ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

เผย " เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ "ตัวช่วยสำคัญไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

เผย " เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ "ตัวช่วยสำคัญไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ ตั้งแต่สร้างเสร็จช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมฝั่งตะวันออก กทม.อย่างต่อเนื่อง ระบุอุทกภัยปี 49 ทำหน้าที่เก็บกักน้ำลุ่มน้ำป่าสัก เพิ่มพื้นที่แก้มลิงตอนล่างเขื่อน เปิดช่องทางระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่ทะเลอีกทาง ช่วย กทม. พ้นวิกฤติน้ำท่วม เผยระบบโทรมาตร กลไกสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนป่าสักฯ มีใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว

นายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเปิดเผยว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการฯ และบริเวณใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงได้บรรเทาเบาบางลง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน เกมี่ และ หวู่คง ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำสูงถึง 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ทำการเก็บกักน้ำไว้ ชะลอปริมาณน้ำไม่ให้ไหลหลากลงไปท่วมพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อน เช่นจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2545 เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนบน เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำสูงเป็นประวัติการณ์ และปริมาณน้ำดังกล่าวนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้เก็บกักไว้ส่วนหนึ่งและทยอยส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานตอนล่าง

ปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยต้องเจอกับพายุ ช้างสาร ที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเพรสชั่นเมื่อเข้าสู่พื้นที่ประเทศไทย ยังผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนมากจนเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และภาคเหนือตอนบน ในขณะที่พื้นที่ทางตอนใต้ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปริมาณน้ำส่วนนี้ เพราะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งช่วยให้กรุงเทพมหานครไม่เกิดน้ำท่วมขังในช่วงที่มีปริมาณน้ำเหนือมากและน้ำทะเลหนุนสูง

ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณ 934 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งยังสามารถรับได้อีกถึง 26 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 97 ของความจุของอ่างทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถใช้พื้นที่ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงของทางตอนล่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แล้วค่อยระบายออกสู่ทะเลทางคลองระพีพัฒน์ได้อีกทางหนึ่งในปริมาณที่ไม่น้อยกว่า 21.45 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นการช่วยให้พื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ต้องเจอกับสภาพน้ำท่วมขังอีกทางหนึ่งจากผลของการมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

“จะเห็นได้ว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตลุ่มน้ำป่าสักได้อย่างชัดเจน รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการประเมินค่าทางเศรษฐกิจ สามารถลดการสูญเสียและเพิ่มมูลค่าในภาคการผลิตได้เป็นจำนวนมาก” นายสมพลกล่าว

นอกจากนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีระบบโทรมาตร ในการทำหน้าที่ตรวจวัดและรับ-ส่งข้อมูลทางไกล ณ เวลาจริงแบบอัตโนมัติ (Real-time Data Collection) ผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ ฯลฯ เข้าสู่สถานีหลักเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้น มาแสดงเพื่อการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ในการพยากรณ์สถานการณ์น้ำอันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์น้ำ และการพยากรณ์น้ำได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ตลอดถึงการตรวจวัดระดับน้ำ คุณภาพน้ำ และปริมาณฝน ณ เวลาจริงจากสถานีสนามภายในลุ่มน้ำ แล้วส่งไปยังสถานีหลักโดยอัตโนมัติ นับเป็นการพัฒนา และประยุกต์ใช้ โปรแกรมแบบจำลอง สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสักอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย