ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรสเยี่ยมชมโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรสเยี่ยมชมโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร

✨ วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย พร้อมคู่สมรส จาก 37 ประเทศ และผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยไปเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การนี้ นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เฝ้าฯ รับเสด็จ

🌾 จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงนาสาธิต ทอดพระเนตรการปลูกข้าวในน้ำเสีย และทรงหว่านต้นพันธุ์ข้าว พันธุ์ กข 43 ลงในแปลงปลูกข้าว ต่อจากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง ทอดพระเนตรพื้นที่โครงการ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และแปลงพืชบำบัดน้ำเสีย ทรงรับฟังการกราบบังคมทูลรายงานผลด้านอุตุนิยมวิทยา และงานวิจัยเพื่อติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา, พืชบำบัดน้ำเสีย และการบำรุงรักษาระบบ, การนำพืชบำบัดน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ พร้อมกับทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชบำบัดน้ำเสีย

🌳 ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปยังพื้นที่ป่าชายเลน เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่ตลอดสองข้างทาง ทรงรับฟังการรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับสมดุลความร้อนป่าชายเลน, ผลการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์นกป่าชายเลน และทอดพระเนตรการสาธิตการติดห่วงติดตามพันธุ์นก ทั้งนี้ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ ได้รวบรวมข้อมูลพันธุ์นกในพื้นที่โครงการ โดยมีจำนวนนกมากกว่า 200 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่ เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ ในจำนวนนี้เป็นนกที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ติดลำดับโลก (Globally Endangered) อาทิ นกทะเลขาเขียวลายจุด,นกปากช้อนหน้าดำ และนกน็อตใหญ่ เป็นต้น

🏞️ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 จากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาภบพิตร ที่ทรงให้มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอยและน้ำเสียในชุมชน ซึ่งมีผลต่อการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีการทางธรรมชาติและรักษาธรรมชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินงานศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โดยดำเนินการในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ณ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 642 ไร่

☀️ ช่วงบ่าย เสด็จฯ ไปยังโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในการนี้ นางสาวบุญรอด ปานประเสริฐ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโฉนดที่ดิน จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โอกาสนี้ ทรงซอร่วมกับวงมโหรีจามจุรีศรีอัมพวา ในบทเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

📌 ภายในโครงการมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การสาธิตการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของมะพร้าว พืชพื้นถิ่นที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยการนำส่วนต่างๆ ของมะพร้าวมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น หมวก เครื่องประดับ กระเป๋า การประดิษฐ์กระถางจากเส้นใยและขุยมะพร้าว การทำกระดาษสาเพื่อลดมลพิษจากการเผาวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าว และการประดิษฐ์กะลาซอ โดยมะพร้าวพันธุ์มวยพราหมณ์ และพันธุ์หัวช้าง

🌴 จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ ภายในร้านภัทรพัฒน์ ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ ซึ่งสร้างรายได้และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์จักสานจากก้านมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากเกลือสมุทร ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จาก “เตาตาล” ศูนย์สาธิตการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวแท้แบบดั้งเดิมและการแปรรูปน้ำหวานดอกมะพร้าวหรือน้ำตาลใสเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และผลผลิตจากสวนสาธิตการเกษตรชัยพัฒนานุรักษ์

🥥 ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ ซึ่งมีการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นของอัมพวา อาทิ กิจกรรมทำบ้านนกจากกะลามะพร้าว การทำลูกประคบ โอกาสนี้ ทรงสาธิตการประดิษฐ์ว่าวจุฬา ซึ่งเป็นว่าวที่มีลักษณะ คล้ายดาว 5 แฉก หัวว่าวเป็นยอดปลายแหลม ตัวว่าวมีปีกทั้งสองข้างคลายปีกนก และหางว่าวมีสองแฉกคล้ายหางปลา จากนั้น ทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณห้องเช่าเรือนแถวริมน้ำ และเรือริมคลองอัมพวา

⚜️ โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ เกิดขึ้นจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้มูลนิธิชัยพัฒนา นำที่ดินไปพัฒนาและอนุรักษ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน อนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาชีพ และร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศของสวนผลไม้ และแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาและการพึ่งพาตนเองของชุมชนตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง

#สำนักงานกปร

#มูลนิธิชัยพัฒนา

#โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

#โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์