิ่นสิบชนิด เพื่อลดต้นทุนการผลิตเห็ดเป๋าฮื้อ

ปีที่เริ่มวิจัย
-
ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
สาขางานวิจัย
การพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ,
อื่นๆ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 
        เห็ดเป๋าฮื้อ (ภาพที่ 1) เป็นเห็ดชนิดหนึ่งในสกุลเห็ดนางรมหรือสกุล Pleurotus  เห็ดเป๋าฮื้อมีเนื้อแน่น  รสอร่อยและรสชาติคล้ายกับหอยทะเลชื่อเดียวกัน  เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่ขายได้ราคาดีกว่าเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ และมีราคาค่อนข้างจะสม่ำเสมอตลอดปี  ด้วยเหตุที่เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่มีเนื้อแน่นจึงทำให้คุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวดีกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ   สามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้นานโดยคงความสดอยู่ได้เป็นสัปดาห์หรือนานกว่า  นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปเป็นทำเห็ดกระป๋อง เพราะโครงสร้างของเห็ดเป๋าฮื้อในกระป๋องไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก  ไม่ยุบตัวมากเมื่อเทียบกับเห็ดชนิดอื่น ๆ   ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของเห็ดเป๋าฮื้อคือสามารถเพาะเลี้ยงได้ในทุกฤดูกาลและในทุกภาคของประเทศไทยโดยไม่ต้องมีการปรับสภาพอุณหภูมิในโรงเพาะเลี้ยง

ภาพที่ 1   เห็ดเป๋าฮื้อ (Pleurotus abalones)

ประวัติการเพาะเลี้ยง
        กล่าวกันว่ามีการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อกันมากในเอเชีย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน  เกาหลี  และ  ไทย  ทางด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแถบที่มีการเพาะเลี้ยงเห็ดกันมากนั้นได้ปรากฏรายงานการกล่าวถึงเห็ดเป๋าฮื้อเมื่อ ค.ศ. 1969 ว่ามีผู้พบเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่บนตอของต้นเมเปิล  แต่ในด้านการเพาะเลี้ยงมีรายงานว่าไม่ค่อยได้ผลดีนัก  นักวิจัยรวมทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเห็ดเป๋าฮื้อมีข้อจำกัดในการเพาะเลี้ยง กล่าวคือชอบที่จะขึ้นบนถุงอาหารที่ประกอบด้วยฟางข้าวมากกว่าฟางของข้าวสาลี   อีกทั้งเป็นเห็ดที่ไม่ทนอุณหภูมิต่ำจึงเป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีผู้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อมากนักในประเทศนี้
        สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อในประเทศไทยนั้นมีรายงานว่าในปี พ.ศ. 2515 บริษัทอาหารสากลได้นำผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเพาะเลี้ยงเห็ดมาจากไต้หวันเพื่อทดลองเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่  และเพาะเลี้ยงได้สำเร็จเป็นครั้งแรก   จากนั้นได้นำไปผลิตที่จังหวัดลำปางใน พ.ศ. 2516   จึงทำให้การเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ได้รับความนิยมและมีการศึกษาวิจัยกันมากในระยะนั้น  ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นนำสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อก้านยาวซึ่งมีลักษณะเด่นที่ความยาวของก้านดอก   ส่วนของก้านดอกของสายพันธุ์นี้สามารถนำมารับประทานได้ในขณะที่เห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์อื่นมีก้านดอกแข็งเกินไป  ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีการผลิตเห็ดเป๋าฮื้อในปริมาณค่อนข้างมากและผลผลิตส่วนใหญ่นำส่งออกไปยังญี่ปุ่น   ต่อมาฐานการผลิตเห็ดเป๋าฮื้อได้เปลี่ยนไปเป็นเวียตนามจึงทำให้ความนิยมในการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อในไทยลดลงไปบ้าง  แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาทดลองเพื่อผลักดันให้การเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อในไทยได้ก้าวหน้าขึ้นยังคงมีต่อไปอย่างต่อเนื่องและผลการศึกษาวิจัยทำให้ได้เทคโนโลยีในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ   ส่งผลให้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อกันอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทั่วไปและการจำแนก
        เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่ผลิตดอกเห็ดซึ่งมีหมวกดอก (cap) คล้ายกับหมวกดอกของเห็ดนางรมโดยทั่วไป  หมวกดอกมีลักษณะแบนและเว้าลงตรงกลางเกิดเป็นแอ่งเล็กน้อย (ภาพที่ 2)  ขนาดความกว้างของหมวกดอก คือ 5-15 เซนติเมตร ผิวของหมวกดอกแห้ง  ไม่เปียกเป็นเมือก  สีครีมถึงขาวนวล  ครีบดอก (gill) กว้าง  อาจจะอยู่ห่างกัน (ภาพที่ 3)  ครีบดอกมีสีขาวถึงสีครีม  ก้านดอก (stalk) ใหญ่และหนา  อวบแน่นและแข็งแรง (ภาพที่ 2 และ 3)  ปกติก้านดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 เซนติเมตร  ยาว 5-8 เซนติเมตร  ดอกเห็ดบางดอกมีก้านดอกสั้นมาก  ก้านดอกไม่ติดตรงกลางดอก  แต่จะติดที่บริเวณขอบของหมวกดอกด้านใดด้านหนึ่ง  สปอร์มีขนาดยาว x กว้าง=11-14  x  4-5 ไมครอน  เส้นใยเป็นระบบ monomitic เซลล์ของครีบดอกซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสปอร์นั้นสร้างสปอร์ 2 แบบทำให้มีทั้งสปอร์ที่เกี่ยวกับเพศ (sexual spore) และ สปอร์ที่ไม่เกี่ยวกับเพศ (asexual spore)   สปอร์ที่เป็น sexual spore เกิดมาจากโคนิเดีย (conidia) ที่มี 2 เซลล์ (tow-celled conidia) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเส้นใย (hypha) ที่มีสภาพเป็น dikaryotic แล้วพัฒนาเป็นกลุ่มเส้นใย (mycelium) ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันของเส้นใยหลาย ๆ เส้น และมีสภาพเป็น dikaryotic   ส่วนสปอร์ที่เป็น asexual spore เกิดมาจาก conidia ที่เป็นเซลล์เดี่ยวแล้วพัฒนาเป็นเส้นใยที่มีสภาพเป็น monokaryotic  ซึ่งเส้นใยแบบนี้ไม่สามารถเจริญเป็นดอกเห็ด

 

ภาพที่ 2   ลักษณะของดอกเห็ดเป๋าฮื้อ C = cap ;  G = gill ;  S = stalk

 

ภาพที่ 3   ครีบดอก (gill : G) และ ก้านดอก (stalk : S) ของเห็ดเป๋าฮื้อ


          การแพร่กระจายของเห็ดเป๋าฮื้ออยู่ในแถบร้อนของโลกทางด้านเอเชีย  ได้แก่  จีน  ไต้หวัน  ภูฐาน  ลาว  พม่า  และ  ไทย  ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบในแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในรัฐ Louisiana, Mississippi และ North Carolina   นอกจากนี้ยังพบเห็ดชนิดนี้กระจายอยู่ในแถบอัฟริกาใต้ด้วย   ในสภาพธรรมชาติพบตามตอไม้ผุหรือตามโคนต้นไม้ที่มีใบกว้างโดยทั่วไป

การจำแนกเห็ดเป๋าฮื้อมีดังนี้

         เห็ดในสกุลเห็ดนางรม (Pleurotus) เป็นเห็ดประเภท dimorphic คือมีวงจรชีวิตที่เป็นทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ  เห็ดในสกุลเห็ดนางรมนี้มีกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งมีลักษณะรูปร่างภายนอกที่ดูเหมือนกับสัตว์ทะเลที่ชื่อ abalone และมีชื่อสามัญไทยว่าเห็ดเป๋าฮื้อ  เห็ดในกลุ่มเห็ดเป๋าฮื้อ (Pleurotus spp.) นี้เมื่อจำแนกชนิดแล้วพบว่ามีมากกว่า 1 ชนิด แต่ทุกชนิดแม้จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันกลับมีลักษณะที่ดูจากภายนอกคล้ายคลึงกันมาก  และมี 2 ชนิดซึ่งมีลักษณะเหมือนกันมากจนเกือบจะแยกกันไม่ออก คือ Pleurotus abalones Han, Chen&Cheng และ P. cystidiosus O.K.Miller    โดยที่ชนิดแรกเป็นเห็ดเป๋าฮื้อที่เพาะเลี้ยงกันในเอเชีย   และเพาะเลี้ยงกันมากในไทยและไต้หวัน  ส่วนชนิดหลังเป็นเห็ดเป๋าฮื้อที่ขึ้นบนไม้เมเปิ้ล  พบที่รัฐ Indiana ของสหรัฐอเมริกา  เห็ดเป๋าฮื้อทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะแตกต่างกันเพียงสีของหมวกดอกและสปอร์  กล่าวคือ P. abalones มีหมวกดอกสีเข้ม  มี cystidia หรือเซลล์ที่ไม่ผลิตสปอร์ (sterile cell ; nonspore-producing cell)  เป็นแบบ pileocystidia ซึ่งมีสีขาว  และมีเซลล์ที่ไม่ผลิตสปอร์อีกแบบหนึ่งคือ cheilocystidia  มีสีน้ำตาล  ในขณะที่ P. cystidiosus มีหมวกดอกสีอ่อน มี pileocystidia สีค่อนข้างใสหรือออกสีน้ำตาล   ส่วน cheilocysti- dia มีผนังบาง  สำหรับเห็ดเป๋าฮื้ออีก 3 ชนิด คือ P. smithii Guzman, P. corticarus Jong&Peng และ P. dryinus (Pers. : Fr) Kumm   นั้นมีความแตกต่างที่แยกชนิดออกจากกันได้ง่ายกว่า
 
สายพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง
        การที่ไต้หวันและจีนมีการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อมากกว่าแหล่งอื่นจึงทำให้ 2 ประเทศนี้มีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ของเห็ดเป๋าฮื้อเพื่อการค้าอย่างจริงจังและได้สายพันธุ์ใหม่ที่เป็นสายพันธุ์ที่ดีกว่าเดิม  สายพันธุ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมี 4 สายพันธุ์ ดังนี้

        1. เห็ดเป๋าฮื้อดำ เป็นสายพันธุ์แรก ๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์  ลักษณะของเห็ดสายพันธุ์นี้คือ ดอกเห็ดมีโครงสร้างที่แน่นมากแต่ไม่เหนียวจึงเหมาะสำหรับเป็นพันธุ์ที่ใช้ทำเห็ดกระป๋อง  เห็ดเป๋าฮื้อดำเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิระหว่าง 24-28 องศาเซลเซียส ถ้าเพาะเลี้ยงในที่อุณหภูมิสูงกว่าระดับดังกล่าวดอกเห็ดที่ได้จะมีคุณภาพต่ำ  ดอกเห็ดเบาและโครงสร้างไม่แน่น  ทำให้รสชาติไม่ดีเท่าที่ควร  แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินกว่าระดับที่ระบุไว้จะทำให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตช้ามาก  เห็ดเป๋าฮื้อสีดำมีสีของหมวกดอกเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ  ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้
        2. เห็ดเป๋าฮื้อสีเหลือง เห็ดสายพันธุ์นี้กลายพันธุ์มาจากเห็ดเป๋าฮื้อสีดำ  โครงสร้างของดอกเห็ดไม่แน่นเท่าสายพันธุ์สีดำแม้ว่าขนาดของดอกเห็ดจะใหญ่กว่า  หมวกดอกมีสีสด  นิยมบริโภคในรูปของเห็ดสด  เห็ดเป๋าฮื้อสีเหลืองใช้ทำเป็นเห็ดกระป๋องได้แต่จะต้องมีวิธีการปรุงแต่งจึงจะทำให้คุณภาพในการแปรรูปดีและเป็นที่ยอมรับ  เห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์นี้เป็นเห็ดทนร้อน  เมื่อปลูกในสภาพที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูงก็จะยังคงให้ผลผลิตดี
       3. เห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น  เป็นสายพันธุ์ที่ควรบริโภคในลักษณะเห็ดสด  ดอกเห็ดมีสีเทาแก่  เจริญเติบโตดีในสภาพอุณหภูมิต่ำ  ในช่วง 15-22 องศาเซลเซียส  เหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงในภาคเหนือ  ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นในช่วงหนาว
        4. เห็ดเป๋าฮื้ออินเดีย ดอกเห็ดมีสีเทาเข้มจนเกือบดำ  ดอกเห็ดเป๋าฮื้ออินเดียมีขนาดไม่ใหญ่นักจนถึงปานกลาง  เนื้อไม่แน่นแต่ดอกเห็ดมีกลิ่นหอม  เจริญเติบโตดีในระดับอุณหภูมิ 16-24 องศาเซลเซียส  เมื่อเพาะเลี้ยงในสภาพที่อุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปดอกเห็ดจะเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูง

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
        เห็ดเป๋าฮื้อตอบสนองเป็นอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมในขณะเพาะเลี้ยง  ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดนี้มีดังนี้ 
        1.  แสง ช่วยในการกระตุ้นให้เห็ดเป๋าฮื้อออกดอกและช่วยในการเจริญเติบโตของหมวกดอก  เห็ดชนิดนี้ถ้าเติบโตในที่มืดจะมีก้านดอกยาวและหมวกดอกมีสีเข้ม แต่ถ้ามีแสงสว่างในระยะที่มีการขยายขนาดของดอกเห็ดหมวกดอกจะมีสีอ่อนและก้านดอกสั้น
     2. อุณหภูมิ ในระยะที่ดอกเห็ดมีการขยายขนาดควรจะควบคุมอุณหภูมิในสภาพเพาะเลี้ยงให้อยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของดอกเห็ด  ถ้าอุณหภูมิต่ำว่า 12 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า 36 องศาเซลเซียส เห็ดจะออกดอกได้น้อยและดอกเห็ดมีลักษณะแคระแกรน   มีรูปร่างผิดปกติ
        3. ความชื้น เห็ดเป๋าฮื้อต้องการความชื้นค่อนข้างสูงจนถึงสูงมากสำหรับการเจริญเติบโต  ระดับของความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมภายในโรงเปิดดอก คือ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นระดับนี้จะช่วยให้ดอกเห็ดมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก

การเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อ
        การเพาะเลี้ยงเห็ดแต่ละชนิดนั้นถึงแม้ว่าจะมีเทคนิคเฉพาะอย่างที่แตกต่างกันไปเพื่อให้การเพาะเลี้ยงประสบผลสำเร็จก็ตาม  แต่ขั้นตอนของการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ มีพื้นฐานเดียวกัน  ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนตามลำดับดังนี้   1) การเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์   2) การขยายเชื้อ   3) การกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด    4) การเลี้ยงให้ดอกเห็ดเจริญเติบโต  โดยที่การปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามสภาพและพื้นที่ของการเพาะเลี้ยงตลอดจนทักษะของผู้เพาะเลี้ยง  กล่าวถึงรายละเอียดของการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนได้ดังนี้
        1. การเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์  การเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์เป็นการนำเนื้อเยื่อของดอกเห็ดเป๋าฮื้อที่ตัดออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ มาเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์เพื่อให้เซลล์ของเห็ดงอกเส้นใยออกมา  ต่อมาเมื่อเส้นใยเหล่านั้นได้รับอาหารสังเคราะห์ที่เตรียมไว้ให้จึงมีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเพียงพอต่อการนำไปขยายให้มากขึ้นเพื่อให้เส้นใยรวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่นแล้วพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด
        ขั้นตอนของการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์นี้เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเพราะนอกจากจะเป็นการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อให้มีส่วนประกอบของอาหารที่มีชนิดและปริมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ของเนื้อเยื่อเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นแล้วยังต้องให้อาหารเพาะเลี้ยงนั้นมีส่วนผสมต่าง ๆ ที่พอเหมาะเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เซลล์พัฒนาไปเป็นเส้นใยที่มีสุขภาพดีอีกด้วย   มิเช่นนั้นแล้วจะมีผลต่อขั้นตอนที่สองคือการขยายเชื้อเนื่องจากเส้นใยเริ่มต้นที่ไม่แข็งแรงพอนั้นจะมีผลทำให้การเพิ่มปริมาณของเส้นใยในอาหารขยายเชื้อไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  
        ความสะอาดในการปฏิบัติตลอดขั้นตอนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากเป็นการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้ออื่นจากภายนอก   การเขี่ยเชื้อจากดอกเห็ดเป๋าฮื้อลงไปเลี้ยงในขวดอาหารเลี้ยงเชื้อต้องทำภายในตู้เขี่ยเชื้อในสภาพปลอดเชื้อ  การปฏิบัติที่ถูกวิธีจะช่วยให้เชื้อบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อดอกเห็ดไม่เกิดการปนเปื้อน   ไม่ถูกทำลายและรุกรานโดยเชื้ออื่น
        อาหารที่ใช้เลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์เป็นอาหารสังเคราะห์ซึ่งประกอบไปด้วยแหล่งคาร์โบไฮ-เดรตและน้ำตาลโมเลกุลเล็ก  รวมทั้งสารเสริมชนิดต่าง ๆ โดยมีวุ้นเป็นตัวกลางในการยึดสารเหล่านั้นและให้พื้นผิวเป็นที่เกาะและแทรกซึมของเส้นใย   สำหรับการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดเป๋าฮื้อนั้นมีผลการศึกษาวิจัยจากหลายแหล่งรายงานว่าอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีสูตรส่วนผสมที่ง่ายที่สุดและสามารถใช้ได้ดีกับการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดเป๋าฮื้อคืออาหารวุ้น PDA (potato-dextrose-agar) ซึ่งอาหารสูตรนี้ไม่มีการเพิ่มสารเสริมลงไปจึงเป็นสูตรที่ประหยัด
        ส่วนผสมของอาหาร PDA คือ มันฝรั่ง 200 กรัม  น้ำตาลเด็กซโตรส 20 กรัม  ผงวุ้น 20 กรัม  และน้ำสะอาด 1 ลิตร  ซึ่งนับได้ว่าเป็นอาหารสังเคราะห์ที่มีแต่เพียงแหล่งอาหารหลักเท่านั้นโดยไม่มีการใส่สารเสริมใด ๆ   และวิธีการเตรียมอาหารไม่ยุ่งยาก   โดยการนำมันฝรั่งไปล้างให้สะอาด  ปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม ใส่ลงไปในน้ำ 1 ลิตร แล้วนำไปต้มจนกระทั่งมันฝรั่งสุก เปื่อย จากนั้นนำไปกรองเอาแต่น้ำ นำไปต้มอีกครั้งจนเดือด เติมน้ำตาลเด็กซโตรสลงไป เมื่อน้ำตาลละลายดีแล้วเติมผงวุ้นลงไป คนให้ละลายจนเข้ากันดี  ทิ้งให้เย็นแล้วนำไปบรรจุในขวดแบน  อุดปากขวดด้วยจุกสำลี  ปิดทับด้วยกระดาษแล้วรัดด้วยยางรัด  จากนั้นนำไปนึ่งในหม้อนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อที่อาจจะติดมา  หม้อนึ่งที่ใช้นึ่งอาหารวุ้นเป็นหม้อนึ่งความดันซึ่งตั้งความดันไว้ที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว  นึ่งขวดอาหารวุ้นไว้นานครึ่งชั่วโมง  เมื่อเอาขวดออกมาจากหม้อนึ่งแล้วนำไปวางเอียงไว้เพื่อให้ได้พื้นผิวของอาหารวุ้นมากที่สุด  จะได้มีพื้นที่ผิวให้เส้นใยจากเนื้อเยื่อดอกเห็ดได้เจริญเต็มที่   เป็นการประหยัดทั้งอาหารวุ้นและขวดบรรจุอาหารวุ้น  เมื่ออาหารในขวดเย็นลงก็สามารถนำไปเขี่ยเชื้อเห็ดเพื่อเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ได้
        เลือกดอกเห็ดเป๋าฮื้อที่สมบูรณ์เต็มที่มาสกัดเอาเนื้อเยื่อ  ดอกเห็ดที่เลือกมาจะต้องอยู่ในระยะการเจริญเติบโตก่อนการปล่อยสปอร์  การเขี่ยเชื้อนี้ทำในตู้ปลอดเชื้อตลอดขบวนการโดยการนำดอกเห็ดมาทำความสะอาดเสียก่อนแล้วฉีกครึ่งตามยาวเพื่อเขี่ยเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านในดอกเห็ดลงไปในขวดอาหารวุ้น   จากนั้นใช้เข็มเขี่ยที่ผ่านการล้างและลนไฟแล้วมาเขี่ยเนื้อเยื่อของดอกเห็ดที่ฉีกไว้แล้วนั้น  เขี่ยเนื้อเยื่อเฉพาะที่บริเวณกลางของก้านดอกในส่วนที่อยู่ติดกับหมวกดอก  เขี่ยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในขวดอาหารวุ้น  แล้วปิดจุกขวดไว้ดังเดิม  นำขวดอาหารไปบ่มไว้ในห้องที่สะอาด  รอจนกระทั่งเส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อเจริญจนเต็มผิวหน้าของอาหารวุ้น  จากนั้นจึงนำไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือการขยายเชื้อในอาหารเมล็ดธัญพืช
        2. การขยายเชื้อ เป็นการนำเส้นใยบริสุทธิ์มาเลี้ยงให้มีเส้นใยเพิ่มขึ้นได้ปริมาณมากพอสำหรับการนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อให้เกิดดอกเห็ด  การเลี้ยงเส้นใยในระยะนี้เป็นการเลี้ยงในเมล็ดธัญพืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตกับเส้นใยหรือเชื้อเห็ด  เมล็ดธัญพืชที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงเพื่อขยายเชื้อนี้ได้แก่เมล็ดข้าวฟ่าง  ข้าวโพด  ข้าวเปลือก  และ  ข้าวสาลี  เป็นต้น  แต่ที่นิยมใช้กันมากคือข้าวฟ่าง เพราะหาได้ง่าย ราคาถูก และ หัวเชื้อที่ได้ซึ่งหมายถึงเมล็ดธัญพืชที่มีเส้นใยของเห็ดเกาะคลุมอยู่นั้นมีลักษณะร่วน  สะดวกต่อการเขี่ยลงไปในอาหารก้อนเชื้อเพื่อการสร้างดอกเห็ด
        อาหารที่ใช้เลี้ยงเส้นใยในขั้นตอนนี้ประกอบด้วยเมล็ดธัญพืชอย่างเดียว  ไม่มีส่วนผสมอื่นใด   ทำโดยการนำเมล็ดข้าวฟ่างมาคัดเอาสิ่งเจือปนออกให้หมด  ล้างเมล็ดหลาย ๆ ครั้งด้วยน้ำจนเมล็ดสะอาด  แช่เมล็ดในน้ำทิ้งไว้นาน 12-18 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดอ่อนลงและต้มให้เปื่อยได้เร็วขึ้น  ในขณะที่เมล็ดแช่อยู่ในน้ำควรจะเปลี่ยนน้ำสัก 2-3 ครั้ง  จากนั้นนำเมล็ดไปต้มหรือนึ่งจนเมล็ดสุกพอดี  โดยสังเกตจากเปลือกเมล็ดถ้าเมล็ดปริเป็นอันว่าใช้ได้  นำเมล็ดไปผึ่งบนตะแกรง  เกลี่ยให้เมล็ดกระจาย  ผึ่งลมทิ้งไว้จนเมล็ดหมาด  บรรจุเมล็ดลงไปในขวดแบนประมาณครึ่งหนึ่งของขวด  อุดด้วยจุกสำลี  หุ้มกระดาษก่อนรัดด้วยยางรัด  นึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเช่นเดียวกับการนึ่งอาหารวุ้น  เมื่อนำขวดออกมาจากหม้อนึ่งให้วางเรียงไว้จนเมล็ดข้าวฟ่างในขวดเย็นลงจึงนำไปเขี่ยเชื้อบริสุทธิ์มาใส่ในขวด  ก่อนจะวางขวดเรียงเพื่อรอเขี่ยเชื้อนั้นให้เขย่าขวดเพื่อให้เมล็ดข้าวฟ่างภายในขวดกระจายดีเสียก่อน   จะได้เป็นการกระจายความชื้นภายในขวดให้สม่ำเสมอด้วย  ต้องระวังไม่ให้จุกสำลีเปียกน้ำเพราะจะทำให้เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียมีโอกาสเจริญเติบโตในจุกสำลีแล้วต่อมาลามลงไปในอาหารขยายเชื้อจะทำให้เชื้อเห็ดเป๋าฮื้อปนเปื้อนและเสียหายได้
        เมื่อพร้อมที่จะเขี่ยเชื้อบริสุทธิ์ลงเลี้ยงในอาหารเมล็ดข้าวฟ่างจึงเลือกขวดเชื้อบริสุทธิ์ที่มีเส้นใยเดินจนเต็มพื้นที่ผิวของอาหารวุ้นโดยเลือกใช้ขวดที่เส้นใยเพิ่งขยายเต็มขวดได้ไม่นานนักเนื่องจากระยะนี้เป็นระยะที่เชื้อแข็งแรงและตื่นตัวเต็มที่  ถ้าหากใช้ขวดเชื้อบริสุทธิ์ที่มีเชื้อหรือเส้นใยที่แก่เกินไปเชื้อที่อยู่ภายในขวดนั้นมักจะไม่แข็งแรงและเส้นใยเจริญเติบโตช้า  การเขี่ยเชื้อลงขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่างต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อในสภาพปลอดเชื้อเช่นกัน  เครื่องมือที่ใช้จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อ  ทำความสะอาดมาแล้วเรียบร้อย  การเขี่ยเชื้อครั้งนี้เป็นการเขี่ยเนื้อวุ้นที่มีเส้นใยเกาะและฝังอยู่ออกมาจากขวดอาหารวุ้น  เนื้อวุ้นที่เขี่ยออกมาจะต้องเป็นชิ้นที่ไม่เล็กจนเกินไป  ใส่อาหารวุ้นที่มีเส้นใยเดินอยู่เต็มลงไปในขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่างให้ชิ้นวุ้นนั้นลงไปอยู่ที่บริเวณกลางขวด  อุดจุกสำลีไว้ดังเดิม  เขย่าขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างกลบชิ้นอาหารวุ้นไว้  การที่ชิ้นวุ้นที่มีเส้นใยอยู่ในตำแหน่งที่ลึกลงไปกลางขวดนั้นจะทำให้เชื้อเดินเต็มขวดได้เร็วขึ้น  หลังจากเขี่ยเชื้อแล้วนำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปบ่มไว้ในห้องที่ไม่มีแสง  จนกระทั่งเส้นใยเจริญและขยายปริมาณอยู่เต็มขวดเมล็ดข้าวฟ่างแล้วจึงเป็นการพร้อมที่จะย้ายเชื้อหรือเส้นใยไปเลี้ยงในอาหารผสมหรือก้อนเชื้อที่มีส่วนผสมของอาหารและวัสดุจำเป็นอื่น ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เส้นใยรวมตัวกันและพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดได้ในเวลาต่อมา  
        3. การเลี้ยงเส้นใยเพื่อกระตุ้นจุดกำเนิดดอกเห็ด  การเลี้ยงเส้นใยในขั้นตอนนี้เป็นการเลี้ยงในอาหารผสมหรือก้อนเชื้อซึ่งมีส่วนผสมของอาหารที่ยุ่งยากกว่าในขั้นตอนของการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์และขั้นตอนของการขยายเชื้อ  เนื่องจากการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์และการขยายเชื้อนั้นเป็นเพียงการเลี้ยงเส้นใยให้มีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณให้มีเส้นใยให้มากเท่านั้นจึงใช้อาหารพื้นฐานได้  แต่ในขั้นตอนของการเลี้ยงเพื่อให้เส้นใยมีการขยายปริมาณด้วยและในขณะเดียวกันก็ต้องเกิดการกระตุ้นให้กลุ่มเส้นใยพัฒนาก้าวหน้าไปเป็นดอกเห็ดด้วย  ดังนั้นอาหารในก้อนเชื้อจึงต้องประกอบด้วยวัสดุที่สามารถเป็นแหล่งอาหารที่ให้อาหารที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอและเป็นวัสดุประเภทที่เหมาะสมที่เส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อจะสามารถย่อยวัสดุเหล่านั้นเพื่อให้ได้ธาตุคาร์บอนที่เพียงพอต่อการเจริญและพัฒนาของเส้นใย  นอกจากนี้ยังต้องมีวัสดุที่ปลดปล่อยอาหารเสริมออกมาด้วยเพื่อการเจริญเติบโตของเส้นใยตลอดจนการเกิดจุดกำเนิดดอกเห็ด (primordia) จากกลุ่มเส้นใยซึ่งจะพัฒนาและก้าวหน้าต่อไปเป็น ฟรุตติ้งบอดี้ (fruiting body) และดอกเห็ดที่สมบูรณ์ตามลำดับ
        เนื่องจากเห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดในสกุลเห็ดนางรมและเห็ดทุกชนิดของสกุลนี้ชอบขึ้นบนตอไม้และได้อาหารมาจากการย่อยเนื้อไม้  ดังนั้นส่วนผสมของอาหารในก้อนเชื้อที่ใช้เลี้ยงกลุ่มเส้นใยในขั้นตอนนี้จึงควรจะมีขี้เลื่อยเป็นส่วนผสมหลัก  แต่จากการศึกษาทดลองซึ่งดำเนินการโดยหลายหน่วยงานพบว่าเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อสามารถเจริญเติบโตบนอาหารที่อยู่ในลักษณะของปุ๋ยหมักได้เช่นกัน    เป็นต้นว่าปุ๋ยหมักฟางข้าวและปุ๋ยหมักซังข้าวโพด เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามอาหารเลี้ยงเชื้อหรือก้อนเชื้อซึ่งผลิตเป็นก้อนเชื้อขี้เลื่อย  ก้อนเชื้อฟางข้าวหมัก หรือ ก้อนเชื้อซังข้าวโพดหมัก ที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกชนิดทนร้อนนั้นมีส่วนผสมและวิธีการเตรียมที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้อาหารแต่ละสูตรยังต้องมีการใส่สารเสริมหรือส่วนผสมที่สลายตัวแล้วให้อาหารเสริมลงไปในส่วนผสมด้วย  เนื่องจากการพัฒนาของเส้นใยไปเป็นดอกเห็ดตลอดจนการเจริญเติบโตของดอกเห็ดจากจุดกำเนิดดอกเห็ดจนถึงระยะที่ดอกเห็ดเติบโตสมบูรณ์เต็มที่พร้อมที่จะให้เก็บเกี่ยวนั้นจะต้องมีสารอาหารอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคาร์บอนมาช่วยในการพัฒนาและเจริญเติบโตด้วย   ทำให้สูตรอาหารเพื่อผสมเป็นก้อนเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อมีหลายสูตรแล้วแต่ว่าวัสดุหลักจะเป็นชนิดใด  สูตรอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นมีดังต่อไปนี้
            3.1 ก้อนเชื้อจากขี้เลื่อย  การใช้ขี้เลื่อยในการทำก้อนเชื้อเพื่อเลี้ยงเส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อนี้ไม่จำเป็นจะต้องนำขี้เลื่อยไปหมักก่อน  เพราะเส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อมีคุณสมบัติแบบเดียวกับเส้นใยของเห็ดชนิดอื่น ๆ ในสกุลเห็ดนางรมที่มีเอ็นไซม์ซึ่งสามารถย่อยเซลลูโลสและลิกนินได้โดยตรง  ขี้เลื่อยที่เหมาะต่อการนำมาเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อ คือ ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนบางชนิด เช่น ขี้เลื่อยไม้เลือดควาย  ขี้เลื่อยไม้ยางพารา  ขี้เลื่อยไม้นุ่น  ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา  ขี้เลื่อยไม้มะกอกป่า  ขี้เลื่อยไม้ไทร  และ  ขี้เลื่อยไม้โพธิ์  เป็นต้น  แต่ขี้เลื่อยที่เพาะเลี้ยงแล้วได้ผลดีคือขี้เลื่อยไม้ยางพาราและขี้เลื่อยไม้เลือดควาย  ส่วนขี้เลื่อยไม้อื่น ๆ  สามารถใช้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อได้เช่นกันแต่ให้ผลผลิตดอกเห็ดต่ำ   การที่ขี้เลื่อยไม้ยางพาราใช้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อได้ผลดีนั้นเพราะว่าเนื้อไม้ของยางพาราอ่อนทำให้ย่อยได้ง่ายกว่าไม้เนื้อแข็ง   นอกจากนี้ขี้เลื่อยไม้ยางพารายังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อเนื่องจากเป็นขี้เลื่อยที่หาได้ค่อนข้างง่ายและราคาไม่แพงมากนัก

ส่วนผสมสูตรต่าง ๆ ของก้อนเชื้อที่มีวัสดุหลักเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพารามีดังนี้

       วิธีการทำก้อนเชื้อคือคลุกส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันแล้วใช้น้ำเป็นตัวปรับความชื้นของส่วนผสม  เมื่อทดสอบความชื้นว่าพอเหมาะดีแล้วโดยการกำส่วนผสมไว้ในมือแล้วบีบดูว่าไม่มีน้ำไหลออกมาและส่วนผสมอยู่ตัวแล้วจึงนำไปบรรจุในถุงพลาสติกทนร้อนทรงสี่เหลี่ยม บรรจุอาหารผสมลงไปถุงละ 800 กรัม  อัดให้แน่น  ใส่คอขวดพลาสติกที่ปากถุง  อุดปากขวดด้วยจุก สำลีแล้วหุ้มด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่ง  รัดคอขวดด้วยยางรัด  จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ
        การนึ่งฆ่าเชื้อให้กับถุงที่บรรจุก้อนเชื้อนั้นสามารถนึ่งโดยใช้หม้อนึ่งความดันหรือหม้อนึ่งพื้นบ้านได้ทั้งสองแบบ  ถ้าใช้หม้อนึ่งความดันต้องใช้ความดันที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้วและนึ่งนานครึ่งชั่วโมง  แต่ถ้านึ่งด้วยหม้อนึ่งพื้นบ้านต้องนับเวลาของการนึ่งหลังจากที่น้ำในหม้อนึ่งเดือดแล้วและมีไอน้ำพุ่งออกมาอย่างสม่ำเสมอ  นึ่งก้อนเชื้อนาน 3 ชั่วโมงโดยประมาณ  เมื่อนึ่งจนครบเวลาที่กำหนดแล้ว นำก้อนเชื้อมาเรียงไว้ในห้องที่สะอาด  และต้องรอให้ก้อนเชื้อเย็นลงก่อนที่จะเขี่ยเชื้อลงไปเลี้ยง
            3.2 ก้อนเชื้อจากฟางหมัก  การใช้ฟางข้าวเป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อนั้นจะต้องนำฟางไปย่อยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ   ขนาดความยาว 4-6 นิ้ว แล้วนำไปหมักเสียก่อน  จากนั้นจึงจะผสมส่วนผสมอื่น ๆ ลงไป  ส่วนผสมของก้อนเชื้อฟางหมักมีหลายสูตร ดังนี้

 


         การผสมส่วนประกอบของก้อนเชื้อดำเนินการตามขั้นตอนโดยมีส่วนประกอบของส่วนผสมเป็นตัวกำหนดวิธีการปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปตามสูตร  เริ่มจากการนำฟางสับไปกองไว้แล้วรดน้ำอย่างทั่วถึงจนชุ่ม  หรือนำฟางสับไปแช่ในน้ำจนอิ่มตัว  จากนั้นนำฟางที่ชุ่มน้ำแล้วมาเกลี่ยลงบนพื้น  ใส่ปุ๋ยยูเรียหรือแอมโนเนียมฟอสเฟตลงไป  คลุกเคล้าให้เข้ากันดี  หมักกองปุ๋ยฟางกองนั้นโดยการขึ้นกองปุ๋ยแล้วคลุมไว้ด้วยแผ่นพลาสติกสีดำนาน 3-4 วัน  เมื่อครบกำหนดเปิดแผ่นพลาสติก  ใส่ปูนขาวลงไปคลุกให้เข้ากันแล้วหมักไว้ดังเดิมอีก 3-4 วัน  การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการกลับกองปุ๋ยฟางครั้งที่ 1 แล้วคลุมแผ่นพลาสติกเพื่อหมักต่อ  กลับกองปุ๋ยฟางหมักครั้งที่ 2 และครั้งนี้ใส่ปุ๋ยดับเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟตลงไปด้วย  หมักต่ออีก 3-4 วัน  แล้วกลับกองปุ๋ยฟางหมักอีก 1 ครั้ง  เมื่อคลุกเคล้าส่วนผสมเสร็จแล้วจึงบรรจุปุ๋ยฟางหมักซึ่งได้ที่แล้วนั้นลงถุงถุงละ 800 กรัม  สำหรับสูตรที่มีรำละเอียดเป็นส่วนผสมให้ผสมรำละเอียดลงไปเมื่อกลับกองปุ๋ยฟางหมักครั้งสุดท้ายแล้ว  เมื่อคลุกรำละเอียดเสร็จแล้วจึงบรรจุลงถุงพลาสติกได้  จากนั้นนำก้อนเชื้อฟางหมักไปนึ่งฆ่าเชื้อ   วิธีการบรรจุลงถุงตลอดจนวิธีการนึ่งก้อนเชื้อใช้วิธีเดียวกันกับการทำก้อนเชื้อจากขี้เลื่อย
            3.3 ก้อนเชื้อจากซังข้าวโพดหมัก การทำก้อนเชื้อจากซังข้าวโพดเป็นวิธีที่ทำได้โดยง่าย  สามารถใช้ซังข้าวโพดหรือละอองของซังข้าวโพดที่เก็บรวบรวมได้จากการสีข้าวโพด  ถ้าใช้ซังข้าวโพดจะต้องนำซังข้าวโพดนั้นไปป่นด้วยเครื่องบดแกลบเสียก่อนโดยบดแบบหยาบหรืออาจบดด้วยเครื่องบดเมล็ดข้าวโพดก็ได้  ส่วนผสมของก้อนเชื้อซังข้าวโพดนี้มีซังข้าวโพดบดหรือละอองซังข้าวโพดหนัก 100 กิโลกรัมแต่เพียงอย่างเดียว   นำมาผสมกับน้ำ 100 ลิตร  คลุกให้เข้ากันแล้วกองเป็นรูปสามเหลี่ยม  คลุมด้วยแผ่นพลาสติกสีดำ  หมักไว้ 3 วัน  เมื่อซังข้าวโพดบดนิ่มดีแล้วจึงบรรจุลงถุง  โดยไม่ต้องใส่รำข้าวลงไปผสมด้วย  นำไปนึ่งด้วยวิธีเดียวกันกับก้อนเชื้อขี้เลื่อย

        เมื่อเตรียมก้อนเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว  นำก้อนเชื้อไปบรรจุชื้อเห็ด   ทำในห้องที่ไม่มีลมโกรก  เป็นห้องที่ปิดมิดชิด  ก่อนบรรจุเชื้อเห็ดลงในก้อนเชื้อให้เตรียมห้องและทำความสะอาดห้อง   โดยใช้ยาฆ่าเชื้อฉีดบริเวณที่จะใช้พื้นที่ให้ทั่ว   เตรียมอุปกรณ์ในการถ่ายเชื้อให้พร้อม  อุปกรณ์เหล่านั้นต้องสะอาด  จากนั้นถ่ายเชื้อจากขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่างโดยที่ในระยะนี้เมล็ดข้าวฟ่างจะมีเส้นใยของเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อขึ้นคลุมอยู่ทั่วเมล็ดแล้ว   นำก้อนเชื้อมา   เอาจุกออก  แทงไม้แหลมที่ปลอดเชื้อลงไปในปากขวดแล้วทำรูไว้ที่กลางก้อนเชื้อเพื่อเป็นรูสำหรับบรรจุเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเส้นใยปกคลุมลงไป การใส่เมล็ดข้าวฟ่างลงไปในก้อนเชื้อที่เตรียมรูไว้นั้นให้ใช้ช้อนเล็ก ๆ ที่ลนไฟฆ่าเชื้อแล้วตักเมล็ดข้าวฟ่างจากขวดอาหารใส่ลงไปในรูแล้วอุดจุกขวดก้อนเชื้อไว้ดังเดิม
        บ่มก้อนเชื้อที่ถ่ายเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อลงไปแล้วไว้ในห้องบ่มเชื้อที่มีอุณหภูมิ 28-32 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะ ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าระดับนี้เส้นใยจะเจริญเติบโตช้า  ระยะของการบ่มก้อนเชื้อคือบ่มนาน 30-45 วัน หลังจากที่ก้อนเชื้อมีเส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อเดินจนเต็มถุงแล้วจึงนำก้อนเชื้อเหล่านั้นไปเปิดดอกในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด
        4. การเลี้ยงให้ดอกเห็ดเติบโตสมบูรณ์ ขั้นตอนนี้เป็นการนำเอาก้อนเชื้อที่ผ่านการบ่มเชื้อแล้วและมีเส้นใยของเชื้อเดินอยู่เต็มถุงแล้วไปไว้ในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดเพื่อเลี้ยงให้จุดกำเนิดดอกเห็ดที่เกิดในระยะบ่มเชื้อให้พัฒนาไปเป็นดอกเห็ดและมีการเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์   มีคุณภาพดี  ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้กลุ่มเส้นใยในก้อนเชื้อพัฒนาไปเป็นจุดกำเนิดดอกเห็ดและเจริญเป็นดอกเห็ด  ทยอยกันออกมาเรื่อย ๆ จนกว่าก้อนเชื้อจะหมดสภาพซึ่งสังเกตได้จากการที่มีดอกเห็ดออกมาจากก้อนเชื้อในปริมาณน้อยลงและดอกเห็ดอยู่สภาพที่ไม่สมบูรณ์  
       ขั้นตอนที่กล่าวไว้ข้างบนนี้เรียกว่าขั้นตอนการเปิดดอกเห็ด  เนื่องจากจะต้องมีการเปิดจุกของก้อนเชื้อเพื่อให้ดอกเห็ดโผล่ออกมาและยืดตัวขยายขนาดเป็นดอกเห็ดขนาดใหญ่อยู่นอกก้อนเชื้อ
        โรงเรือนที่ใช้เปิดดอกเห็ดเป๋าฮื้อจะเป็นโรงเรือนขนาดใดก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้เพาะเลี้ยงและปริมาณของก้อนเชื้อที่ผลิตในแต่ละรุ่น  แต่พื้นของโรงเรือนจะต้องปูด้วยวัสดุที่เก็บความชื้นได้ดีเพราะจะต้องควบคุมและรักษาความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 80-90 เปอร์เซ็นต์  นอกจากนี้ด้านข้างของโรงเรือนควรจะต้องปิดมิดชิดเพื่อป้องกันลมโกรกเข้ามาภายในโรงเรือนด้วย  แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีช่องลมไว้บ้างเพื่อให้อากาศระบายและหมุนเวียน  ในชนบทที่ปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูงเกษตรกรหรือผู้เพาะเลี้ยงเห็ดสามารถใช้ใต้ถุนบ้านดัดแปลงเป็นโรงเพาะเห็ดได้ แต่ต้องควบคุมสภาพภายในโรงเรือนให้ดี
        การนำก้อนเชื้อไปวางในโรงเปิดดอกทำได้ 2 วิธี คือ   1) วิธีการวางกับพื้นในแนวราบโดยวางก้อนเชื้อตั้งขึ้นให้จุกขวดของก้อนเชื้ออยู่ด้านบน  หรือ   2) วางก้อนเชื้อซ้อนกันขึ้นไปเป็นตั้ง  บนชั้นของโครงที่สร้างขึ้นให้เป็นรูปทรงตัว A   การวางก้อนเชื้อในแนวนอนบนชั้นนั้นให้วางโดยหันจุดขวดออกมาสู่ทางเดินภายในโรงเรือน  โครงที่ทำเป็นชั้นวางก้อนเห็ดนั้นถ้าไม่ต้องการลงทุนสูงอาจจะใช้ไม้ไผ่ทำโครงได้  แต่โครงไม้ไผ่จะไม่คงทน  ต้องระวังมอดเข้ามาเจาะ  มอดจะนำเชื้อโรคเข้ามาได้   แมลงอื่น ๆ ที่อาจจะแปลกปลอมเข้ามาก็ก่อผลเสียได้เช่นกันคือทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรคบนโครงที่ใช้วางขวดก้อนเชื้อ  ดังนั้นในการทำโครงวางชั้นให้ถาวรจึงนิยมใช้โครงเหล็ก  ชั้นที่วางก้อนเชื้อซ้อน ๆ กันขึ้นไปนั้นควรจะอยู่ห่างกัน 30-40 เซนติเมตรและชั้นล่างสุดจะต้องอยู่สูงกว่าพื้นโรงเรือนไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร (ภาพที่ 4) 

 

ภาพที่ 4   ลักษณะโครงเหล็กรูปทรงตัว A ที่ใช้วางชั้นของก้อนเชื้อภายในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด

        การวางก้อนเชื้อบนชั้นของโครงรูปทรง A นั้น เมื่อก้อนเชื้ออยู่ในระยะที่พร้อมจะเปิดดอกจึงเอาจุกออกจากคอขวดแล้วปล่อยให้ดอกเห็ดโผล่ออกมา  เมื่อเปิดถุงได้ 7-14 วัน ดอกเห็ดเป๋าฮื้อจะโผล่ออกมาเป็นดอกเล็ก ๆ และจากนั้นก็จะทยอยออกมาได้เรื่อย ๆ (ภาพที่ 5 และ 6)   เมื่อดอกเห็ดเติบโตเต็มที่ (ภาพที่ 7) สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยการดึงก้านให้หลุดจากก้อนเชื้อ   ทั้งนี้ต้องเก็บเกี่ยวดอกเห็ดเป๋าฮื้อในระยะก่อนที่หมวกดอกจะปลดปล่อยสปอร์ออกมา   เมื่อดึงดอกเห็ดออกไปจากก้อนเชื้อแล้วก็จะมีดอกใหม่โผล่ออกมาแทนที่ (ภาพที่ 8)  ก้อนเชื้อหนึ่งก้อนสามารถให้ผลผลิตดอกเห็ดได้นาน 3-4 เดือนต่อการเพาะเลี้ยงแต่ละครั้ง

