ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ (4 ธันวาคม 2534)


สรุปพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ

๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

รู้รักสามัคคี

“...อีกอย่างหนึ่งที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็ได้พูดแล้ว ท่านก็คงได้ฟังแล้วได้พูดเมื่อวานนี้เองในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์. ตอนแรกได้พูดว่าคนไทยเรา ที่รักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้ก็โดยอาศัย การที่ “รู้จักความสามัคคี และรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเสริมกัน”. ความจริงเขียนไว้ว่า “รู้รักความสามัคคี”. เดิมเขียนว่า “รู้รักสามัคคี” แต่กลัวว่าถ้าพูดผิดวรรคตอนเป็น “รู้รักสา มัคคี” ก็จะกลายเป็น “รู้รักษา” แล้ว “มัคคี” ก็จะไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ก็เลยเติมคำ “ความ” เข้าด้วย แต่เวลาอ่านตามันลาย เพราะเหตุว่ายิงปืนสลุต แล้วควันของปืนสลุตมันตามลมมา มาเข้าตา ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ต้องถามอธิบดีกรมอุตุนิยมฯ ว่าทำไมลมมันเกิดเปลี่ยนทิศมาอย่างนั้น. แต่ว่าลมมันเปลี่ยนทิศมา ทำให้ควันของสลุตของทหารปืนใหญ่มาเข้าตา เลยทำให้อ่านว่า “รู้จักความสามัคคี”. ความจริงเขียน “รู้รักความสามัคคี” และก็ควรจะอ่านว่า “รู้รักความสามัคคี” ที่เขียนไว้อย่างนั้นเพราะว่า คนไทยนี้ ความจริง “รู้รักสามัคคี” ถึงอยู่ได้จนทุกวันนี้. ถ้าไม่รู้ “รู้รักสามัคคี” อยู่ไม่ได้.

แต่ก่อนนี้เมื่อ ๔๐ หรือ ๕๐ ปีก่อน ประชากรของประเทศไทย มีประมาณ ๑๘ ล้าน เดี๋ยวนี้มีมากขึ้นสามเท่า มีมากกว่า ๕๔ ล้าน จวนจะ ๖๐ ล้าน. การที่จะ “รู้จักสามัคคี” ก็ลำบากมาก เพราะคนมาก ๆ รู้จักกันทั่วถึงไม่ค่อยได้. แต่ “รู้รักสามัคคี” ควรจะใช้ได้ เพราะหมายความว่า ทุกคนถือว่าตนเป็นคนไทย มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ทุกคนรู้ว่าต้องมีความสามัคคี. “รู้” ก็คือ “ทราบ” ทราบความหมายของสามัคคี “รัก” คือ “นิยม” นิยมความสามัคคี. เพราะเหตุใดคนไทยจึง “รู้รักสามัคคี” ก็เพราะคนไทยนี่ฉลาด ไม่ใช่ไม่ฉลาด คนไทยนี่ฉลาด รู้ว่าถ้าหากเมืองไทยไม่ใช้ ความสามัคคี ไม่เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช้อะไรที่จะพอรับกันได้ พอที่จะใช้ได้ ก็คงจะไม่ได้ทำอะไร หมายความว่า ทำมาหากินก็ไม่ได้ทำมาหากิน เพราะว่าไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีความสงบ. จะต้อง “รู้รักสามัคคี” หมายความว่า รู้จักการอะลุ้มอล่วยกัน แม้จะไม่ใช้ถูกต้องเต็มที่ คือหมายความว่าไม่ถูกหลักวิชาเต็มที่ ก็จะต้องใช้ เพราะว่าถ้าไม่ใช้ ก็ไม่มีอะไรใช้. อาจมีสิ่งที่มีอยู่แล้วที่จะใช้ไปได้ชั่วคราว คุณภาพอาจไม่ค่อยดีนักทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าต้องใช้อะไรที่พอใช้ได้ไป ไม่อย่างนั้นไม่มีวันที่จะมีชีวิตรอดได้.”


