พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
เมื่อต้นรัชสมัย ราวพุทธศักราช ๒๔๙๖ การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยยังไม่เจริญนัก เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง ทรงตระหนักว่าสุขภาพอนามัยของราษฎรเป็นสิ่งสำคัญเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ประกอบกับสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระราชปณิธานในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการสาธารณสุขของประเทศ การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในช่วงแรกจึงเน้นเรื่องการแพทย์และ การสาธารณสุข เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และผลิตยาป้องกันวัณโรค พระราชทานเรือเวชพาหน์ เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ริมแม่น้ำ พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เพื่อช่วยแพทย์ซักถามอาการผู้ป่วยโรคติดเชื้อโดยการควบคุมจากระยะไกล และช่วยจิตแพทย์ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานทุนส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน (ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ขยายขอบเขตให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย) การก่อตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคคลและองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อมวลมนุษย์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ การพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ได้แก่ ทุนภูมิพล ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ สำหรับพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราชที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนโปลิโอสงเคราะห์ ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทุนปราบอหิวาตกโรค ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ และทุนวิจัยประสาท ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ รวมทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานออกหน่วยรักษาผู้ป่วย ด้วยพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้โรคระบาดที่เกิดในประเทศไทยในอดีตสงบลง และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภูมิภาคนี้
ที่มา หน่วยราชการในพระองค์