ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ (4 ธันวาคม 2536)


สรุปพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ

๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

“...ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้ ดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้. หมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่าอีกหน่อยจะต้องปันส่วนน้ำ หรือแม้จะต้องตัดน้ำประปา. อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ. ฉะนั้นต้องหาทางแก้ไข. เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้วางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว. ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติตามแผนนั้น ๆ แล้ว วันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ. โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี. แล้วโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่ออยู่ที่นราธิวาส. ได้วางโครงการที่แม้จะยังไม่แก้ปัญหาปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดี ในประมาณ ๕ หรือ ๖ ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง.

อาจะนึกว่า ๕ - ๖ ปีนี้มันนาน. ความจริงไม่นาน. แล้วระหว่างนี้ เราก็ต้องพยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อย ๆ. แต่ถ้ามีความหวังว่า ๕ - ๖ ปี ปัญหานี้หมดไปก็คงมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าชีวิตต่อไป. ที่ว่า ๕ - ๖ ปีนี้ ความจริงได้เริ่มโครงการนี้มามากกว่า ๕ - ๖ ปีแล้ว. โครงการที่คิดจะทำนี้ บอกได้ว่าไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเกรงว่าจะมีการคัดค้านจาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งเหล่านักต่อต้านการทำโครงการ. แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย. แต่ก็ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้ อีก ๕ - ๖ ปีข้างหน้า เราสบาย. และถ้าไม่ทำ อีก ๕ - ๖ ปีข้างหน้า ราคาค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป ๒ เท่า ๓ เท่า. ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปก็จะไม่ได้ทำ. เราก็จะต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย. แล้วเราจะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้.

โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง. แห่งหนึ่งคือที่แม่น้ำป่าสัก อีกแห่งหนึ่งที่แม่น้ำนครนายก. สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำ เหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ ในเขตของกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงในที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้. สำหรับการใช้น้ำนั้น ต้องทราบว่าแต่ละคนใช้อยู่อย่างสบายพอสมควร โดยเฉลี่ย คนหนึ่งใช้วันละ ๒๐๐ ลิตร. ถ้าคำนวณดูว่า วันละ ๒๐๐ ลิตรนี้ ๕ คนก็ใช้ ๑,๐๐๐ ลิตร คือ หนึ่งลูกบาศก์เมตรต่อวัน. ถ้าปีหนึ่งก็คูณ ๓๖๕. ก็หมายความว่า ๕ คนใช้ในปีหนึ่ง ๓๖๕ ลูกบาศก์เมตร. ในกรุงเทพฯ และในบริเวณใกล้เคียงนี้เรานับเอาคร่าวๆ ว่ามี ๑๐ ล้านคน. ๑๐ ล้านก็คูณเข้าไป ก็เป็น ๗๓๐ ล้าน ๗๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร. ฉะนั้นถ้าเราเก็บกัก ๗๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตรในเขื่อน เราก็สามารถที่จะบริการคนในละแวกนี้ คนในภาคกลาง ใกล้กรุงเทพฯ นี้ ได้ตลอดไป แล้วก็ไม่มีความขาดแคลน.

เขื่อนป่าสัก ที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ ๑,๓๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร. แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ ๗๕๐ ล้านกว่า ๆ. ตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้ แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียว ก็พอพอสำหรับบริโภค แน่นอน ไม่แห้ง. ถ้าเติมอีกโครงการที่นครนายก จะได้อีก ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เกินพอ. คนจะต้องเริ่มเอะอะเมื่อได้ยินชื่อ แม่น้ำนครนายก เพราะเอะอะว่าเดี๋ยวจะไปสร้างที่ ที่ต้องบุกป่า ต้องบุกอุทยานแห่งชาติ อะไรอย่างนั้น. ไม่ใช่. ตอนนี้ ระยะนี้ จะไม่สร้างในป่าสงวน ในป่าอุทยาน. หรือถ้าเข้าไปหน่อยก็จะไม่มีต้นไม้ มีแต่ต้นกล้วยป่า. โครงการนี้จะสร้าง ใกล้บ้านท่าด่าน. ที่บ้านท่าด่านนี้ จะมีคนคัดค้านว่า มีโครงการพระราชดำริอยู่. มีฝายท่าด่านซึ่งสร้างมาเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีแล้ว บริการเกษตรกรในเขตของนครนายก ทำให้ได้น้ำสำหรับการเกษตรกรรมประมาณหมื่นไร่. ฝายลูกนั้น เป็นฝายที่ใหญ่. ฝายลูกนั้นจะต้องถูกอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างใหม่ครอบ. แล้วน้ำจะท่วมฝายลูกนั้น…”

