การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตตามสายกลาง ไม่เกินตัว ไม่เกินความรู้ ความสามารถ ครอบครัวมีกิน มีใช้ มีหลักประกันที่ดี โดยยึดหลักการ “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำเท่าที่ทำได้”
รายละเอียดเพิ่มเติม
นายวินัย สุวรรณไตร อายุ 52 ปี อาชีพเกษตรกร บ้านเลขที่ 57 หมู่ 8 บ้านหลุมมะขาม ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
นายวินัย สุวรรณไตร เริ่มดำเนินชีวิตแบบพอเพียงตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ส่งผลให้คุณวินัยเริ่มหันมาสนใจชีวิตตัวเอง ด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย พบว่าปัญหาที่สำคัญคือภาวะหนี้สิน เพราะเน้นการผลิตเพื่อจำหน่าย จึงเริ่มสนใจที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตตนเองมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพระราชดำรัสของพ่อหลวงในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ได้ตอกย้ำให้อยากหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินเพิ่มยิ่งขึ้นบ
จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2542 ได้มีเหตุการณ์ทำให้ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เรื่องวนเกษตรจากผู้ใหญ่ฯ วิบูลย์ เข็มเฉลิม และพบปะกับเครือข่ายผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น พ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชุมชนแห่งอำเภอสนามชัยเขต ทำให้เกิดการกระบวนการเรียนรู้ในการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ที่จะต้องรู้จักตัวเอง รู้ปัญหาตัวเอง เพราะปัญหาตัวเองก็คือปัญหาชุมชนนั่นเอง ชุมชนจะเข้มแข็งได้ จะพึ่งตนเองได้ ก็ต้องมีการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ คือ
1. รู้ตัวเอง ในการจัดทำบัญชีครัวเรือนจะได้รู้ในตัวเอง
2. รู้ปัญหา วิเคราะห์รายจ่าย เช่น ทำไมต้องเล่นหวย เล่นการพนัน เสพของมึนเมา ทำไมต้องซื้อ ทำไมต้องผ่อนชำระสินค้า
3. รู้ทรัพยากร ทำข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ หิน กรวด ป่าไม้ ในหมู่บ้าน
4. รู้การจัดการ เช่น ทำข้อมูลเรื่องข้าวสารว่าในหมู่บ้านรับประทานข้าวกี่กิโลกรัม กี่ถัง กี่เกวียน ชาวบ้าน ทำโรงสีผลิตข้าวเองได้ไหม เพื่อกำหนดราคาข้าวเองให้กับชาวบ้าน
5. รู้การวางแผนชีวิต วางแผนตนเอง ต้องละเลิกอบายมุข และวางแผนครอบครัวให้คิดเป็นทางเดียวกัน
คุณวินัยได้นำหลักการ 5 รู้ มาวิเคราะห์อดีตของตนเอง ได้เห็นสภาพของการประกอบอาชีพของตนเองที่ผ่านมาที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต โดยเฉพาะข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้มีการพูดคุยกับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตครอบครัวร่วมกัน และหันกลับมาคิดแก้ไขปัญหาโดยการพึ่งตนเอง การเรียนรู้ตนเองนั้น มีเครื่องมือคือการทำบัญชีรายจ่ายประจำวัน ซึ่งทำให้เรารู้ว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ใช้จ่ายเพื่ออะไร จึงเป็นที่มาของการรู้ปัญหาของตนเองและครอบครัว แล้วก็เรียนรู้เรื่องทรัพยากรท้องถิ่น และนำไปสู่การเรียนรู้การจัดการทรัพยากร จนนำไปสู่การพึ่งตนเองในปัจจุบัน ได้ใช้เหตุผลในการใช้จ่ายประจำวัน ทำให้สามารถแยกความจำเป็นกับความต้องการ (หรือความอยาก) ได้อย่างชัดเจน
ปี 2543 คุณวินัยเลิกทำไร่มันสำปะหลังอย่างเด็ดขาด หันมาปลูกป่า นำผลผลิตในป่ามาเป็นอาหารและยารักษาโรค เมื่อเหลือจึงนำออกขาย นำมาจัดตั้งธนาคารชุมชน หันมาใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเอง พยายามลดรายจ่ายทุกด้านที่ไม่เกิดประโยชน์ จึงค่อยลดละเลิก การพนัน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และสิ่งฟุ่มเฟือย และเลิกได้เด็ดขาดเมื่อปี พ.ศ. 2545 การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวก็ลดลงไปเอง เพราะคิดไปในทางเดียวกัน ไม่มีข้อตำหนิที่จะมาพูดถึงกัน 3 ปีผ่านไปชีวิตมีรายจ่ายน้อยมาก จนครอบครัวสามารถปลดหนี้สินได้ภายในสามปี สามารถเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่ลำบาก มีเงินฝากกับธนาคารชุมชนเพื่อเป็นหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต
คุณวินัยใช้หลักศีลห้า คือไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ยึดทางสายกลาง ไม่เอาของของคนอื่นมาเป็นของตัว ทำตัวเป็นผู้ให้และผู้รับ ผลที่ได้รับคือ ทำให้มีจิตใจอ่อนโยน สุภาพ คนรอบข้างให้ความเชื่อถือ น็นและด้วยเป็นผู้ใฝ่รู้ จึงได้แสวงหาความรู้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะความรู้ที่ได้จากการอ่าน แต่จากการสังเกตและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เมื่อตัดไม้ที่ปลูกไปใช้ประโยชน์ทั้งการทำฟืน ทำยา ทำของใช้ หรือกิน ป่าหรือไม้ที่ตัดก็สามารถขึ้นได้อีก ทั้งจากการปลูกทดแทนของเดิมหรือเมล็ดที่ร่วงลงดินแล้วเติบโตขึ้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์พืชนั้นได้อีกทางหนึ่ง หรือการปลูกป่าร่วมกับพืชสมุนไพรเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สำหรับชีวิตครอบครัวครั้งหนึ่งครอบครัวได้สูญเสียบุตรชายจากอุบัติเหตุ แต่ทุกคนก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ โดยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน กลับมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ปราศจากความขัดแย้ง เนื่องจากภรรยาและบุตรสาวที่เหลืออีกหนึ่งคนมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถเข้ามาช่วยเหลือกิจการในชุมชนและถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนแทนคุณวินัยได้ เนื่องจากทุกครั้งที่คุณวินัยได้รับความรู้อะไรกลับมาก็จะมาถ่ายทอดให้ภรรยาและบุตรสาวได้ฟังเสมอ
การแบ่งปันเกื้อกูลสังคม ได้รับคำยืนยันจากนายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้าน ว่าคุณวินัย เป็นบุคคลตัวอย่างของชุมชนที่ทำให้ชุมชนหันมาอยู่อย่างพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ ลดการซื้อสินค้าจากภายนอก จะเห็นได้จากรถขายสินค้า อาหารสด (รถพุ่มพวง) ไม่สามารถขายในชุมชนนี้ได้ คุณวินัยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า พืช/ป่าทุกชนิดที่ปลูกจะเข้าหลักปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีหลักการว่า “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำเท่าที่ทำได้ ตามแรงงานสองคนสามีภรรยา” ตั้งแต่พืชที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน จนถึงพืชที่สูงชะลูด พื้นที่ใช้ทำวนเกษตร ปลูกตั้งแต่พืชชั้นล่าง พืชชั้นกลาง พืชชั้นสูง และมีความเห็นว่าการปลูกป่าจะช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อนได้นอกจากนี้ไม่มีการขยายหรือสะสมพื้นที่เพิ่มเติม แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด และเห็นว่าสิ่งเดียวที่สะสมคือ “ความรู้” ความเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมไทย ได้สร้างวัฒนธรรมให้ชาวบ้านนำปิ่นโตอาหารมาทานข้าวร่วมกัน มีการรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ จัดประกวดกระทงที่ทำจากธรรมชาติในวันลอยกระทง ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมในวันพระ ทำเป็นตัวอย่างเรื่องของการไหว้ ทั้งผู้สูงอายุและรุ่นราวคราวเดียวกัน
ภายหลังจากที่ตนเองและครอบครัวสามารถปลดหนี้ได้คุณวินัยหันมามองเพื่อนบ้าน อยากให้คนรอบข้างของตนเองคิดได้ หลุดพ้นจากภาวะความยากจน ได้สร้างเวทีการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาซึ่งกันและกัน โดยใช้ธนาคารชุมชนเป็นเวทีกลางในการพบปะ ในทุกวันที่ 20 ของเดือน ทำกันมาเกือบสามปี ในวันที่นัดพบกัน จะมีตลาดนัดชุมชน ชาวบ้านจะนำสินค้าชุมชน เช่น ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น หน่อไม้ มาวางขายและแลกเปลี่ยนกัน ปัจจุบัน ชุมชนบ้านหลุมมะขาม มีเวทีเรียนรู้ในชุมชน เดือนละ 4 วัน ได้แก่ ทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นเวทีกองทุนหมู่บ้าน ทุกวันที่ 10 ของเดือน เป็นเวทีสายใยรักครอบครัว ทุกวันที่ 20 ของเดือน เป็นเวทีธนาคารชุมชน ทุกวันที่ 24 ของเดือน เป็นเวทีสัญจร รับฟังปัญหาชาวบ้าน ส่วนวิธีการถ่ายทอด เน้นการถ่ายทอดโดยการเล่าให้ฟัง ให้สังเกตด้วยตนเอง ให้ซักถามเมื่อมีข้อสงสัย และทดลองด้วยตนเอง ไม่เน้นการถ่ายทอดโดยการบอกให้ทำ จนสามารถสร้างเวทีการเรียนรู้ให้ขยายออกไปสู่ทั้งภายในและภายนอกชุมชน สามารถสร้างเครือข่ายป่าชุมชนออกไปสู่ระดับภาค จนเป็นที่รู้จักและยอมรับโดยทั่วไป
ผลจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้คุณวินัยสามารถปลดหนี้ 100,000 บาท ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันครอบครัวมีรายได้ 100,000 บาท/ปี ครอบครัวมีความอบอุ่น โดยสามารถนำครอบครัวของบุตรกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ตลอดจนได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองและเอื้อเฟื้อต่อส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ได้พลิกชีวิตใหม่ในการเปลี่ยนแปลงตนเองจากการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ที่ต้องหลุดพ้นกระแสทุน และพบว่า “ความสุขที่แท้จริงของชีวิตคือความพอเพียง” คุณวินัยมีความฝันอยากเห็นชุมชนสามารถหลุดพ้นวงจรความยากจนและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง
|