สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลนิเวศน์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 12.05 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงาน โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาตำบลนิเวศน์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ในการนี้ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เฝ้าฯ รับเสด็จ โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นอินทนิล บริเวณหน้าอาคารอเนกประสงค์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่โครงการฯ จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการฯ พร้อมทั้งทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานจากหน่วยงานต่างๆ
โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาตำบลนิเวศน์ มีพื้นที่กว่า 22 ไร่ โดยครอบครัว “เกษมทรัพย์” ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2558 จากนั้น วันที่ 31 สิงหาคม 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการพัฒนาโครงการตามแนวทางเกษตรผสมผสาน การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และให้ดำเนินการรวบรวม อนุรักษ์ ขยายพันธุ์พืชท้องถิ่นต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้ตามสภาพพื้นที่ รวมถึงดำเนินกิจกรรมด้านการเรียนรู้และขยายผลสู่เกษตรกรเครือข่ายในท้องถิ่นและผู้ที่สนใจ
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาตำบลนิเวศน์ฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาโครงการฯ โดยได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ 159 ชนิด รวม 9,500 ต้น เช่น พะยูง สะเดาป่า มะค่าโมง น้อยหน่า เกาลัด มันหวานญี่ปุ่น กล้วยน้ำว้า เป็นต้น พร้อมทั้งก่อสร้างโรงเรือนปลูกผัก หรือโรงเรือนกรีนเฮาส์ จำนวน 1 โรงเรือน ตามมาตรฐานพร้อมอุปกรณ์ระบบปลูกและระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อสร้างกิจกรรมการเกษตรแบบผสมผสานร่วมกับการสร้างพื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สุงสุด
นอกจากนี้ โครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 ในการเข้าสำรวจและสุ่มตัวอย่างดินในพื้นที่โครงการฯ พบว่าดินเป็นกรดจัด ความอุดมสมบูรณ์ของอินทรีย์วัตถุในดินและธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในดินอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก จึงได้สนับสนุนและดำเนินการเพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มแร่ธาตุต่างๆ ให้แก่ดิน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้เข้าสำรวจข้อมูลพันธุ์ไม้พื้นถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 40 ชนิด อาทิ กระดูกกบ กางขี้มอด กันเกรา ชิงช้าชาลี เครือประสง เป็นต้น และการจัดทำระบบนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ QR Code เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของพันธุ์ไม้ ตามแนวทางการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้ดำเนินการวิจัยการเก็บข้อมูลสภาพอากาศด้วยเทคโนโลยี ไอโอทีบริเวณพื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อใช้ในการติดตามผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการฟื้นฟูพื้นที่ในลักษณะของการปลูกป่า
#มูลนิธิชัยพัฒนา
#สำนักงานกปร