“...ฉะนั้นการสร้างเขื่อน เฉพาะตัวเขื่อนและอาคารประกอบ จะทำให้แก้ปัญหาไปได้มาก. และจะไม่ท่วมที่ของประชาชนมากนัก. มีที่ตรงนั้นประมาณ ๕๐๐ ไร่ที่เป็นของกรมชลประทานอยู่แล้ว ไม่ต้องเวนคืน ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเดือดร้อน. และก็ยังเหลือที่ทำมาหากินเล็กน้อยของประชาชนในหมู่บ้านท่าด่านนั้น. หมู่บ้านเองก็จะไม่ถูกแตะต้อง. ฉะนั้นถ้าหากว่าทำโครงการนี้ ก็จะเป็นการช่วยขจัดภัยแล้งได้. สำหรับเฉพาะเขื่อนนี้ถ้าหากว่าทำโดยเร่งด่วนจริงๆ เข้าใจว่า ๔ ปีก็ทำเสร็จ ไม่ใช่ ๖ ปี. แต่ต้องเอาจริงแล้วก็ต้องยอมลงทุน เพราะว่าเขื่อนนี้สูงถึง ๗๐ เมตร ซึ่งไม่ใช่น้อย เพื่อให้จุน้ำได้เต็มที่. ในลุ่มน้ำนั้นมีน้ำลงมาโดยเฉลี่ย ๒๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี. ฉะนั้นก็จะรู้สึกว่าจะแน่นอนพอสมควรว่าอ่างน้ำอันนี้จะมีประสิทธิภาพ.

ปัญหาปัจจุบันนี้ คือภัยแล้ง หมายความว่าฝนไม่ลง. แต่ในละแวกนี้ มีฝนลงจนน้ำท่วมมาเนืองๆ ไม่เหมือนภาคเหนือ. ที่นี่จึงเชื่อว่า น้ำจะมีพอ. และถ้าหากว่าปีไหนฝนดื้อ ไม่ลงก็สามารถทำฝนเทียมให้ลงมาได้สะดวกง่ายกว่าที่ภาคเหนือ. เข้าใจว่า ในบริเวณเขื่อนอันนี้แม้สภาพอากาศจะมีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปบ้าง ก็เชื่อว่าน้ำจะมีจำนวนพอเพียง. มิหนำซ้ำถ้าหาก บางปีมีมากผิดปกติ อย่างเคยมีมากจนกระทั่งทำให้น้ำท่วมเขื่อนอันนี้จะช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้. มีน้ำมากหรือน้อย ก็สามารถที่จะบริการประชาชนให้ได้น้ำสม่ำเสมอทุกปี. เรื่องของน้ำท่วมนั้น ปีนี้นึกว่าไม่ต้องพูดแต่ลงท้ายเทวดาก็เตือนว่าต้องพูด เพราะว่าภาคใต้ก็ท่วม. เป็นอย่างนี้ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ บางทีก็มากบางทีก็น้อย. แต่ถ้าสร้างเขื่อน อ้าย “บางทีก็มาก บางทีก็น้อย” นั้น เขื่อนนั้นจะเป็นเครื่องมือสำหรับเฉลี่ย. ปีไหนมีน้ำมากก็เก็บเอาไว้ ไม่ต้องใช้ เพราะว่าน้ำฝน
ที่ลงมา พอใช้แล้ว. ก็เก็บเอาไว้. ปีไหนที่น้ำน้อย ก็เอาออกมาใช้. ทำให้ภัยแล้งบรรเทาลง ภัยของอุทกภัยก็บรรเทาลงด้วย. ข้อนี้ได้พูดมาหลายปีแล้ว แล้วก็ในที่ประชุมเช่นนี้เหมือนกัน. ฉะนั้นการที่มาเล่าให้ฟังว่าคิดจะสร้างเขื่อนนครนายกนี้ ก็เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต. เพื่อที่จะไม่ต้องเสียใจว่าทำไมเมื่อ ๖ ปีก่อนนั้นไม่ได้ทำ…”


