ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านสิ่งแวดล้อม


พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านสิ่งแวดล้อม
 

"...ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือการพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้..."

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕


"...วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่าเมืองไทยนี้ อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือ จะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคำนวณดู น้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอนน้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมาก แล้วที่ใช้จริงๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณ อย่างที่เราใช้น้ำสำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่า น้ำที่สะอาดน้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้ แล้วนอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้น ก็คือ น้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้นนี่เป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่เราจะต้องปฏิบัติ แล้วก็ ถ้าไม่จัดการโดยเร็ว เราก็จะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้ แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมาก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวังถ้าเรามีน้ำ แล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างไรอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้ เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย "ยังให้" ใช้คำว่า "ยังให้" ก็หมายความว่ายังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ไม่ใช่ไม่เหมาะ ที่ๆ เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกันได้ ทำได้พูดกันว่า ถ้าหากไปทำโครงการไฟฟ้าพลังน้ำก็จะไปทำลายป่า ทำให้เสียหายกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ผู้ที่อนุรักษ์สิงแวดล้อมก็พูดอย่างนั้น อันนี้เป็นความจริง ถ้าไปทำลายป่าแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ สนามกอล์ฟ หรือการท่องเที่ยว หรือการลักลอบตัดป่า เป็นต้น ดังนี้ข้อเสียมันเพิ่มขึ้นได้จริง แต่ว่าถ้าหากไปทำในที่ที่เหมาะสม คำนวณได้ว่าผลเสียในการตัดไม้ส่วนหจึ่งจะคุ้มกับผลได้ คือ เช่นที่บอกว่าตัดต้นไม้นั้น ทำให้คาร์บอนขึ้นไปในอากษศเป็นจำนวนเท่านั้นๆ ทำให้เกิดความระเหยของน้ำเท่านั้นๆ เราก็จะต้องมาเลือกดูว่าจะรักษาป่าไว้ หรือจะต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เราจะต้องใช้อย่างหนึ่งอย่างใด อย่างมีผู้เสนอให้ไปซื้อถ่านหินจากออสเตรเลีย มาสร้างโรงไฟฟ้าใช้ไอน้ำ คือใช้ถ่านหินมาเผา เพื่อที่จะทำความร้อนและขับเทอร์ไบน์ให้เป็นไฟฟ้า คำนวณดู ที่เราจะต้องซื้อถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียมา ก็เสียเงินเสียทองเท่าไหร่ มาเผาแล้วจะออกมาเป็นคาร์บอน เวลามาเผาสำหรับหมุนกังหันจะต้องเกิดคาร์บอนขึ้นไปเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับที่จะเสียพลังการกำจัดคาร์บอนจากต้นไม้สัก ๓-๔ ต้น นั้นน่ะ มันคุ้มหรือเปล่า ถ้าทำไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่ไม่ต้องตัดต้นไม้ เพียงแต่ตัดต้นหญ้าก็คงไม่เสียหาย..."

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒


"...ชาวบ้านได้มีน้ำใจนำเต่ามาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เลยบอกเขาว่าขอขอบใจที่ไม่ได้ฆ่าเต่า เป็นการอนุรักษ์สัตว์ และนี่ก็เป็นนกที่หาได้ยากแล้วในประเทศไทย ไม่ใช่แต่ประเทศไทย รู้สึกในหลายๆ ประเทศที่ป่ากำลังจะหมดไป ชาวบ้านก็ทราบว่ามีนโยบายโครงการรักษาอนุรักษ์สัตว์ป่า..."


พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