ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการพัฒนาด้านการเกษตร

ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของภาคเกษตรเป็นสำคัญ

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย

           เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย ประชากรประมาณสองในสามอยู่ในภาคเกษตร การพัฒนาการเกษตรเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศมาตลอด สาขาการเกษตรเป็นสาขาที่ได้รับความสำคัญอย่างสูงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ การที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา ฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา ฯลฯ และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูก ใช้เทคโนโลยีที่ง่าย และไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้และที่สำคัญ คือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ

 

         

แนวทางที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการที่ทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะเกิดความเสียหายง่าย เนื่องจากความแปรปรวนของตลาดและความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ทางออกคือทรงสนับสนุนให้ทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงและมีรายได้ตลอดปี ขณะเดียวกันเกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การอุตสาหกรรมในครัวเรือน ดังเช่นในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรได้ทำงานหัตถกรรม โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

         

นอกจากนั้นทรงเห็นว่า การพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร จึงทรงมุ่งที่จะให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งต่อการที่จะทำนุบำรุง ปรับปรุงสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ ให้อยู่ในสภาพที่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด

จากแนวทางและเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าว มีแนวพระราชดำริที่ถือเป็นหลักเกณฑ์หรือเทคนิควิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นหลายประการ
ประการแรก ทรงเห็นว่าการพัฒนาการเกษตรที่จะได้ผลจริงนั้น จะต้องลงมือทดลองค้นคว้า ต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังพระราชดำรัวความว่า

...เกษตรกรรมนี้ หรือความเป็นอยู่ของเกษตรนั้นขอให้ปฏิบัติ ไม่ใช่ถือตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว...

         

และเป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำให้อาณาเขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐานบางส่วนเป็นสถานีค้นคว้า ทดลอง ทางการเกษตรในทุกๆ ด้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕

สำหรับการค้นคว้าทดลองนั้น ได้ทรงเน้นให้มีทั้งก่อนการผลิตและหลังการผลิต คือ พิจารณาดูตั้งแต่เรื่องความเหมะสมของพืช ความเหมาะสมของดิน พืชอย่างใดจะเหมาะสมกับดินประเภทใด รวมทั้งการค้นคว้าเกี่ยวกับความต้องการของตลาด คือ การปลูกพืชที่ตลาดต้องการ ผลิตออกมาแล้วมีที่ขาย ส่วนการค้นคว้าวิจัยหลังการผลิต คือ การดูเรื่องความสอดคล้องของตลาด เรื่องคุณภาพของผลผลิต หรือทำอย่างไรจึงจะให้เกษตรกรได้มีความรู้เบื้องต้นในด้านการบัญชีและธุรกิจเกษตรในลักษณะที่พอจะทำธุรกิจแบบพึ่งตนเองได้ สำหรับในเรื่องนี้ทรงเห็นว่า การรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้น ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาวพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้เกษตรกรได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีสภาพชีวิตที่มีความสุขไม่เคร่งเครียดกับการเร่งรัดให้เกิดความเจริญโดยรวดเร็ว นอกเหนือจากเรื่องที่ทรงเน้นในเรื่องการผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว จะเห็นได้ชัดเจน จากพระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่ว่า

ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว      เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ยและทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผล ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน...

          เทคนิควิธีการในการพัฒนาการเกษตรของพระองค์อีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น การใช้ที่ดินที่ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ หรือการมองหาประโยชน์จากธรรมชาติในสิ่งที่ผู้อื่นนึกไม่ถึง เช่น ครั้งหนึ่งทรงสนับสนุนให้มีการทำครั่งจากต้นจามจุรีที่ขึ้นอยู่ ริมทางหลวงที่จะเสด็จฯ ไปวังไกลกังวล มีพระราชดำรัสความว่า

...เกิดจากความคิดที่จะเอาต้นก้ามปูมา ทำให้ประชาชนมีงานทำแล้วรวมเป็นกลุ่ม...

         

การมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ยังมีลักษณะสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่ง คือ การประหยัด ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ โค กระบือในการทำนามากกว่าให้ใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้พืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยจะทรงสนับสนุนให้เกษตรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพของดินในระยะยาว นั่นคือทรงสนับสนุนให้ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังทรงแนะนำในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพ อันจะมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย รวมทั้งได้ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เสริมหรือรายได้นอกการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ของตนเอง

โครงการพัฒนาด้านการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ประกอบด้วยงานหลายประเภท ซึ่งโดยทั่วๆ ไปแล้วจะเป็นงานเกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลอง ไปถ่ายทอดสู่ประชาชน ด้วยการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยโครงการเพื่อการส่งเสริมการเกษตร เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวและทำนาขั้นบันได อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ บ้านแดนสามัคคี อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่น และของประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย