สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี
วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปสำราญฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 126 หมู่ 4 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี การนี้ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เฝ้าฯ รับเสด็จ
สำราญฟาร์ม เป็นฟาร์มโคนมของนายเชือน กับนางสำราญ ชัยท้วม สมาชิกสหกรณ์โคนมชะอำ-ห้วยทราย จำกัด ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมมานาน 26 ปี / ในปี 2565 ประสบปัญหา ต้นทุนการเลี้ยงโคนมสูงขึ้น
สำนักงาน กปร. ได้เข้าช่วยเหลือ จัดตั้งคณะทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัย แนะนำ และปรับปรุงการจัดทำฟาร์มโคนมของสำราญฟาร์ม เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่
ผลจากการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ภาครัฐได้ปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบที่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงจากราคาเดิม 19.00 บาท เป็น 21.25 บาท/กิโลกรัม มีการบริหารจัดการด้านอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงโคนมลดลง ปัจจุบัน สำราญฟาร์ม ได้รับการรับรองการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) 
ในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ (เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระปุก -เขาเตาหม้อ) เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ร่วมกับภาคเอกชน ดำเนินงานสนองแนวพระราชดำริ ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานทดแทน สู่การสนองพระราชปณิธาน "สืบสาน รักษา ต่อยอด" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแบบผสมผสาน และเป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะช่วยให้ราษฎรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
จากนั้นประทับรถรางพระที่นั่ง ทอดพระเนตรการการสาธิตการปลูกมะนาวยักษ์ ด้วยวิธีการเสียบต่อกิ่ง โดยกลุ่มมะนาวบ้านไร่หลวง ซึ่งเป็นการขยายพันธุ์มะนาว ด้วยการใช้ยอดมะนาวพันธุ์ดี มะกรูด ส้มโอ มาเปลี่ยนยอดบนต้นตอของมะนาวยักษ์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถหาอาหารในดินได้ดี และทนทานต่อโรครากเน่า โคนเน่าในดินได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถยืดอายุวงจรชีวิตของต้นมะนาวจากเดิม 5 ปี เป็น 10 ปี และสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่วนผลผลิตที่ได้นำไปวางจำหน่ายที่ร้านโกลเด้นเพลส
ด้านการดูแลสุขภาพโคนม ได้ทดลอง และวิจัยการใช้ใบมันสำปะหลังหมักเสริมในอาหารสัตว์ เพื่อช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และระบบแลคโตเปอร์ออกซิเดส ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพ ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในน้ำนม น้ำลาย และของเหลวอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และการเพาะเลี้ยงไส้เดือน ที่นอกจากจะช่วยลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืชผักแล้ว ยังช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ภายในโครงการอีกด้วย
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของโครงการฯ ได้นำไปวางจำหน่ายที่ร้านค้าปลีกภายในโครงการซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรสวนเขากระปุก อาทิ น้ำ และยาดมสมุนไพร ข้าวเกรียบฟักทอง หมี่กรอบฟักข้าว เพื่อให้สมาชิก และผู้เยี่ยมชมโครงการฯ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพ ในราคาย่อมเยา
#สำนักงานกปร