ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

ตัวอย่างความสำเร็จของการประกวดฯ ครั้งที่ 1

ความเป็นมา

“…ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ...ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์...”

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19 กรกฎาคม 2517

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี โดยมีแนวคิดที่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท และคำนึงถึงความพอประมาณ คือ ให้ทำอะไรด้วยความพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปและต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเหตุผลในการกระทำและมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว คือ มีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับผลกระทบจากความเปลี่ยนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียรมาประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำทุกอย่าง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ค้นพบประวัติว่าปรัชญานี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2517 เป็นเวลา 33 ปีมาแล้ว แต่ในครั้งนั้น ผู้ได้รับฟังเห็นดีเห็นงามมีศรัทธา หากแต่ยังไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งปี 2540 (เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ) เมื่อเกิด เหตุการณ์ จึงทำให้มีผู้สนใจในปรัชญานี้มากขึ้นหลังจากนั้นมีความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 นี้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้กำหนดจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้ชื่อ “80 พรรษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์” และกำหนดให้มีการจัดการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกิจกรรมสำคัญ ในการเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ จำนวน 2 ประเภท 5 ด้าน ได้แก่

1. ประเภทบุคคล ประกอบด้วย
   1.1 ด้านประชาชนทั่วไป
   1.2 ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่
2. ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย
  2.1 ด้านธุรกิจขนาดใหญ่
  2.2 ด้านธุรกิจขนาดกลาง
  2.3 ด้านธุรกิจขนาดย่อม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลและองค์กรภาคธุรกิจที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไป ประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการบริหารกิจการจนเกิดผลสำเร็จและยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับบุคคลและองค์กรธุรกิจในการนำไปประยุกต์และปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและประกอบ ธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกย่องบุคคล และองค์กรธุรกิจที่ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตจนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2550


ตัวอย่างของความสำเร็จของการประกวดฯ ครั้งที่ 1         

ประเภทบุคคล
- ด้านประชาชนทั่วไป
- ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่

ประเภทธุรกิจ
- ด้านธุรกิจขนาดใหญ่
- ด้านธุรกิจขนาดกลาง
- ด้านธุรกิจขนาดย่อม

 

การประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเภทบุคคล

รางวัลชนะเลิศ ด้านประชาชนทั่วไป
นายแสนหมั้น อินทรไชยา


ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายแสนหมั้น อินทรไชยา
ที่อยู่: บ้านเลขที่ 27 หมู่ 1 บ้านถ่อนนาลับ ตำบลถ่อนนาลับ อำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี
รางวัล: ชนะเลิศ
ประเภท: บุคคล
ด้าน: ประชาชนทั่วไป

 


 

         

การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย รู้จักแบ่งปันให้คนอื่น ใช้ชีวิตไม่ประมาท รอบคอบ รู้จักเก็บออม มีคุณธรรมในการใช้ชีวิต มีเหตุผล มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเราพอเพียงแล้ว สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ตั้งมั่นในการทำงานไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติม

นายแสนหมั้น อินทรไชยา ได้บวชเรียนมาตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยได้รับการสั่งสอนให้ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต ต่อมามารดาป่วย จึงต้องลาสิกขาบทมาดูแลแม่และน้อง ต่อเมื่อมารดาเสียชีวิตจึงได้รับช่วงดูแลน้อง ทำให้ได้ประกอบอาชีพทำนา แต่เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฝีมือในด้านช่างไม้ จึงได้ทำการก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยไม่คิดมูลค่า พร้อมทั้งได้ฝึกให้คนในหมู่บ้านมีความรู้ด้านช่างไม้จนเป็นที่รักของผู้คนในชุมชน ต่อมาเกิดวิกฤติกับชีวิต เนื่องจากนาล่มจากอุทกภัยจึงทำให้ต้องเข้ากรุงเทพฯ มารับจ้างเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงใช้หนี้สินหมด และกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่และเริ่มต้นทำการเกษตรผสมผสาน คุณแสนหมั้นเป็นผู้ที่ใฝ่รู้และได้รับการอบรมดูงานอย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้จนเป็นแบบอย่างของคนในชุมชน ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลุ่มอาชีพต่างๆ ในหมู่บ้านเพื่อให้คนในชุมชนมีงานทำไม่ต้องออกไปหางานทำ และปัจจุบันได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ในชุมชน จนในที่สุดได้รับเลือกเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลถ่อนนาลับ

คุณแสนหมั้น ได้ยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่
1. มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง
2. มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม
3. มีความรับผิดชอบร่วมกัน
4. มีความเห็นอกเห็นใจกัน
5. มีความไว้วางใจกัน

นอกจากนี้ คุณแสนหมั้น ยังมีความมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้โดยได้เข้ารับการศึกษาอบรมในทุกเรื่องตามแต่จะมีโอกาส และเมื่อได้รับการฝึกอบรมแล้วกลับมาก็ได้นำความรู้มาปรับใช้และบอกกับชุมชนโดยการออกเสียงตามสายในหมู่บ้านทุกเช้าเพื่อเผยแพร่ให้คนอื่นๆ และชักชวนให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับ ครอบครัวของคุณแสนหมั้นนั้น ภายในครอบครัวมีการเอาใจใส่กัน อบอุ่น ไม่ทะเลาะวิวาท ไม่ติดการพนัน และไม่ดื่มเหล้า มีการปรึกษาพูดคุยกัน รู้จักการให้อภัยกัน พ่อแม่ไม่เคยจัดงานวันเกิดให้ลูกแต่จะพาลูกเข้าวัดทำบุญทุกปี ปัจจุบันบุตรสาวคนสุดท้องได้สำเร็จปริญญาตรีกลับมาทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในศูนย์เด็กเล็กและช่วยทำบัญชีในกลุ่มต่างๆ เนื่องจากจบปริญญาตรีสาขาบัญชีจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ส่วนบุตรชายคนโตปัจจุบันศึกษาในระดับ ปวส. ที่วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี สาเหตุที่เรียนล่าช้า เนื่องจากให้โอกาสน้องได้ศึกษาให้สำเร็จเสียก่อน ส่วนตนเองได้ไปทำงานในช่วงจบ ปวช.

คุณแสนหมั้นเป็นผู้นำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ โดยได้หาแนวทางที่จะช่วยให้คนในชุมชนมีงานทำ ทำให้คนในชุมชนมีวินัยในการเงิน รู้จักออม และจัดการอย่างเป็นระบบโดยธนาคารชุมชนให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานและเรียนรู้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในชุมชน สอนให้คนในชุมชนรู้จักการแบ่งปัน มีน้ำใจไมตรีกันภายในชุมชน สอนให้คนในชุมชนใช้สติปัญญาในการดำเนินงานร่วมกันกับคนในชุมชนจัดทำแผนชุมชน ในเรื่องของ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียง นั้น คุณแสนหมั้นร่วมกับชุมชนได้จัดตั้งกฎระเบียบหมู่บ้าน เช่น ห้ามตัดต้นไม้จับสัตว์ในที่หวงห้ามของหมู่บ้านฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท ทำให้เยาวชนได้เห็นกฎของหมู่บ้านจึงเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติตั้งแต่เด็กๆ และได้ปฏิบัติตามสืบทอดกันมา คุณแสนหมั้นมองเห็นว่าพืชสมุนไพรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่คนในชุมชน จึงมีการชักชวนคนในหมู่บ้านมาร่วมกันจัดตั้งกลุ่มสวนสมุนไพรขึ้น โดยให้คนชุมชนมาร่วมปลูกสมุนไพรปีละ 4 ครั้ง นอกจากนี้ ยังเห็นว่าในชุมชนมีทรัพยากรที่เหลือใช้มาก จึงควรมีการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างคุ้มค่าโดยมาทำน้ำหมักชีวภาพและทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ด นอกจากนี้ คุณแสนหมั้น ได้ส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่บ้านได้รู้จักกับวัฒนธรรมภูไท ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้าน ได้รู้จักและสืบทอดให้คงอยู่กับชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนภูไท มีการจัดตั้งกลุ่มพิณแคนแดนภูไทให้ลูกหลานได้สืบทอด

คุณแสนหมั้น มีแนวคิดว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น ควรเริ่มต้นจากตนเองก่อน และพัฒนาตนเองอย่างมีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ จนชีวิตมีอยู่มีกิน มีใช้มีออม สมาชิกครอบครัวมีความสุข เมื่อครอบครัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีความสุขแล้ว จึงขยายผลสู่คนอื่นและชุมชนโดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีและจิตใจที่เป็นคุณธรรม มุ่งแบ่งปันทำงานอย่างต่อเนื่องและทำประโยชน์ให้ชุมชน จนชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นผู้ขยายผลการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ ซึ่งคุณแสนหมั้นได้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2513 เพราะเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ซึ่งช่วยจุดประกายให้อยากช่วยพระองค์อีกแรงหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยได้มีคณะต่างๆ จากทุกภาคของประเทศมาศึกษาดูงานแผนชุมชน กิจกรรมกลุ่มต่างๆ มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ


 

รางวัลรองชนะเลิศ ด้านประชาชนทั่วไป
นายสมมาตร บุญฤทธิ์


ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายสมมาตร บุญฤทธิ์
ที่อยู่: บ้านเลขที่ 76 หมู่ 8 บ้านศรีวิไล ถนนกำแพงเพชร-พิจิตร ตำบลมหาชัย อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
รางวัล: รองชนะเลิศ
ประเภท: บุคคล
ด้าน: ประชาชนทั่วไป

 

          การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ สิ่งที่ชี้นำหลักของความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ในการป้องกันผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ซึ่งต้องอาศัยกรอบแห่งความรู้คู่การเป็นผู้มีคุณธรรมประจำใจและการปฏิบัติ

รายละเอียดเพิ่มเติม
นายสมมาตร บุญฤทธิ์นายสมมาตร บุญฤทธิ์ อายุ 42 ปี อาชีพ เกษตรกร บ้านเลขที่ 76 หมู่ 8 บ้านศรีวิไล ถนนกำแพงเพชร-พิจิตร ตำบลมหาชัย อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร การศึกษา ระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

นายสมมาตร บุญฤทธิ์ พื้นเพเดิมเป็นคนนนทบุรี ภรรยาชื่อนางปราณี บุญฤทธิ์ มีบุตร 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน อายุ 11 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ สำเร็จการศึกษาในระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส) ช่างโลหะวิทยา เมื่อจบการศึกษาแล้วประกอบอาชีพเป็นช่างโรงงานบริษัทในกรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2540 ได้พิจารณาเห็นว่าชีวิตในเมืองหลวงแม้จะมีรายได้เดือนละประมาณเกือบสองหมื่นบาท และภรรยามีรายได้เดือนละประมาณหนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะค่าครองชีพสูง รวมทั้งทำงานในโรงงานสุขภาพก็เสื่อมโทรมลงทุกวัน จึงได้ปรึกษากับภรรยาตัดสินใจลาออกกลับมาอยู่บ้านที่กำแพงเพชร ซึ่งเป็นบ้านของภรรยา โดยมีที่ดินอยู่ประมาณ 2 งาน เริ่มแรกด้วยการลงทุนเปิดปั๊มน้ำมันเล็กๆ เพื่อหารายได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านจะซื้อเป็นเงินเชื่อแล้วเรียกเก็บหนี้คืนกลับมาไม่ได้ จึงตัดสินใจไปขอที่ของพ่อตาซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ไร่ มาทำเกษตรโดยในขณะนั้นใช้สารเคมีเป็นหลัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีการพึ่งพาจากภายนอกตลอดเวลา ทำให้มีต้นทุนสูง ด้วยอยากช่วยพัฒนาชุมชน ในปี 2544 ได้สมัครลงเลือกตั้งเป็นสมาชิก อบต. และได้รับการคัดเลือกโดยปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ และเห็นว่าการช่วยเหลือชุมชนไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งทางราชการ จึงไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก อบต. อีกวาระ ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้นได้รับการส่งเสริมจากนายอำเภอไทรงามให้ไปอบรมความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่จังหวัดกำแพงเพชร จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรของตน ประกอบกับเป็นคนที่สนใจศึกษาหาความรู้ ดังคำพูดที่ว่า “อยากรู้ต้องไปดู” โดยเริ่มปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงศัตรูพืชมาเป็นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก และสารไล่แมลงจากน้ำส้มควันไม้ ช่วยลดต้นทุนในการเกษตรได้อย่างมาก ส่งผลให้ได้กำไรมากขึ้น ปัจจุบันครอบครัวคุณสมมาตรมีรายได้เฉลี่ยปีละ 250,000 บาท รวมทั้งได้นำหลักการจัดทำบัญชีครัวเรือนมาใช้ ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายภายในบ้านได้ จนครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ในปี พ.ศ. 2548 ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยยึดหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัว ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ และประพฤติตนตั้งอยู่ในคุณธรรม โดยปลูกผลไม้นานาชนิด และผลไม้หลัก คือ ชมพู่ นอกจากนี้ ยังเพาะเห็ดฟาง เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู (หมูหลุม) ทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก และน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้เอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต ผลไม้หลักที่ปลูก คือ ชมพู่ ซึ่งจากเดิมปลูกมากถึง 20 ไร่ ลดเหลือเพียง 6 ไร่ เท่านั้น เหตุผลคือมีแรงงานเพียง 2 คน คือ ตนกับภรรยา ซึ่งสามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียง 6 ไร่เท่านั้น หากปลูกมากกว่านี้จะดูแลได้ไม่ทั่วถึง และแรงงานก็ไม่พอ ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และเมื่อมีโอกาสจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เมื่อได้ยินเรื่องเกี่ยวกับวิทยาการใหม่ๆ ก็จะร่วมกับกลุ่มไปดูงานเป็นระยะๆ โดยไม่ต้องรอหน่วยงานราชการสนับสนุนงบประมาณแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงเห็ด และจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และด้วยความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นเหรัญญิกรับผิดชอบดูแลเรื่องการเงินของกลุ่ม จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงภายในพื้นที่ของตนเพื่อใช้เป็นที่ดูงานและเผยแพร่ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง จนได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากชาวบ้าน และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร, สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกำแพงเพชร, สำนักงานประมงจังหวัดกำแพงเพชร, องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฯลฯ ผลของการเสียสละและอุทิศตนดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลจากหน่วยงานทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด จากประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จนประสบผลสำเร็จดังกล่าว คุณสมมาตรได้กล่าวยืนยันว่าความสำเร็จของตนเองที่เกิดขึ้นได้นั้น เนื่องจากการยึดถือคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญ คือจะต้องเริ่มที่จิตใจก่อนโดยจะต้องมีความอดทน ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเพียร และใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ โดยนำหลักคุณธรรมมาใช้ในการนำพาตนเองบนแนวทางความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันในตัว

ผลจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้คุณสมมาตรสามารถกลับมาใช้ชีวิตในเส้นทางที่เกิดความยั่งยืน โดยทิ้งชีวิตในกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีรายได้สูง แต่ต้องแลกกับสุขภาพที่เสื่อมถอยลง รวมทั้งเคยล้มเหลวในการประกอบอาชีพไม่ว่าการทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน การทำเกษตรแบบใช้สารเคมี จนในที่สุดได้หันมาทำการเกษตรแบบลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก (สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง) โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก และสารไล่แมลงจากน้ำส้มควันไม้ ซึ่งไม่เพียงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคุณสมมาตรเท่านั้น ยังแบ่งปันความรู้ต่างๆและสร้างเครือข่ายด้านเศรษฐกิจพอเพียงไปยังชุมชนอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง โดยหวังว่าจะให้ชุมชนได้มีวิถีชีวิตที่พอเพียงและยั่งยืนต่อไป


รางวัลรองชนะเลิศ ด้านประชาชนทั่วไป
นายวินัย สุวรรณไตร

ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายวินัย สุวรรณไตร
ที่อยู่: บ้านเลขที่ 57 หมู่ 8 บ้านหลุมมะขาม ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา
รางวัล: รองชนะเลิศ
ประเภท: บุคคล
ด้าน: ประชาชนทั่วไป

 

         

การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตตามสายกลาง ไม่เกินตัว ไม่เกินความรู้ ความสามารถ ครอบครัวมีกิน มีใช้ มีหลักประกันที่ดี โดยยึดหลักการ “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำเท่าที่ทำได้”

รายละเอียดเพิ่มเติม
นายวินัย สุวรรณไตร อายุ 52 ปี อาชีพเกษตรกร บ้านเลขที่ 57 หมู่ 8 บ้านหลุมมะขาม ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

นายวินัย สุวรรณไตร เริ่มดำเนินชีวิตแบบพอเพียงตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ส่งผลให้คุณวินัยเริ่มหันมาสนใจชีวิตตัวเอง ด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย พบว่าปัญหาที่สำคัญคือภาวะหนี้สิน เพราะเน้นการผลิตเพื่อจำหน่าย จึงเริ่มสนใจที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตตนเองมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพระราชดำรัสของพ่อหลวงในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ได้ตอกย้ำให้อยากหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินเพิ่มยิ่งขึ้นบ

จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2542 ได้มีเหตุการณ์ทำให้ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เรื่องวนเกษตรจากผู้ใหญ่ฯ วิบูลย์ เข็มเฉลิม และพบปะกับเครือข่ายผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น พ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชุมชนแห่งอำเภอสนามชัยเขต ทำให้เกิดการกระบวนการเรียนรู้ในการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ที่จะต้องรู้จักตัวเอง รู้ปัญหาตัวเอง เพราะปัญหาตัวเองก็คือปัญหาชุมชนนั่นเอง ชุมชนจะเข้มแข็งได้ จะพึ่งตนเองได้ ก็ต้องมีการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ คือ

1. รู้ตัวเอง ในการจัดทำบัญชีครัวเรือนจะได้รู้ในตัวเอง

2. รู้ปัญหา วิเคราะห์รายจ่าย เช่น ทำไมต้องเล่นหวย เล่นการพนัน เสพของมึนเมา ทำไมต้องซื้อ ทำไมต้องผ่อนชำระสินค้า

3. รู้ทรัพยากร ทำข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ หิน กรวด ป่าไม้ ในหมู่บ้าน

4. รู้การจัดการ เช่น ทำข้อมูลเรื่องข้าวสารว่าในหมู่บ้านรับประทานข้าวกี่กิโลกรัม กี่ถัง กี่เกวียน ชาวบ้าน ทำโรงสีผลิตข้าวเองได้ไหม เพื่อกำหนดราคาข้าวเองให้กับชาวบ้าน

5. รู้การวางแผนชีวิต วางแผนตนเอง ต้องละเลิกอบายมุข และวางแผนครอบครัวให้คิดเป็นทางเดียวกัน

คุณวินัยได้นำหลักการ 5 รู้ มาวิเคราะห์อดีตของตนเอง ได้เห็นสภาพของการประกอบอาชีพของตนเองที่ผ่านมาที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต โดยเฉพาะข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้มีการพูดคุยกับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตครอบครัวร่วมกัน และหันกลับมาคิดแก้ไขปัญหาโดยการพึ่งตนเอง การเรียนรู้ตนเองนั้น มีเครื่องมือคือการทำบัญชีรายจ่ายประจำวัน ซึ่งทำให้เรารู้ว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ใช้จ่ายเพื่ออะไร จึงเป็นที่มาของการรู้ปัญหาของตนเองและครอบครัว แล้วก็เรียนรู้เรื่องทรัพยากรท้องถิ่น และนำไปสู่การเรียนรู้การจัดการทรัพยากร จนนำไปสู่การพึ่งตนเองในปัจจุบัน ได้ใช้เหตุผลในการใช้จ่ายประจำวัน ทำให้สามารถแยกความจำเป็นกับความต้องการ (หรือความอยาก) ได้อย่างชัดเจน

ปี 2543 คุณวินัยเลิกทำไร่มันสำปะหลังอย่างเด็ดขาด หันมาปลูกป่า นำผลผลิตในป่ามาเป็นอาหารและยารักษาโรค เมื่อเหลือจึงนำออกขาย นำมาจัดตั้งธนาคารชุมชน หันมาใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเอง พยายามลดรายจ่ายทุกด้านที่ไม่เกิดประโยชน์ จึงค่อยลดละเลิก การพนัน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และสิ่งฟุ่มเฟือย และเลิกได้เด็ดขาดเมื่อปี พ.ศ. 2545 การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวก็ลดลงไปเอง เพราะคิดไปในทางเดียวกัน ไม่มีข้อตำหนิที่จะมาพูดถึงกัน 3 ปีผ่านไปชีวิตมีรายจ่ายน้อยมาก จนครอบครัวสามารถปลดหนี้สินได้ภายในสามปี สามารถเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่ลำบาก มีเงินฝากกับธนาคารชุมชนเพื่อเป็นหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต

คุณวินัยใช้หลักศีลห้า คือไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ยึดทางสายกลาง ไม่เอาของของคนอื่นมาเป็นของตัว ทำตัวเป็นผู้ให้และผู้รับ ผลที่ได้รับคือ ทำให้มีจิตใจอ่อนโยน สุภาพ คนรอบข้างให้ความเชื่อถือ น็นและด้วยเป็นผู้ใฝ่รู้ จึงได้แสวงหาความรู้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะความรู้ที่ได้จากการอ่าน แต่จากการสังเกตและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เมื่อตัดไม้ที่ปลูกไปใช้ประโยชน์ทั้งการทำฟืน ทำยา ทำของใช้ หรือกิน ป่าหรือไม้ที่ตัดก็สามารถขึ้นได้อีก ทั้งจากการปลูกทดแทนของเดิมหรือเมล็ดที่ร่วงลงดินแล้วเติบโตขึ้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์พืชนั้นได้อีกทางหนึ่ง หรือการปลูกป่าร่วมกับพืชสมุนไพรเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สำหรับชีวิตครอบครัวครั้งหนึ่งครอบครัวได้สูญเสียบุตรชายจากอุบัติเหตุ แต่ทุกคนก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ โดยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน กลับมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ปราศจากความขัดแย้ง เนื่องจากภรรยาและบุตรสาวที่เหลืออีกหนึ่งคนมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถเข้ามาช่วยเหลือกิจการในชุมชนและถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนแทนคุณวินัยได้ เนื่องจากทุกครั้งที่คุณวินัยได้รับความรู้อะไรกลับมาก็จะมาถ่ายทอดให้ภรรยาและบุตรสาวได้ฟังเสมอ

การแบ่งปันเกื้อกูลสังคม ได้รับคำยืนยันจากนายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้าน ว่าคุณวินัย เป็นบุคคลตัวอย่างของชุมชนที่ทำให้ชุมชนหันมาอยู่อย่างพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ ลดการซื้อสินค้าจากภายนอก จะเห็นได้จากรถขายสินค้า อาหารสด (รถพุ่มพวง) ไม่สามารถขายในชุมชนนี้ได้ คุณวินัยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า พืช/ป่าทุกชนิดที่ปลูกจะเข้าหลักปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีหลักการว่า “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำเท่าที่ทำได้ ตามแรงงานสองคนสามีภรรยา” ตั้งแต่พืชที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน จนถึงพืชที่สูงชะลูด พื้นที่ใช้ทำวนเกษตร ปลูกตั้งแต่พืชชั้นล่าง พืชชั้นกลาง พืชชั้นสูง และมีความเห็นว่าการปลูกป่าจะช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อนได้นอกจากนี้ไม่มีการขยายหรือสะสมพื้นที่เพิ่มเติม แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด และเห็นว่าสิ่งเดียวที่สะสมคือ “ความรู้” ความเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมไทย ได้สร้างวัฒนธรรมให้ชาวบ้านนำปิ่นโตอาหารมาทานข้าวร่วมกัน มีการรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ จัดประกวดกระทงที่ทำจากธรรมชาติในวันลอยกระทง ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมในวันพระ ทำเป็นตัวอย่างเรื่องของการไหว้ ทั้งผู้สูงอายุและรุ่นราวคราวเดียวกัน

ภายหลังจากที่ตนเองและครอบครัวสามารถปลดหนี้ได้คุณวินัยหันมามองเพื่อนบ้าน อยากให้คนรอบข้างของตนเองคิดได้ หลุดพ้นจากภาวะความยากจน ได้สร้างเวทีการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาซึ่งกันและกัน โดยใช้ธนาคารชุมชนเป็นเวทีกลางในการพบปะ ในทุกวันที่ 20 ของเดือน ทำกันมาเกือบสามปี ในวันที่นัดพบกัน จะมีตลาดนัดชุมชน ชาวบ้านจะนำสินค้าชุมชน เช่น ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น หน่อไม้ มาวางขายและแลกเปลี่ยนกัน ปัจจุบัน ชุมชนบ้านหลุมมะขาม มีเวทีเรียนรู้ในชุมชน เดือนละ 4 วัน ได้แก่ ทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นเวทีกองทุนหมู่บ้าน ทุกวันที่ 10 ของเดือน เป็นเวทีสายใยรักครอบครัว ทุกวันที่ 20 ของเดือน เป็นเวทีธนาคารชุมชน ทุกวันที่ 24 ของเดือน เป็นเวทีสัญจร รับฟังปัญหาชาวบ้าน ส่วนวิธีการถ่ายทอด เน้นการถ่ายทอดโดยการเล่าให้ฟัง ให้สังเกตด้วยตนเอง ให้ซักถามเมื่อมีข้อสงสัย และทดลองด้วยตนเอง ไม่เน้นการถ่ายทอดโดยการบอกให้ทำ จนสามารถสร้างเวทีการเรียนรู้ให้ขยายออกไปสู่ทั้งภายในและภายนอกชุมชน สามารถสร้างเครือข่ายป่าชุมชนออกไปสู่ระดับภาค จนเป็นที่รู้จักและยอมรับโดยทั่วไป

ผลจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้คุณวินัยสามารถปลดหนี้ 100,000 บาท ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันครอบครัวมีรายได้ 100,000 บาท/ปี ครอบครัวมีความอบอุ่น โดยสามารถนำครอบครัวของบุตรกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ตลอดจนได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองและเอื้อเฟื้อต่อส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ได้พลิกชีวิตใหม่ในการเปลี่ยนแปลงตนเองจากการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ที่ต้องหลุดพ้นกระแสทุน และพบว่า “ความสุขที่แท้จริงของชีวิตคือความพอเพียง” คุณวินัยมีความฝันอยากเห็นชุมชนสามารถหลุดพ้นวงจรความยากจนและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง


รางวัลรองชนะเลิศ ด้านประชาชนทั่วไป
นายสมปอง อินทร์ชัย

ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายสมปอง อินทร์ชัย
ที่อยู่: บ้านเลขที่ 40/1 หมู่ 9 บ้านหินขาว ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
รางวัล: รองชนะเลิศ
ประเภท: บุคคล
ด้าน: ประชาชนทั่วไป

 

          การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีความพอดี ไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่น ทำทุกอย่างบนหลักของเหตุและผล มีความระมัดระวังควบคู่กับการมีคุณธรรม มีการจัดการต่อชีวิตของตนเอง และคนในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข พึ่งพาตนเองได้

รายละเอียดเพิ่มเติม
นายสมปอง อินทร์ชัย อายุ 60 ปี อาชีพเกษตรกร บ้านเลขที่ 40/1 หมู่ 9 บ้านหินขาว ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง การศึกษา ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3

การดำเนินชีวิตซึ่งต้องใช้ความพยายามและอดทนในการประคองชีวิตครอบครัวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุขและพอเพียงในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ อีกทั้งได้ลด ละ เลิกอบายมุข ได้มีการดำเนินชีวิตอยู่บนความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน มีความเพียรพยายามและใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก จะเห็นได้จากได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานสถาบันการเงินในชุมชน ในด้าน ความใฝ่รู้ ได้มีการอบรมและเรียนรู้ตลอดเวลาและหาวิธีการปลูกวิธีการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ วิธีการขายและวิธีการจัดการกับสินค้าที่มีอยู่ โดยการศึกษาเองและการสอบถามจากผู้รู้ทั้งหลาย สมัครเข้าอบรมในหลักสูตรต่างๆที่หน่วยงานจัดขึ้น ได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้และมีการถ่ายทอดให้คนในชุมชนอยู่เสมอ ด้านครอบครัวได้อบรมสั่งสอนบุตรให้มีความรักใคร่สามัคคีกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจในการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและมีส่วนเหลือชุมชนสังคม โดยมีภรรยาและบุตรจะให้กำลังใจในการทำงานตลอดเวลาและคอยแบ่งเบาภาระในส่วนที่สามารถทำได้ แม้บุตรหลานจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็จะกลับมาเยี่ยมเยียนกันเสมอ

คุณสมปองยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติ การอบรม การดูงานให้แก่คนในชุมชน และหน่วยงานที่สนใจซึ่งในชุมชนจะมีเวทีประชาคม จะถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับรู้ให้อย่างสม่ำเสมอ ให้คำแนะนำและชักชวนให้คนในชุมชนมีการปฏิบัติตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยตนเองเป็นแบบอย่างของคนในชุมชนและหากผู้ใดประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพจะเข้าไปช่วยเหลือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คุณสมปองได้มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของตนอย่างคุ้มค่า และให้เกิดประโยชน์มากที่สุด มีการปลูกพืชหมุนเวียน ริเริ่มโครงการป่ารักษ์น้ำ ดูแลป่าและน้ำ รณรงค์ให้คนในชุมชนรักษาความสะอาดของบ้าน ชุมชน ปลูกต้นไม้ในที่ว่าง นำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำในการรวมกลุ่ม จัดหาตลาดติดต่อพ่อค้ามารับซื้อสินค้าของกลุ่มในชุมชน เป็นศูนย์การเรียนรู้ของประมง หน่วยงานต่างๆ ในเขตอำเภอกะเปอร์และอำเภอใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงาน

ผลจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้คุณสมปองสามารถปลดหนี้ได้ จำนวน 500,000 บาท ได้ภายใน 4 ปี เศรษฐกิจพอเพียงจึงเปรียบเสมือนเป็นประกายส่องทางให้ผู้ที่เคยหลงเดินตามกระแสทุนนิยม สามารถลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง ปัจจุบันครอบครัวมีรายได้ 220,800 บาท/ปี สามารถพึ่งตนเองได้ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่มาขุดบ่อเลี้ยงปลาแบบขั้นบันได ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนสามารถช่วยเหลือสังคมและกลายเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับในการเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง


รางวัลรองชนะเลิศ ด้านประชาชนทั่วไป
นายอรุณ วรชุน

ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายอรุณ วรชุน
ที่อยู่: บ้านเลขที่ 73/1 ถนนลำพู แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
รางวัล: รองชนะเลิศ
ประเภท: บุคคล
ด้าน: ประชาชนทั่วไป

 

          การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การรู้จักกิน รู้จักใช้ และการเหลือเก็บเพื่อไม่ให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อน ไม่ก่อหนี้สินด้วยการซื้อของผ่อน ไม่กระทำตนให้อดอยากปากแห้ง ไม่ตัดสังคม แต่รู้จักเลือกเข้าสังคม การหลีกเลี่ยงอบายมุขและสิ่งเสพติด โดยยึดหลักการดำรงชีวิตด้วยความมีเหตุผล รู้จักการให้แก่ผู้เดือดร้อน มีการบริจาค ทำบุญอย่างมีความคิด

รายละเอียดเพิ่มเติม
นายอรุณ วรชุน อายุ 78 ปี อาชีพข้าราชการบำนาญ บ้านเลขที่ 73/1 ถนนลำพู แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ การศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากมหาวิทยาลัยการศึกษาบางแสน

นายอรุณ วรชุน เป็นบุคคลหนึ่งที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไม่ได้ประสบภาวะวิกฤติใด ๆ เนื่องจากมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและครอบครัว มาตั้งแต่ปี 2490 เมื่อครั้งที่รับราชการครู โดยมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายตามซองต่าง ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ค่าพาหนะ ฯลฯ เนื่องจากในขณะนั้นมีเงินเดือนน้อย จึงได้ทำสวนครัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย โดยยึดหลักคือความซื่อสัตย์ต่อการใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้มีเงินเดือนใช้จ่ายเพียงพอ ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ผ่านมานั้น ไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีเงินเหลือเก็บ ทั้งในรูปของสมุดบัญชีเงินฝาก และหุ้นกู้ของสหกรณ์ครู แม้เมื่อมาอยู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ มีพื้นที่จำกัด ก็ได้ปลูกผักและต้นไม้เต็มพื้นที่ สร้างความร่มรื่นให้กับบ้านใจกลางเมืองได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในขณะเป็นครูที่โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม ได้สร้าง “เตาหุงข้าวอรุณประดิษฐ์แบบประหยัดเชื้อเพลิงเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง” “เครื่องมือดักไขมันจากอ่างล้างจานก่อนทิ้งน้ำเสียลงคูคลอง” “โครงการป้องกันน้ำท่วมขังโรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม” แม้จวบจนทุกวันนี้ ในวัย 78 ปี ก็ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำน้ำชีวภาพ EM เพื่อบำบัดกลิ่นจากกองขยะ คูคลอง ท่อระบายน้ำ ห้องน้ำ-ห้องส้วม และการทำปุ๋ยหมัก จากการใช้ผัก-ผลไม้ที่มีเหลือในครัวเรือน

ชีวิตครอบครัวอาจารย์อรุณ สมรสกับนาง อมรา วรชุน เป็นครอบครัวขนาดเล็กอยู่กันแค่ 2 คน แวดล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่ก็เป็นผู้ที่เพื่อนบ้าน ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหาให้ความที่รักและเคารพเสมือนเป็นญาติมิตร หรือพี่น้องกัน จนกล่าวได้ว่า “ใครเป็นครู ต้องเป็นไปตลอดชีวิต” สามารถใช้ได้กับครอบครัวนี้เป็นอย่างดี และด้วยความที่สามี-ภรรยาคู่นี้ เป็นข้าราชการครูที่เกษียณอายุทั้งคู่ ทำให้เข้าใจในวิถีชีวิตของกันและกันเป็นอย่างดี เมื่อประสบปัญหาใดจะมีการปรึกษาหารือกันตลอดเวลา โดยไม่มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด เป็นผู้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในความเป็นครู โดยการไม่เสพของมึนเมา ไม่เล่นการพนัน มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกง ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า นอกจากนี้ ด้าน ความใฝ่รู้ ยังเป็นคนที่สนใจศึกษาหาความรู้ต่าง ๆ โดยยึดหลักว่า “ความรู้คือดวงประทีป” จากการเข้าร่วมประชุม และเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ จนสามารถคิดประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ในการช่วยเหลือสังคม-ชุมชนของอาจารย์อรุณนั้น ได้รับคำยืนยันจากครูโรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ และสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ว่าอาจารย์อรุณได้ช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริจาคเงินทำบุญให้กับวัด โรงพยาบาล ซึ่งไม่เพียงแต่การบริจาคทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น อาจารย์อรุณยังได้ให้ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น โดยแนะนำให้คนทั่วไปได้รู้จักทำบัญชีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และการเผยแพร่ความรู้ทั้งการทำปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยเม็ด ให้แก่กลุ่มเยาวชน อีกทั้งอาจารย์ยังเป็นผู้นำในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียง โดยได้นำเศษพืชผักมาทำน้ำชีวภาพ EM และปุ๋ยหมัก สำหรับใช้ในครัวเรือน และใช้ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังได้พยายามประหยัดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า โดยมีการจดบันทึกการใช้น้ำ-ใช้ไฟฟ้าแต่ละเดือน และมีการตกลงกับภรรยาว่าเดือน ๆ หนึ่ง ควรจะลดปริมาณการใช้น้ำ-ใช้ไฟฟ้า อย่างไร ด้วยวิธีการใด และสังเกตได้ว่าอาจารย์อรุณมีการดัดแปลงสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ชำรุดให้กลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะได้เป็นอย่างดี ทั้งยังพบว่าอาจารย์ได้ใช้พื้นที่ซึ่งมีจำกัดอย่างคุ้มค่า เพื่อเป็นที่ปลูกต้นไม้ ที่เก็บถังน้ำชีวภาพ เป็นต้น

อาจารย์ยังเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมวันสำคัญของไทย เช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันสำคัญทางศาสนา ทั้งในองค์กรผู้สูงอายุ และชุมชนชาวบางลำพู และยังเป็นผู้ที่อุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้นำในการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับทั้งคนรอบข้าง ชมรมผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน

ผลจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้อาจารย์อรุณอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองได้เป็นอย่างดี ด้วยการจดรายละเอียดค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถจัดสรรการใช้เงินได้อย่างเป็นระบบ การนำน้ำชีวภาพมาใช้ในครัวเรือนและที่สาธารณะเพื่อบำบัดกลิ่นจากกองขยะ ห้องน้ำ-ห้องส้วม ซึ่งช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าอาจารย์อรุณซึ่งอยู่ในวัยที่ควรพักผ่อน และดูแลจากลูกหลาน แต่ด้วยใจที่อยากช่วยเหลือสังคม อาจารย์จึงอุทิศตนให้กับสังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดังนั้นอาจารย์อรุณจึงเป็นต้นแบบแห่งความพอเพียงในสังคมเมืองปัจจุบัน