ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

ตัวอย่างความสำเร็จของการประกวดฯ ครั้งที่ 2

ความเป็นมา

“…คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะำไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เย็นเป็นสุข พอเพียงอันนี้จะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ 4 ธันวามคม 2541

 

หลายคนยังมีความเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของการเกษตร เป็นวิถีชีวิตของคนชนบท หรือคิดแต่เพียงว่า การใช้จ่ายอย่างประหยัด การมีเงินออม ไม่เป็นหนี้ อยู่อย่างสันโดษ หรือไม่พยายามขวานขวายทำงาน เป็นการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ความหมายของ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตและเป็นการประกอบอาชีพในยุคโลกาภิวัฒน์เศรษกิจพอเพียงยิ่งเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างศักยภาพของคนให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน การมีความรอบรู้ ความมีคุณธรรม ล้วนเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน การประกอบกิจการและการตัดสินใจให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามเหตุผล และสามารถทำกิจการงานได้สำเร็จ มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้

โดยในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้กำหนดให้มีการจัดการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกขึ้น เพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยมาตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ ในครั้งแรกนั้นได้แบ่งการประกวดออกเป็น 5 ประเภท คือ 1) ประชาชนทั่วไป 2) เกษตรทฤษฎีใหม่ 3) ธุรกิจขนาดใหญ่ 4)ธุรกิจขนาดกลาง และ 5) ธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถค้นหาตัวอย่างความสำเร็จเพื่อการเรียนรู้ พร้อมสร้างความตื่นตัวให้ภาคประชาชน ภาคเกษตรและภาคธุรกิจให้เกิดจิตสำนึกในการน้อมเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการบริหารธุรกิจได้อย่างดี

ดังนั้น ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาคประชาชน ภาคเกษตร ภาครัฐ และภาคธุรกิจ

การประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 นี้ ได้ขยายผลประเภทการประกวดให้ครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น โดยให้ความสำคัญของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในลักษณะของการรวมกลุ่มมากขึ้น ได้แก่ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหา่ ในประเภทประชาชนทั่วไป ยังได้แยกประเภทประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เพื่อค้นหาบุคคลที่อยู่ในสภาวะความยากลำบาก แต่สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียงและมีความสุข นอกจากนี้ ได้มุ่งเน้นการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับกรม และองค์กรภาครัฐ ในส่วนภูมิภาค ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ ทำให้การประกวดครั้งนี้ ได้แบ่งประเภทการประกวดเป็น 10 ประเภท คือ

1. ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

2. ประชาชนทั่วไป

3. ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

4. เกษตรกรทฤษฎีใหม่

5. กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

6. หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ในส่วนภูมิภาค

7. หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ในส่วนกลาง

8. ธุรกิจขนาดใหญ่

9. ธุรกิจขนาดกลาง

10. ธุรกิจขนาดย่อม


ตัวอย่างของความสำเร็จของการประกวดฯ ครั้งที่ 2        

ประเภทการประกวด

1. ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

2. ประชาชนทั่วไป

3. ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

4. เกษตรกรทฤษฎีใหม่

5. กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

6. หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ในส่วนภูมิภาค

7. หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ในส่วนกลาง

8. ธุรกิจขนาดใหญ่

9. ธุรกิจขนาดกลาง

10. ธุรกิจขนาดย่อม


 

การประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเภทประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

รางวัลชนะเลิศ

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ ถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประเภท ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร
นางคอสหม๊ะ แลแมแน


ชื่อผู้ส่งผลงาน: นางคอสหม๊ะ แลแมแน
ที่อยู่: 125 หมู่ 1 บ้านยะออ ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
รางวัล: รางวัลชนะเลิศ
รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ: ถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประเภท: ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

 

         ใช้ชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในด้านความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และการประกอบธุรกิจ โดยในด้านการลงทุนจะมีการศึกษาความต้องการตลาด แล้วนำมาวิเคราะห์และวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับตลาดและลูกค้าแต่ละประเภท มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องโดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาลายผ้าโพกศีรษะแบบดั้งเดิมมาเพิ่มลายดอกไม้และวิธีการปักเลื่อมลายต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว และเป็นคนที่มีความคิด ริเริ่มและสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง และ ผู้อื่นอยู่เสมอ เช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนมของกลุ่มแม่บ้านได้สวยงาม น่าซื้อ มีเอกลักษณ์ของตนเอง แทนการใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่ออกแบบให้ อีกทั้งยังรู้จักใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า เช่น เอาเศษผ้าที่เหลือจากการทำผ้าคลุมผมมาทำผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดเท้า

