พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชดำริว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต จึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป ได้แก่
พระราชพิธีบางอย่างที่เลิกปฏิบัติแล้ว ทรงให้ฟื้นฟูขึ้นเสียใหม่ ทรงเห็นว่าพระราชพิธีที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชน เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ช่วยรักษาราชประเพณีดั้งเดิม และเพื่อให้เรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ช้างที่อยู่ตามธรรมชาติ โบราณสถานและโบราณวัตถุ ทรงพระราชดำริว่า โบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญของประเทศ ดังความในพระราชดำรัสในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔ ความว่า “…โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่ในอดีต สมควรจะสงวนรักษาให้คงถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล…” อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์และเก็บรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบตามท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งกรมศิลปากรได้สนอง
พระราชดำริด้วยการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ งานจิตรกรรมฝาผนัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ขึ้นใหม่ ทรงแก้ไขภาพร่างทุกภาพอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแบบแผนและเอกลักษณ์ของงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย การแต่งกาย พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแบบเสื้อชุดไทยพระราชทาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้น้อมนำเสื้อชุดไทยพระราชทานใช้แทนชุดสากล ภาษาและหนังสือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสที่ทรงร่วมการอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้ภาษาไทย” กับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ ความตอนหนึ่งว่า “ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง…จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้…” นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าพระราชทานในโอกาสต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เช่น หนังสือเรื่อง ธรรมเนียมราชตระกูล พระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
ที่มา : หน่วยงานราชการในพระองค์