ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ


พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ

“...การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้นสำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นยอดเขาและเนินสูง ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้น และปลูกไม้ฟืนซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกป่าทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไม้ไว้ให้ดีแล้ว ท้องถิ่นก็จะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ณ พื้นที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
๑๔ เมษายน ๒๕๒๐


 

“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙


 

“...เรื่องฝนเทียมนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมาย เพราะว่าในภาคอีสานตอนนั้นหน้าแล้ง เดือนพฤศจิกายน ที่ไปมีเมฆมากอีสานก็แล้ง ... แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไงจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
๑๙ มีนาคม ๒๕๒๙


 

“...ถ้าหากว่าอยากทำให้โครงการกำจัดน้ำโสโครกนี่บรรลุเป้าหมายก็จะต้องทำทุกแห่ง คือ จะเป็นโรงแรม จะเป็นภัตตาคารหรือจะเป็นอะไรทุกแห่ง เขาจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่จะมีเครื่องที่จะกำจัดน้ำโสโครก ซึ่งสำหรับการลงทุนก็ไม่น้อย แล้วก็การบำรุงรักษาจะเป็นปีละจำนวนล้านสำหรับแต่ละแห่ง ก็พยายามที่จะทำเป็นตัวอย่างแบบง่าย ๆ ก่อนแล้วก็ถือหลักโครงการตามพระราชดำรินั่นเอง คือว่าอะไรทำได้ทำเลยโดยที่ไม่ต้องใช้เงินมาก แล้วก็ต้องทำจริงจัง ถ้าไม่ทำจริงจัง กรุงเทพฯ อยู่ไม่ได้ ภายใน ๒๐ ปี ข้างหน้าจะแย่ เดี๋ยวนี้ก็แย่ คือคนเราจะทนไม่ได้ไปที่อื่นก็ไปไม่ได้แล้วก็เมืองไทยจะแย่...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๘ มิถุนายน ๒๕๓๐


 

“...เราจะใช้น้ำนี้อย่างไร ถ้าหากว่าทำอย่างไม่ระมัดระวัง น้ำนี้ก็คงหมดเหมือนกัน หรือไม่หมดก็ใช้ไม่ได้ เช่น ปล่อยให้น้ำเสีย ปล่อยให้น้ำนี้ไม่เกิดประโยชน์ ก็จะเหลือเปอร์เซนต์เหลือเสี้ยวหรือไม่ถึงเสี้ยว หมายความว่านิดเดียวที่จะใช้ได้ แล้วก็ที่จะใช้ได้นั้นยังมีอยู่ที่ยังไม่สามารถที่จะไปเอา เช่น น้ำที่ลงทะเล ในเขตที่ไม่มีคนอยู่ก็มากอยู่เหมือนกัน ฉะนั้น เราจะต้องพยายามที่จะคิดให้ดีว่าน้ำที่ใช้ได้นั้นย่อมมาจากน้ำฝน เราจะใช้น้ำนี้ให้ดีอย่างไร...”

“...แก้ปัญหาโดยทำการกักน้ำเอาไว้ เวลามีมากเกินไป กักเอาไว้เพื่อไม่ให้ลงมาทำให้เสียหาย คือท่วมหรือเซาะดินหรืออะไร เวลาน้ำน้อยปล่อยออกมาใช้ อันนี้มีเหลือเฟือ ถ้าคำนวณดูมีมาก มีพอ รวมทั้งสามารถที่จะทำไฟฟ้าขึ้นมาได้บ้างบางแห่ง จากการไหลของน้ำ แทนที่จะปล่อยให้ไหลลงมาเพื่อทำการเพาะปลูกเฉย ๆ ไหลลงมามันเป็นพลังงานก็ทำไฟฟ้า หรือมิฉะนั้นก็ใช้กังหันน้ำสูบขึ้นไปที่ที่อยู่สูงกว่าเขื่อนก็ยังใช้ประโยชน์ได้อีกเยอะ หมายความว่าขยายที่ทำกิน หรืออะไรต่าง ๆ ได้พอทีเดียว ยังอยู่ได้อีกนานแล้วก็ถ้ารักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม นึกว่าอยู่ได้อีกหลายร้อยปี...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๒


 

“...การแก้ปัญหาอุทกภัยควรจะมีการระบายน้ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ คือ ทางน้ำผ่านหรือเรียกว่า ฟลัดเวย์ เพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ฝั่งพระนครรับภาระหนักจนเกินไป แต่ฟลัดเวย์ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ นี้ จะต้องมีเครื่องเร่งน้ำใกล้คันกั้นน้ำด้วยเพราะคลองแสนแสบคลองลาดพร้าว คลองประเวศ คลองบางนา คลองสำโรง ไม่สามารถรับน้ำเหนือที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ ต้องเร่งระบายน้ำให้ไวที่สุด ไม่เหมือนกับเขตพระนครที่ทาง กรุงเทพมหานคร สามารถรับมือได้ เนื่องจากฝนตกแล้วแห้งเร็ว...”
“...อันดับแรกที่จะต้องสูบน้ำให้แห้ง ชายทะเลนี้ให้แห้ง แห้งผาก เท่าที่ทำได้ แล้วก็ต่อไปก็มีเครื่อง อย่างที่ว่ามีเครื่องเร่งน้ำ โดยเฉพาะเร่งน้ำใกล้คันกั้นน้ำที่จะเข้าพระนคร เข้าด้านในคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ คลองบางนา คลองสำโรง คลองพวกนี้ต้องไม่ควรจะรับน้ำที่จะลงมาจากอยุธยา ถ้าน้ำรับเฉพาะในเขตพระนคร กทม.สามารถที่จะต่อสู้ได้แล้ว แสดงให้เห็นฝนตกหนักเมื่อวานนี้แห้งได้เร็ว ยังมีที่ท่วมอยู่ก็แห้ง นับว่าเร็ว แต่ถ้าน้ำอันนี้มาแล้ว กี่เดือนก็ไม่หมด ฉะนั้นทำ ต้องทำอันนี่ ที่จะเสียหาย ก็ที่ว่าไม่มีที่ที่จะขุด แก้ไขด้วยใช้คลองเป็น "ซ้ำ" (ที่เก็บน้ำ)...

