ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ (4 ธันวาคม 2537)


สรุปพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ

๔ ธันวาคม ๒๕๓๗

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคล จังหวัดสระบุรี

“...ตอนนี้ก็ขอกลับมาพูดถึงที่ท่านนายกฯ ได้กล่าวถึงผลงาน หรือ การงานที่ทำ เช่นเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” ทีแรกก็ไม่นึกว่าจะพูดเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” แต่ท่านนายกพูด ก็ต้องพูด “ทฤษฎีใหม่” นี้ มิได้เป็นการแจกจ่ายที่ดิน เป็นที่ดินของประชาชนเอง เรื่องนี้เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี ที่ต้องพูด เพราะว่า แม้ได้พูดเรื่องที่เป็นต้นเหตุของเรื่องนี้มาแล้ว แต่ว่าไม่ได้พูดอย่างชัดแจ้ง เรื่องนี้เริ่มที่สระบุรีเมื่อหลายปีแล้ว ก่อนหน้านั้นได้มีจินตนาการ ความคิดฝัน ท่านทั้งหลายคงนึกแปลก ทำไมแผนการจะต้องคิดฝัน ไม่ได้ไปดูตำรา ไม่ได้ค้นตำรา แต่ค้นในความคิดฝันในจินตนาการ เรานึกถึงว่าจะต้องมีแห่งหนึ่ง ที่จะเข้ากับเรื่องของเรา

เรื่องของเรา เกี่ยวข้องกับบุคคลหนึ่งที่มีบรรพบุรุษมาจากอินเดียผ่านลังกา แล้วมาเมืองไทย บรรพบุรุษเขาไปพระพุทธบาทสระบุรีพระเจ้าอยู่หัวในครั้งก่อนโน้น โปรดเสด็จไปสระบุรีกับเสนามาตย์ เพื่อนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ในเรื่องของเรา ปู่ของพระเอกไปแล้วก็เดินทางกลับมาทางสระบุรี ใกล้อำเภอเมืองมีวัดแห่งหนึ่ง ชื่อว่าวัดมงคล เขาชอบ เพราะคำว่ามงคลนี้มันดี มันเป็นมงคล มันก้าวหน้า เขาผ่านมา และได้ไปดูวัดแห่งนั้น และได้บริจาคเงินให้กับวัด สำหรับสร้างพระอุโบสถ ปู่ของพระเอกก็ยังได้ให้เงินส่วนหนึ่งสำหรับสร้างฝาย เพราะที่ตรงนั้น ไม่ค่อยเหมาะสำหรับทำนา แต่ถ้าทำฝายก็สามารถที่จะทำมาหากินได้ในทางเกษตร นี่ก็ประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ลงท้ายเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องในจินตนาการ ก็กลายเป็นจริง

ได้ดูแผนที่สระบุรี ทุกอำเภอ หา ๆ ไป ลงท้ายได้เจอวัดชื่อมงคลอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แล้วก็เหมาะในการพัฒนาจึงไปซื้อที่ ซื้อด้วยเงินส่วนตัวและเพื่อนฝูงได้ร่วมบริจาคเงินจำนวนหนึ่งได้ซื้อ ๑๕ ไร่ ที่ใกล้วัดมงคล หมู่บ้านวัดใหม่มงคล ได้ส่งคนไปพบชาวบ้าน เขาก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน ไปพบชาวบ้านสืบถามว่า ที่นี่มีที่ที่จะขายไหม เขาก็เชิญขึ้นไปบนบ้าน แล้วเขาก็บอกว่า ตรงนี้มี ๑๕ ไร่ ที่เขาจะขาย ในที่สุดก็ซื้อ ก่อนตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาก็เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี ไปซื้อที่ตรงนั้น คนพวกนั้น ก็งงกัน เขาเล่าให้ฟังว่า มีคนเขาฝัน ว่าพระเจ้าอยู่หัวมา แล้วก็มาช่วยเขา เขาก็ไม่ทราบว่า คนที่ไปนี่เป็นใคร แต่สักครู่หนึ่ง เขามองไปที่ปฏิทิน เขามองดู เอ๊ะ คนนี้ คนที่อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวนั่น เอ๊ะ คนนี้ก็อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวในรูป ใกล้ ๆ เขาก็เลยนึกว่า เอ๊ะ พวกนี้มาจากพระเจ้าอยู่หัวเขาก็เลยบอกว่าขายที่นั่น ก็เลยซื้อ ๑๕ ไร่ และไปทำเป็นศูนย์บริการ

ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้ โครงการนี้ใช้เงินของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูก ตาม “ทฤษฎีใหม่” ซึ่ง “ทฤษฎีใหม่” นี้ยังไม่เกิดขึ้นพอดีขุดบ่อน้ำนั้น เราก็เรียกว่า “มือดี” ขุดน้ำมีน้ำ ข้าง ๆ ที่อื่นนั้นไม่มีน้ำ แต่ตรงนั้นมีน้ำ ลงท้ายก็สามารถปลูกข้าว แล้วก็ปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผล ต่อมาก็ได้ซื้อที่อีก ๓๐ ไร่ ก็กลายเป็นศูนย์พัฒนา หลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ ดำเนินการไปแล้ว ทำอย่างธรรมดาอย่างชาวบ้าน ในที่สุดได้ข้าวและได้ผัก ขายข้าวกับผักนี่มีกำไร ๒ หมื่นบาท ๒ หมื่นบาทต่อปี หมายความว่า โครงการนี้ใช้งานได้ เมื่อใช้งานได้ก็ขยายโครงการ “ทฤษฎีใหม่” นี้ โดยให้ทำที่อื่น นอกจากมีสระน้ำในที่นี้แล้ว จะต้องมีอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่กว่าอีกแห่งเพื่อเสริมสระน้ำ ในการนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน ซื่อที่ด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปเวนคืนและสร้างอ่างเก็บน้ำ…”


โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน จังหวัดกาฬสินธุ์

“...ฉะนั้นในบริเวณนั้นจะเกิดเป็นบริเวณที่พัฒนาแบบใหม่ ถึงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเข้าใจว่าจะดำเนินไปได้ ในที่นี่ แต่ที่อื่นยังไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ที่นายกฯ บอกว่าจะขยายทฤษฎีนี้ไปทั่วประเทศ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะว่าต้องมีปัจจัยสำคัญคือปัจจัยน้ำ แล้วก็ต้องสามารถที่จะให้ประชาชน เข้าใจ และยินยอม ถ้าเขาไม่ยินยอมก็ทำไม่ได้ ถึงมาทำที่กาฬสินธุ์ ที่เคยเล่าให้ฟัง ในชุมนุมอย่างนี้ แล้วว่า ทำที่อำเภอเขาวง ที่ไปปีนั้นเล่าเรื่อง ที่เดินทางไป “ทางดิสโก้” ที่เป็นทางทุลักทุเลมาก ที่ “ทางดิสโก้” นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่าปีแรกทำนา ๑๒ ไร่ ได้ข้าว ตามที่กะเอาไว้ พอสำหรับผู้ที่อยู่ในที่ตรงนั้นพอกินได้ไปตลอดปี จึงทำให้ประชาชนในละแวกนั้น มีความเลื่อมใสและยินดียินยอมให้ทำแบบนี้ในที่ของเขาอีก ๑๐ แปลง หลังจากที่ทำ ๑๐ แปลงนั้นก็ได้ผล ปีนี้เขาขออีกร้อยแปลง

การขุดสระนั้น ก็ต้องสิ้นเปลือง ชาวบ้านไม่สามารถที่จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับการขุด ก็ต้องทำให้เขา มูลนิธิชัยพัฒนา และทางราชการก็ได้ช่วยกันทำ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องสิ้นเปลืองมากมาย ก็ให้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง ฉะนั้น “ทฤษฎีใหม่” นี่ จะขยายขึ้นไปได้ อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้า ๆ เพราะว่าต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ไม่ใช่น้อย ๆ แต่ว่าค่อย ๆ ทำ และเมื่อทำแล้วก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบอัตภาพ คืออาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก ฉะนั้นก็นึกว่า “ทฤษฎีใหม่” นี้คงมีประโยชน์ได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อันนี้ก็ได้พูดถึงที่ท่านนายกฯ ได้กล่าวถึงกิจการที่ได้ทำมาส่วนหนึ่ง...”


โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนขุนด่านปราการชล

“...เรื่องอื่น ๆ ก็ยังมีอีกมาก อย่างเช่นที่พูดเมื่อปีที่แล้ว เรื่องโครงการแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายกและปากพนัง ปีนี้ก็น่ายินดีที่เริ่มลงมือเสียที แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่จะต้องฟันฝ่าอีกมาก สำหรับแม่น้ำป่าสักนี้ แต่ก็มีหวังว่าถ้าไม่มีอุปสรรคร้ายแรง อีกภายใน ๕ ปี ปัญหาเกี่ยวข้องกับน้ำแล้ง หรือน้ำขาดแคลนกับน้ำท่วมจะบรรเทาลงไปมาก เข้าใจว่าจะบรรเทาลงไป ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชาชนจำนวนเป็นแสนมีความสุขมากขึ้น โดยอาศัยโครงการป่าสัก กับโครงการนครนายกและก็ต้องชมเชยประชาชนและข้าราชการอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกและผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีคนปัจจุบัน ที่ได้ช่วยไปจัดให้ประชาชนเข้าใจ และร่วมมือในกิจการเหล่านี้…”


โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“...ยังมีโครงการที่ภาคใต้ ที่ปากพนัง ที่ต้องทำความเข้าใจต่อไปซึ่งโครงการปากพนังนี้
ทางราชการ และทางราชการทหาร ก็ได้ช่วยกันเต็มกำลัง แต่จะต้องอธิบายอีกมาก เพราะมีคนที่บอกว่า ถ้าทำโครงการปากพนัง สิ่งแวดล้อมจะเสีย เขาบอกว่าน้ำในคลองชะอวดนั้นเป็นน้ำกร่อยมีประโยชน์สำหรับสิ่งแวดล้อม ขอชี้แจงว่า ไม่จริง สมัยก่อนนี้คลองชะอวดเป็นน้ำจืด กลายมาเป็นน้ำกร่อยตอนนี้ เพราะว่าตื้นเขิน และเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งทำให้ประชาชนในอำเภอเชียรใหญ่ ซึ่งมีจำนวนมากต้องอพยพไป ไปพัทลุงบ้าง ไปอำเภอทุ่งสง ทุ่งใหญ่บ้าง ทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก เพราะว่าคนเชียรใหญ่ เท่ากับไปกินที่เขา แล้วก็เกิดทะเลาะกันยุ่งกัน แล้วก็ไม่มีทางแก้ไข ส่วนผู้ที่เหลือที่เชียรใหญ่นั้น ในหน้าแล้งเขาปลูกผัก ก็ยังไม่ได้ เพราะว่าน้ำกร่อย น้ำเค็ม

คนที่เคยไปในพื้นที่จะเข้าใจ คนที่ไม่เคยไปในพื้นที่ จะไม่มีทางเข้าใจได้ ปากพนังก็อดน้ำ ต้องส่งรถบรรทุกน้ำ เสียเงินเป็นร้อยล้านแล้วก็ไม่จริง ที่ว่าน้ำในแม่น้ำชะอวดนั้น น้ำกร่อยจะเป็นการดี ไม่ดี ถ้าทำโครงการ น้ำในคลองชะอวดนั้นจะเป็นน้ำจืด แน่นอน ต้องแก้ไขต่อไป เรื่องความเปรี้ยวหรือความบกพร่องอย่างอื่น ๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นขั้นหนึ่ง จะทำนาในลุ่มน้ำชะอวดนี้ได้เป็นแสนไร่ ชาวเชียรใหญ่ที่ไปที่อื่นก็จะกลับมา ทำอาชีพที่สุจริต จะทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นจังหวัดที่จนที่สุด ไม่น่าเชื่อ ชื่อนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นจังหวัดที่เจริญ ที่มีการผลิตข้าวได้ดีที่สุด แต่ไม่เป็นเช่นนั้น กลับเป็นจังหวัด ที่ด้อยที่สุด จนที่สุด แต่ถ้าทำโครงการนี้จะกลับกลายมาเป็นจังหวัดที่ร่ำรวย นี่ในทางเศรษฐกิจแท้ ๆ จะทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชกลายเป็นจังหวัดร่ำรวย เกือบที่สุดได้ โดยมีโครงการนี้อย่างเดียว

โครงการอื่น ๆ ก็จะไม่เสีย คนเขาบอกว่า การทำนากุ้ง ซึ่งเป็นรายได้ของประเทศไทยมากมาย-กี่ล้านบาทไม่ทราบ-จะเสีย ไม่เสียตรงข้ามจะทำให้กิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำนี้เป็นสัดเป็นส่วน สามารถที่จะจัดการในอำเภอหัวไทรส่วนหนึ่ง และในอำเภอปากพนังส่วนหนึ่ง สามารถที่ทำให้ประชาชนที่ทำกุ้งกุลาดำทำได้จริง ๆ จัง ๆ ได้รับความช่วยเหลือพวกที่ทำกุ้งกุลาดำนี้ ไม่ใช้บริษัทใหญ่ เป็นเอกชนเล็ก ๆ ถ้าเราช่วยเขาเขาก็จะมีรายได้ดี และกุ้งกุลาดำนี้จะมีคุณภาพดี ที่เขาพูดว่าทำกุ้งกุลาดำนี้ ทำให้เกิดมลพิษ ถ้าทำไม่ดี ถ้าทำอย่างแร้นแค้น ก็จริงทำให้ทะเลเป็นพิษ แต่เดี๋ยวนี้มีวิธีที่จะทำให้กุ้งกุลาดำนี้ เป็นรายได้ดีและไม่เป็นมลพิษ ตรงข้ามจะทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะส่งออกกุ้งกุลาดำ เป็นล่ำเป็นสัน และมีคุณภาพสูง

ฉะนั้นถ้าทำโครงการปากพนัง ซึ่งน่าจะทำได้เร็วพอใช้ จะแก้ไขความขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตร ในลุ่มของแม่น้ำชะอวด และมีน้ำใช้ในหน้าแล้งด้วย ตลอดจนมีน้ำกร่อยเพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นล่ำเป็นสัน ในเขตเชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง จะเป็นที่ที่เป็น อู่ข้าวอู่น้ำ และจะเป็นแหล่งรายได้ อย่างมหาศาล สำหรับประเทศไทย ถ้าไม่ทำ มันก็อยู่อย่างเดิม คือมีปัญหาโจรผู้ร้าย เช่นเรื่องความไม่เรียบร้อยในอำเภอทุ่งใหญ่ เป็นต้น ในการแก้ไขปัญหา จะต้องแก้ไขปัญหาโดยเบ็ดเสร็จโดยถือหลักว่า มีอะไรที่จะต้องทำ ก็ต้องทำ อย่าไปทะเลาะกันว่าอันนี้จะทำเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ ต้องรวมทั้งหมด ฉะนั้น จึงได้ขอพูดถึงเรื่องโครงการปากพนัง ให้เข้าใจกันอย่างนี้…”


โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าโดยฝายต้นน้ำลำธาร จังหวัดนครนายก

“...นอกจากนี้ท่านนายกฯ ได้พูดถึงการปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก สองอย่างนี้ต้องทำเข้าคู่กันได้ทำตัวอย่างให้ดูที่จังหวัดนครนายก เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ได้ทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสำหรับชะลอน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำใหญ่ ๆ หรือเขื่อนเล็ก ๆ แต่ว่าเป็นฝายเล็ก ๆ ในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัว แต่ค่าทำฝาย ๓๕ ตัวนี้ คนอาจจะนึกว่า ๓๕ ล้าน ไม่ใช่ ๒ แสนบาท ทำได้ ๓๕ ตัว ยังไม่ได้เห็น แต่ว่ากล้าที่จะยืนยัน ว่าได้ผล ถ้าใครสนใจไปดูได้ที่ใกล้บ้านบุ่งเข้ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ไปดูฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัวนี้ ไปดูว่าป่าจะขึ้นอย่างไร เพิ่งเสร็จมาไม่กี่เดือน จะเห็นว่าป่านั่นเจริญ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว มันขึ้นเอง…”


โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี

“...เรื่องต้นไม้ขึ้นเอง มีอีกแห่งหนึ่งที่ท่านทั้งหลายก็ควรจะไปได้เพราะไปง่าย คือโครงการเขาชะงุ้ม ที่จังหวัดราชบุรี ที่ตรงนั้นอยู่ใกล้ภูเขา เป็นที่ที่ป่าเสียไป เป็นป่าเสื่อมโทรม ที่เรียกว่าป่าเสื่อมโทรมเพราะมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีชิ้นดี เริ่มทำโครงการนั้นมา ประมาณ ๗ ปีเหมือนกัน ไปดูเมื่อสัก ๒ ปี หลักจากทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี ตรงนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่า
อุดมสมบูรณ์ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านี้สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นได้ คืออย่าไปตอแยต้นไม้ อย่าไปรังแกต้นไม้ เพียงแต่ว่าคุ้มครองเขาหน่อย เขาขึ้นเอง…”


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี

“...อีกแห่งหนึ่งก็ที่ชะอำ ดินเสียจนเป็นดินแข็ง ไปปลูกหญ้าแฝกเพียง ๒ ปี ดินร่วนและต้นไม้ที่หงิกงอของเดิมนั้น เดี๋ยวนี้ตรงหมดแล้วเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แล้วต่อไปป่าอุดมสมบูรณ์นั้น ก็จะทำให้ดูดความชื้นจากอากาศ ทำให้เมฆที่อยู่ในอากาศ ลงมาเป็นฝนได้ ฉะนั้น เมืองไทยต่อไป ก็จะเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ ไม่แร้นแค้น ไม่เป็นทะเลทรายอย่างในระยะ ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้ เมืองไทยจากอุดมสมบูรณ์ เป็นสวน เป็นไร่ เป็นป่า กลายเป็นทะเลทราย เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นได้ ขออย่าไปรังแกป่าเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรมาก

อันนี้ก็เป็นเรื่องของโครงการปลูกป่า ถ้าพูดเรื่องปลูกป่านี้จะยืดยาวมาก ไม่มีสิ้นสุด แต่จะต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ถ้าได้เลือกที่ที่เหมาะสม แล้วก็ทิ้งให้อยู่อย่างนั้น โดยไม่ไปรังแกป่า ต้นไม้ก็จะขึ้นเอง โครงการต่าง ๆ ที่ท่านนายกฯ พูดถึง อาจจะขยายความได้อีกมาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่น่าจะร่วมมือกันทำ ทุกคนมีส่วนที่จะทำให้เกิดความเจริญได้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องโครงการอื่น ๆ จะเป็นการสาธารณสุขหรือการศึกษา อะไรต่าง ๆ นี้ ยังมีอีกมากที่จะต้องทำแต่หลักการพัฒนาประเทศ ให้มีความเจริญ จะต้องใช้การทำงานอย่างมีพื้นฐาน ทั้งทำงานอย่างที่เรียกว่า ใช้วิชาการชั้นสูงด้วย ทั้ง ๒ อย่างก็จำเป็น โครงการพื้นฐาน แบบชาวบ้าน กับโครงการวิทยาการชั้นสูงที่ถ้าแปลเป็นภาษาฝรั่งเราก็ใช้คำว่า “ไฮเทคโน” ทั้ง ๒ อย่าง “โลเทคโน” กับ “ไฮเทคโน” ก็จำเป็นที่จะใช้...”


อ้างอิง

สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

 

กลุ่มนโยบายพิเศษ

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