รายละเอียดเพิ่มเติม

รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
ประเภท ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร
นางคอสหม๊ะ แลแมแน
หญิงผู้สร้างสรรค์ชุมชน

นางคอสหม๊ะ แลแมแน อายุ 44 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต การจัดการบัญชี สามีเป็นรองนายกองค์การบริการส่วนตำบลจะแนะ ครอบครัวมีความอบอุ่น มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีมั่นคง แม้ว่าจะเรียนสูง แต่กลับมีใจรักหันมายึดอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพาราและสวนลองกอง แม้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสูง มีอันตรายต่อการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีจิตสาธารณะให้ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ห่วงใยเพื่อนบ้านในชุมชน โดยมีความกล้าหาญให้ความร่วมมือกับทางราชการในการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์กับชุมชน

แรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของคุณคอสหม๊ะ เริ่มต้นเมื่อปี 2547 ที่พยายามแก้ไขปัญหาด้านรายได้ของตนเอง ค้นหาจุดแข็งของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้ดี และมาบรรจบพบตัวเองที่การปักผ้าคลุมผมของผู้หญิงมุสลิม จนปัจจุบันสามารถรวมกลุ่มผู้หญิงในชุมชน 28 คน ทำผ้าปักจักรคลุมผมส่งออกขายประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซีย สร้างรายได้เพิ่มให้แก่สมาชิก ทั้งนี้ได้ยึดหลักความพอดี กล่าวคือ พออยู่ พอกิน พอใช้ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีการวางแผนการประกอบอาชีพ และการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ

ด้วยความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และพัฒนางานอย่างต่อเนื่องโดยใช้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ จึงเข้าไปเรียนรู้จากผู้สูงอายุในการปักจักรผ้าคลุมผมและฝึกหัดจนทำได้ดี พร้อมขยายเผยแพร่ให้กลุ่มแม่บ้านได้รวมตัวกันทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม และค่อย ๆ พัฒนาลายผ้าแบบดั้งเดิมมาเพิ่มเติมลายดอกไม้และวิธีการปักเลื่อมลายใหม่ ๆ ให้หลายหลาย ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาทำขนมพื้นบ้าน ได้แก่ ขนมใบเหลียง ขนมเจาะหู กะหรี่ปั๊บ และโดนัท ให้เป็นรายได้เสริมของชุมชนอีกทางหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้นำชุมชน เป็นอาสาสมัครของหมู่บ้าน และคณะกรรมการต่าง ๆ ของหมู่บ้าน รวมทั้งเข้ารับการอบรมในโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ จากทางราชการตลอดมา เป็นตัวกลางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือแบ่งปันสังคมโดยเปรียบเสมือนญาติพี่น้องของตนเอง จึงเป็นที่รักและไว้วางใจของชาวบ้านในละแวกนั้น เป็นที่มาของการได้รับประกาศเกียรติคุณในระดับต่าง ๆ เช่น ได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2548 ได้รับรางวัลคนดีศรีนรา อำเภอจะแนะ ประจำปี 2552

การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ด้วยแรงบันดาลใจและยึดมั่นในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของคุณคอสะหม๊ะ จึงนำไปสู่การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

ความพอประมาณ

มีการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งช่วยให้ทราบรายรับรายจ่ายของตนเองและครอบครัว สามารถนำไปตัดสินใจการใช้จ่ายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ใช้อย่างพอประมาณ และได้ถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้กลุ่มสมาชิกปักจักรผ้าคลุมผม และกลุ่มแม่บ้านทำขนม ในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกลุ่ม ให้มีความโปร่งใส ยุติธรรมโดยใช้ความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ให้เข้าการดำเนินชีวิต

 