โครงการฝนหลวง

“...แต่มีวิธีจะทำได้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น ทำฝนเทียม. หมายความว่าความชื้นที่ผ่านเหนือเขต เราดักเอาไว้ให้ลงได้. ปีนี้ได้ทำมากพอใช้ ทำเป็นเวลาต่อเนื่องกันไปประมาณเกือบ ๓ เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำนั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยมากเพราะว่าเครื่องบินก็มีน้อย อุปกรณ์มีน้อย. เจ้าหน้าที่ที่ทำฝนเทียมนั้น ต้องเสี่ยงอันตรายมาก เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ก็เก่าแล้ว และชำรุดบ่อย. ทางกองทัพก็ได้เอื้อเฟื้อเครื่องบินแต่เครื่องบินเหล่านั้นก็เก่าอย่างเช่น เครื่องบิน ซี ๑๒๓ ซึ่งเหมาะสมกับการทำฝนเทียมเพราะระวางบรรทุกมากพอใช้ และมีสมรรถนะดี. แต่ ๒ ลำนั้นต้องใช้ผลัดกัน บางวันอาจจะใช้ได้หนึ่งลำบางวันก็ศูนย์ลำ เพราะต้องแก้เครื่องยนต์. เจ้าหน้าที่จะต้องเสี่ยงอันตราย เพราะว่าขึ้นไปแล้ว ถ้าเครื่องยนต์เสีย จะมาลงที่ไหนมันไม่มีที่ลง ลงลำบากก็เลยทำให้เป็นอันตรายได้. ฉะนั้นเขาได้ปฏิบัติด้วยความเสียสละ. ใช้คำว่าเสียสละได้เพราะว่าอันตราย ฝ่าอันตราย. ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ นั้น ก็มีเครื่องบิน ๒ ลำ ซึ่งจะต้องผลัดกันซ่อม. ฉะนั้นจำนวนเครื่องบินที่มีใช้ อาจจะไม่พอ. ถ้าไม่พอ ผลมันไม่ได้. และเพื่อให้ฝนเทียมนี้ได้ผล จะต้องมีอุปกรณ์ให้พอสมควร. ซึ่งยากที่จะหามาเพราะว่าราคาก็แพง เครื่องบินลำหนึ่งราคาเป็น สองร้อย สามร้อยล้าน.

แล้วก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ด้วย เจ้าหน้าที่ก็ต้องฝึก. การทำฝนเทียมนี้บางทีก็เป็นสิ่งที่น่าท้อใจ เพราะว่าอย่างเช่นตอนหลังๆ นี้ ความชื้นในอากาศน้อย. ความจริงก็พอทำได้ แต่ไม่เป็นล่ำเป็นสัน. บางทีทำแล้วแทนที่จะลงในลุ่มแม่น้ำปิง คือแถวเชียงใหม่ ลำพูน กลับไปลงเชียงราย ซึ่งเป็นลุ่มที่น้ำลงแม่น้ำโขง. แต่ก็ไม่เสียหลาย เพราะว่าปีนี้ตามรายงาน การทำนาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีผลดีประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์. ก็หมายความว่า ไม่ใช่ว่าประเทศไทยแห้งแล้ง แล้วไม่มีผลิตผล. อย่างจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผลิตข้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ก็ได้ผลได้ทำการผลิตข้าวอย่างน่าพอใจทีเดียว. ฉะนั้นการทำฝนเทียมก็ได้ผล เพราะว่าน้ำไปลงที่เชียงราย. แล้วก็เป็นผลผลิตของประเทศชาติ ทำให้เมืองไทยนี้ก็มีรายได้ต่อไป และไม่อดข้าว.
การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนี้ ก็ต้องทำกิจการหลายด้าน ทั้งระยะใกล้และระยะไกล. อย่างเช่นฝนเทียมนี้ เป็นระยะใกล้. ซึ่งก็ทำให้น้ำในเขื่อนไม่แห้งทีเดียว ยังพอมีใช้ ถ้าระมัดระวัง…”


โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

“...ส่วนหนึ่งที่จะแจ้งให้ทราบได้ว่ากำลังทำอยู่ คือโครงการที่ปากพนัง. เมื่อ ๒ - ๓ ปีนี่ทางราชการ ทั้งทหารและพลเรือน ต้องไปช่วยปากพนัง. แม้น้ำบริโภคของอำเภอปากพนังนั้น ก็ต้องบรรทุกรถไปให้. การบรรทุกน้ำด้วยรถไปให้นี่ ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ย่อมต้องทราบดีว่ามันขาดทุนแค่ไหน. การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำจะสิ้นเงินเป็นสิบ ๆ ล้าน หรือร้อย ๆ ล้าน แต่ถ้าสร้างแล้ว จะสามารถที่จะบริการประชาชนได้โดยไม่ต้องใช้รถบรรทุก. การบรรทุกด้วยรถ จะต้องใช้เงินงบประมาณเป็นร้อย ๆ ล้าน. ไม่มีใครได้คิด เมื่อครั้งที่มีผู้อพยพเขมรที่เขาอีด่าง ครั้งนั้นต้องบรรทุกน้ำมาจากห้วยชัน ใช้รถบรรทุกมาทุกวันหลายๆ คันรถ. ซึ่งคำนวณดูแล้วค่าน้ำมัน ค่าบริการ ค่าสึกหรอนั้นเป็นล้าน ๆ บาท จึงได้ขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำใกล้ ๆ กับเขาอีด่าง แล้วก็ให้ขอทางสหประชาชาติช่วยด้วย. เขาก็ช่วย. ลงท้ายสร้าง เท่ากับได้น้ำฟรีเลย ไม่ต้องบรรทุก. ต่อท่อมาแล้วก็อยู่สบาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากมายเป็นล้าน ๆ บาท. เช่นเดียวกัน ที่ภาคใต้ ที่ปากพนัง ทำโครงการ. เดี๋ยวนี้กำลังดำเนินอยู่ แล้วก็หวังว่าจะเสร็จภายในสามปี.

ปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งใครต่อใครเริ่มคิดจะทำการฉลองจะเริ่มในปี ๒๕๓๘. พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกฤษฎีกา จะเขียนไว้ว่า ให้ไว้ใน วันที่เท่านั้น ๆ ปีเท่านั้น ๆ เป็นปีที่เท่านั้น ๆ ในรัชกาลปัจจุบัน. เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๘ จะเป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน. ที่จริง ครบ ๕๐ ปี จะต้องเป็น ปี ๒๕๓๙. อยากให้โครงการปากพนังนี้สำเร็จสำหรับเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี ของรัชกาลปัจจุบัน. มีความหมายดี แล้วก็ทำให้ครึกครื้นดี ทำให้ปลื้มใจทั่วทั้งประเทศ. โครงการนั้นก็คือ ควบคุมไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาในคลองชะอวด. และก็จะสามารถทำนาในเขตอำเภอเชียรใหญ่อย่างดีด้วย. แม้ถูกน้ำท่วม ก็จะเก็บน้ำไว้ได้ เพื่อที่จะทำนาชดเชยต่อไปได้. หรือถ้าหากว่าทำโครงการดี ๆ แม้เมื่อฝนลงมามาก น้ำท่วมบ้างเล็กน้อย แต่ข้าวในเขตอำเภอ
เชียรใหญ่ก็จะไม่เสียปัจจุบันอำเภอเชียรใหญ่ซึ่งเป็นอำเภอใหญ่ รวมทั้ง หัวไทรและปากพนัง
มีพื้นที่ทำนาเป็นแสนไร่ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ทำข้าวไม่ค่อยมากเพราะเสีย ด้วยน้ำมากเกินไป หรือน้ำน้อยเกินไป ทั้งสองอย่าง. ถ้าเราลงทุนสักพันล้านก็จะคุ้ม จะสามารถควบคุมน้ำนั้นได้ ให้เป็นน้ำจืดน้ำใช้ได้.