ที่อยู่ตรงนี้ ต้องให้ทราบว่า ในสมัยเก่า ท่านทั้งหลาย หลายคนก็คงทราบแล้ว สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ ท่านเวนคืนเอาไว้ ท่านสงวนเอาไว้เป็นของรัฐ แล้วก็คนที่ไปอยู่ในนี้ ผิดกฎหมายทั้งนั้น คนที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย รวมทั้งคนที่ไปซื้อจากชาวบ้านก็ผิดกฎหมาย ฉะนั้น การที่จะขุด จะไปทำโครงการสาธารณะ ไม่ผิดกฎหมาย ทำเพื่อที่จะป้องกัน เพราะว่าปีที่แล้วก็เกิด ปีก่อน ๆ ก็เกิด ปีหน้าก็จะเกิดอีก ต้องทำโครงการฟลัดเวย์ (Flood Way)...

...ขั้นที่สอง คือ คลองต่าง ๆ เล็ก ๆ พวกนี้ จะต้องผ่านน้ำ ผ่านมากกว่าปกติ สองเท่า สามเท่า ตรงฝั่งอาจจะมีถล่ม จะมีความเสียหาย ต้องยอม คลองเล็ก ๆ เวลาน้ำผ่าน มันย่อมต้องสึกหรอต้องพัง ต้องไป ก็ต้องยอมให้พัง ยังไม่ได้พูดถึงอีกอย่าง เวลาสูบน้ำให้แห้ง อันนี้สอนสังฆราชนะ สอนท่านช่างชลประทานทั้งหลายเวลาเอาน้ำออกจากคลอง คลองมันผลัก เพราะเหตุว่า น้ำออกจากดินข้างคลอง โดยเฉพาะดินมีที่โปร่งน้ำจะออกจากข้างคลอง น้ำหนักของดินที่อยู่ข้างบนหรืออาคารที่อยู่ข้างคลอง จะกดลงไป จะถล่มลง จะต้องลง จะต้องมีความเสียหายของคลอง ของทางน้ำมีความเสียหายของบ้าน หรือที่ที่อยู่ข้างคลอง อันนั้นต้องยอม ในที่ที่เราดูดน้ำให้แห้ง จะต้องถล่ม ต้องลงจะเป็นแบบที่เขาเรียก กรุงเทพฯ ทรุด...

...เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมข้างล่าง แต่ว่าเก็บน้ำไว้เยอะทีเดียว แล้วถึงเวลา ไอ้ข้างบนมันมาก ยกทัพมา มาฟัน ไอ้เขื่อนไอ้คันนี้ ทีนี้ก็ลง เทลงมา ทีนี้ ไอ้ข้างล่างก็สบายเลยข้างบนอาจจะแห้งลงไป แต่ข้างบนอาจจะแห้งหรือไม่แห้ง เพราะจะมีน้ำจากข้างบนลงมาอีกที สรุป ไม่มีใครแห้งเลย แต่ถ้าทำ อย่างนี้ให้แห้งข้างล่าง เวลาน้ำมาลง ก็ลง ลง ไป ก็คือคงเข้าใจว่าทำไมเรามีความหนักใจ แต่ถ้าเห็นด้วย ในการที่จะมาทำให้แห้งข้างล่าง เพื่อรับน้ำใด ๆ ที่จะลงมาแล้วไอ้ข้างล่างต้องทำ เขื่อนอย่างนี้จะแตกต่างจากเขื่อนที่เราทำมาแล้วในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใด ๆ ที่เก็บน้ำไว้ข้างบน เพื่อจะเก็บไว้หน้าแล้ง หน้าฝนเก็บไว้ข้างบนไม่ให้ลงมาท่วม หน้าแล้งก็ปล่อยลงมาได้กิน ป่าสักก็ตาม นครนายกก็ตาม แก่งเสือเต้นก็ตาม เก็บน้ำไว้ข้างบน เพื่อจะไม่ให้ท่วมลงมา เมื่อไม่ท่วมแล้ว เขาก็ทำกินได้ เมื่อหน้าแล้ง มีน้ำท่วมอะไรบ้างนิดหน่อย น้ำไปแล้ว ทางราชการไปช่วยอย่างที่...เคยเอาพืชผักอะไรต่าง ๆ ไปแจกมีน้ำสำหรับปลูก แต่ถ้าไม่มีอ่างเก็บน้ำที่จะเก็บน้ำไว้ข้างบน ไปแจกเมล็ดพันธุ์แล้ว มันก็แห้ง มันก็ไม่ขึ้น อันนั้นเป็นวิธีอย่างหนึ่งของการพัฒนา...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชทานแก่ อธิบดีกรมชลประทาน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
๑๙ กันยายน ๒๕๓๘


 

“...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ลิงก็จะรีบปลอกเปลือกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว ๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนแล้วจะนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...”


พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ที่ได้พระราชทานไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘


 

“...ที่จะเล่าให้ฟังคือเรื่องโครงการเมื่อ ๔ ปี ที่ได้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยที่อยุธยาในแผนการมีอนุสาวรีย์ มีแท่น แล้วก็มีช้าง สมเด็จพระสุริโยทัยประทับบนช้าง และนอกจากนั้นก็มีเขตที่เป็นสวน ที่ปลูกต้นไม้ ที่มีอาคารสำหรับเป็นที่แสดงศิลปาชีพ มีที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาชมวิว และก็มีอ่างน้ำ ผู้วางผังเขาบอกว่าถ้ามีอ่างน้ำก็จะสวยงาม เมื่อได้รับทราบแล้ว ก็ดูแผน ในที่ ๒๕๐ ไร่นั้น เขาทำเป็นสระน้ำกว้าง ประมาณ ๕๐ ไร่ ตกลงที่ดินที่เป็นอนุสาวรีย์กับสวน เป็นที่ ๒๐๐ ไร่ และมีสระน้ำ ๕๐ ไร่ รวมเป็น ๒๕๐ ไร่ เมื่อเห็นอย่างนั้นก็ไม่ค่อยจะพอใจนัก แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ในที่สุดก็กล้า คือต้องกล้า กล้าบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ความหมายของอนุสาวรีย์นี้ หรือไม่ใช่แผนที่อยากจะให้ทำ อยากจะให้มีที่ที่เป็นน้ำ ให้สระน้ำนั้น ใหญ่กว่าครึ่งของบริเวณ ในที่สุดผู้วางแผนก็ยอม

