พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม
ในอดีต เส้นทางการสัญจรของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง หรือ ไม่ก็เป็นเพียงทางเดินเท้า ราษฎรในถิ่นที่ห่างไกลต้องอาศัยเกวียนหรือสัตว์เป็นพาหนะ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้สร้างเส้นทางคมนาคมสัญจรหลายโครงการ เพื่อประโยชน์ของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารและแนวชายแดนให้สามารถเข้าถึงสถานีอนามัย โรงพยาบาล โรงเรียน และส่งพืชผลการเกษตรมายังแหล่งจำหน่ายได้ง่ายขึ้น เช่น พุทธศักราช ๒๔๙๕ พระราชทานรถไถหรือรถบลูโดเซอร์ (bulldozer) แก่หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร เพื่อใช้สร้างถนนที่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ราษฎรได้มีเส้นทางสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น ปัจจุบันราษฎรบ้านห้วยมงคลใช้เวลาเดินทางมาสู่ตลาดหัวหินเพียง ๒๐ นาที จากเดิมใช้เวลาถึง ๓ ชั่วโมง รวมทั้ง พระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยราชการพัฒนาเส้นทางในพื้นที่ห่างไกลในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การตัดถนนสายอำเภอระแงะ-บ้านดุซงญอ-นิคมพัฒนาภาคใต้ ถนนสายบ้านสามแยก-อำเภอสุไหงปาดี และทางสายบ้านซากอ-นิคมพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางข้ามภูเขาระหว่างบ้านเปาสามขา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร ทำให้ราษฎรทั้งสองฝั่งภูเขาติดต่อกันได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
ขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาตามกระแสสังคมโลกยุคใหม่ “โลกาภิวัตน์” การวางระบบเชื่อมทางสัญจรทางบกและทางอากาศเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าโลก และการเพิ่มขึ้นของจำนวนยวดยานพาหนะอย่างรวดเร็ว ทำให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีปัญหาด้านการจราจร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง และได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โครงการสร้างถนนวงแหวนรัชดาภิเษก แทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ทางราชการจะจัดสร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นของขวัญ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ การขยายพื้นผิวจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การจัดสร้างถนนหยดน้ำ การขยายช่องทางการจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมัฆวานรังสรรค์ การขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี (ถนนสุทธาวาส) โครงการสร้างถนนกาญจนาภิเษก โครงข่ายถนนจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก โครงการสร้างทางยกระดับคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี สะพานพระราม ๘ การสร้างเส้นทางลัดในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบริเวณถนนพระราม ๙ โครงการสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒ และโครงการตำรวจจราจรตามแนวพระราชดำริ เพื่อคอยช่วยอำนวยความสะดวกแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยวิกฤต หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดในสภาวะที่การจราจรบนท้องถนนติดขัดหนาแน่นไม่สามารถไปถึงโรงพยาบาลได้ทันการณ์
นอกจากพระราชทานพระราชดำริด้านเส้นทางสัญจรแล้ว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดเส้นทางการคมนาคมโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย – เวียงจันทน์) ร่วมกับ นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว เพื่อเชื่อมพรมแดนการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเส้นทางการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทยเมื่อพุทธศักราช๒๕๔๗ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้มีพระราชดำรัส ว่า “การต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะจะแก้ปัญหาจราจร เนื่องจากระยะทางหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นระยะทางที่สั้นเพียง ๒๐ กิโลเมตร เท่านั้น” ตลอดจนพระราชทานนามท่าอากาศนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศไทยว่า“ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๕ ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๙
ที่มา หน่วยงานราชการในพระองค์