ขาดทุนคือกำไร

“...เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็นึก ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างไรดี. ท่านทั้งหลายคงเข้าใจภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าท่านเป็นคนไทย ก็ต้องพูดเป็นภาษาไทย. แต่ออกจะจนใจ ว่าที่พูดเป็นภาษาอังกฤษนั้น จะแปลอย่างไรดี. ตอนแรกอาคันตุกะเขาก็ไม่เข้าใจ. เราพูดไปแล้วเขาก็อ้าปาก คืออ้าปากจะพูดแล้วพูดไม่ออก. สักครู่หนึ่ง เขาก็ถามว่า “แปลว่าอะไร”. โอวาทนั้นถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็แปลว่า “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” หรือ “การขาดทุนของเราเป็นการได้กำไรของเรา”. ท่านนักเศรษฐกิจคงร้องว่า “ไม่ใช่”. แต่ว่าเป็นอย่างนั้น ก็เห็นนักเศรษฐกิจยิ้ม ๆ. ยิ้มว่าอะไร “พูดอย่างนี้ไม่ได้เรื่อง”. “การขาดทุนของเราเป็นการได้กำไรของเรา” หรือ “เราขาดทุนเราได้กำไร”

พูดภาษาอังกฤษมันสั้นกว่า ฉะนั้นก็ต้องเผยว่าภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร ภาษาอังกฤษ “Our” หมายความว่า “ของเรา”. Our loss...”, “loss” ก็การเสียหาย “การขาดทุน”. “Our loss is...”, “is” ก็ “เป็น”. “Our loss is our...”, “our” นี่ก็คือ “ของเรา”. “Our loss is our gain...”, “gain” ก็คือ “กำไร” หรือ “ที่ได้” “ส่วนที่เป็นรายรับ”. เป็นอันว่าพูดกับเขาว่า “Our loss is our gain”. “ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา”. หรือ “เราขาดทุนเราก็ได้กำไร”.

เราพูดเสร็จ เขาก็บอกว่า “ขอให้พูดซ้ำอีกที”. เราก็พูดซ้ำอีกที. เขาก็นั่งเฉยไปอีก ก็หมายความว่าต้องการจะให้อธิบายขยายความ. เราจึงอธิบายว่า ในการกระทำใด ๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม. เรื่องนี้ตรงกับงานของรัฐบาลโดยแท้. ถ้าหากว่าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐจะต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน. ถ้าทำไปก็เป็น “loss” เป็นการเสีย เป็นการขาดทุน เป็นการจ่าย คือ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่าย ซึ่งมาจากเงินของประชาชน. แต่ว่าถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนก็จะได้กำไร จะได้ผล. ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ไป ส่วนรัฐบาลไม่ได้อะไร. แต่ข้อนี้ถ้าดูให้ดี ๆ จะเห็นว่าถ้าราษฎรอยู่ดีกินดี มีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก ไม่มีการหนีภาษี เพราะเมื่อมีรายได้ดีขึ้นเขาก็สามารถเสียภาษีได้มากขึ้น

ตอนนี้ถ้าราษฎร “รู้รักสามัคคี” เขาเข้าใจ ว่าเมื่อเขามีรายได้ เขาก็จะยินดีเสียภาษี เพื่อช่วยราชการให้สามารถทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ. ถ้าราษฎร “รู้รักสามัคคี” และ รู้ว่า “การเสียคือการได้” ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า. เพราะว่าการที่คนอยู่ดีมีความสุขนั้น เป็นกำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้. แต่ว่าถ้าจะคิดให้เป็นมูลค่าเงินจริง ๆ ก็คิดได้. เราต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่น่าจะต้องจ่าย เช่นทางรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมประชาสงเคราะห์ หรือกรมอื่น ๆ จะต้องไปสงเคราะห์ราษฎรที่ยากจน ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านพันล้าน ในการสงเคราะห์ชาวบ้านที่ยากจน โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา. เพราะว่าราษฎรที่ยากจนนี้ เขาไม่มีกำลังที่จะตอบแทนอะไรได้เลย. แม้จะทำงานก็ไม่ค่อยได้ เพราะความยากจน. แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้นหน่อย. เขาจะสามารถหารายได้ได้มากขึ้น เราก็จะลดการสงเคราะห์ลงได้.

แต่เมืองไทยนี้ “ขาดทุนคือกำไร” ใช้ได้. ยกตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัว คือโครงการพระราชดำริ – อันนี้ไม่ใช่การโอ้อวดยกตัว แต่เป็นการชี้แจงว่า ทำไมทำโครงการอย่างนี้. – บางคนก็บอกว่าโครงการพระราชดำรินั้น ไม่ถูกหลักวิชา. จริง ไม่ถูก แต่ว่าเราเห็นว่าที่ไหนทำโครงการได้ เราก็ต้องทำโดยเร่งด่วน แม้จะยังไม่ได้ประกาศราคาอย่างถูกระเบียบ หรือแม้ราคาของโครงการนั้นอาจแพงกว่าจริงบ้าง.

ยกตัวอย่าง สมมุติว่าโครงการแห่งหนึ่งต้องลงทุน ๑๐ ล้านบาท. ถ้าทำการศึกษาอย่างรอบคอบแล้วมีการประกวดราคาตามระเบียบ ราคาอาจตก ๘ ล้านบาท แต่การนี้จะต้องเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี. แต่ว่าถ้าหากทำไปเลยตก ๑๐ ล้าน โดยที่ปลายปีนั้นหรือก่อนปลายปี โครงการจะให้ผลแล้ว ประชาชนจะได้กำไร คือประชาชนจะมีรายได้แล้ว. เป็นอันว่าปลายปีนั้น ไม่ต้องสงเคราะห์ คือไม่ต้องเอาเสื้อผ้า เอาอาหาร เอาอะไรต่าง ๆ ไปแจก ไม่ต้องสงเคราะห์. ก็ประหยัดการสงเคราะห์ไปได้. ในปีแรกอาจประหยัดไปถึงล้านบาทก็ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นแสน. แล้วก็ไม่ต้องปราบปราม เพราะว่าคนที่เดือดร้อนไม่มีเงินใช้ มักจะต้องไปขโมยบ้าง หรือไปหากินที่อื่น และระหว่างทาง ต้องเผชิญความเดือดร้อนจึงกระทำผิดกฎหมายบ้าง หรือแม้จะไม่ทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องเสียเวลาเสียค่าเดินทาง ก็เสียทั้งนั้น ซึ่งถ้ามีงานทำในท้องที่ของตัวก็ไม่ต้องเสีย. เงินที่ใช้ในการทำโครงการ ส่วนที่เกินไปหน่อยมันกลับคืนมาแล้ว.

หมายความว่า ถ้าหากรีบทำโครงการ ๑๐ ล้านบาทนั้น ก็ได้กำไรแล้วในปีแรก. ชดเชยจำนวน ๒ ล้านบาท ที่ว่าแพงเกินไปนั้นได้แล้ว. แต่ข้อสำคัญที่สุด ถ้าอยากทำโครงการให้ได้มูลค่า ๘ ล้านบาทนั้น จะต้องเสียเวลาสอบราคา เสียเวลาทำแผนให้รอบคอบ จึงยังทำไม่ได้ในปีนี้. ปีนี้ชาวบ้านจึงยังไม่ได้รับผลดีจากโครงการ. ครั้นปีต่อไปปูนซีเมนต์ก็แพงขึ้น เศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป ๘ ล้านบาทไม่พอแล้ว ตกลงต้องใช้ ๙ ล้านบาท. จึงต้องของบประมาณเพิ่มเติม. และแล้วงบประมาณเพิ่มเติมนั้นก็ถูกตัด. ปีที่สอง จึงยังทำไม่ได้. จนกระทั่งเอาจริงในปีที่สาม อนุมัติ ๑๐ ล้าน ก็ทำได้. แต่ผลดีที่ควรจะได้รับตั้งแต่ต้นจากโครงการนั้นก็ไม่ได้รับ. แล้วก็เป็นอันว่าต้องเสียเงิน ๑๐ ล้านบาทอยู่ดี แต่ประชาชนต้องทนเดือนร้อนไปอีกสองสามปี. ถ้ายอม “ขาดทุน” คือยอมเสีย ๑๐ ล้านบาทตั้งแต่ต้น ก็สามารถที่จะ “ได้กำไร” คือประชาชนจะได้ผลดีตั้งแต่ปีแรก. ทางวิชาเศรษฐกิจแท้ ๆ ก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน. มติหรือคติพจน์ที่ว่า “ขาดทุนทำให้มีกำไรได้” นั้น ก็เป็นอันพิสูจน์ได้แล้ว.”


