สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

สำนักงาน กปร. ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การเสริมพลังความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การเสริมพลังความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 สำนักงาน กปร.

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมีนายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. และนายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลงนามในฐานะพยาน

นายปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร ผู้อำนวยการกองแผนงานและยุทธศาสตร์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้และเกษตรกรเครือข่ายของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายชุมชนอุดมสุขของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเน้นบูรณาการทรัพยากร ความรู้ และเครือข่ายจากทั้งสองหน่วยงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนตามหลัก BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) และหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)

ภายใต้โครงการนี้ สำนักงาน กปร. และ ธ.ก.ส. จะร่วมกันสนับสนุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และเชื่อมโยงช่องทางการตลาดระหว่างผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ธ.ก.ส. ผลิตภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ และผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนยกระดับเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว ธ.ก.ส. การถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนอุดมสุข ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ ให้เข้าถึงองค์ความรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างสมดุลเชิงนิเวศ อนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป