เรื่องเดิม
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเพื่อช่วยเหลือราษฎรหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ สรุปความได้ว่า
“...ให้ทำประตูระบายน้ำที่ปากแม่น้ำปากพนัง เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมด ตั้งแต่น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม และสามารถที่จะให้ราษฎรมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง...”
เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ และวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านพัฒนาอาชีพ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ สรุปความได้ว่า
- “...ให้พิจารณาแนะนำส่งเสริมให้ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปลูกข้าวให้มากขึ้น เนื่องจากมีน้ำจืดเพิ่มมากขึ้นแล้ว...”
- “...จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ แต่ปัจจุบันไม่เพียงพอคนลุ่มน้ำปากพนังต้องซื้อข้าวบริโภค ควรเร่งส่งเสริมการทำนามากขึ้น เพิ่มโรงสีข้าวให้เพียงพอ และส่งเสริมการตลาด...”
- “...ให้ส่วนราชการต่าง ๆ บูรณาการเพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในโครงการฯ มากขึ้น...”
- “...ควรแนะนำและจัดการกับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านขอนหาด โดยอาจจัดหาตลาดรองรับหรือตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และการผลิตสินค้าชุมชนจำหน่าย ควรมีเครื่องหมายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง...”
- “...เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีควรมีให้แก่เกษตรกรอย่างเพียงพอ ส่วนใหญ่หน่วยงานจะเก็บสำรองไว้มาก เมื่อนำไปให้เกษตรกร เมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีการงอกต่ำ...”
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาวิจัยการปลูกไม้เสม็ด ป่าพรุควนเคร็ง ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการทำการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง สรุปความได้ว่า
“...ให้เพิ่มพื้นที่ปลูกพืชอาหาร เช่น ข้าว ทดแทนพืชพลังงาน ให้ลดความถี่ในการปลูกข้าวนาปรัง และให้หาวิธีจัดสรรน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร...”
เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพื้นที่ส่งเสริมการผลิตข้าวบ้านอ่าวเคียน ตำบลชะเมา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพเกษตรพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง สรุปความได้ว่า
- “...ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาโรงสีข้าวชุมชนป่าระกำ อำเภอปากพนัง...”
- “...ให้กรมชลประทาน สำนักงาน กปร. พิจารณาก่อสร้างระบบกระจายน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ส่งเสริมการผลิตข้าว บ้านอ่าวเคียน ตำบลชะเมา ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง...”
- “...ให้สนับสนุนการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเกษตร...”
- “...อยากให้ปรับปรุงปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน ไม่อยากให้มีปุ๋ยเคมี...”
- “...ให้ดูแลระบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่นี้ให้เพียงพอตลอดฤดูกาล...”
- “...ให้สอนบัญชีแก่นักเรียน ให้เด็กทำจนเป็นนิสัย ให้อยู่ในสมองเด็ก...”
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังหลายครั้ง ดังนี้
เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประชารัฐบำรุง ๑ บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในการนี้ ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง สรุปความได้ว่า
“...ต้องปิดทางเข้าออกป่าพรุควนเคร็ง เพื่อให้สามารถดำเนินการดับไฟโดยการสูบน้ำเข้าไปได้ง่ายขึ้น การทำฝนเทียมที่ได้ดำเนินการไปแล้วก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ถ้าไม่ปิดทางเข้าออกจะเทน้ำเข้าไป ทำได้ยาก...”
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในงานของดีเมืองนรา ประจำปี ๒๕๕๕ ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความได้ว่า
“...ที่พรุควนเคร็ง ป่าพรุถูกไฟไหม้ไปมาก ให้ปลูกป่าทดแทน ปลูกทั้งไม้เสม็ดและไม้ชนิดอื่นปนไปด้วย จะได้ช่วยอนุรักษ์และเพิ่มความหลากหลาย โดยเฉพาะพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาให้รีบทำ...”
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปโครงการศึกษาวิจัยการปลูกไม้เสม็ดและการนำไม้เสม็ดมาใช้ประโยชน์แบบครบวงจร ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งและการดำเนินงานด้านครูป่าไม้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากป่าเสม็ด สรุปความได้ ดังนี้
๑. พระราชดำริเกี่ยวกับป่าพรุควนเคร็ง :
- “....ให้ดำเนินการขุดแพรกเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่และป้องกันไฟป่า...”
๒. พระราชดำริเกี่ยวกับครูป่าไม้ :
- “...ให้ปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ โดยเน้นให้เห็นถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าพรุ...”
- “...ให้เพิ่มเติมในเอกสารครูป่าไม้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๕ ได้ถวายโดยเน้นเสริมความรู้ทักษะ เพิ่มเติมบทถาม – ตอบในเอกสาร...”
- “...ให้ศึกษาแลกเปลี่ยนดูตัวอย่างพรุโต๊ะแดง (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ) และตัวอย่างโครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี...”
๓. พระราชดำริเกี่ยวกับการปลูกและใช้ประโยชน์ไม้เสม็ด :
- “...ให้กรมป่าไม้ และสถาบันการศึกษาร่วมบูรณาการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยการปลูกและใช้ประโยชน์ไม้เสม็ดครบวงจร โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยงานกลางในการประสานการปฏิบัติ และให้กรมป่าไม้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาปลูกต้นไม้ให้เต็มพื้นที่ที่มูลนิธิฯ ได้รับอนุญาต โดยใช้พันธุ์ไม้หลากหลายชนิด...”
เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความได้ว่า
“...ควรอนุรักษ์พื้นที่นาข้าว ป่าจากที่ตำบลขนาบนากไว้คู่ลุ่มน้ำปากพนังต่อไป...”
ผลการดำเนินงาน
ส่วนราชการต่าง ๆ ได้ร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมประมง กรมชลประทาน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯลฯ โดยส่วนราชการดังกล่าวได้ดำเนินงานตามแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ซึ่งแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น ๓ ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอาชีพ และด้านการบริหารจัดการ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลควบคู่กันไป
๑. ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การสงวน การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง การรักษาระดับน้ำในพื้นที่ป่าพรุ การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะ การควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดลงสู่แหล่งน้ำ การกำจัดขยะมูลฝอย การจัดการทรัพยากรดิน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้
- การจัดทำฝายต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินงานก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบถาวร จำนวน ๒๐ แห่ง ในพื้นที่ หมู่ที่ ๒ ๓ ๕ ๖ และ ๗ ตำบลลานสกา ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

- การเลี้ยงปลาดุกลำพันคืนถิ่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจัดหาพันธุ์ปลาดุกลำพัน ๑,๐๐๐ ตัว มาเลี้ยงเป็นเวลา ๖ – ๗ เดือน ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าพรุ ในพื้นที่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

- การทดลองปลูกป่าจากเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการรื้อคันดินนากุ้งร้าง จำนวน ๑๕๐ ไร่ สำหรับใช้เป็นสถานที่ปลูกต้นจาก โดยดำเนินการในพื้นที่ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

- การปลูกป่าพรุเพื่อฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ขึ้นได้ดีในพื้นที่ป่าพรุ จำนวน ๒๐๐ ไร่ โดยดำเนินการในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

- โครงการครูป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยจัดกิจกรรมแทรกระหว่างชั่วโมงเรียนของเด็กนักเรียน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้ดำเนินการในโรงเรียน ๑๐ แห่ง ในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

- โครงการขอคืนผืนป่าชุ่มน้ำทะเลน้อยถวายแม่ของแผ่นดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจัดเตรียมกล้ากระจูดและนำไปปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำ จำนวน ๕๐ ไร่ เพื่อให้เจริญเติบโต สำหรับเป็นแหล่งวัตถุดิบในการประกอบอาชีพให้กับราษฎรในท้องที่ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมไฟป่ากองอำนวยการควบคุมไฟป่า ป่าพรุควนเคร็ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงป้องกันการบุกรุกป่าในพื้นที่พรุควนเคร็ง การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เอกสารเผยแพร่ และป้ายประชาสัมพันธ์

- โครงการเสริมสร้างศักยภาพการควบคุมดับไฟป่าพรุควนเคร็ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการเตรียมความพร้อม โดยการจัดหาสายส่งน้ำดับเพลิงมาตรฐานสวมเร็วต่อตรง ยาวเส้นละ ๒๐ เมตร จำนวน ๒๐๐ เส้น ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือในการดับไฟป่า ให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ เพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานควบคุมดับไฟป่าพรุควนเคร็ง

- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกและควบคุมไฟป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจัดทำสื่อและจัดหาอุปกรณ์ประชาสัมพันธ์รณรงค์การอนุรักษ์ป้องกันรักษาป่าที่สามารถเสริมสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และแนวคิดนำไปสู่จิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และป่าพรุอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่าพรุ

- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า แหลมตะลุมพุก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตรวจตรา ลาดตระเวนพื้นที่ เพื่อเป็นการลดปัญหา ยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน และการลักลอบล่าสัตว์ป่า อีกทั้ง มีการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนป้องกัน รักษาป่าและควบคุมไฟป่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการลาดตระเวนป้องกันปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า สนับสนุนการป้องกันและควบคุมไฟป่าไม่ให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าพรุ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สนับสนุนให้ราษฎร นักเรียน นักศึกษา มีจิตสำนึกหวงแหนและเห็นความสำคัญของป่าไม้ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ป้องกัน และดูแลรักษาป่า

- การซ่อมแซมทำนบดินป้องกันน้ำเค็มเพื่อรักษาระดับน้ำในป่าพรุควนเคร็ง กรมชลประทานดำเนินงานก่อสร้างทำนบดินชั่วคราว จำนวน ๘ แห่ง ในพื้นที่ หมู่ที่ ๔ ตำบลชะอวด และหมู่ที่ ๙ ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

- กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันรักษาป่าและป้องกันไฟป่า การสำรวจการขุดแพรกเพื่อทำแนวป้องกันรักษาป่าในพื้นที่รับผิดชอบ การลาดตระเวน รวมทั้งการจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจ ขุดแพรกทำแนวกันไฟในพื้นที่ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

งานขุดแพรกเพื่อทำแนวป้องกันไฟ

งานสำรวจแนวเขต งานควบคุมไฟไหม้พื้นที่ป่าพรุ

การเดินลาดตระเวน การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับราษฎรในพื้นที่
๒. ด้านการพัฒนาอาชีพ ประกอบด้วย โครงการศึกษาพัฒนาศูนย์เรียนรู้การจัดการวัชพืชน้ำอย่างบูรณาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การพัฒนาฟื้นฟูนากุ้งร้างในโซนน้ำเค็มโดยชุมชน การจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง การยกระดับการปลูกผักถิ่นปลอดภัย การส่งเสริมศักยภาพชุมชนในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการปลูกป่าแบบวนเกษตรเพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้
- โครงการศึกษา พัฒนาศูนย์การเรียนรู้การจัดการวัชพืชน้ำอย่างบูรณาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย จะดำเนินงานซ่อมแซมโรงเรือนสาธิตแปลงเรียนรู้การเพาะเห็ด การจัดทำเอกสารหลักสูตรการพัฒนาอาชีพจากวัชพืชน้ำ รวมทั้งการสาธิต และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้วัชพืชน้ำในเชิงพาณิชย์ เช่น การเพาะเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้าเพื่อเป็นยา เครื่องสำอาง การสาธิตการทำอาหารปลาจากผักตบชวา รวมทั้งการทำปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวาให้กับชุมชนและบุคคลทั่วไป จำนวน ๒๕ ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม ๑,๑๒๕ คน นอกจากนี้ ยังมีการอบรมสาธิตการยกระดับมาตรฐานสินค้าจากผักตบชวา ให้เป็นสินค้าชุมชนเชิงพาณิชย์ เช่น การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Website สำหรับเพิ่มช่องทางจำหน่าย ฯลฯ

- โครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย ดำเนินการส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานซ่อมแซมแนวไม้ไผ่กันคลื่นที่ชำรุด และปลูกซ่อมแซมป่าชายเลนหลังแนวไม้ไผ่กันคลื่นที่ชำรุดเพิ่มเติม โดยใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่การจัดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์ วางแผน เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลป่าชายเลนในพื้นที่ การจัดทำคู่มือสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ชายฝั่ง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพและการจัดการท่องเที่ยชุมชนชายฝั่งให้กับราษฎร จำนวน ๑๓ ครั้ง ราษฎรเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน ๖๓๐ คน เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ตำบลท่าชัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

- โครงการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการชุมชนเพื่อการเรียนรู้ในการฟื้นฟูนากุ้งร้างในโซนน้ำเค็มโดยชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย ได้จัดฝึกอบรม เพื่อยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับราษฎร เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาฟื้นฟูนากุ้งที่รกร้างในพื้นที่โซนน้ำเค็ม ประมาณ ๑๐๐ ไร่ การฝึกอบรมให้ความรู้กับราษฎรในพื้นที่ หมู่ที่ ๔ ๕ ๖ และ ๙ ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการฟื้นฟูแนวลำคลองแนวเขตน้ำจืด – น้ำเค็ม โดยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน และเยาวชนการจัดทำธนาคารปูดำในพื้นที่คลองหัวไทร การปรับปรุงแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในแปลงของชุมชน

- การพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ กรมชลประทาน โดยศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสมาชิก จำนวน ๒๐๐ คน ด้วยการจัดให้มีการฝึกอบรมในการวิเคราะห์สภาพปัญหาปัจจุบัน เพื่อนำมาหาจุดคุ้มทุนผลิตภัณฑ์ข้าว การจัดทำระบบบัญชีผลิตภัณฑ์ข้าวและการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการภายในกลุ่มฯ ต่อไป
- การผลิตและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กรมประมง ดำเนินการจัดหาพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามกราม และพันธุ์ปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ปลาสุลต่าน (ปลาบ้า) ฯลฯ นำมาเพาะเลี้ยง ผลิตลูกพันธุ์ และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน ๕ ล้านตัว เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในแม่น้ำปากพนัง และลำคลองสาขา ช่วยลดวัชพืชน้ำและรักษาสมดุลนิเวศแม่น้ำปากพนัง นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งโปรตีนและสร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่แม่น้ำปากพนังต่อไปอีกด้วย

- การยกระดับพืชผักถิ่นปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรมชลประทาน โดยศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการฝึกอบรม และถ่ายทอดความรู้ในการผลิตผักถิ่นปลอดภัยให้กับกลุ่มเยาวชน แม่บ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ หมู่ที่ ๑ – ๙ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีความรู้ในการผลิตผักถิ่นที่ปลอดภัยด้วยการใช้เชื้อราที่เป็นปฏิปักษ์กับพืชผักถิ่นชนิดนั้น ๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถผลิตผักถิ่นออกจำหน่ายยังท้องตลาดได้ตามความต้องการของผู้บริโภคการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน การจัดทำแบบตราสินค้าของชุมชนภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการฝึกอบรม การสาธิต การศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชน แม่บ้าน และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะของการเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น

- การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วม กรมชลประทาน โดยศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการจัดกิจกรรมถอดบทเรียน และกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- การปลูกป่าแบบวนเกษตรเพื่อฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจัดทำปล้องบ่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๐๐ เมตร ลึก ๐.๕๐ เมตร จำนวน ๒๐๐ ปล้อง เพื่อใช้ในการเตรียมดินและปุ๋ยสำหรับเพาะปลูกกิ่งพันธุ์ต้นส้มโอทับทิมสยาม จำนวน ๒๐๐ กิ่ง พร้อมการจัดหากิ่งพันธุ์ไม้ตะเคียนทอง เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

๓. ด้านการบริหารจัดการ ในการบริหารจัดการศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานกลาง มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารการดำเนินงานโครงการฯ การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานเอกชน โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทาน เป็นหลักสำคัญในการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูธรรมกับราษฎร อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวน ๒ แห่ง คือ
๑. โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวครบวงจรตามแนวพระราชดำริ ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่นา มีแหล่งน้ำในพื้นที่ แต่เกษตรกรต้องสูบน้ำใช้เอง สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ การส่งเสริมการปลูกข้าวทั้งในระบบการผลิต แปรรูป และจำหน่ายครบวงจรให้กลุ่มเกษตรกร สามารถบริหารจัดการเองได้ มีการส่งเสริมการปลูกข้าวตามหลักวิชาการโดยวิธีนาหยอดน้ำตม ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถผลิตข้าว เพื่อส่งให้โรงสีข้าวชุมชนตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อีกทั้งได้ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสีข้าวชุมชนเพื่อให้สามารถแปรรูปข้าวได้จำนวนเพิ่มขึ้น พร้อมจำหน่ายภายในชุมชน อีกทั้งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้การจัดทำบัญชีภายในครัวเรือน โดยดำเนินงานร่วมกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครศรีธรรมราช

๒. โครงการส่งเสริมการลดรายจ่ายในครัวเรือนของชุมชนบ้านท้องโกงกางตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการส่งเสริมการปลูกผักบริโภคในครัวเรือน และการจัดการขยะโดยชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียนในชุมชน

นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังได้ดำเนินงานด้านอื่น ๆ เช่น งานซ่อมแซมและปรับปรุงบริเวณหัวงานโครงการฯ แบ่งผลการดำเนินงาน ได้ดังนี้
- งานขยายเขตไฟฟ้า โดยติดตั้งหม้อแปลงระบบ ๓ เฟส ขนาด ๒๕๐ KVA จำนวน ๑ เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ป้องกัน และปักเสาไฟฟ้า จำนวน ๓ ต้น พร้อมสายเคเบิ้ลอากาศจำนวน ๓ เส้น
- งานซ่อมแซมถนนลาดยางบริเวณหัวงานโครงการฯ ซึ่งซ่อมแซมถนนเดิมที่ชำรุด
- งานซ่อมแซมทางเดินอิฐตัวหนอนบริเวณลานกิจกรรม พื้นที่ ๑,๖๕๖ ตารางเมตร
- งานซ่อมแซมห้องน้ำ จำนวน ๑๔ ห้อง บริเวณหัวงานโครงการฯ ที่ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ
- งานปรับปรุงจุดต้อนรับบริเวณประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ดำเนินการก่อสร้างสะพานริมแม่น้ำปากพนัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูป Checkin อีกทั้งสามารถพัฒนาปรับใช้พื้นที่ดังกล่าว ในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันลอยกระทง ฯลฯ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรม การสาธิต ให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ เพื่อให้เกิดทักษะความรู้ และสามารถนำไปปรับใช้กับแปลงเกษตรของตนเองต่อไป อันเป็นการต่อยอดการขยายผลการดำเนินโครงการฯ ออกสู่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการฯ ดังนี้
ชื่อหลักสูตร
|
จำนวน
ผู้เข้าอบรม (คน)
|
๑. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนา
พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
|
๖๐
|
๒. การส่งเสริมอาชีพแบบผสมผสานในชุมชน และโรงเรียนบ้านท้องโกงกาง
|
๘๐
|
๓. การศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบการจัดการขยะเพื่อรักษานิเวศท้องถิ่น
โครงการพัฒนาอาชีพในพื้นที่บูรณาการบ้านท้องโกงกาง
|
๒๐
|
๔. การส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจปลูกผักปลอดภัย
|
๒๘
|
๕. การส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจดินปลูก
|
๒๐
|
๖. การส่งเสริมกลุ่มปุ๋ยสั่งตัด
|
๓๐
|
๗. การส่งเสริมกลุ่มผลิตอาหารปศุสัตว์
|
๓๐
|
๘. การศึกษาดูงานธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน
|
๔๕
|
๙. การอนุรักษ์น้ำเพื่อใช้ในการเกษตรแบบยั่งยืน
|
๓๐
|
๑๐. การป้องกันไข้เลือดออก
|
๒๐๐
|
รวมจำนวน ๑๐ หลักสูตร
|
๕๔๓
|
นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ราษฎร รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ การเข้าเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน แปลงทดสอบสาธิต โดยมีคณะบุคคลต่าง ๆเข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ จำนวน ๙๐,๐๒๔ คนโดยมีรายละเอียด ดังนี้
เดือน
|
จำนวนผู้เยี่ยมชมโครงการฯ (คน)
|
ตุลาคม ๒๕๖๑
|
๘,๕๖๑
|
พฤศจิกายน ๒๕๖๑
|
๕,๓๑๒
|
ธันวาคม ๒๕๖๑
|
๙,๗๓๙
|
มกราคม ๒๕๖๒
|
๑๐,๖๒๙
|
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
|
๖,๑๖๖
|
มีนาคม ๒๕๖๒
|
๘,๐๖๕
|
เมษายน ๒๕๖๒
|
๘,๓๙๘
|
พฤษภาคม ๒๕๖๒
|
๔,๒๘๒
|
มิถุนายน ๒๕๖๒
|
๕,๒๐๕
|
กรกฎาคม ๒๕๖๒
|
๙,๑๘๙
|
สิงหาคม ๒๕๖๒
|
๑๔,๔๗๘
|
รวม
|
๙๐,๐๒๔
|

สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่นี่