ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี


ความเป็นมา
เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งกับ นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง และนายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงปัญหาการที่ชาวประมงไม่สามารถออกหาปลาได้เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง และทรงมีพระราชดำริว่า ในอนาคตผลผลิตสัตว์ทะเลต่างๆ จากฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานที่ถูกสุขภาวะอนามัยแวดล้อมคืนสมดุลด้วย จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล พร้อมทั้งทรงริเริ่มให้ทำฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสาน ในพื้นที่ดินนาเกลือริมทะเล ซึ่งนางวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน ๘๒ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ณ หมู่ ๕ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างให้ทั้งผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ ดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเองต่อไป
 

ผลการดำเนินงาน
ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ จังหวัดเพชรบุรี มีสภาพพื้นดินเดิมเป็นดินเค็มเนื่องจากเป็นนาเกลือทิ้งร้าง ดังนั้นการพัฒนาเป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงจำเป็นต้องนำดินมาถมสร้างคันบ่อและพื้นบ่อเพื่อกักเก็บน้ำทะเลและวางระบบการหมุนเวียนของน้ำระหว่างน้ำจืดและน้ำทะเลให้สมดุลและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำทะเลแต่ละช่วงชีวิต สรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้

-บริเวณโครงการฯ มีแหล่งน้ำจืดจากคลองซอยชลประทาน ทำให้สามารถเลี้ยงสัตว์สองน้ำ เช่น กุ้งก้ามกราม ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาวจนถึงปลาน้ำเค็ม เช่น ปลากุดสลาด ปลากะรัง และปลาหมอทะเล เป็นต้น โดยในฟาร์มมีระบบท่อน้ำเชื่อมโยงถึงกันทุกฟาร์มย่อย ทั้งนี้ของเสียจากทุกฟาร์มย่อยจะถูกนำมาใช้เป็นอาหารของไรน้ำเค็ม (อาร์ทีเมีย) ที่ดำรงชีวิตโดยการกรองกินอินทรีย์สารทุกชนิด และตัวไรน้ำเค็มเองสามารถนำมาใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนในฟาร์มด้วย

-น้ำที่เค็มจัดจากการเลี้ยงไรน้ำเค็มจะส่งต่อไปยังแปลงสาธิตการทำนาเกลือ ที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของเกษตรกรแหล่งนี้แต่พัฒนาต่อยอดไปสู่การทำน้ำทะเลธรรมชาติแบบผงที่สะดวกต่อการนำไปใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ห่างไกลจากทะเลเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเกลือให้มีราคาสูงขึ้น

-กระบวนการสุดท้ายของการทำนาเกลือจะได้ปุ๋ยสำหรับนำไปเพาะปลูกต้นไม้ ซึ่งสรุปว่าฟาร์มทะเลตัวอย่างจะไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มสู่สิ่งแวดล้อม เรียกว่า ฟาร์มซีโร่เวสท์ (Zero waste) นอกจากนี้ฟาร์มทะเลสามารถคงความเค็มของน้ำทะเลในทุกฟาร์มย่อยต่างๆ ให้คงที่ได้ตลอดทั้งปีซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ โดยมีการพัฒนาระบบน้ำไหลเวียนขึ้นลงเลียนแบบธรรมชาติ หรือหลักการนำพาออกซิเจน แร่ธาตุ รวมทั้งสารอาหารไปหาผู้ใช้ประโยชน์ คือ สาหร่ายเซลล์เดียวจนถึงสาหร่ายขนาดใหญ่ ครบวงจรทำให้ลดการเน่าเสียหรือการล้มลงของห่วงโซ่อาหารทุกห่วงโซ่เป็น องค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างได้

-ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นที่รวมของนวัตกรรมการพัฒนาอุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ เช่น อุปกรณ์แยกของเสียจำพวกโปรตีนออกจากน้ำ (protein skimmer) เรือและถังลำเลียงปลาให้มีชีวิตรอด ถังรวบรวมไข่ปลาทูหลังการวางไข่ เครื่องให้อากาศพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องให้อาหารสัตว์น้ำอัตโนมัติ กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ได้ ฯลฯ

-ในส่วนพื้นที่ตามคันบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์มยังจัดให้มีการปลูกพืชคลุมดิน เช่น ผักเบี้ย ตะไคร้หอม ส่วนพืชยืนต้นทนเค็มที่หายาก ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวสีทอง มะแพร้ว มะขามป้อม ทับทิม มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะขวิด กระทิง

-ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นที่รวมของนวัตกรรมการพัฒนาอุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ เช่น อุปกรณ์แยกของเสียจำพวกโปรตีนออกจากน้ำ (protein skimmer) เรือและถังลำเลียงปลาให้มีชีวิตรอด ถังรวบรวมไข่ปลาทูหลังการวางไข่ เครื่องให้อากาศพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องให้อาหารสัตว์น้ำอัตโนมัติ กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ได้ ฯลฯ

-ในส่วนพื้นที่ตามคันบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์มยังจัดให้มีการปลูกพืชคลุมดิน เช่น ผักเบี้ย ตะไคร้หอม ส่วนพืชยืนต้นทนเค็มที่หายาก ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวสีทอง มะแพร้ว มะขามป้อม ทับทิม มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะขวิด กระทิง

-ในฟาร์มยังคงสภาพผืนป่าชายเลนภายในฟาร์มให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของประชาชนทั่วไป และแหล่งเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน และทรัพยากรมีชีวิตอื่นๆ ส่วนในทะเลมีแปลงสาธิตการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงแบบใหม่ที่ลดปัญหาการตายของหอยแมลงภู่ จากการหักล้มของหลักไม้ในฤดูมรสุมและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมบริเวณแปลงเลี้ยงที่เกษตรกรมักตัดโคนหลักทิ้งตอไว้ในพื้นทะเล รวมทั้งการปักหลักล่อหอยที่หนาแน่นเป็นสาเหตุของการเป็นโรคพยาธิในหอยสองฝาหลายชนิด

ประโยชน์ที่ได้รับ
๑. เป็นฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานที่ถูกสุขภาวะอนามัยและคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมง ทั้งผู้จับสัตว์น้ำและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
๒. ช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพประมงในการออกเรือไปจับสัตว์น้ำธรรมชาติในทะเล
๓. สามารถสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำแก่เกษตรกร จำนวนกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ ตัว
                 ๔.เป็นสถานที่ให้ผู้ประกอบอาชีพด้านประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ ดูงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันซึ่งในปี ๒๕๕๙ มีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า ๑๐,๑๖๘ คน


แหล่งที่มา : สำนักงาน กปร.
กองประสานงานโครงการพื้นที่ ๑ (ภาคกลาง)

>>DOWNLOAD<<