๔ ธันวาคม ๒๕๓๕

ถนนดิสโก้

“...คราวนี้จะขอเล่าเรื่องว่าทำอะไรบ้าง ขอเล่านิทาน ก็ไม่ใช่นิทาน เป็นเรื่องที่ได้ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้. ไปอยู่ที่ภาคอีสานประมาณสองสามอาทิตย์ และได้ไปเยี่ยมที่แห่งหนึ่งคือ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปดูเขาทำงาน ก็รู้สึกว่า มีความก้าวหน้ามาจากที่เคยเห็น เขาวง มาเมื่อสิบปีก่อน. เมื่อสิบปีก่อนนี้ รู้สึกแร้นแค้นอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้แร้นแค้น แต่คนก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความตื่นตัวมาก เห็นเขาทำการทำงานดีขึ้น และเป็นคนที่ค่อนข้างจะยิ้มแย้มแจ่มใส. เขาได้มาทำพิธีบายศรีให้อย่างร่าเริง ก็รู้สึกว่าน่าชื่นชมและน่ายินดี. เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็อยากจะไปดูที่แห่งหนึ่งที่น่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้. จึงไปดูแห่งหนึ่ง ที่ได้เห็นจากเฮลิคอปเตอร์เพราะว่าวันนั้นไปเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ จากสกลนครไปถึงอำเภอเขาวง.

การไปเฮลิคอปเตอร์นี้มีความสุขความสบายขึ้น เพราะว่าถ้าไปรถยนต์ จะใช้เวลาถึงชั่วโมงครึ่ง หรือสองชั่วโมง แต่ไปเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ จะใช้เวลาเพียงยี่สิบห้านาที เป็นการทุ่นเวลาทุ่นกำลัง. การไปเฮลิคอปเตอร์ทุกครั้ง ก็นึกถึงว่าจะต้องสิ้นเปลืองแต่ถ้าใช้เฮลิคอปเตอร์นั้นในทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็จะคุ้มค่า. ฉะนั้นก็ต้องพยายามดู สำรวจทาง และพอดีก็ผ่านที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ที่เหมาะสมในการเก็บกักน้ำ โดยที่จะไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ประการใด เพราะจะไม่ท่วมที่ทำมาหากินของเขาเลย จึงเห็นว่าตรงนั้นเหมาะสม. ได้เห็นจากเฮลิคอปเตอร์ก็จดเอาไว้อยู่ตรงไหน.

ลงมาถึงพื้นแล้ว ก็ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ว่าจะไป ณ ที่ตรงนั้น ๆ. ถึงเวลาก็แล่นรถไป เข้าไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ใกล้สถานที่นั้น. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจทั้งช่างชลประทาน ไม่แน่ใจว่าจะมีทางไปถึงตรงนั้น จึงเอาชาวบ้านคนหนึ่งมาเป็นมัคคุเทศก์นำทาง. ผู้ที่นำทางนั้น ก็นำไป แห่งหนึ่ง เป็นทางแยกที่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา. เขาบอกให้เลี้ยวซ้าย ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเลี้ยวซ้าย. แต่เขาก็บอกให้เลี้ยวซ้าย. เลี้ยวซ้ายผ่านโรงเรียน ผ่านโรงเรียนแล้วก็เลี้ยวขวา. เลี้ยวขวานั้น ก็เข้าไปในทางที่เรียกได้ว่าลำลองอย่างมาก ๆ เป็นทางที่เขาเต้น “ดิสโก้” กัน. คือที่เต้น “ดิสโก้” นี่ เพราะว่ารถมันแกว่งไปแกว่งมา เหมือนเต้น “ดิสโก้” ก็เลยเรียกว่า “ทางดิสโก้” แล่นไปตาม “ทางดิสโก้” นั้นไกลพอสมควร ประมาณสักสองกิโลเมตรก็ไปถึงที่แห่งหนึ่ง. เขาบอกว่าหยุด หยุดตรงนั้น. มืดแล้ว เห็นมีแต่นา. คนที่นำทางก็บอกว่า “นึกว่าอยากจะมาตรงนี้”. เราบอกว่า “ไม่ใช่” อยากจะมาดูตรงนี้เป็นทางน้ำ ที่เหมาะสมกับการทำโครงการ รูปร่างคล้าย ๆ เป็นแก่ง”. เป็นอันกลับ กลับมา “ดิสโก้” อีกสองกิโลเมตร แล้วมาที่หมูบ้าน. แล่นตรงไป แล้วเดินอีกสองร้อยเมตรก็ไปถึงที่ที่ถูกต้อง และช่างชลประทานเขาก็เห็นว่า เหมาะสมสำหรับทำโครงการ.”


โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน อำเภอเขาวง

“...แล้วมาถามชาวบ้านที่อยู่ที่นั่น ว่าเป็นอย่างไรปีนี้. เขาบอกว่าเก็บข้าวได้ แล้วข้าวก็อยู่ตรงนั้น กองไว้. เราก็ไปดูข้าว ข้าวนั้นมีรวงจริงแต่ไม่มีเม็ด หรือรวงหนึ่งมีสักสองสามเม็ด. ก็หมายความว่าไร่หนึ่ง คงได้ประมาณสักถังเดียว หรือไม่ถึงถังต่อไร่. ถามเขาทำไมเป็นเช่นนี้. เขาก็บอกว่าเพราะไม่มีฝน เขาปลูกกล้าไว้ แล้วเมื่อขึ้นมาก็ปักดำ. ปักดำไม่ได้เพราะว่าไม่มีน้ำ ก็ปักในทราย ทำรูในทรายแล้วปักลงไป. เมื่อปักแล้วตอนกลางวันก็เฉา มันงอลงไป แต่ตอนกลางคืนก็ตั้งตัว ตั้งตรงขึ้นมาเพราะมีน้ำค้าง แล้วในที่สุดก็ได้รวงแต่ไม่มีข้าวเท่าไร. อันนี้เป็นบทเรียนที่ดี เขาก็เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา. แสดงให้เห็นว่าข้าวนี้เป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก ขอให้ได้มีน้ำค้างก็พอ. แม้จะเป็นข้าวธรรมดาไม่ใช่ข้าวไร่. ถ้าหากว่าเราช่วยเขาเล็กน้อยก็สามารถที่จะได้ข้าวมากขึ้นหน่อย พอที่จะกิน. ฉะนั้นโครงการที่จะทำ มิใช่จะต้องทำโครงการใหญ่โตมากนัก จะได้ผล ทำเล็ก ๆ ก็ได้. จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าในที่อย่างเช่นนั้น ฝนก็ดีพอสมควร แต่ลงมาไม่ถูกระยะเวลา เมื่อลงมาไม่ถูกระยะเวลา ฝนก็ทิ้งช่วงข้าวก็ไม่ดี.

วิธีแก้ไขคือต้องเก็บน้ำฝนที่ลงมา. ก็เกิดความคิดว่าอยากทดลองดู สักสิบไร่ในที่อย่างนั้น. สามไร่จะทำเป็นบ่อน้ำ คือเก็บน้ำฝนแล้วถ้าจะต้องใช้บุด้วยพลาสติคก็บุด้วยพลาสติค ทดลองดู. แล้วอีกหกไร่ทำเป็นที่นา ส่วนไร่ที่เหลือนั้น ก็เป็นที่บริการหมายถึงทางเดินหรือเป็นกระต๊อบ หรืออะไรก็แล้วแต่. หมายความว่า น้ำสามสิบเปอร์เซ็นต์ ที่ทำนา หกสิบเปอร์เซ็นต์ ก็เชื่อว่าถ้าเก็บน้ำไว้ได้ จากเดิมที่เก็บเกี่ยวข้าวได้ไร่ละหนึ่งถังถึงสองถัง ถ้ามีน้ำเล็กน้อยอย่างนั้น ก็ควรจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ไร่ละประมาณสิบถึงยี่สิบถัง หรือมากกว่าอาจจะถึง สามสิบก็ได้. สมมุติว่า สิบเท่าก็ยี่สิบถังหมายความว่า ที่หกไร่ปัจจุบัน ที่ได้ไร่ละหนึ่งถัง ก็จะได้ ยี่สิบถัง. ยี่สิบเท่าหรือถ้านับเอาง่าย ๆ ว่าสิบเท่า ที่หกไร่จะเท่ากับ หกสิบไร่. ทั้งหมดสิบไร่ เท่ากับได้ผลเท่ากับหกสิบไร่ของเขาปัจจุบัน จึงควรจะใช้ได้. ก็พยายามที่จะวางแผนนี้.