เหตุผลที่ทำอย่างนี้ เพราะว่าในอนาคตอาจจะมี ที่จริงก็มีน้ำท่วมทุกปี และถ้ามีน้ำท่วม น้ำจะลงไปท่วมบ้านเมือง โดยเฉพาะอยุธยา ลงมาถึง ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และลงไปทางสมุทรปราการ ถ้าหากเราทำอ่างกักน้ำ จะเรียกว่าอ่างเก็บน้ำก็ได้ แต่เป็นสระที่ใหญ่พอเราสามารถที่จะกักน้ำเอาไว้ ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของการที่มีน้ำท่วม และต่อไปเมื่อน้ำแห้งแล้ว น้ำที่เราเก็บกักเอาไว้ในสระนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง จึงได้ปฏิบัติเช่นนั้น เขาจึงได้สร้างสระนั้นให้โตขึ้น มีพื้นที่ถึง ๑๕๗ ไร่ ก็นับว่าดีกว่าที่คิดไว้เดิม ว่าขอเอาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง (๑๒๕ ไร่)

ในที่สุด ปีนี้น้ำก็ท่วมและเกิดระลึกขึ้นมาได้ ว่ามีโครงการนี้อยู่ จึงให้คนไปถ่ายรูป มีหลายฝ่ายทั้งทางภาคพื้นดิน ทั้งทางอากาศ ในรูปได้เห็นว่ามีการสูบน้ำ ปลายหนึ่งของท่อจุ่มอยู่ในสระ และดูดน้ำออกจากสระ น้ำในสระนั้นมีระดับวัดได้ ๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร แต่เมื่อดูแล้ว ข้างนอก น้ำขึ้นสูงไปมากกว่านั้น จึงบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งหยุดสูบน้ำออกไป และถ้าอย่างไร ให้เปิดประตูน้ำที่เป็นท่อ และช่องที่เปิดน้ำให้เข้า-ออกได้ ให้น้ำเข้ามา น้ำก็ค่อย ๆ เข้ามาเอื่อย ๆ น้ำจึงขึ้นมาหน่อยแต่ว่าเข้ามาช้ามาก เขารายงานมาทางวิทยุว่า ข้างในน้ำสูงเท่านั้น ๆ ข้างนอกสูงเท่านั้น ๆ ก็ปรากฏว่าน้ำขึ้นจริง ๆ ที่หลักวัดระดับน้ำนั้นจาก ๓ เมตร ๕๐ ขึ้นมาเป็น ๓ เมตร ๘๐ เขาก็ถามมาว่าพอหรือยัง เราก็เลยต้องถามว่า ข้างนอกสูงเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าไม่ทราบ เราเลยถามว่า ข้างนอกสูงหรือต่ำกว่าคันรอบอนุสาวรีย์นั้นและเท่าไหร่ เขาก็บอกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือ ๓๐ เซนติเมตร จำไม่ได้แล้ว และเราถามว่าข้างในเท่าไหร่
เขาบอกห่างประมาณเมตรกว่า ก็เลยบอกว่า ให้ฟันคัน ให้ใช้รถตัก ที่เขาเรียกว่า “แบ็คโฮ” ตักคันที่กั้นน้ำนั้นให้น้ำเข้ามา ผู้ว่าราชการจังหวัดก็บอกว่า “ผมทำไม่ได้ ผมคอขาดถ้าทำ” ผู้ที่ไปก็บอกว่า “คุณต้องทำ ถ้าไม่ทำ ผมเองคอขาด” ก็ไม่ทราบว่าคอของใครมีราคามากกว่ากัน ในที่สุดก็เข้าใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดยอมคอขาด แต่ที่จริง คอไม่ขาด เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยาเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต และได้ช่วยทุกอย่างให้พระนครศรีอยุธยามีความเจริญ เป็นอันว่า เอารถ “แบ็คโฮ” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มาตักและขุดคัน น้ำก็เข้ามา แต่เข้ามาไม่ทันใจ เลยขุดอีกหลายแห่ง และในเวลาเดียวกันก็วัดระดับน้ำ ปรากฏว่าระดับน้ำทางด้านตะวันออก คือ น้ำที่มาจากแม่น้ำป่าสักสูงกว่าด้านที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ความรู้นี้ ไม่มีใครเคยรู้ว่า น้ำที่อยู่ในทุ่งด้านป่าสักมีความสูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และความรู้นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกรมชลประทาน เกิดความรู้ว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากไหน และไปไหน

ในที่สุดน้ำข้างในก็ขึ้น ข้างในสระระดับน้ำต่ำกว่ายอดคันประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ด้านนอก (ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา) เหลือถึงยอดคัน ๕๐ เซนติเมตรเช่นเดียวกัน ส่วนด้านแม่น้ำป่าสักปรากฎว่าเหลือถึงคันประมาณ ๒๐ เซนติเมตรเท่านั้น ก็หมายความว่า ข้างนอกกับข้างในยังไม่เท่ากัน ก็บอกให้ทำต่อไปจนกระทั่งน้ำข้างนอกกับน้ำข้างในเท่ากัน และวัดดูโดยต่อจากมาตรวัดน้ำ ซึ่งทีแรกสูง ๔ เมตร ต่อขึ้นมา ๕ เมตร ก็ท่วม ๕ เมตร จนกระทั่งขึ้นมา ๕ เมตร กับ ๗๐ เซนติเมตร เป็นอันว่าน้ำที่เข้ามาบริเวณนั้น จากเดิม ๓ เมตร ๕๐ ขึ้นมาเป็น ๕ เมตร ๗๐ และน้ำในสระนั้น แทนที่จะมีประมาณห้าแสน ก็ขึ้นมาเกือบสองล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อถึงขนาดนั้นแล้ว จึงสั่งให้ปิดได้ ให้ปิดเพื่อที่จะเก็บน้ำนี้ไว้ข้างใน วันรุ่งขึ้นไปวัดน้ำที่ในทุ่งปรากฏว่าลดลงไป ๔ เซนติเมตรทำให้ราษฎรเห็นว่า อนุสาวรีย์นี้ทำประโยชน์ และสมเด็จพระสุริโยทัยนี้เป็นวีรสตรีในอดีต กลับมาเป็นวีรสตรีในปัจจุบันด้วย ฉะนั้นโครงการนี้ก็ได้ผลเต็มที่...”

“...โครงการแก้มลิง ต้องทำตามคติพจน์ที่มีเขียนไว้ข้างใต้ตรงนี้ (ทรงชี้ที่กระเป๋าฉลองพระองค์) เหมือนที่เคยเล่าให้ฟังเมื่อประมาณ ๓ ปี ภาษาไทยพูดยาก แต่ภาษาอังกฤษก็คือ “Our Loss Is Our Gain” “Our Loss” คือสิ่งที่เราเสีย ; “Is” คือเป็น, “Our Gain” กำไรของเรา “Our Loss” ความเสียหายของเรา “Is Our Gain” กลายเป็นกำไรของเรา ต้องทำตามคติพจน์ของสำนักงาน ฝล. ก็จะสามารถทำโครงการนี้ได้ แต่ถ้าถือว่า Our Loss Is Our Loss คือ ไม่ยอมเสียเงิน ก็ทำโครงการนี้ไม่ได้ ต้องยอมเสียเงิน แต่ในที่สุดก็กลายเป็นกำไรของเรา เพราะว่าคนพวกที่อยู่ที่นี้ จะร่วมมือจะทำโครงการนี้ราคาถูกลง และประชาชนที่อยู่ที่นี่ก็จะได้กำไรเหมือนกันทางราชการก็จะได้กำไร
อยากให้เข้าใจว่าทำไมเรียกว่า “แก้มลิง” ก็เพราะว่าน้ำที่เข้ามาที่นี่ (จุดที่ ๒๕) มันออกไปไม่ได้ ก็ต้องเคี้ยว เคี้ยว เคี้ยว แล้วเก็บไว้ในที่นี้ (จุดที่ ๓๙) ตรงนี้ (จุดที่ ๔๒) มีคลองหลายคลอง คลองหนึ่งชื่อคลองสำเหร่ แล้วอีกคลองชื่อคลองโรงภาษี ที่ตรงนี้เวลาน้ำขึ้น น้ำพุ่งเข้าไปเลยจากที่นี่ (จุดที่ ๔๒) ไปลงคลองบางกอกใหญ่ แต่ถ้าเราทำทางที่จะให้ไหลตรงมาที่นี่ คลองสนามชัย (จุดที่ ๔๓) นี่คลองสนามชัย (จุดที่ ๔๓) มาลงที่นี่ คลองมหาชัย (จุดที่ ๔๔) ถ้าเอาคลองสำเหร่และคลองโรงภาษี มาเชื่อมต่อกับคลองสนามชัย หรือคลองบางมด (จุดที่ ๓๘) ก็ได้ ก็จะสามารถระบายน้ำออกจากบริเวณน้ำท่วมฝั่งธนฯ (จุดที่ ๒๕) ซึ่งทำได้ เป็นถนนคลอง หรือจะเรียกว่าคลองถนนก็ได้ เพราะว่าข้างบนเป็นถนน ข้างล่างเป็นคลอง
เมืองนิวออลีนส์ในอเมริกา เขามีถนนคลอง ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า “Canal Street” ใครไปนิวออลีนส์ คงได้ไป “Canal Street” เวลาน้ำท่วม น้ำจะเข้า “Canal Street” แล้วลงไป “แก้มลิง” ของเขา “แก้มลิง” ของเขา เป็น “แก้มลิง” ธรรมชาติ เป็น Lagoon ใหญ่ แต่ของเราต้องสร้าง “แก้มลิง” แล้วก็ต้องสร้าง “Canal Street” ถนนคลอง ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว ก็จะสบาย น้ำก็จะไม่ท่วม นอกจากจะเป็น “ฝนพันปี” หรือ “ฝนหมื่นปี” คือฝนหรือน้ำที่ลงมากเป็นประวัติการณ์ แต่ถ้าทำอย่างนี้จะสามารถต่อสู้ธรรมชาติได้ อันนี้เราไม่ได้ต่อสู้ใคร บุคคลใด เราต่อสู้ธรรมชาติ ให้ประชาชนเหล่านี้มีความสุข และสามารถที่จะร่วมมือในโครงการนี้ และประชาชนแถวนี้ก็จะมีความสุข เมื่อมีความสุขไม่เดือดร้อน “Our Gain” กำไรจะมา
“...เคยพูดแล้วว่า แก้มลิงโครงการแก้มลิง คืออะไร แต่คนยังไม่ซาบซึ้ง มีโครงการแก้มลิง เพราะว่านางมณีเมขลา เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน ฝล. และสำนักงาน ฝล. นี้ เป็นการเปิดเผยเป็นทางการเป็นครั้งแรก เดี๋ยวนี้ ณ บัดนี้ นอกเวลาราชการว่า ฝล. นี้แปลว่า สำนักงานฝูงลิง เครื่องหมายสำนักงานฝูงลิง ฝล. แล้วก็ตรงนี้ก็คือ ศาลพระกาฬ และก็ลิงที่อยู่ข้างล่าง นี่เป็นลิงจำพวกที่ไม่กินกล้วย คือว่า กินกล้วยแล้วไม่มีแก้มลิง เพราะว่าตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงก็จะเคี้ยว ๆ แล้วก็ใส่ไว้ในแก้มลิง
แต่ฝูงลิงที่หนึ่งจะเคี้ยวๆๆๆ แล้วก็ใส่ไว้ในแก้มลิง แต่ฝูงลิงนี่ ที่ลพบุรี ท่านผู้ว่าลพบุรีคงทราบว่า ว่าไม่รับ เพราะฝูงลิงที่ลพบุรีนั้น รับประทานแต่โต๊ะจีน แต่อย่างไรก็ตาม นิสัยของลิงก็ยังคงเป็นลิง เพราะว่าเราจำได้เมื่ออายุ ๕ ขวบ มีลิงเอากล้วยไปให้มันก็เคี้ยวๆๆๆ แล้วก็ใส่ไว้ในแก้มลิง ตกลงโครงการแก้มลิงนี้มีที่เกิด เมื่อเราอายุ ๕ ขวบ นี่ก็เป็นเวลา ๖๓ ปีแล้ว สมัยโน้นลิงโบราณเขามีแก้มลิง เขาเคี้ยวกันไป คราวนี้น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำโครงการแก้มลิง น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลางนี่ แต่ว่า จะต้องทำโครงการแก้มลิงให้ เพื่อที่จะเอาน้ำเก็บไว้ เวลาน้ำทะเลขึ้นไม่สามารถ ที่จะระบายออก เมื่อไม่สามารถระบาย น้ำทะเลก็ขึ้นมาดันขึ้นไป ตามแม่น้ำไปถึงเกือบอยุธยา ทำให้แม่น้ำลงไปไม่ได้ หากน้ำที่ทะเลลง น้ำที่ลงมานั้น ก็ไม่สามารถที่จะกักเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ท่วมต่อไป จึงต้องมีแก้มลิง
เราพยายามจะเอาลงมา เอาลงมาเหมือนโครงการที่ได้พูด เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ที่บอกให้ท่านที่เก็บน้ำทางฝั่งตะวันออก ในที่สุดก็สำเร็จพอสมควร เพราะว่าภายในไม่กี่วันน้ำที่อำเภอลาดกระบัง ที่ลาดกระบังนั้นท่านผู้ว่าพระนคร ไปและน้ำมันขึ้นมาถึงเอว น่าสงสารท่าน เพราะว่าท่านไปยืนอยู่ข้างปั๊มน้ำ แล้วก็ยืน แล้วก็พูดโหวกเหวก จำไม่ได้ว่าท่านพูดว่าอะไร แล้วปั๊มน้ำก็ปั๊มปั๊มขึ้นไปและพ่นลงไป
เราหารู้ไม่ น้ำขึ้นมาสูบจากถนนพ่นลงไป ในคลองและจากคลองกลับขึ้นมาบนถนน ท่านก็คงเห็น แต่ท่านไม่กล้าพูดว่า น้ำที่สูบนี้เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า ท่านยืนตรงนี้ จะได้รูปสวย ๆ มีปั๊มน้ำ น้ำก็พ่นออกมา แต่น้ำที่พ่นออกมานั้น ไปไหน มันกลับมาท่วมท่านเอง หมุนเวียน เรียกว่าเวียนเทียนกลับไป ฉะนั้น อย่างนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่จะทำ สูบน้ำต้องมีประโยชน์ สูบน้ำบางทีไม่รู้ว่าใช้พลังงานอะไร คงไม่ใช่ไฟฟ้า คงเป็นดีเซล ที่สูบน่ะเป็นดีเซล เสียน้ำมันไปเท่าไหร่ แล้วก็น้ำมันที่เสียนั้น เวลาเผาน้ำมันมันก็เกิดขึ้นไปเป็นปฏิกิริยาเรือนกระจก เป็นมลภาวะแล้วน้ำก็ไม่ไปไหน ก็อยู่แถวนั้น

ฉะนั้น เราจึงต้องทำแก้มลิง เพื่อที่จะให้น้ำของลาดกระบังนั้น ลงมาคอยอยู่ที่แก้มลิง และสูบออกทะเล จึงทำและรู้สึกว่า จะสำเร็จภายในไม่กี่วัน เมื่อเริ่มปฏิบัติได้แล้ว น้ำที่ลาดกระบังลดลงไป ถนนโผล่ขึ้นมา ถนนที่ท่านอยากจะแก้ไข ให้การจราจรไปได้ดี ก็แล่นได้ มองเห็นว่า ถนนก็พังหมดแล้วต้องซ่อม แต่ว่ายังอย่างไรก็ตาม ก็เห็นถนนหลังจากทำโครงการแก้มลิง แต่ตอนนั้นไม่ได้เรียกแก้มลิง มันเพิ่งมาเรียกทีหลัง เพราะว่ามาปรึกษาหารือกับสำนักงานฝูงลิง เขาก็บอกว่าทำเป็นแก้มลิงได้ แล้วตอนนี้ก็มีโครงการแก้มลิง ซึ่งจะต้องร่วมกันทำ และเชื่อว่า น่าจะมีประโยชน์ น่าจะมีผลที่จะมีตัวเลข ไม่อยากพูดตัวเลข เพราะว่าท่านก็จำไม่ได้ แล้วก็ออกไปก็จะกลุ้มใจมาก เพราะว่าน้ำที่ลงมามันมากเหลือเกิน จนคิดไม่ออกว่าเท่าไหร่ ก็บอกว่า ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที คิดไม่ออกว่าเป็นเท่าไหร่ภายใน ๖ ชม. ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร นี้เป็นร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ๒๔ ชม. ก็เป็น ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ไม่รู้จะเอาวันเดียว ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ลงมาที่ต้องออกไป สูบเท่าไหร่ก็ไม่ได้ ยิ่งสูบยิ่งหมุนเวียนกลับมาไม่ได้ วิธีอย่างหนึ่งก็คือ เก็บน้ำไว้ข้างบนที่เก็บ...”


พระราชดำรัส  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
๔ ธันวาคม ๒๕๓๘


 

“...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือ การควบคุมน้ำ ให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างพอเพียง ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เนื่องในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The Third Princess Chulabhorn Science Congress”
๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๘


 

“...ความจริงสระนี้เราทำไว้สำหรับเป็นบ่อเก็บน้ำ เพื่อเอามาล้าง กทม. แต่ก็ยังมีคนไม่สู้เข้าใจวัตถุประสงค์ ระยะหลังมีคนมาบอกว่าระดับน้ำต่ำกว่าคลอง ๕ คลอง ๖ ไปอีก ก็น่าแปลก ไปไปมามา สระน้ำเลยกลายเป็นแก้มลิง ที่ถูกต้องควรต้องระบายน้ำออก แต่เมื่อน้ำมันน้อยก็เลยไม่ต้อง พอน้ำเหนือไหลมาก็นำน้ำเข้ามาได้อีกมาก เป็นหลักการป้องกันน้ำท่วม เป็นการชะลอน้ำไว้ในระยะแรก เพื่อหาทางแก้ไขคิดการต่อไป แต่หากมีคนขอน้ำไปใช้ก็อาจไม่สะดวก เพราะบางเวลาเราต้องสูบออก...”

“...หากนำน้ำไปใช้ได้และเป็นการใช้ชั่วคราวก็ยินดี...”


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในการประชุมกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งที่ ๒/๒๕๓๙
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙


 

