
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศูนย์ ฯ และมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร บริเวณริมอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ และได้พระราชทานทรัพย์เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน ๓ ล้านบาท รวมทั้งมีผู้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายคอกม้า คอกสุกรและคอกแกะ สร้างไว้ในศูนย์
ในการนี้ ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนา สรุปได้ ๔ ข้อ ดังนี้
๑. ให้พัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์และการประมงเพื่อการบริโภคและสำรองอาหารไว้ในยามวิกฤติ มูลสัตว์ทำเป็นเชื้อเพลิงและปุ๋ยปรับปรุงดิน
๒. ให้มีศูนย์ฝึกปฏิบัติการด้านการประกอบอาชีพ โดยมีแปลงสาธิตของราษฎรตัวอย่าง ๔ แปลง แปลงละ ๔ ไร่ สร้างบ้านพักอาศัยให้อยู่ โดยปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป ให้มีการดำเนินธุรกิจฟาร์มในรูปสหกรณ์ และให้ราษฎรหมุนเวียนเข้าอยู่
๓. ให้จัดเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยให้ราษฎรขอยืม พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีไปผสม หรือเลี้ยงแล้วส่งลูกคืน หรือขายให้ราษฎรนำไปเลี้ยง
๔. ให้มีศูนย์พัฒนาการเกษตร จะได้ศึกษาและเยี่ยมชม เพื่อนำเอารูปแบบไปปรับปรุงไร่นาของตนเอง
ปัจจุบันมีศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ดำเนินงานในลักษณะเป็นศูนย์สาชาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีแผนแม่บทศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ เป็นเครื่องมือดำเนินการ

โครงการ ฯ ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดย สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ สรุปได้ดังนี้
๑. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดระยอง (พืชสวน)
ให้บริการความรู้ในการประกอบอาชีพการเกษตร ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเห็ด การกรีดยางพารา การผลิตน้ำส้มควันไม้ การพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และ การขยายพันธุ์พืช ซึ่งในปี ๒๕๕๕ มีเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา นิสิต ข้าราชการ เข้ารับการอบรมให้ความรู้รวม ๑๐๖ คน


๒. สถานีพัฒนาที่ดินระยอง
ได้มีการจัดฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์และสารสกัดจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้ไล่แมลงศัตรูพืชแก่เกษตรกรรวม ๑๒๐ ราย มีพื้นที่รวม ๑,๗๕๐ ไร่


แปลงสาธิตการปลูกปาล์มน้ำมัน และ แปลงสาธิตการปลูกมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ ได้มีการจัดฝึกอบรมส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์และ สารสกัดจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้ไล่แมลงศัตรูพืชแก่เกษตรกร จำนวน ๘๐ ราย
๓. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง
ดำเนินงานด้านการศึกษา ทดสอบ / วิจัยพืชเศรษฐกิจและระบบ การปลูกพืช ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยจัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงพืชพลังงานทดแทน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ ๑๙ ไร่ แปลงพันธุ์ยางพาราเนื้อที่ ๔ ไร่ แปลงขยายพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง ๙ รวมถึงการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ การผลิตและการใช้ปุ๋ยหมักแห้ง การผลิตและการใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ การส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ จำนวน ๒๒ ราย และ ด้านเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้ารับการอบรม จำนวน ๑๗๕ ราย

ฝึกอบรมเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินและกำจัดศัตรูพืชโดยชีวภาพ

ฝึกอบรมเรื่องการผลิตน้ำส้มควันไม้
๔. ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปลวกแดงจังหวัดระยอง
สาธิตการเลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ และการเลี้ยงสัตว์แบบอาหารสัตว์อินทรีย์ อาทิ การเลี้ยงโคแบบธรรมชาติ การเลี้ยงนกกระจอกเทศพันธุ์คอน้ำเงิน การเลี้ยงกวางพันธุ์ฟอลโล และ การเลี้ยงแพะพันธุ์พื้นเมือง และจัดทำศูนย์เรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยกิจกรรมการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการปลูกพืชและการประมง มีการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงโค และ แพะ รวมทั้ง ไก่พื้นเมือง ห่านจีน และเป็ดบาบาร์รี จัดการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและการสร้างเครือข่ายไก่พื้นเมืองการเลี้ยงเป็ด ไก่ รวมทั้งการเลี้ยงโคเนื้อและปลูกพืชอาหารสัตว์ มีเกษตรกร ที่เข้ารับการอบรม จำนวน ๒๘๙ คน

๕. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดระยอง
มีความเชี่ยวชาญในการผลิตพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพิ่มปริมาณอาหารให้แก่ประชาชน ในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ได้ปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามลงสู่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำเขาระโอก และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จำนวน ๑,๒๕๐,๐๐๐ ตัว รวมทั้งให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ สุขภาพสัตว์น้ำจืด และให้คำแนะนำปรึกษาด้านการวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการเลี้ยงปลาดุกและปลากินพืช จัดการฝึกอบรมเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร จำนวน ๑๐๐ ราย นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่เกษตรกร จำนวน ๔๙ ราย และอบรมการเลี้ยงกบ จำนวน ๒๒ คน


จัดการฝึกอบรมเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร จำนวน ๑๐๐ ราย นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่เกษตรกร จำนวน ๔๙ ราย และอบรมการเลี้ยงกบ จำนวน ๒๒
๖. ศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าวชลบุรี
จัดทำแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ ๑๐ ไร่ ถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกร จำนวน ๖๐ ราย และ จัดงานวันสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จัดทำแปลงสาธิตพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ๙ ไร่ จัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวโดยมีเกษตรกรเข้าร่วม ๒ ราย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิทยาการเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ๖ หลักสูตร ดังนี้ เมล็ดพันธุ์ดีและประโยชน์ของการใช้เมล็ดพันธุ์ดี การผลิตเมล็ดพันธุ์ดี เกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ข้าว โรค แมลง ศัตรูข้าวและการป้องกันกำจัด วิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ข้าว) โดยจัดอบรมเกษตรกร จำนวน ๖๕ คน
๗. สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ระยอง
เสริมสร้างทักษะความชำนาญในการจัดทำบัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรและผู้สนใจ จำนวน ๑๐๐ ราย และสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพ
๘. โครงการชลประทานระยอง
จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) ในพื้นที่ของตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จำนวน ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานหมู่ ๑ บ้านแม่น้ำคู้ มีสมาชิกจำนวน ๕๐ ราย มีพื้นที่ชลประทานประมาณรวม ๗๐ ไร่ และกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานหมู่ ๒ บ้านหนองมะปริง มีสมาชิกจำนวน ๑๖๐ ราย และพื้นที่ชลประทานประมาณ ๒๐๐ ไร่


๙. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่น้ำคู
สนับสนุนการจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาคม และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ร่วมกับโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ และจังหวัดระยอง



๑.เป็นแหล่งสำหรับเกษตรกร หน่วยราชการและผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้และฝึกอาชีพด้านการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือหมู่บ้านรอบศูนย์จำนวน ๗ หมู่บ้าน
๒. เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออก
ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1
ข้อมูล ณ วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2557