บางคนอาจจะเอะอะว่านากุ้งล่ะ. นากุ้งก็จะทำได้เพราะว่า ทางอำเภอหัวไทรอยู่ใกล้ทะเล. และมีคลองที่เรียกว่าคลองปากพนัง ขนานกับฝั่งทะเล. คลองนั้นยอมให้เป็นน้ำกร่อย จะทำนากุ้งได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งประเทศไทยสามารถจะส่งนอก. เรื่องกุ้งนี่ ส่งนอกไปจำนวนมากที่สุดในโลก ขายไปประเทศญี่ปุ่นและถึงประเทศอเมริกา. และนอกจากกุ้ง ก็มีปลาที่เลี้ยงได้ในนากุ้งนั้น.
ก็จะสามารถเป็นรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย. ประชาชนที่จะทำกิจกรรมเหล่านั้นก็จะร่ำรวย. ไม่เสียเพราะแยกน้ำกร่อยจากน้ำจืดได้. โครงการนี้เล็งเอาไว้ให้ได้ผลภายใน ๓ ปี. ทางกรมชลประทานและทางเจ้าหน้าที่ ทั้งทหาร และพลเรือนอื่น ๆ กำลังร่วมมือกันทำอยู่เดี๋ยวนี้. ซึ่งก็จะเป็นผลเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับน้ำเหมือนกัน. การสู้ภัยแล้งนี่เราดำเนินไปเรื่อยต่อสู้ไปเรื่อย.

ที่พูดกันวันนี้ก็เป็นโครงการอย่างสั้นที่สุด ๓ ปี. เป็นโครงการ ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ๖ ปี. แต่ถ้าไม่เริ่มทำเดี๋ยวนี้ มันก็จะกลายเป็นสิบปี. ถ้าไม่ทำไปปีก็เพิ่มไปอีกปี. ฉะนั้นต้องทำแล้วก็เข้าใจว่า เงินที่จะมาลงทุนในโครงการเหล่านี้ ก็ควรจะมีพอ. เพราะเหตุว่าเงินเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ
ก็จะต้องทราบดีว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า. การลงทุนนี้อาจจะไม่เหมือนการลงทุนบริษัท. ลงทุนบริษัทนั้น มีการคำนวณว่าจะได้กำไรเท่านั้น ๆ กลับคืนมา เพื่อสามารถใช้หนี้เท่านั้น ๆ. หรือบางทีก็ใช้หนี้ได้ แต่ไม่ใช้เพราะว่ากิจการทางเศรษฐกิจ ถ้าบริษัทไหน หรือกิจการไหนไม่เป็นหนี้บริษัทนั้นไม่ดีเพราะว่า ต้องเป็นหนี้สำหรับให้บริษัทนั้นก้าวหน้า. นี่ตามทฤษฎีของเศรษฐกิจ.

