เพลงสรรเสริญพระบารมี
เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นบทเพลงที่บรรเลงเพื่อสรรเสริญเกียรติยศพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ บรรเลงในโอกาสรับเสด็จหรือส่งเสด็จ การเฉลิมพระเกียรติ การถวายพระพร การถวายความเคารพ เป็นต้น นอกจากนี้ในการมหรสพต่าง ๆ เช่น การแข่งขันกีฬา การฉายภาพยนตร์ การแสดงดนตรี ก็นิยมมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนทำการแสดง รวมทั้งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ก็ใช้เป็นเพลงสำหรับแจ้งการยุติการกระจายเสียงและแพร่ภาพอีกด้วย
เพลงสรรเสริญพระบารมี ใช้เป็นเพลงชาติด้วยในระยะแรก ๆ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว อย่างประเทศอังกฤษที่ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีกับเพลงชาติเป็นเพลงเดียวกัน
ประเทศไทยมีการบรรเลงเพลงรับเสด็จและส่งเสด็จ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ บันทึกไว้ว่าใช้เพลง “สายสมร” ซึ่งมีการบรรเลงเป็นโน้ตเพลงสากลตามเสียงที่ได้ยินไว้ด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ใช้เพลงบุหลันลอยเลื่อน (บุหลันเลื่อนลอยฟ้า ทรงพระสุบิน สรรเสริญพระจันทร์) โดยบรรเลงเป็นเพลงตับ ประกอบด้วย เพลงสรรเสริญพระบารมี กินรีฟ้อน ศศิธรทรงกลด ใช้บรรเลงตอนรับเสด็จและส่งเสด็จ
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการฝึกทหารตามแบบอย่างประเทศตะวันตก มีหัวหน้ากองแตรทหารเป็นชาวอังกฤษ ชื่อ Thomas George Knox ใช้เพลง God Save the King ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติของอังกฤษ บรรเลงถวายความเคารพ และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ใช้ทำนองเพลงนี้แต่งคำร้อง ชื่อเพลง “จอมราชจงเจริญ” เนื้อร้องความว่า
“ความสุขสมบัติทั้ง บริวาร
เจริญพละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จงยืนพระชนม์นาน นับรอบ ร้อยแฮ
มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงเพ็ญจันทร์”
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จฯ ประพาสเมืองสิงคโปร์และเกาะชวา (พ.ศ. ๒๔๑๔) ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง “ก็อดเซฟเดอะคิง” บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้งอังกฤษและไทยต่างใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงเดียวกัน ต่อมาเมื่อเสด็จฯ ไปเมืองปัตตาเวีย (ชวา) มีชาวฮอลันดาถามถึงเพลงชาติของสยามเพื่อนำไปบรรเลงรับเสด็จ จึงมีรับสั่งให้ครูดนตรีประชุมแต่งเพลงใหม่ แทนเพลงเดิมที่ทำนองเพลงไปเหมือนกับเพลงของอังกฤษ และโดยที่สยามไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งอย่างสิงคโปร์หรือปัตตาเวีย จึงต้องมีเพลงเกียรติยศ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นของตนเอง โดยคณะครูดนตรีในยุคนั้น ได้ปรับปรุงเพลงบุหลันลอยเลื่อน (ทางฝรั่ง) มาใช้เป็นเพลงเกียรติยศหรือเพลงรับการเคารพแทนระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๔ – ๒๔๓๑
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมาใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก ที่ได้ประดิษฐ์ทำนองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๑๖ ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ได้ไม่นาน ซึ่งได้เค้าทำนองมาจากเพลงสรรเสริญนารายณ์ของเก่า และได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตกโดย ปิออตร์ ชูรอฟสกี นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑
ชูรอฟสกี ประพันธ์เป็นโน้ตสากลซึ่งไม่มีครูดนตรีชาวสยามผู้ใดอ่านออกในขณะนั้น สันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเชิญนักดนตรีชื่อเฮวุดเซน มาบรรเลงเพลงนี้บนเปียโนให้ฟัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ฟังจึงทรงนิพนธ์เนื้อร้องใส่เข้าไป และออกบรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาทรงนิพนธ์เนื้อร้องของเพลงนี้อีกหลายเนื้อร้องเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน เช่น ทหาร นักเรียนชาย นักเรียนหญิง เป็นต้น แต่มีเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกสำนวนหนึ่งที่เป็น
พระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สำนวนนี้เป็นสำนวนสำหรับทหารเรือขับร้องโดยเฉพาะ
เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันนั้น แต่เดิมเป็นเนื้อร้องที่พระองค์ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในระยะแรกของประเทศไทยใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติด้วย แต่หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์ และช่วงหนึ่งมีการตัดทอนเพลงนี้ให้สั้นลง แต่ใช้อยู่ไม่นานก็ได้ยกเลิกแล้วกลับมาใช้เพลงเดิม โดยมีการปรับปรุงเรียบเรียงเสียงประสานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
บทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นบทพระนิพนธ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ มีเนื้อเพลงดังนี้
“ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บุญดิเรก
เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย”
เพลงสรรเสริญพระบารมี มิได้เป็นเพลงสรรเสริญพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐเท่านั้น แต่เป็นเพลงเกียรติยศของรัฐ มีความสำคัญเทียบเท่ากับเพลงชาติ โดยบางประเทศยังใช้เป็นเพลงเดียวกับเพลงชาติอีกด้วย และที่สำคัญการมีเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติเป็นของตนเองเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเอกราชของชาติ ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของชาติอื่น
ดังนั้น การแสดงความเคารพ เมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีหรือเพลงชาติจึงเป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจในความเป็นอิสรภาพและความเป็นเอกราชของประเทศชาติของเราซึ่งเป็นการเคารพในเกียรติของตัวเราเองอีกด้วย
นร้อยเปช้เงินจำนวนเปนอยสุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม
อ้างอิง
๑. สรรเสริญพระบารมี. วิกิพีเดีย
๒. เพลงสรรเสริญพระบารมี. เว็บไซต์ true ปลูกปัญญา
๓. 128 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี : สรรเสริญพระบารมีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์. โดย สุกรี เจริญสุข. (https://www.matichon.co.th/columnists/news_349394)
๔. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี. หน้า 15
๕. ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี. (http://junghoo.com.www.readyplanet.net/ index.php?lay=show&ac=article&Id=20282&Ntype=5) จากหนังสือ "เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย " โดย ส.พลายน้อย
๖. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. God Save the King และธรรมเนียมการยืนเคารพในเพลงสรรเสริญพระบารมีของอังกฤษ. มติชนสุดสัปดาห์. ๑๓ – ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖.
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