ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เป็นอย่างมาก ทรงพระราชดำริว่าป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชาติ และนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การทรงงานในเรื่องป่าไม้จึงผสานเป็นแนวทางเดียวกันกับการจัดการทรัพยากรน้ำและดิน พุทธศักราช ๒๕๐๔ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนา พื้นที่ป่าไม้แปรสภาพเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม จัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย พัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและผลิตกระแสไฟฟ้า บางพื้นที่ถูกใช้เป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทรงพบว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จึงทรงพิจารณาศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือโดยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่

          โครงการหลวง เป็นโครงการเพื่อการพัฒนารักษาป่าต้นน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าในภาคเหนือที่ถูกทำลายไปโดยชาวไทยภูเขาเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น  โครงการหลวงประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ในขณะเดียวกัน ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ให้มีอาชีพและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ขจัดปัญหาการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และพระราชทานคำแนะนำให้ชาวไทยภูเขาหันมาปลูกพืชผักผลไม้ และดอกไม้เมืองหนาว ทดแทนการปลูกฝิ่น เช่น ถั่วแดงหลวง มะเขือเทศ แอปเปิ้ล สตรอว์เบอรี่พันธุ์พระราชทาน ๘๐ สาลี่ พลับ ลูกท้อ ชา และกาแฟอาราบริก้า เป็นต้น รวมทั้งพระราชทานพันธุ์สัตว์ เช่น ปลาและหมู  อีกทั้ง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานพัฒนาโครงการหลวงหลายครั้ง  ปัจจุบัน โครงการหลวงเจริญก้าวหน้ามากเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย สถานีวิจัยเกษตร  ๓ แห่ง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงแม่สอด สถานีเกษตรหลวงปางดะ และศูนย์พัฒนาพืชใหม่ ๆ ๒๖  ศูนย์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และลำพูน จำนวน ๒๑๙ หมู่บ้าน

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้แก่ ป่าไม้สาธิต การอนุรักษ์พันธุ์ยางนาและพืชสมุนไพร ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง หลักการ คือ ให้ปลูกต้นไม้ ๓ ประเภท คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และ ไม้เศรษฐกิจ ซึ่งต้นไม้ทั้ง ๓ ประเภท สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ประการที่ ๔ คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ แนวพระราชดำรินี้เป็นการผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า สามารถพลิกฟื้นพื้นป่าที่แห้งแล้งให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ตามระบบนิเวศอีกครั้ง ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ป่าชุมชนอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่อง การปลูกป่าทดแทน และการปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. มุกดาหาร โครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในเขตพื้นที่เป้าหมายจังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี ซึ่งแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นสิ่งที่ประชาชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ได้สืบสานพระราชปณิธานโดยการปลูกป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา หน่วยราชการในพระองค์