ความมีเหตุผล

ใช้ชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในด้านความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และการประกอบธุรกิจ โดยในด้านการลงทุนจะมีการศึกษาความต้องการตลาด แล้วนำมาวิเคราะห์และวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับตลาดและลูกค้าแต่ละประเภท มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องโดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาลายผ้าโพกศีรษะแบบดั้งเดิมมาเพิ่มลายดอกไม้และวิธีการปักเลื่อมลายต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว และเป็นคนที่มีความคิด ริเริ่มและสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง และ ผู้อื่นอยู่เสมอ เช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนมของกลุ่มแม่บ้านได้สวยงาม น่าซื้อ มีเอกลักษณ์ของตนเอง แทนการใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่ออกแบบให้ อีกทั้งยังรู้จักใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า เช่น เอาเศษผ้าที่เหลือจากการทำผ้าคลุมผมมาทำผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดเท้า

ภูมิคุ้มกัน

1. ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย โดยครัวเรือนมีการออม และทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของครัวเรือน พร้อมถ่ายทอดและส่งเสริมให้เพื่อนบ้านรู้จักการทำบัญชีครัวเรือน

2. เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และพัฒนางานอย่างต่อเนื่องในการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ โดยเข้าไปเรียนรู้จากผู้สูงอายุในการปักจักรผ้าโพกศีรษะและ ฝึกหัดทำจนทำได้ดี พร้อมขยายเผยแพร่ให้กลุ่มแม่บ้านได้รวมตัวกันทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม และค่อยๆ พัฒนาลายผ้าคลุมผมแบบดั้งเดิมมาเพิ่มลายดอกไม้และวิธีการปักเลื่อมลายต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาทำขนมพื้นบ้านให้เป็นรายได้เสริมของชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

 

ความรู้

เป็นผู้ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอโดยการเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่ส่วนราชการจัดขึ้นเช่น หลักสูตรการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการทุจริต หลักสูตรการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP เป็นการพัฒนาตนเองและนำความรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการขยายผลให้กับเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้มีคุณภาพดี

คุณธรรม

1. เป็นคนมีเมตตาและคุณธรรม เช่น เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ดูแลคนป่วยและผู้สูงอายุ โดยหมั่นไปเยี่ยมเยียนพูดคุยให้กำลังใจ และใช้เงินส่วนตัวช่วยเหลือในรายที่ประสบความลำบากยากแค้น
2. ให้การแบ่งปันและขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ และผู้สนใจทั่วไป โดยรับเป็นสถานที่ดูงานและเป็นวิทยากรบรรยาย และถ่ายทอดความรู้ในการทำอาชีพเสริมโดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ
3. พัฒนาตนเองจนเป็นคนที่มีบุคลิกดี แต่งกายสวยงามเป็นการอนุรักษ์การแต่งกายตามประเพณีของชาวมุสลิม
4. มีผู้สืบทอดอาชีพของตนในอนาคต โดยมีลูกสาว 2 คน กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 4 กรุงเทพฯ และโรงเรียนบางนรา จังหวัดนราธิวาส พร้อมสร้างผู้นำสตรีรุ่นต่อไปเพื่อช่วยกันดูแลกิจการของกลุ่มแม่บ้าน

 

ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทุกวันนี้ นางคอสะหม๊ะ และครอบครัวมีความสุข อบอุ่น และมีฐานะมั่นคง เป็นที่รักและไว้วางใจของคนในชุมชน รวมทั้งส่วนราชการให้ความไว้วางใจละพร้อมให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่องที่คุณคอสหม๊ะประสานงานไป เป็นแรงพลังช่วยสร้างสรรค์ชุมชนบ้านยอให้พึ่งพาตนเองได้


รางวัลรองชนะเลิศ ด้านประชาชนทั่วไป
นายสมมาตร บุญฤทธิ์

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ :ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ประเภท ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

นายผล มีศรี
ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายผล มีศรี
ที่อยู่: 130 หมู่ที่ 6 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา 56110
รางวัล: รางวัลรองชนะเลิศ
รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ: ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ประเภท: ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

 

          มีแนวคิดว่าถ้าเราทำมากก็ลงทุนมาก ผลผลิตแม้จะได้มากแต่เงินทุนก็จะสูง ดังนั้นเราทำผลผลิตขายในท้องถิ่นตลาดในหมู่บ้าน ตำบลของตนเอง ผลผลิตที่ได้แม้ว่าจะได้เงินรวมไม่มาก แต่ผลกำไรก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน และการทำงานในบ้านของตนเองก็ยังเป็นการสร้างสายใยรักของครอบครัวและญาติพี่น้องได้เป็นอย่างดี