“...เวลานี้ภาคใต้ฝนได้ตกกระหน่ำ พายุกระหน่ำ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งเดียว เมื่อไม่กี่เดือนก็ถูกน้ำท่วมที่ชุมพร นี่ยกตัวอย่างชุมพร เพราะว่าได้ส่งคนไปดู และจะไปทำการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็มีกระทรวงเกษตร ชลประทาน มีของจังหวัด พวกโยธา มีบริษัท มีเอกชนได้ทำการแก้ไขเบื้อต้น ถ้าฝนลงมาอีกคราวหน้าน้ำจะไม่ท่วม ที่ชุมพรนั้นน้ำท่วมสองเมตร ทำให้เสียหายเป็นหลายสิบล้าน ถึงว่าได้ให้คนเข้าไปดูและปรากฏว่ามีคลองสำหรับระบายน้ำลงทะเล แต่ขาดกิโลเมตรครึ่งยังไม่ได้ทำ ก็เลยบอกว่ายังไง ๆ ก็ต้องทำ จะใช้เงินเท่าไหร่ แม้จะไม่มีงบประมาณก็จะสนับสนุน เมื่อวานนี้ วานซืนนี้ เขาบอกว่ามีเหตุขัดข้อง มีประชาชนมาประท้วง เพราะว่าเป็นทางสัญจรคับคั่ง จึงขอทำสะพานให้ข้ามไปได้ ก็เลยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องไปใหม่ชาวบ้านจึงยอม แต่ว่าได้สร้างทางถนนให้อ้อมไปเล็กน้อย ทำถนนบดแน่นและราดยางให้ชาวบ้านใช้ทางได้ และขุดพอดีเสร็จ ทะลุได้เมื่อสองสามวันนี้ พอดีพายุเข้า ก็เคราะห์ดีที่ไม่ได้เข้าตรง ๆ
ทางอุตุนิยมเขาบอกไม่เข้า ว่าไปเข้าที่เหนือขึ้นไป จนกระทั่งขึ้นทางเพชรบุรี คนที่ไปเมื่อคืนนี้แล่นรถไป เขารายงานมาว่าตลอดทางฝนตกหนัก เขาว่าเสี่ยง ค่อนข้างจะเสี่ยงเหมือนกัน ไม่ทราบว่าถนนจะพังเมื่อไหร่ ...ฉะนั้น คลองนี้ทำงานได้ เข้าใจว่าถ้ามีน้ำลงมามาก ก็จะทำให้ชุมพรท่วมประเดี๋ยวประด๋าว ท่วมน้อยมาก ทางกระทรวงเกษตรเขาก็สั่งไปให้ อธิบดีกรมชลประทานก็สั่งไปอีกทาง แต่ตอนนั้นขัดข้องก็ไม่รู้กัน จึงต้องให้เงินล่วงหน้า งบประมาณมีแล้วแต่ว่ายังไม่จ่าย ก็เลยกู้เงินของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์และมูลนิธิชัยพัฒนามอบให้เขาทำ โครงการนี้ บังเอิญก็มีหนอง คือ หนองใหญ่ ซึ่งเหมาะสม ต่อไปปรับปรุงหนองนี้ เป็นสิ่งที่เรียกว่าแก้มลิง เพราะว่าเวลาน้ำลงมาจะได้เก็บไว้ก่อน แล้วทยอยออก หรือทยอยน้ำออกก่อนที่จะมีฝนหนัก ฉะนั้นการที่ทำงานจะต้องสอดส่องในพื้นที่ให้ดี ถ้าสอดส่องดี ๆ จะเป็ฯประโยชน์...”

 

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะกรรมการบริหารธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกร
ตามพระราชดำริ และข้าราชการฯ เข้าเฝ้า ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐


 

“...ปีที่แล้ว ก็ได้พูดถึงลิง เพราะมีโครงการแก้มลิง โครงการแก้มลิงนั้น ได้พูดถึง หลายปีมาแล้ว และเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ที่ได้ทำกิจการแก้มลิงนี้ ก็ได้ผล พอสมควรแล้ว ปีนี้กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม แต่ได้ใช้โครงการนี้ในที่ที่น้ำท่วม และได้เกิดผลดี เมื่อสองเดือนที่แล้ว มีน้ำท่วมหนัก ในหลายจังหวัด แต่ที่ดูจะรุนแรงที่สุด ก็คือที่ จังหวัดชุมพร แม้ยังไม่ถึงฤดูกาล ที่จะมีพายุโซนร้อน หรือใต้ฝุ่น ฝนก็ลงมา จนทำให้น้ำท่วมในตัวเมืองชุมพรมีความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ...ฉะนั้นแม้ต้องลงทุน เพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมรุนแรงอย่างนั้น ก็ควรทำ ได้ส่งคนไปดู และเขาถ่ายรูป ทั้งทางบก ทั้งทางอากาศ และเมื่อดูแผนที่ ก็เห็นว่ามีแห่งหนึ่ง ที่ควรจะทำเป็นแก้มลิงได้ มีโดยธรรมชาติ คือมีหนองใหญ่ หนองใหญ่นั้น เป็นที่กว้างใหญ่สมชื่อ แต่ก็ไม่ใหญ่พอ เพราะมีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน แต่ที่สำคัญมีคลองที่อยู่ใกล้หนองใหญ่นั้น แต่คลองนั้นยังตัน คือยังไม่ได้ขุดให้ตลอด ยังเหลือระยะ อีกกิโลเมตรครึ่งเศษ ๆ น้ำที่ลงในคลองนี้ จะระบายลงไปสู่ทะเล มิให้วกมาท่วมเมือง จึงถามว่าโครงการที่เขาจะทำนี้จะขุดคลองนี้ ให้เสร็จได้เมื่อไหร่ เขาบอกว่ามีงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่มาและเข้าใจว่า จะทำเสร็จในปีหน้าในปี ๒๕๔๑

นึกว่าจะต้องหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากคลอง ซึ่งได้ลงทุนมามากแล้วให้ได้ประโยชน์ในฤดูกาลที่จะมีพายุเข้ามา เลยบอกเขาว่า จะขอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่มีทั้งฝ่ายกรมชลประทาน ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ให้เขาสามารถรีบขุดตามแผน และให้ทำโครงการเสร็จภายในเดือนหนึ่ง แทนที่จะเป็นปีหนึ่ง ได้รับรองเขาว่า ถ้าต้องการ การสนับสนุนจะให้การสนับสนุนเอง จึงเริ่มทำการขุดและให้ทำท่อ และมีประตูน้ำที่จะทะลุออกไปในหนองใหญ่เพื่อระบายน้ำลงคลอง ที่จะขุดให้ครบ บอดเขาว่า ให้เวลาเดือนหนึ่ง เขาก็สั่นหัวว่า งานเช่นนี้ต้องใช้เวลา ก็เลยบอกกับเขาว่า ขอสนับสนุนด้วยเงินส่วนหนึ่งของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ซึ่งได้อุดหนุนในการใส่ท่อจากหนองใหญ่ลงสู่คลอง และมีประตูน้ำ
สำหรับการขุดคลองให้สำเร็จนั้น ทางมูลนิธิชัยพัฒนา จะสนับสนุนเงินสิบแปดล้าน ซึ่งถ้าทางราชการมอบเงินตามงบประมาณได้เมื่อไหร่ ก็ขอคืน แต่ไม่ทราบว่า ทางราชการ จะสนับสนุนเงินนี้หรือไม่ แต่ก็ไม่เป็นไรมูลนิธิก็ยอมที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง ทำอย่างนี้เพราะเห็นว่า การลงทุนแม้จะมีเงินน้อย แต่การลงทุนเพื่อให้มีผลิตผลมากขึ้นข้อหนึ่ง การลงทุน เพื่อให้ไม่ต้องเสียเงินอีกข้อหนึ่ง เป็นสิ่งที่คุ้ม เพราะว่าถ้าเราไม่ทำก็เชื่อว่าการที่มีน้ำท่วม ทั้งที่ทำการเพาะปลูก ทั้งสถานที่ราชการ หรือเอกชนเสียหายนั้น จะต้องเสียเงินมากกว่ามาก คือ เสียเงินค่าสงเคราะห์ ผู้ที่เสียหาย ถ้าไม่มีความเสียหาย ก็ไม่ต้องเสียเงิน ประชาชนจะได้ทำมาหากินอย่างปกติ ผลของงานของเขาก็จะเป็นรายได้ นอกจากรายได้ ก็จะได้รับความสะดวก เช่น เครื่องเอกซเรย์ ที่ได้กล่าวถึง ก็จะบริการประชาชน ที่เจ็บป่วย ได้ตามปกติ ฉะนั้น การที่ลงทุน เพื่อให้สำเร็จภายในเดือนนั้น สิบแปดล้านกว่าที่น่าจะคุ้มค่า เป็นการประหยัดเงินของประชาชน ทั้งเป็นการประหยัดเงิน ของราชการด้วย

