ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องเดิม
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ถึงปัญหาที่ชาวประมงไม่สามารถออกหาปลาได้เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง ความโดยสรุปว่า ในอนาคตผลผลิตสัตว์ทะเลต่าง ๆ จากฟาร์มทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน ที่ถูกสุขภาวะอนามัยแวดล้อมคืนสมดุลด้วย จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล พร้อมทั้งทรงริเริ่มให้ทำฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานในพื้นที่ดินนาเกลือริมทะเล ซึ่งนางวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน ๘๒ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ณ หมู่ ๕ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างให้ทั้งผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์นำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเองต่อไป

 

ผลการดำเนินงาน
กรมประมงดำเนินการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีจุดเรียนรู้และสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ๔ จุด รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

    • จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์สองน้ำหรือน้ำกร่อย ได้แก่ การอนุบาลกุ้งก้ามกราม ๔ รุ่น การเลี้ยงกุ้งขาว ๑ รุ่น การเลี้ยงปลานิลแดง ๑ รุ่น และปลากะพงขาว ๑ รุ่น
    • จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลและสาหร่ายทะเลได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน ๒ รุ่น ปลาช่อนทะเล ๑ รุ่น ปลาจะละเม็ดทอง ปลาการ์ตูน หอยเป๋าฮื้อ และหมึกกระดอง เป็นต้น การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน ๒ บ่อ พร้อมทั้งมีการสาธิตการแปรรูปสัตว์น้ำ สาหร่าย หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ๑๔ ครั้ง
    • จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทนเค็มสูงและเกลือทะเล ได้แก่ การเลี้ยง
      อาร์ทีเมียในบ่อดิน ๓ บ่อ การผลิตเกลือแกงและน้ำทะเลผง ๑ แปลง
    • จุดสาธิตการทำฟาร์มทะเล ได้แก่ การสร้างแพเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก ๒ แพ การเลี้ยงหอยแมลงภู่ ๑ ครั้ง การจัดทำธนาคารปูม้าและปลาหมึก ๑ แห่ง

กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับชุมชน จำนวน ๔.๒ ล้านตัว ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปูม้า ปลากะพงขาว และหมึกกระดอง

 

  

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

๑. เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานที่ถูกสุขภาวะอนามัยและคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติ สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมง ทั้งผู้จับสัตว์น้ำและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

๒. ช่วยลดต้นทุนและเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบอาชีพประมง ทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำธรรมชาติในทะเล

๓. ช่วยสอนอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ ในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำและเกลือทะเล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ของเกษตรกรแต่ละราย เช่น การสอนอาชีพการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งกรมประมงได้ทำการส่งเสริมและขยายผลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ได้ก่อให้เกิดฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเชิงพาณิชย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างอาชีพใหม่หรือเป็นอาชีพเสริม อาชีพฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น จากฟาร์มสาธิต ๗ ฟาร์ม พื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ มีรายได้ขั้นต่ำ ๓๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ปัจจุบันมีฟาร์มฯ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ ๔๖ ฟาร์ม ก่อให้เกิดรายได้ภายในจังหวัดเพชรบุรีไม่น้อยกว่า ๑,๓๘๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน โดยมีกำลังการผลิตสาหร่ายปากบ่อขั้นต่ำ ๒๕,๐๐๐ กิโลกรัมต่อเดือนก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

๔. เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน สำหรับ ผู้ประกอบอาชีพด้านประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไปปีงบประมาณ ๒๕๖๓ มีผู้เข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงานฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ทั้งสิ้น ๑๐,๑๖๔ คน โดยคิดเป็นสัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปสูงที่สุดคือ ร้อยละ ๔๒.๙ รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ ๓๓.๖ กลุ่มหน่วยงานราชการ ร้อยละ ๑๙.๒ กลุ่มหน่วยงานเอกชน ร้อยละ ๒๘ กลุ่มเกษตรกร ร้อยละ ๑ และ กลุ่มชาวต่างชาติ ร้อยละ ๐.๓๖ ตามลำดับ

๕. เป็นแหล่งฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกในทะเลที่เปรียบเสมือนปะการังเทียมลอยน้ำและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

สามารถดาวโหลดไฟล์ PDF ได้ที่นี่