ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการเกษตร (เรื่อง การพัฒนาที่ดิน)


พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการเกษตร (เรื่อง การพัฒนาที่ดิน)

“ให้ปรับปรุงที่ดินที่ราษฎรทำกินอยู่แล้วให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องบุกรุกที่ใหม่ ให้สามารถทำนาได้ทุกๆ ปี และให้มีการปลูกป่าโดยใช้ไม้พันธุ์ในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถทนทานต่อภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปยังแปลงทดลองปลูกพืชในดินพรุของศูนย์พัฒนาที่ดินนราธิวาส
๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๔


 

“ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชทำการทดลองควรเป็นข้าว”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเกี่ยวกับการดำเนินการศึกษาวิจัยพื้นที่ดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
๑๖ กันยายน ๒๕๒๗


 

“การปรับปรุงบำรุงดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน”

และอีกตอนหนึ่ง ความว่า

“ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกันขอบชายป่าที่มีความลาดเท และศึกษาในพื้นที่ดินดานของเขาหินซ้อน รวมทั้งดำเนินการศึกษาความสามารถของหญ้าแฝกในการปรับปรุงบำรุงโครงสร้างดิน”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและการชะล้างพังทลายของดิน
๒๓ เมษายน ๒๕๓๔


 

“โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา ๓ ปีแล้ว หรือ ๔ ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี้แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหาแล้ว เขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้”

และมีพระราชดำรัสเพิ่มเติม ความว่า

“ให้นำผลการศึกษาจัดทำตำราในการแก้ไขดินเปรี้ยว แล้วนำไปขยายผลในพื้นที่ดินเปรี้ยวที่จังหวัดนครนายก และศึกษาต่อไปว่า หากมีการปรับปรุงดินแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินหลังจาก ๑ ปี ดินจะมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นหรือไม่”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
๕ ตุลาคม ๒๕๓๕


 

“ปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่จะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝก และทำคันดินกั้นไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วย ก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี หากว่าไม่ปฏิบัติ เช่นนี้ ดินนั้นจะหมดไปเลยเหลือแต่ดินดานและทราย และดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วย ทำให้ห้วยตื้นเขิน เมื่อห้วยตื้นเขิน น้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบและน้ำที่ลงมาจากเขาจะลงมาโดยเร็วเพราะภูเขามีต้นไม้น้อย ทำให้น้ำลงมารวมอย่างเฉียบพลันและท่วม”

และอีกตอนหนึ่ง ความว่า

“หญ้าแฝกนี้กักเก็บน้ำและปุ๋ยที่มาจากภูเขา ภูเขาเป็นเครื่องปฏิกรณ์น้ำและปุ๋ย ไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบาย ก็อาศัยชลประทานแล้วก็ป่าไม้”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝก ปรับปรุงดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีในหลายโอกาสเนื้อความคล้ายกันประมวลมา
ระหว่างวันที่ ๒๒ และ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๔
๑๔ พฤษภาคม ๘ มิถุนายน และ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕

๖ สิงหาคม ๒๕๓๙
๓ เมษายน ๒๕๔๐
และ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๑


 

“ให้หาวิธีเจาะลงไปในชั้นดินดานแล้วนำดินที่มีความร่วนซุยใส่ลงไปในหลุมสำหรับการปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้รากหญ้าแฝกสามารถทะลุดินดานไปได้ หญ้าแฝกจะนำความชื้นไประเบิดดินให้ร่วนซุยมากขึ้น”

และอีกตอนหนึ่ง ความว่า

“เราจะสร้างของดีซ้อนบนของเลวนั้น อย่าไปนึกไปใช้ดานอันนี้ เพราะดานอันนี้ไม่มีอาหารและแข็งเหลือเกิน ต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราเจาะดินลงไปแล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ แล้วหญ้าแฝกนั้นเวลาน้ำฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติดหญ้าแฝก ก็จะเป็นดินใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นไป แล้วก็ดินนี้นานไปจะเป็นดิน”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เกี่ยวกับการปรับปรุงดินที่มีชั้นดานโดยการปลูกหญ้าแฝก ณ ศูนย์ศึกษา
การพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ในหลายโอกาส เนื้อความคล้ายกันประมวลมา
๘ มิถุนายน ๒๕๓๕
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕
๓ เมษายน ๒๕๔๐
และ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑


 

“เรื่องการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแนวป่าไม้ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เศษใบไม้ที่ร่วงหล่น จะช่วยทำให้ดินมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเมื่อใบไม้ย่อยสลาย ส่วนหญ้าแฝกที่ปลูกในระหว่างไม้ยืนต้นจะไม่ตาย แต่จะชะงักการเจริญเติบโตระยะหนึ่ง เมื่อมีการตัดไม้ออก แฝกก็จะเจริญได้อีกครั้ง ให้ปลูกหญ้าแฝกในดินดาน โดยระเบิดดินดานเป็นหลุมแล้วปลูกหญ้าแฝกลงในหลุม เพื่อดันชั้นดินดาน ให้แตก สามารถดักตะกอน ตลอดจนใบไม้ ทำให้เกิดดินใหม่ขึ้น”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ณ ศาลาทรงงาน บริเวณอุทยานมัจฉา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา
๒๓ เมษายน ๒๕๔๐


 

“การอนุรักษ์ดินก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวตามที่พระราชทานพระราชดำริแล้ว การอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝกต้องทำให้กว้างขวาง เพื่อป้องกันและรักษาหน้าดินไม่ให้สูญหาย ได้ทดลองทำครั้งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ด้วย ตลอดจนเข้าไปดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อีกหลายแห่ง จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการในบริเวณที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสื่อมโทรมต่าง ๆ ด้วย”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชูชีพ หาญสวัสดิ์) ณ แปลงนาสาธิต สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐


 

“บัณฑิตทุกคนควรจะได้สนใจสังเกตศึกษาเรื่องราว บุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับตัวเองให้มาก อย่าละเลยหรือมองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้า ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้ หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษและหญ้าที่มีคุณอย่างหญ้าแฝก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรง ๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง และมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนาทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี”

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐


 

“สิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้นจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาและเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั่วไปด้วย จึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ อย่างเช่น การปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกด้วยหลักวิชา ดังนี้ จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื้นในดินเก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้น บัณฑิตผู้จะออกไปเริ่มต้นชีวิตการงานต่อไป จึงควรจะได้ศึกษาพิจารณาเรื่องความถูกต้องเหมาะสมที่กล่าวนี้ให้ทราบชัด”

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐


 

“ปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่จะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝกและทำคันกั้นไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วยก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี หากว่าไม่ปฏิบัติเช่นนี้ ดินนั้นจะหมดไปเลยเหลือแต่ดินดานและทราย และดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วย ทำให้ห้วยตื้นเขิน เมื่อห้วยตืนเขิน น้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบ และน้ำที่ลงมาจากเขาจะลงมาโดยเร็วเพราะภูเขามีต้นไม้น้อย ทำให้น้ำลงมารวมอย่างฉับพลันและท่วม”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ณ พระราชนิเวศมฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๑


 

“ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖


 

โดย: กลุ่มนโยบายพิเศษ
๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