โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริกับ พลโท ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศในขณะนั้น) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้การสนับสนุนกรมชลประทานในการพิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่ากุยบุรี ตลอดจนส่งให้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลโทไพศาล กตัญญู แม่ทัพภาคที่ 1 เลขาธิการ กปร. อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ วังไกลกังวล สรุปความว่า
1.ให้พิจารณาการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำยางชุม และสามารถเก็บกักและระบายออกท้ายเขื่อน โดยไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างเดิม ให้ทำให้เร็วที่สุด เริ่มหลังฝนนี้ ใช้เวลา 2 ปี เสร็จปี 2548 โดยให้ กปร. สนับสนุนงบประมาณเพื่อเริ่มต้นได้เร็ว และให้พิจารณานำน้ำจากอ่าง โดยวางท่อนำน้ำไปทำบ่อพักไว้บริเวณที่เป็นเนิน และทำระบบกระจายน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์
2.ให้พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) สระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่างเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม เกิดความชุ่มชื้นและช้างมีน้ำกินด้วย
3.ให้กองทัพภาคที่ 1 กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสำนักงาน กปร. ร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบของโครงการและช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้าง
1.เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทำการเพาะปลูก อุปโภค-บริโภค ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง
2.ช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำกุยบุรี
3.ช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงฤดูแล้ง
4.เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ผลดำเนินการถึงปัจจุบัน
การดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ โดยการปรับปรุงตัวเขื่อนและปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นให้สูงขึ้นอีก 3 เมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2548 ทำให้ความจุของน้ำเพิ่มขึ้นจาก 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 9.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจาก 15,000 ไร่ เป็น 20,300 ไร่ และได้เริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ทั้งนี้ ได้ก่อสร้างระบบส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ ได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำแล้ว 600 ครัวเรือน ซึ่งได้วางแผนการปลูกพืชทั้งพืชฤดูฝนและพืชฤดูแล้ง ตลอดทั้งการจำหน่ายผลผลิตมีตลาดรองรับที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่การเกษตรชลประทานบริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี และบริเวณทุ่งผักชี ให้สามารถเพาะปลูกพืชได้เพิ่มขึ้น
ผลการดำเนินการถึงปี 2548
ผลการดำเนินงานการก่อสร้างของโครงการจนถึงวันที่ 13 กันยายน 2548 ประกอบด้วย 5 กิจกรรมดังนี้
1.กิจกรรมเขื่อนเดิม เสริมทำนบดิน เพิ่มขึ้น 3.00 เมตร เป็นความสูง 26.00 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 9.00 เมตร ยาว 1,540.00 เมตร เพิ่มระดับการเก็บกักน้ำขึ้นอีก 2.00 เมตร
2.กิจกรรมอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ปรับปรุงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัวยู (U) ชนิด Ogee Weir ความยาวสันฝาย 175.00 เมตร กว้าง 39.00 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 650 ม.3/วินาที
3.กิจกรรมท่อปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ขยายความยาวท่อด้านท้ายอาคารท่อระบายน้ำ ขนาด 1-Ø 0.80 เมตร ระบายน้ำ 3.50 ม.3/วินาที
4.กิจกรรมท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ก่อสร้างท่อระบายน้ำ Steel Liner หุ้มด้วยคอนกรีต ขนาด 1-Ø 1.00 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 5.80 ม.3/วินาที
5.กิจกรรมส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่
5.1 งานติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน
5.2 งานปรับปรุงถนนทดแทนน้ำท่วม
สรุป
ผลการดำเนินงานทั้งโครงการ 100.00 %
ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 12 กันยายน 2548 มีจำนวน 20.46 ล้านลูกบาศก์เมตร