รายละเอียดเพิ่มเติม

รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ประเภท : ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร
นายทวี ประหา
พอใจ คือพอเพียง

นายทวี ประหา เป็นคนชัยภูมิโดยกำเนิด ชีวิตในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ความที่รักดนตรีได้นำที่นาของพ่อไปขาย เพื่อตั้งวงดนตรี จากนั้นพบว่าเส้นทางที่เหมาะสมกับชีวิตคืออาชีพเกษตรกร โดยนำความรู้ในวัยเด็กช่วยจากการช่วยพ่อแม่เพาะกุยช่ายขาวขายมาเป็นต้นทุนความรู้ผสานไปกับการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยเริ่มบุกเบิกพื้นที่ 30 ไร่ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่เมื่อปี 2535 ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน ซึ่งพื้นที่ที่ทำการเกษตรแห้งแล้งที่สุด ไม่มีน้ำจากระบบชลประทาน แต่ด้วยความอดทนมุ่งมั่นจึงขุดสระน้ำโดยมีแหล่งน้ำซับมาช่วยเติมและทำการเกษตรครบวงจรจนได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า จ.มุกดาหาร ณ วันนี้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดเรียนรู้ของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมาศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีทั้งแปลงผักสวนครัว การเพาะกล้าพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ดี ปลูกไม้ผล ทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยเน้น “ให้คนปลูกทุกอย่างที่กินได้ และรักลูกให้ปลูกผัก”

การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียงคือความพอใจ ถ้าไม่พอใจก็ไม่พอเพียง”

ความพอประมาณ

มีการดำเนินชีวิตเรียบง่าย
ทำเกษตรแบบพออยู่พอกิน
ไม่ผลิตในปริมาณที่มากเกินไป
ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

ความมีเหตุผล

มีการใช้ดินและน้ำอย่างคุ้มค่า โดยการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบสระ
ให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันระหว่างการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ใช้สิ่งรอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มีความรอบคอบ มีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
มีสติและพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
ใช้เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์
รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

ภูมิคุ้มกัน

มีการทำบัญชีครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอ
มีเงินออม

“...ผมทำเศรษฐกิจพอเพียงไว้รองรับลูกที่เดินทางผิด แต่การเดินทางผิดไม่ใช่เรื่องผิด เรื่องผิดคือการไม่ได้แก้ไข...”

ความรู้

มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมที่ศูนย์เรียนรู้ของตนเอง
หมั่นศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

“...ครูสอนว่า 1+1 เท่ากับ 2 แต่ ปราชญ์สอนว่า 1+1 ทำอย่างไรจะได้เป็น 100 หรือ 1,000...”

คุณธรรม

มีแนวคิดที่จะทำบ้านปลอดโรค ผักปลอดสาร โชคแบบปลอดหวย รวยแบบพอเพียง
มีความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน และขยันหมั่นเพียร

ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

มีการทำบัญชีครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอ มีเงินออม และใช้เกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาจัดสรรที่ดิน ทำให้รู้และเข้าใจตนเอง ไม่ผลิตในปริมาณที่มากเกินไป ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
ใช้สิ่งรอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้จ่ายเกินตัว มีความรอบคอบ มีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีสติและพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน

จุดเด่น

การบุกเบิกพื้นที่ทำกินที่แข็งกระด้าง และขาดแคลนน้ำ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้ด้วยความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ และประหยัด
มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้น่าสนใจ


 

รางวัลรองชนะเลิศ

ชื่อผู้ส่งผลงาน: นายประมาณ ประสงค์สันติ
ที่อยู่: บ้านเลขที่ 61/10 หมู่ 6 บ้านทุ่งนางครวญ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 71180
รางวัล: รางวัลรองชนะเลิศ
รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ:
ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ประเภท: ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร

 

         ตนเองมีความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพ การมีที่อยู่ที่อาศัยอย่างมีความสุข ครอบครัวมีความสุข บุตรและภรรยาไม่ต้องลำบากออกไปรับจ้างซึ่งมักโดนเอาเปรียบ มีพื้นที่ทำการเกษตรโดยไม่ต้องลงทุนมากเน้นการเพาะปลูกอย่างพอเพียง มีรายได้เพียงพอกับครัวเรือน หากผลผลิตเหลือยังแจกให้แก่เพื่อนบ้านและใช้เวลาที่เหลือเป็นวิทยากรบรรยายแนวทางการทำการเกษตรอย่างพอเพียงแก่ผู้ที่สนใจ