...ถึงเวลาพายุ “ลินดา” เข้า ฝนก็ลงตลอดแถวตั้งแต่เหนือของชุมพรไปถึงเพชรบุรี น้ำก็จะท่วมแต่โดยที่ได้ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองที่ขุดทะลุลงทะเลไปได้แล้ว ก่อนที่น้ำอันเนื่องจากพายุลงมาถึงหนองใหญ่จึงรับน้ำที่ลงมาได้ แล้วระบายลงทะเล ตามหน้าที่ของหนองใหญ่ในฐานะเป็นแก้มลิง ลงท้าย ตัวเมืองชุมพร และชนบทข้าง ๆ ชุมพร น้ำจึงไม่ท่วมแม้จะมีพายุเข้ามาอย่างหนัก จึงเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงของมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีผลงานสมชื่อ...”
 

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
๔ ธันวาคม ๒๕๔๐


 

“...ความจริงทฤษฎีใหม่ที่ปฏิบัติที่สระบุรีนั้นได้คิดก่อนที่บัญญัติทฤษฎี ที่สระบุรีนั้นได้ตั้งโครงการก่อนที่ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการนี้เป็นคล้าย ๆ โครงการแรกของมูลนิธิ และก่อนที่เขื่อนป่าสักได้เริ่มต้น นึกว่าที่ตรงนั้นถ้าหากเขื่อนป่าสักสำเร็จ ซึ่งเวลานี้ใกล้จะสำเร็จแล้วจะสามารถนำน้ำมาผ่านใกล้ที่ของทฤษฎีใหม่นั้นได้ ถ้าคลองส่งน้ำผ่านมา ทฤษฎีใหม่นี้ก็จะสมบูรณ์ เพราะมีโครงสร้างรองรับไว้แล้ว และบริเวณที่ไม่ใช่บริเวณของทฤษฎีใหม่ เป็นของชาวบ้าน และปฏิบัติแบบเดียวกับที่ของทฤษฎีใหม่ ก็จะอยู่ดีมีกินมากขึ้น ถ้าทำโครงการอะไรที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ก็สามารถจะสร้างความเจริญให้กับเขตที่ใหญ่ขึ้นได้ เขตที่ใหญ่ ลงท้ายก็จะแผ่ทั่วประเทศได้ แต่เพื่อการนี้จะต้องมีความร่วมมืออย่างดี ระหว่างทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และนักปกครอง ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…

...ปีที่แล้วภัยพิบัติน้ำท่วมได้เกิดขึ้น แต่ปีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร ที่อำเภอเมืองจังหวัดชุมพรนั้น ปีที่แล้วน้ำท่วม ๒ ครั้ง และแต่ละครั้งเสียหายไปประมาณเกือบพันล้าน ๒ ครั้ง ก็เสียหายไปเกือบ ๒ พันล้าน ปีนี้เสียไปไม่เท่าไหร่ เพราะไม่มีน้ำท่วม เสียสำหรับโครงการที่เล่าให้ฟังว่าไปขุดคลองให้ครบถ้วน คลองชลประทานเขาขุดไว้แล้ว แต่ไม่ทะลุ ถามเขาว่าเมื่อไหร่จะทะลุเขาก็บอกว่าอีก ๒ ปี ตอนนั้นปลายปี ๔๐ ปี ๔๑ ปี ๔๒ ก็จะยังท่วมอีก เพราะว่าคลองไม่ทะลุ จึงได้ทำโครงการให้ทะลุภายในเดือนเดียว เงินไม่มีก็ให้ ปีที่แล้วบอกว่ามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และมูลนิธิชัยพัฒนาให้ไป จะให้คืนหรือไม่คืนไม่เป็นไร ลงท้ายได้คืน ได้เงินคืนจากประชาชนเอง และจากทางราชการ ประชาชนเห็นว่าทำดี เขาก็บริจาค...”
 

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
๔ ธันวาคม ๒๕๔๑


 

“...๒๔๙๖ เริ่มทำการพัฒนาที่เขาเต่า นี่เพราะพระราชาซีอีโอเริ่มต้นที่นั่น ตอนนั้นไม่มีอ่างเก็บน้ำ แล้วน้ำที่มีอยู่นั้นเค็มแล้วก็มาทำอ่างเก็บน้ำ น้ำในอ่างเค็มกว่าทะเล วิธีทำยังไงก็ต้องเอาปลาเค็ม ไม่ใช่ ปลาน้ำเค็มมาใส่ในนั้น ไปเอามาจากคลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกัน เอามาซื้อมาตัวละ ๕๐ สตางค์ เอามาใส่ ซื้อเองเอาเงินของเราเองมาใส่ แล้วก็ปีเดียวมันก็โตให้ชาวบ้านดูแล แต่ชาวบ้านก็ไม่ดูแล เพราะชาวบ้านที่นี่ก็ไม่มีความรู้พอ แล้วก็ไม่มีความกระตือรือล้น ลงท้ายก็ขายได้แล้วก็เอาปลาอื่น มีปลาหมอเทศอยู่ในนั้น ในอ่างเค็มนะ อ่างนั้นไม่ใช่น้ำจืด น้ำเค็มนะเอาปลาหมอเทศมา บอกว่าวิธีใช้ปลาหมอเทศนั้น เอาขึ้นมากองไว้เอาไปตากให้เป็นปลาไก่ ปลาเป็ด ปลาไก่หมายความว่าเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ชาวบ้านบอกว่าเหม็น ปลามันก็กองอยู่ตรงนั้น อีกวิธีหนึ่งที่จะทำได้ก็เอาปลาหมอเทศที่มากองไว้นั้นทำเป็นปุ๋ย มันเหม็นก็เหม็น ทั้งหมดนี้ต้องพยายามที่จะให้ ให้เขาให้ชาวบ้านเขาพัฒนาตัวขึ้นมา ถึงเวลานั้นทางราชการก็ไม่ค่อยกระตือรือร้น อ่างเก็บน้ำก็พัง ก็ต้องให้กรมชลประทานค่อย ๆ ซ่อม แล้วก็เดี๋ยวนี้ก็อาจจะดีขึ้น ก็เอาเด็กโรงเรียนไปดู โรงเรียนไกลกังวลนี่ให้เขาดูแล้วอธิบายว่าเป็นอย่างไร น้ำเดี๋ยวนี้ไม่เค็มแล้ว...”