วันรุ่งขึ้นได้ข่าวมาว่าที่ตรงนั้น ที่เรา “ดิสโก้” ไป มีชาวบ้านสองคน เขาบอกว่า เขาขอบริจาคที่ดินคนละห้าไร่ เพื่อที่จะทำโครงการตามอัธยาศัย. อันนี้ไม่ต้องไปซื้อเขา ไม่ต้องไปเวนคืนเขา. เขาเข้าใจว่าพยายามที่จะช่วยเหลือ แม้จะรู้ว่าโครงการที่จะช่วยเหลือนี้เป็นโครงการทดลอง มิใช่เป็นโครงการพิสูจน์มาแล้ว เขาแบ่งให้ ห้าไร่. อีกคนมีเก้าไร่เขาแบ่งให้ ห้าไร่. จึงจะทำโครงการนี้ได้. ถ้าทำโครงการนี้สำเร็จ ก็หมายความว่าที่ต่าง ๆ ในอำเภอเขาวงที่แห้งแล้งจริง ๆ หรือที่อื่นก็ตาม จะทำได้ทั้งนั้น. ปีหน้าก็คงได้ทราบผลของการทดลองนี้.

ที่เล่าให้ฟังดังนี้ อย่างยืดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่าชาวบ้านปัจจุบันนี้เป็นคนทีรู้จักการสละที่เพื่อพัฒนาท้องที่ของตัว. แล้วเขาก็ไม่ได้มีข้อแม้อะไร ไม่ได้บอกว่าถ้าทำสำเร็จแล้ว จะขออย่างนั้นอย่างนี้ เขาไม่ได้บอกเลย เขาบอก ขอให้ตามอัธยาศัย. แสดงให้เห็นว่าคนที่ถือกันว่าเป็นคน ที่เรียกกันว่าเป็นคนบ้านนอก เขารู้ว่าพัฒนาประเทศทำอย่างไร. โดยมากคำว่าบ้านอกนี้ก็พูดอย่างไม่ค่อยดีนัก แต่ว่าคนที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ. เขารู้ว่าจะต้องทดลอง ต้องใช้ความคิด แล้วมีการทดลอง เสียก็เสียไปแต่ว่าน่าจะได้. ฉะนั้นเมืองไทยนี้มีความหวังที่จะพัฒนาให้อยู่ได้ แต่ว่าจะต้องใช้ คำว่าเสียสละ ก็อาจะเบื่อคำว่าเสียสละ. ต้องรู้จักคำว่าสามัคคี ก็อาจจะเบื่อคำว่าสามัคคี. อะไร ๆ ก็ให้สามัคคีกัน ให้อะไรกัน ให้เมตตากัน. คำเก่า ๆ เหล่านี้ยังมีผลดีแต่ว่าคนเราสมัยนี้อาจจะลืม เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลง สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป. ที่ตะกี้พูดว่าจะเล่าเรื่อง ก็เล่าเรื่อง ไม่ใช่นิทานเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามวันนี้. แต่ว่าท่านคงเข้าใจว่าทำไมเล่าให้ฟัง เพื่อที่จะให้ท่านทั้งหลายมีหวังว่าพัฒนาได้ ไม่ใช่ ไม่มีหวัง แต่ว่าจะต้องคิดให้ดี ๆ.”


นร้อยเปช้เงินจำนวนเปนอยสุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม

อ้างอิง

สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

 

กลุ่มนโยบายพิเศษ

๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