 

ภาพที่ 5    ดอกเห็ดเป๋าฮื้อเจริญเติบโตอยู่นอกก้อนเชื้อ

 

ภาพที่ 6   ดอกเห็ดเป๋าฮื้อทยอยกันออกมาจากก้อนเชื้อ

 

ภาพที่ 7   ดอกเห็ดเป๋าฮื้อในระยะเก็บเกี่ยว

ภาพที่ 8   ดอกเห็ดเป๋าฮื้อในระยะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน


      การผลิตเห็ดเป๋าฮื้อในปริมาณมากนั้นนิยมสร้างโรงเปิดดอกเป็นโรงขนาดใหญ่แล้ววางก้อนเชื้อในแนวราบลงบนพื้นโดยให้ก้อนเชื้อตั้งขึ้นและให้คอขวดอยู่ด้านบน   ก้อนเชื้อเหล่านี้หลังจากเปิดดอกและเก็บเกี่ยวดอกเห็ดชุดแรกออกไปแล้วเกษตรกรมักจะดึงคอขวดออกแล้วพับปากถุงให้สูงขึ้นมาจากก้อนเชื้อสัก 1 นิ้ว  จากนั้นคลุมก้อนเชื้อเหล่านั้นด้วยดินสะอาดให้หนาประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับก้อนเชื้อ  การคลุมผิวหน้าก้อนเชื้อ (casing) นี้จะต้องใช้ดินที่ปราศจากอินทรียวัตถุเพราะดินเช่นนั้นจะมีจุลินทรีย์ดินอยู่ด้วยสามารถทำให้ก้อนเชื้อปนเปื้อนได้   เป็นอันตรายต่อการเจริญของเส้นใยและจุดกำเนิดดอกของเห็ดเป๋าฮื้อในก้อนเชื้อ  ถ้าหากจะต้องใช้ดินที่มีอยู่ในพื้นที่ก็ควรจะขุดลอกผิวดินออกเสียก่อนประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วขุดดินที่อยู่ลึกลงไปมาใช้  โดยอาจจะผสมหินปูนลงไปด้วย 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักดินแห้งหรือใช้ปูนขาวประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์แทนก็ได้  การคลุมผิวหน้าก้อนเชื้อนอกจากจะช่วยรักษาความชื้นภายในก้อนเชื้อแล้วยังสามารถช่วยยึดฐานของดอกเห็ดไม่ให้ล้มง่ายและเป็นการบังคับไม่ให้ก้านดอกเห็ดยาวเกินไปด้วย  กล่าวกันว่าจุลินทรีย์ดินบางชนิดในดินที่ใช้คลุมผิวหน้าสามารถกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดเป๋าฮื้อรวมกลุ่มกันได้มากขึ้น  ทำให้ได้ดอกเห็ดในปริมาณที่มากขึ้นด้วย    ดินที่คลุมผิวไว้จะทำให้ก้อนเชื้อได้รับอากาศน้อยลง  ทำให้จุดกำเนิดดอกเห็ดและดอกเห็ดขนาดจิ๋วในก้อนเชื้อไม่เจริญแข่งกันออกมาในเวลาเดียวกัน   จึงช่วยลดการแข่งขันในการแย่งอาหารเพื่อการเจริญเติบโต  ทำให้เหลืออาหารสะสมในก้อนเชื้อในปริมาณที่เพียงพอเพื่อช่วยให้ดอกเห็ดที่จะเกิดขึ้นในรุ่นที่สองและรุ่นต่อ ๆ ไปมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์   ไม่ด้อยไปกว่าดอกเห็ดในรุ่นแรก

ปัญหาในการเพาะเลี้ยง
        ปัญหาที่พบเสมอในการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อนั้นมีรายงานว่าเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการเพาะเลี้ยงและส่งผลให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตของดอกเห็ดได้หลายแบบ เช่น ดอกเห็ดเกิดออกมาไม่สม่ำเสมอ  ออกดอกช้า  ขนาดของดอกเห็ดเล็กว่าปกติ  บางครั้งดอกเห็ดไม่สมบูรณ์ และผลผลิตต่ำ  สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายเหล่านั้นสรุปได้ว่าเกิดจากความบกพร่องในการรักษาความสะอาดในขั้นตอนต่าง ๆ ของการปฏิบัติเป็นสาเหตุหลัก  ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อราชนิดอื่น ๆ รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียได้ตั้งแต่ในขั้นตอนของการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์เป็นต้นมาจนถึงขั้นตอนของการขยายเชื้อ   สำหรับการปนเปื้อนที่เกิดในถุงก้อนเชื้อนั้นมีผลให้เชื้ออื่นเจริญเติบโตและขยายพื้นที่รวดเร็วกว่าเชื้อของเห็ดเป๋าฮื้อทำให้ปริมาณของเส้นใยเห็ดเป๋าฮื้อภายในถุงมีน้อยกว่าที่ควรจึงมีการรวมตัวกันของเส้นใยไปเป็นดอกเห็ดได้น้อยกว่าก้อนเชื้อที่สะอาด   นอกจากนี้เส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อเมื่อถูกเส้นใยของเชื้ออื่นรบกวนจะทำให้เชื้อเห็ดเป๋าฮื้ออ่อนแอลงได้ดอกเห็ดที่มีขนาดเล็กและไม่สมบูรณ์  อนึ่ง  การที่เชื้อในก้อนเชื้ออ่อนแอนั้นอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นอีกสาเหตุหนึ่งคือมีการใช้เชื้อที่ต่อเชื้อมาจากอาหารเลี้ยงเชื้อขวดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน   เชื้อจึงอ่อนแอได้   จะต้องเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ใหม่ทุกครั้งที่เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อ   ไม่ใช้เชื้อเก่าที่ใกล้จะหมดอายุแล้ว    ส่วนก้อนเชื้อที่เกิดจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะในขั้นตอนของการนึ่งฆ่าเชื้อให้กับก้อนเชื้อจะทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน   มีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตดอกเห็ดเป๋าฮื้อในโรงเปิดดอกเห็ดได้
        นอกจากการปนเปื้อนของเชื้อที่ไม่พึงประสงค์แล้วยังพบว่าก้อนเชื้อที่มีความชื้นสูงเกินไปจะเน่าได้ง่ายและทำให้แบคทีเรียขยายปริมาณและรบกวนการเจริญของเส้นใยเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อ  จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในระยะที่ผสมส่วนประกอบของอาหาร  ไม่ว่าจะเป็นการทำก้อนเชื้อขี้เลื่อยหรือก้อนเชื้อปุ๋ยหมักก็ตามจะต้องควบคุมให้มีส่วนผสมของน้ำภายในก้อนเชื้อที่พอเหมาะ   ถ้าเห็นว่ามีความชื้นในอาหารผสมมากเกินไปในขณะเตรียมส่วนผสมจะต้องผึ่งอาหารนั้นให้ความชื้นลดลงก่อนจึงจะบรรจุลงถุง  อนึ่งในการนึ่งก้อนเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อนั้นถ้าใช้วิธีการนึ่งโดยหม้อนึ่งพื้นบ้านจะต้องใช้เวลาในการนึ่งให้นานเพียงพอ  หรือนึ่งซ้ำหลายครั้งจนแน่ใจว่าฆ่าเชื้อแปลกปลอมได้จนหมด
        การรบกวนของ ไร มด และ แมลงขนาดเล็กซึ่งชอบกัดถุงก้อนเชื้อแล้วเข้าไปอาศัยอยู่ในก้อนเชื้อนั้น   สัตว์ขนาดเล็กพวกนี้จะนำเชื้อราจากภายนอกเข้าไปในก้อนเชื้อ  ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเส้นใยและเกิดความเสียหายได้ในทำนองเดียวกัน
        ในการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อนั้นพบเสมอว่าในช่วงปลายของการเก็บเกี่ยวผลผลิตก้อนเชื้อบางก้อนจะมีดอกเห็ดโผล่ออกมามากมายอยู่เป็นกลุ่มเบียดชิดกัน  ดอกเห็ดเหล่านั้นมีขนาดเล็กเป็นฝอยขึ้นอยู่เต็มปากถุงของก้อนเชื้อและมีผลให้น้ำหนักรวมของผลผลิตต่ำ  เกษตรกรเรียกลักษณะของการเกิดดอกเห็ดแบบนี้ว่าเป็นการเสื่อมของก้อนเชื้อซึ่งสาเหตุที่เกิดอาการเช่นนั้นเป็นเพราะมีการต่อเชื้อเห็ดจากเชื้อบริสุทธิ์ในขวดเลี้ยงเชื้อขวดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ใหม่ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น   ดังนั้นการป้องกันความเสียหายในลักษณะนี้คือต้องเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ทุกครั้งที่เพาะเลี้ยงโดยเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จากดอกเห็ดที่มีคุณภาพและน้ำหนักดีซึ่งสามารถคัดเลือกดอกเห็ดในลักษณะดังกล่าวนี้ได้จากโรงเปิดดอกเห็ดโดยตรงหรืออาจจะต่อเชื้อเห็ดจากขวดเลี้ยงเชื้อซ้ำขวดได้แต่ต้องไม่บ่อยครั้งนัก

ความคงทนและคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของดอกเห็ด
        ดอกเห็ดเป๋าฮื้อมีโครงสร้างดี  ไม่เกิดการสลายหรือย่อยตัวเอง  ถ้าเก็บดอกเห็ดในตอนเช้าแล้วใส่ถุงพลาสติกไว้ในห้องโดยไม่ใส่ตู้เย็นควรจะเปิดปากถุงไว้เพื่อว่ากาซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดอกเห็ดปลดปล่อยออกมาจากการหายใจรวมทั้งไอน้ำซึ่งเกิดจากการคายน้ำของดอกเห็ดจะได้ไม่สะสมอยู่ภายในถุง  การปฏิบัติดังนี้จะช่วยให้ดอกเห็ดเป๋าฮื้อคงคุณภาพได้ยาวนานและปราศจากกลิ่น  นอกจากนี้การปิดปากถุงที่บรรจุดอกเห็ดจะทำให้อุณหภูมิภายในถุงสูงขึ้นเป็นการเร่งอัตราการหายใจและการคายน้ำของดอกเห็ดได้  การเก็บรักษาดอกเห็ดที่บรรจุถุงพลาสติกไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บรักษาดอกเห็ดไว้ได้นานถึง7 วันโดยไม่เสียหาย

แนวคิดในการวิจัย
        การศึกษาและทดสอบการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจที่ดำเนินงานโดยฝ่ายศึกษาและทดสอบการปลูกพืช ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นั้นนอกจากจะศึกษาเพื่อพัฒนาเทคนิคในการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ แล้วแนะนำและขยายผลสู่เกษตรกรตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไปแล้วยังได้ศึกษาในแง่ของการลดต้นทุนในการผลิตด้วยวิธีการต่าง ๆ อีกด้วย  แนวทางการศึกษาด้านหนึ่งเพื่อลดต้นทุนการผลิตคือการศึกษาการใช้วัสดุเกษตรที่หาได้ง่ายในพื้นที่และในฟาร์มของเกษตรกรมาเป็นวัตถุดิบในการเพาะเลี้ยงเห็ดเพื่อเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุดังกล่าวจากภายนอก   ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับการใช้วัสดุพื้นบ้านในการประกอบก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ นั้นโดยมุ่งเน้นในการเป็นส่วนผสมของก้อนเชื้อเนื่องจากในการเพาะเลี้ยงเห็ดนั้นวัสดุที่ต้องใช้ในปริมาณมากคือวัสดุที่เป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อ   จากการสำรวจและพิจารณาชนิดของวัสดุต่าง ๆ ที่น่าจะมีความสามารถในการนำมาใช้ประโยชน์นั้น   พบว่าวัสดุเป้าหมายมีหลายชนิด  เช่น  ฟางข้าว  เศษของพืชปลูก เช่น ถั่วเหลือง  อ้อย  และ  รำข้าว  เป็นต้น  เศษวัชพืช  และขี้เลื่อยจากไม้ของต้นไม้บางชนิดในสวนของเกษตรกร   จึงได้ดำเนินการวิจัยโดยใช้วัสดุเหล่านั้นมาเป็นสิ่งทดลอง   สำหรับการทดลองครั้งนี้ได้ทดลองใช้วัสดุพื้นบ้านบางชนิดเพื่อประกอบเป็นก้อนเชื้อในการเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อ

วัตถุประสงค์ของโครงการ 
-

วิธีดำเนินการ 
        การทดลองส่วนผสมของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อโดยมีจุดมุ่งหมายในการลดต้นทุนการผลิตในการซื้อขี้เลื่อยของไม้เศรษฐกิจมาเป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อนั้นเป็นการใช้วัสดุเศษพืชและขี้เลื่อยหรือเศษไม้ของต้นไม้บางชนิดมาเป็นวัสดุทดลองโดยชนิดของวัสดุทดลองในกรรมวิธีการทดลอง 10 กรรมวิธีนั้น คือ ฟางข้าว  เปลือกถั่วเหลืองแห้ง  ชานอ้อยแห้ง  รำหยาบ  จอกหูหนูแห้ง  ขี้เลื่อยของไม้มะม่วง  ฉำฉา  กระถินยักษ์  ไมยราพยักษ์  และมีขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นกรรมวิธีควบคุมเนื่องจากการผลิตก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อนั้นตามปกติใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุหลัก  สำหรับส่วนผสมอื่น ๆ ของก้อนเชื้อนั้นคงไว้ตามสูตรเดิมที่ใช้ตลอดมา  คือ รำละเอียด 8 กิโลกรัม  น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม  แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม  ปูนขาว 1 กิโลกรัม  ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม  และ  น้ำ  50-60 เปอร์เซ็นต์  สำหรับเศษวัสดุพืชและเศษไม้ของต้นพืชซึ่งเป็นวัสดุทดลองนั้นใช้วิธีสับหรือบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ   ปริมาณของวัสดุทดลองที่ใช้เป็นส่วนผสมคือ 100 กิโลกรัม
        ผลการทดลองพบว่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากก้อนเชื้อที่ใช้ส่วนผสมของวัสดุพื้นบ้านทุกกรรมวิธีต่ำกว่าผลผลิตที่ได้จากก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นกรรมวิธีควบคุม   ผลผลิตที่ได้จากกรรมวิธีต่าง ๆ นอกเหนือจากกรรมวิธีควบคุมยังแตกต่างกันด้วยในระหว่างกรรมวิธีเหล่านั้น  ดังเห็นได้จากตารางที่ 1   จากตารางจะเห็นว่าผลผลิตรวมของดอกเห็ดสดที่เก็บเกี่ยวจากก้อนเชื้อ 100 ก้อนของกรรมวิธีต่าง ๆ 10 กรรมวิธีนั้นเมื่อนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาเรียงลำดับจากมากที่สุดไปถึงน้อยที่สุดจะเรียงลำดับได้ดังนี้  กรรมวิธีขี้เลื่อยไม้ยางพารา  ชานอ้อยแห้ง   ขี้เลื่อยไม้มะม่วง  ขี้เลื่อยไม้กระถินยักษ์  เศษฟางข้าว  ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา  ขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์  และ  เศษจอกหูหนูแห้ง  โดยมีผลผลิตเฉลี่ยเป็นกิโลกรัม คือ 7.9, 5.7, 3.8, 3.7, 3.4,1.7, และ 1.5  ตามลำดับ  ส่วนกรรมวิธีที่ใช้เปลือกถั่วเหลืองและรำหยาบไม่สามารถเก็บเกี่ยวดอกเห็ดได้เนื่องจากก้อนเชื้อของ 2 กรรมวิธีนี้เสียหายตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการบ่มเชื้อและก้อนเชื้อทุกก้อนของกรรมวิธีทั้ง 2 นี้เน่าเสียหมด   สาเหตุที่ทำให้ก้อนเชื้อที่ทำจากเปลือกถั่วเหลืองแห้งและรำหยาบเน่าเสียหายหมดตั้งแต่ระยะแรกนั้นตรวจสอบพบว่าเกิดจากการที่ความชื้นในก้อนเชื้อมีมากเกินไป
        ผลที่ได้จากการทดลองครั้งนี้เมื่อพิจารณาจากผลผลิตของดอกเห็ดสดที่เก็บเกี่ยวได้จะเห็นว่าวัสดุพื้นบ้านที่นำมาเป็นกรรมวิธีทดลองทั้ง 9 กรรมวิธีต่างก็ให้ผลผลิตรวมในลักษณะของน้ำหนักสดของดอกเห็ดต่ำกว่าผลผลิตที่ได้จากกรรมวิธีขี้เลื่อยไม้ยางพารา  จึงสามารถกล่าวได้ในที่นี้ว่าวัสดุพื้นบ้านที่นำมาทดลองยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการเป็นวัสดุหลักของส่วนผสมของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อ  และการปรับปรุงให้วัสดุเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้หรือไม่นั้นจะต้องมีการทดลองต่อไป

 


       ในแง่ของความสามารถของก้อนเชื้อซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นวัสดุชนิดต่าง ๆ ในการปลดปล่อยอาหารและวัตถุที่จำเป็นต่อการเจริญของเส้นใยออกมาในก้อนเชื้อตลอดจนสภาวะทางกายภาพที่เหมาะสมซึ่งช่วยให้เส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อได้ขยายปริมาณและแพร่กระจายอยู่ภายในก้อนเชื้อนั้นเห็นได้จากผลการบันทึกที่แสดงไว้ในตารางที่ 2   จากตารางนี้จะเห็นว่าก้อนเชื้อเศษฟางข้าวและก้อนเชื้อเศษจอกหูหนูแห้งมีเส้นใยเดินจนเต็มก้อนเชื้อได้เร็วกว่าก้อนเชื้อชนิดอื่น ๆ  กล่าวคือ เส้นใยเดินเต็มก้อนเชื้อภายในเวลา 45 วัน ในขณะที่ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้กระถินยักษ์และก้อนเชื้อชานอ้อยแห้งใช้เวลามากกว่า  คือ 56 วัน  ส่วนก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้มะม่วง  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์  และ  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพารา ใช้เวลา 58 วัน  แต่ก้อนเชื้อที่เสียหายในระยะของการบ่มเชื้อนั้นพบว่าก้อนเชื้อที่เสียหายมากที่สุดคือก้อนเชื้อเปลือกถั่วเหลืองและก้อนเชื้อรำหยาบซึ่งเสียหายทุกก้อน  รองลงมาคือก้อนเชื้อจอกหูหนูแห้ง  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ฉำฉา  ก้อนเชื้อฟางข้าว  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้มะม่วง  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้กระถินยักษ์  ก้อนเชื้อชานอ้อยแห้ง  และ  ก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพารา  ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความเสียหายคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้  100, 100, 94, 74, 69, 53, 52, 51, 24 และ 16 ตามลำดับดังแสดงในตารางที่ 2 เช่นกัน


       สำหรับการให้ผลผลิตของเห็ดเป๋าฮื้อจากกรรมวิธีการทดลองนั้นนอกจากจะพิจารณาจากผลผลิตรวมที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว  ผลผลิตของดอกเห็ดที่ได้จากก้อนเชื้อ 1 ก้อน และความยาวนานในการให้ผลผลิตจนกว่าก้อนเชื้อของกรรมวิธีต่าง ๆ จะหมดสภาพก็จะต้องนำมาพิจารณาด้วยจึงจะวิเคราะห์ผลได้ถูกทิศทางถึงความสามารถในการให้ผลผลิตของก้อนเชื้อที่มีส่วนผสมของวัสดุอาหารหลักที่แตกต่างกัน   ทั้งนี้ถ้าดูจากผลของการบันทึกที่แสดงไว้ในตารางที่ 3 จะเห็นได้ว่าก้อนเชื้อหนึ่งก้อนจากกรรมวิธีต่าง ๆ ให้ผลผลิตรวมเฉลี่ยแล้วแตกต่างกัน  และถ้าดูจากความยาวนานของช่วงที่ก้อนเชื้อสามารถจะผลิตดอกเห็ดให้เก็บเกี่ยวได้ไปด้วยพร้อม ๆ กันก็จะเห็นแนวโน้มของศักยภาพของวัสดุที่นำมาทดลองใช้เป็นวัสดุหลักในการทำก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อได้  กล่าวคือ  กรรมวิธีควบคุมซึ่งเป็นก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพาราให้ผลผลิตเพียงช่วงสั้น คือ 11 วัน  แต่ก็ได้ผลผลิตดอกเห็ดสดเฉลี่ยต่อก้อนสูงกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ  คือได้  94.04 กรัม (ภาพที่ 10)  ในขณะที่ก้อนเชื้อที่ให้ผลผลิตต่อก้อนในกลุ่มที่ได้ผลผลิตสูงรองลงไปคือได้น้ำหนักสดเฉลี่ยของดอกเห็ดในช่วง 72.34 ถึง 79.16 กรัม เป็นก้อนเชื้อที่มีช่วงการเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาวคือ 21-36 วัน ซึ่งเป็นของกรรมวิธี ฟางข้าว  ชานอ้อยแห้ง  ขี้เลื่อยไม้มะม่วง  และ  ขี้เลื่อยไม้กระถินยักษ์ (ภาพที่ 11)  แต่ก้อนเชื้อที่ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำและต่ำมากนั้นแม้จะมีช่วงของการเก็บเกี่ยวยาวคือ 21-28 วัน แต่ก็ได้ผลผลิตต่ำกว่ากรรมวิธีควบคุมมากซึ่งเป็นของกรรมวิธีขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์และจอกหูหนูแห้ง (ภาพที่ 12)  จึงสามารถสรุปจากผลที่ได้ดังกล่าวมานี้ว่าขี้เลื่อยไม้ยางพารายังคงเป็นกรรมวิธีที่ให้ผลดีที่สุด  ส่วนกรรมวิธีอื่น ๆ นั้นยังเทียบกับกรรมวิธีควบคุมนี้ไม่ได้  แต่อย่างน้อยก็ได้ข้อมูลขั้นต้นว่ากรรมวิธีที่น่าจะนำมาทดลองซ้ำโดยการปรับวิธีการในการเตรียมส่วนผสม เช่น ปริมาณของวัสดุ  วิธีการในการปรับความเป็นกรดเป็นด่าง  วิธีการในการปรับความชื้นของก้อนเชื้อ  ตลอดจนการใส่อาหารเสริมบางชนิดลงไปในส่วนผสม ก็น่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากขึ้น  เนื่องจากอาจจะช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้อาหารแก่เส้นใยเพื่อจะได้ผลผลิตที่สูงขึ้นและมีคุณภาพดี  วัสดุในกรรมวิธีดังกล่าวนี้ได้แก่  ฟางข้าว  ชานอ้อยแห้ง  ขี้เลื่อยไม้มะม่วง  และ  ขี้เลื่อยไม้กระถิน 

    ภาพที่ 10   ดอกเห็ดเป๋าฮื้อรุ่นที่ 2 จากก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพารา

 

ภาพที่ 11   ดอกเห็ดรุ่นแรกจากก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้กระถินยักษ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 12    ดอกเห็ดเป๋าฮื้อจากก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์

    อนึ่งการทดลองครั้งนี้พบว่ามีข้อผิดพลาดในเรื่องของการปฏิบัติในบางขั้นตอนอันได้แก่การรักษาความสะอาดในช่วงของการเลี้ยงเชื้อและถ่ายเชื้อตลอดจนการนึ่งฆ่าเชื้อให้กับก้อนเชื้อข้อผิดพลาดเหล่านี้ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้ออื่นในก้อนเชื้อของกรรมวิธีบางกรรมวิธี   ทำให้ก้อนเชื้อดังกล่าวมีความเสียหาย  นอกจากนี้แล้วความผิดพลาดในการควบคุมความชื้นภายในก้อนเชื้อก็มีส่วนทำให้ก้อนเชื้อบางก้อนเน่าเสียหายได้เช่นกัน  ความผิดพลาดในการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ข้อมูลของการทดลองไม่ครบถ้วนและทำให้ไม่สามารถพิจารณาศักยภาพของวัสดุเศษพืช 3 ชนิด คือ เปลือกถั่วเหลืองแห้ง  รำหยาบ  และ  จอกหูหนูแห้งในการเป็นวัสดุหลักของส่วนผสมของก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อได้ทั้ง ๆ ที่วัสดุทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นวัสดุเหลือใช้และวัชพืชที่หาได้ง่ายในพื้นที่ของเกษตรกร  ดังนั้นจึงควรจะต้องมีการทดลองซ้ำเพื่อศึกษาผลอีกครั้งหนึ่ง


ผลการศึกษาทดลองวิจัย 
-

สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
                  การศึกษาการใช้วัสดุพื้นบ้านซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่นและในพื้นที่เกษตรกรรมมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อเปรียบเทียบกับวัสดุที่ใช้กันตามปกติคือขี้เลื่อยไม้ยางพารานั้นมีจุดประสงค์ในการลดต้นทุนในการผลิตเนื่องจากขี้เลื่อยไม้ยางพารานั้นต้องซื้อหามาใช้ในขณะที่วัสดุอื่นเป็นวัสดุที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก  วัสดุพื้นบ้านที่นำมาทดลองเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราคือ เศษฟางข้าว  เศษเปลือกถั่วเหลืองแห้ง  ชานอ้อยแห้ง  รำหยาบ  เศษจอกหูหนูแห้ง  ขี้เลื่อยของไม้ 4 ชนิด คือ ไม้มะม่วง  ไม้ฉำฉา  ไม้กระถินยักษ์  และ  ไม้ไมยราพยักษ์  ผลการทดลอง
 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Download (1)

บทคัดย่อ

การศึกษาการใช้เศษวัสดุในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิตเห็ดเป๋าฮื้อ เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นสำหรับเป็นวัสดุหลักในการผลิตก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อ วัสดุดังกล่าวที่เลือกมาทดสอบเป็นขี้เลื่อยของไม้หรือเป็นเศษวัสดุอินทรีย์เนื่องจากเส้นใยของเห็ดเป๋าฮื้อสามารถย่อยสลายวัสดุทั้ง 2 ประเภทนี้ให้เป็นอาหารเพื่อใช้สำหรับการเจริญและพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด วัสดุที่นำมาทดสอบครั้งนี้มี 10 ชนิด คือ ฟางข้าว เปลือกถั่วเหลือง จอกหูหนูแห้ง รำหยาบ ชานอ้อย ขี้เลื่อยไม้มะม่วง ขี้เลื่อยไม้ไมยราพยักษ์ ขี้เลื่อยไม้กระถิน ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา และ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา โดยมีขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นกรรมวิธีควบคุม ผลการศึกษาพบว่า ขี้เลื่อยไม้ยางพาราให้ผลดีที่สุดและให้ผลผลิตเห็ดเป๋าฮื้อสดเป็น 7.9 กิโลกรัมต่อก้อนเชื้อ 100 ก้อน ในขณะที่ชานอ้อยให้ผลผลิตรองลงมาคือ 5.7 กิโลกรัมต่อก้อนเชื้อ 100 ก้อน ส่วนจอกหูหนูแห้ง รำหยาบและเปลือกถั่วเหลืองมีปัญหาด้านการเน่าเสียของก้อนเชื้อสูงมาก คือ 94-100 เปอร์เซ็นต์
ผู้วิจัย / คณะวิจัย -
ดำเนินการ -
ระยะเวลา -
งบประมาณ -
พระราชทานพระราชดำหริ -