และสำหรับโครงการ เช่น โครงการปากพนัง หรือโครงการนครนายก โครงการป่าสัก เหล่านี้ กำไรนั้นมาที่ประชาชน. ประชาชนจะอยู่ดีกินดี. เมื่อประชาชนอยู่ดีกินดีก็สามารถที่จะเสียภาษีให้กับรัฐบาล. รัฐบาลก็เก็บเงินภาษีอากรได้อย่างดี. ประชาชนมีความสุขความสบายก็ไม่เลี่ยงภาษี ทั้งประชาชนที่มีรายได้ดีส่วนมากก็ไม่ขโมยไอ้โน่นไอ้นี่. คือพวกที่ขโมย พวกที่เป็นโจรผู้ร้ายส่วนมากก็เพราะเขาแร้นแค้น. ใครไม่แร้นแค้น ไม่ปล้น ไม่ขโมย เพราะมันไม่สนุก. แล้วมันก็เสี่ยงอันตราย เมื่อถูกจับอาจจะถูกใส่คุกเป็นแรมปี มันไม่สนุก. ถ้าเขาทำกินได้ เขาก็มีความสุข เขาก็ไม่ขโมยเขาก็ไม่เป็นผู้ร้าย เขาก็ช่วยกันสร้างสรรค์ ก็ยิ่งเจริญใหญ่. ฉะนั้นที่เล่าเรื่องโครงการเหล่านี้ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้อนาคต มีความสุขได้ มีความเจริญได้. โครงการเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ทันทีได้ด้วย. แม้แต่ทุกวันนี้ถ้าหากว่าเราลงมือทำ ก็จะเกิดมีงานทำ…”


โครงการห้วยลาน

“...เช่นเดียวกับที่เคยเล่าให้ฟัง เรื่องโครงการแห่งหนึ่งที่ภาคเหนือ ที่สันกำแพงไปดูสถานที่ ชาวบ้านเอง ก็ขอให้ทำอ่างเก็บน้ำตรงนั้น คือห้วยลาน. แล้วช่างก็บอกว่าทำได้. ทางส่วนราชการได้แก่ กรมชลประทาน กับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท รพช. ร่วมกันช่วยกันทำ. ไปเยี่ยมที่ตรงนั้น จะเป็น วันที่ ๒๐ กุมภาฯ หรือ ๒๗ กุมภาฯ (วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐) วันที่ ๑ มีนาฯ เขาทำงานแล้ว ชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นได้รับเงินตอบแทนในงานการของเขาแล้ว. เศรษฐกิจเขาเริ่มขึ้นดีแล้วภายใน ๓ วัน อันนี้เป็นผลโดยตรงทีเดียวสำหรับชาวบ้านเป็นผลที่ได้ทันที. ส่วนอ่างเก็บน้ำนั้นก็เสร็จภายใน ๗ - ๘ เดือนเก็บน้ำได้. ในปีต่อไป ไปดู ปลูกข้าวได้แล้ว น้ำในหมู่บ้านมี ไม่ต้องเดิน ๓ กิโลเมตร ไปตักน้ำที่อื่นที่แหล่งน้ำอื่น. ภายในปีหนึ่งประชาชนได้รับผลประโยชน์ของการกำจัดภัยแล้งที่ตรงนั้น. ก็หมายความว่าไม่ช้า ลงมือทำแล้ว ได้ผลนับว่าทันที...”


โครงการพระราชดำริแตะต้องได้

“...มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้. ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก. เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ. พระราชดำรินั้น ก็เป็นความคิดของพระราชา. ถ้าความคิดของพระราชาแก้ไขไม่ได้ ก็หมายความว่าเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้. ฝายตามพระราชดำริลูกนั้น (ฝายท่าด่าน จังหวัดนครนายก)
ได้บริการประชาชนมาเป็นเวลานานแล้ว. และก็ได้ผลคุ้มค่ามาแล้ว. ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะสร้างโครงการใหม่ (โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล) แทนโครงการพระราชดำริเดิมนี้ก็ต้องอนุญาต. ฉะนั้นได้บอกกับทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนใหม่ว่าอนุญาตให้รื้อโครงการพระราชดำริเดิมจะได้สบายใจกัน มิฉะนั้นเดี๋ยวจะหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออะไรในทำนองนั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดเดือดร้อนกันทั่วประเทศ. จึงต้องบอกว่า อนุญาตแม้ไม่มีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้รื้อฝายนั้น และสร้างเขื่อนอันใหญ่โตสูงและจุน้ำถึง ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร. เขื่อนนี้จะช่วยให้สามารถทำการเพาะปลูกเป็นจำนวนแสนไร่. และไม่ต้องสร้างระบบเพราะระบบมีอยู่แล้ว...”


อ้างอิง

สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

 

กลุ่มนโยบายพิเศษ

๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