รายละเอียดเพิ่มเติม

ความสุขบนวิถีพอเพียง

นายประมาณ ประสงค์สันติ เดิมเป็นคน จ.นครราชสีมา ที่บ้านมีฐานะยากจน จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเข้ามาประกอบอาชีพกรรมกร ด้วยความเป็นคนตัวเล็กจึงโดนกดค่าแรง และถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ต่อมาได้สมรสกับภรรยาซึ่งประกอบอาชีพกรรมกรเช่นกัน และมีบุตรด้วยกัน 2 คน ตนจึงย้ายที่อยู่ตามคำชักชวนของพี่เขย ให้มาทำการเกษตรที่ จ.กาญจนบุรี ด้วยความมุ่งมั่นอยากให้ลูกและภรรยาสบาย จึงได้มุ่งมั่นทำไร่ ใช้สารเคมีเต็มที่เพื่อหวังผลผลิตเต็มที่ ต่อมาประสบปัญหายิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ จึงได้เลิกและหันมายึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ปี 2544

การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ความพอประมาณ

เน้นการทำการเกษตรบนพื้นฐานแรงงานหลักของครัวเรือน มากกว่าการจ้างแรงงาน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายเพียงพอสำหรับตนเองและบุตร 2 คน โดยหวังว่าเมื่อบุตรโตขึ้นจะมีพื้นที่ทำกิน ไม่ลำบาก ไม่ต้องถูกเอาเปรียบ

ความมีเหตุผล

มีแนวทางการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่สร้างหนี้ มีรถอีแต๋นเป็นอุปกรณ์ในการเดินทางไปพื้นทำการเกษตร มีการเพาะปลูกพืชอย่างผสมผสานระหว่างไม้ใหญ่และไม้เล็ก สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

ภูมิคุ้มกัน

มีการจัดการกับภาระหนี้สิน ซึ่งจากเดิมมีหนี้สินจากค่าปุ๋ยเคมี กว่า 100,000 บาท ปัจจุบัน คงเหลือ 60,000 บาท มีการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อทราบรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน และมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ความรู้

เข้าร่วมอบรมศึกษาเพื่อหาความรู้ด้านการเกษตร และนำมาปฏิบัติจริงจนประสบผลสำเร็จ และขยายแนวความรู้ไปสู่เพื่อนบ้านและชุมชนใกล้เคียง โดยที่พักอาศัยยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรของ อ.ทองผาภูมิด้วย

คุณธรรม

เนื่องจากเป็นคนยากจนจึงหมั่นทำบุญเป็นประจำ เพื่อเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้แก่ตนเองและครอบครัว ยังให้การสนับสนุนกิจการทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ และบุตรคนโตได้บวชเป็นพระเพื่อศึกษาต่อ เนื่องจากตนเองมีฐานะยากจน

ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ตนเองมีความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพ การมีที่อยู่ที่อาศัยอย่างมีความสุข ครอบครัวมีความสุข บุตรและภรรยาไม่ต้องลำบากออกไปรับจ้างซึ่งมักโดนเอาเปรียบ มีพื้นที่ทำการเกษตรโดยไม่ต้องลงทุนมากเน้นการเพาะปลูกอย่างพอเพียง มีรายได้เพียงพอกับครัวเรือน หากผลผลิตเหลือยังแจกให้แก่เพื่อนบ้าน และใช้เวลาที่เหลือเป็นวิทยากรบรรยายแนวทางการทำการเกษตรอย่างพอเพียงแก่ผู้ที่สนใจ

จุดเด่น

เป็นนักสู้ ด้วยรูปร่างที่เล็กแต่จิตใจเป็นคนที่เข้มแข็ง อดทน ต่อความยากลำบาก หลังจากน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับตนเองและครอบครัวแล้ว ส่งผลให้ตนเองตอบคนภายนอกได้ว่าปัจจุบันตนเองมีความสุข มีความพอแล้ว มิต้องการอะไรไปมากกว่านี้