“...ที่กุยบุรีมีอ่างเก็บน้ำกุยบุรี สร้างมาหลายปีแล้ว เก็บน้ำได้ ๓๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ได้ปรารภว่าควรสร้างให้เก็บน้ำได้มากกว่านี้ เขาก็ได้พยายามทำ ทางชลประทานทำว่าได้เพิ่มอีก ๙ ล้าน จะเป็น ๔๑ ล้าน ก็น่าพอใจดี ก็เลยบอกว่าน่าจะทำ มีฝ่ายการเงินที่เรียกว่ากรรมการ กปร. ตั้งไว้ใช้ได้ทันทีก็อนุมัติ เพราะว่าเป็นโครงการพระราชดำริ เมื่อ ๒๐ กว่าปีแล้ว ไม่ทำให้ใหญ่กว่านั้น เพราะไม่สามารถจะทำ เพราะกุยบุรีตอนนั้นมีก่อการร้าย รถตำรวจเข้าไปถูกระเบิด แล้วก็ที่สร้างนั้นมีผู้ที่ก่อการร้ายยิงตายเหมือนกัน ก็เห็นใจเขาต้องรับทำ แต่ตอนนี้ก็ควรจะขยาย แต่ขยายมากไม่ได้ เพราะนี้จะเกินเวลานานเท่าไร เขาบอกว่า ๒ ปี ก็บอกว่าไม่เชื่อ เพราะเหตุใดถ้าปกติเขาจะเริ่มบอกว่าจะเริ่มกลางปี ๔๗ เวลา ๒ ปี ๔๙ ถึงจะเสร็จ ถ้า ๔๙ เสร็จ ๙ ล้านลูกบาศก์เมตร มันไม่ไหวเพราะจะแพงขึ้นทุกที เลยบอกว่าเราเอาเงินเริ่มต้น เดี๋ยวนี้แม้จะมีฝนลง เริ่มสำรวจดูและเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ ๔๖ ทำให้เสร็จปี ๔๘ บอกว่ารับรองว่าถ้าท่านขยันอาจปีเดียวเสร็จ ปลายปี ๔๗ หรือต้นปี ๔๘ ถ้าทำได้ได้กำไรเยอะ ราคาของการสร้างจะถูกลงและผลได้จะได้เร็วกว่าทางโน้น จะได้น้ำสำหรับมาใช้ปลูกข้าวได้มาก ถ้าปลูกข้าวได้มากขึ้น มันก็เป็นเงินเป็นทอง ใคร ๆ ก็นึกต้องการให้มีเงินมีทอง เขารับว่าจะพยายามทำให้เร็ว ท่านผู้ว่าฯ ซีอีโอเป็นพยาน ท่านไม่รู้เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ไม่เป็นวิศวกร แต่ท่านรู้เรื่องว่าถ้าทำเร็ว ๆ ประสานงานกันดี ๆ จะทำได้ วันนี้ก็เป็นอีกอย่างประโยชน์ของซีอีโอสามารถจะให้ประสานชลประทานและการเงินให้ดีขึ้น...”
 

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ว่าราชการจังหวัดระบบบูรณาการ
ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๓ ตุลาคม ๒๕๔๗


 

ทรงชื่นชมโครงการคลองลัดโพธิ์มาก โครงการนี้จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์มีพลังงานมหาศาล จะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลอง ทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยได้หรือไม่ นอกจากนี้ ได้มีพระราชดำรัสกับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ ที่นั้น ให้รับไปศึกษาและทอดพระเนตรโครงการคลองลัดโพธิ์ในโอกาสต่อไป
 

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
กับ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙


 

“...การบริหารจัดการน้ำนั้น ที่สำคัญคือ จังหวะการปิด เปิด ระบายหรือรับน้ำ เพราะน้ำเมื่อไหลไปแล้วไม่ไหลย้อนกลับขึ้นมา จะทำได้ก็ต้องใช้พลังงานมาก นอกจากนี้ หากเข้าใจธรรมชาติของน้ำอย่างถ่องแท้ไม่ใช่แค่การไหล ต้องเข้าใจตั้งแต่น้ำในมหาสมุทรที่อุณภูมิเปลี่ยน ต่างกัน จึงเกิดการไหล ระเหย เป็นฝนตกลงมา บางส่วนซึมเป็นน้ำใต้ดิน ซึ่งหากเข้าใจศึกษา ก็พัฒนาเขื่อนใต้ดิน แหล่งน้ำใต้ดินได้ เหมือนที่เชียงดาว หรือ แม่ฮ่องสอน และถ้าเข้าใจพืชชนิดต่าง ๆ ก็สามารถเลือกพืชมาปลูกให้ดูดซับ ดึง สร้าง และรักษาความชื้นในผิวดินไว้ได้ ...”
 

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓


 

“...ปัญหาสำคัญคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง นำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกันทำไม่ยากนัก ในบางเทคโนโลยีทำได้แล้ว ในเมืองไทยเองก็ทำได้... แล้วก็ต้องทำการเวียนซ้ำ การ กรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก แล้วปล่อยน้ำลงมา ที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก...หลังจากนั้นที่เหลือก็จะลงทะเลโดยไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๑๓ กันยายน ๒๕๕๓


อ้างอิง

สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

สำนักงาน กปร. ดิน น้ำ ลม ไฟ, ๒๕๕๖

มูลนิธิชัยพัฒนา. รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา

 

 

โดย: กลุ่มนโยบายพิเศษ

๒๙ เมษายน ๒๕๖๕