ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

ตัวอย่างความสำเร็จ

ความเป็นมา

“…ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ...ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์...”

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19 กรกฎาคม 2517

   

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี โดยมีแนวคิดที่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท และคำนึงถึงความพอประมาณ คือ ให้ทำอะไรด้วยความพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปและต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเหตุผลในการกระทำและมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว คือ มีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับผลกระทบจากความเปลี่ยนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียรมาประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำทุกอย่าง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ค้นพบประวัติว่าปรัชญานี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2517 เป็นเวลา 33 ปีมาแล้ว แต่ในครั้งนั้น ผู้ได้รับฟังเห็นดีเห็นงามมีศรัทธา หากแต่ยังไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งปี 2540 (เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ) เมื่อเกิด เหตุการณ์ จึงทำให้มีผู้สนใจในปรัชญานี้มากขึ้นหลังจากนั้นมีความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 นี้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้กำหนดจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้ชื่อ “80 พรรษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์” และกำหนดให้มีการจัดการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกิจกรรมสำคัญ ในการเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ จำนวน 2 ประเภท 5 ด้าน ได้แก่         

1. ประเภทบุคคล ประกอบด้วย
   1.1 ด้านประชาชนทั่วไป
   1.2 ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่
2. ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย
  2.1 ด้านธุรกิจขนาดใหญ่
  2.2 ด้านธุรกิจขนาดกลาง
  2.3 ด้านธุรกิจขนาดย่อม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลและองค์กรภาคธุรกิจที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไป ประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการบริหารกิจการจนเกิดผลสำเร็จและยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับบุคคลและองค์กรธุรกิจในการนำไปประยุกต์และปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและประกอบ ธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกย่องบุคคล และองค์กรธุรกิจที่ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตจนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2550

 


ตัวอย่างความสำเร็จ

 

ชนะเลิศ ประเภททฤษฎีใหม่
นายจันทร์ที ประทุมภา

เริ่มทำ : พ.ศ. 2541
เนื้อที่ : 22 ไร่
ที่พัก : บ้าน / ห้องอบรม / โรงเรือน
แรงงาน : ภายในครัวเรือน 6 คน
รายได้ : 343,596 บาท/ปี
รายจ่าย : 30,360 บาท/ปี
หนี้สิน : ไม่มี
เงินออม : มี
บัญชีฟาร์ม : ทำ


เหตุผล : เพื่อปฏิบัติตามแนวพระราชดำริในหลวง : เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว

 


 

ตัวอย่างความสำเร็จ
ชนะเลิศ ประเภทประชาชนทั่วไป
นายแสนหมั้น อินทรไชยา

อายุ 52 ปี
อาชีพผู้นำชุมชน
บ้านเลขที่ 27 หมู่ 1 บ้านถ่อนนาลับ ตำบลถ่อนนาลับ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านดุง

การใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย รู้จักแบ่งปันให้คนอื่น ใช้ชีวิตไม่ประมาทรอบคอบ รู้จักเก็บออม มีคุณธรรมในการใช้ชีวิต มีเหตุผลมีปัญญาในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเราพอเพียงแล้ว สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ตั้งมั่นในการงานที่กำลังทำไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 


 

ตัวอย่างความสำเร็จ
ชนะเลิศ ประเภทธุรกิจขนาดย่อม
บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด

 

         บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าแปรรูปทางการเกษตร โดยมีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ก่อตั้งโดย นายกอบชัย ทวีเลิศนิธิ และนายสุรพล ทวีเลิศนิธิ

ตลาดที่สำคัญ คือ การขายสินค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม อาหาร อาทิ น้ำมันกระเทียมเจียวนำไปผลิตเป็นเครื่องปรุงรสในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เป็นต้น

บริษัทยังใช้กลยุทธ์ด้านการบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่น โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้องมีมาตรฐานคุณภาพ ความสะอาด ความปลอดภัยสูง

จากการดำเนินธุรกิจตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว ทำให้บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัดมีการพัฒนาและเติบโต อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ทั้งด้านยอดขาย การพัฒนาของบุคลากร ระบบการทำงานที่ดีขึ้น เป็นผลสำเร็จจากการน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจริง โดยอาศัยการเรียนรู้ของบุคลากรและผู้บริหารองค์กร รวมทั้งมีการช่วยเหลือสังคม ทั้งด้านการศึกษา งานประเพณีท้องถิ่น และสาธารณะประโยชน์


 

ตัวอย่างความสำเร็จ
ชนะเลิศ ประเภทธุรกิจขนาดกลาง
ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท และศูนย์กีฬาดำน้ำ

 

      การเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2540 ทำให้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น 30-40% เนื่องจากการที่รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาททำให้กิจการขาดสภาพคล่องเนื่องจากมาตรการเข้มงวดทางการเงินการคลัง ทำให้ธนาคารหยุดการให้ความช่วยเหลือ ภาวะเศรษฐกิจซบเซาทำให้จำนวนลูกค้าลดลงอย่างมากเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ยังเกิดอุทกภัยใหญ่ในจังหวัดชุมพร ส่งผลให้จำนวนลูกค้าซึ่งมีน้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

จากการดำเนินธุรกิจตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว ทำให้ชุมพร คาบาน่ารีสอร์ท สามารถลดต้นทุน ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 มาได้ และยังได้มีการพัฒนาการให้บริการที่แตกต่างจากที่อื่นๆ โดยเน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจมาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้


 

ตัวอย่างความสำเร็จ
ชนะเลิศ ประเภทธุรกิจขนาดใหญ่
บ. ปูนซิเมนต์ไทย จก. (มหาชน)

          วิกฤตเศรษฐกิจ...วิกฤต SCG ภายหลังการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศแบบลอยตัวเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในทันทีต่อสถานะทางการเงินขององค์กรภาคเอกชน เครือซีเมนต์ไทย (SCG) เป็นอีกหนึ่งองค์กรธุรกิจทีได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ยอดเงินกู้สุทธิของหน่วยงานเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าตัว มีผลทำให้เงินกู้สุทธิเป็น 243,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นถึง 300,000 ล้านบาท

 

          ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการแก้ไขวิกฤต ผลกระทบจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เป็นความชัดเจนในแง่การเป็นบทเรียนให้ SCG ได้ตระหนักว่าการบริหารแบบตะวันตก (Moderinization Management) ที่ให้ความสำคัญเพียงแต่การเจริญเติบโตโดยปราศจากรากฐานที่เข้มแข็ง การหวังผลกำไรในระยะสั้น การใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลืองโดยปราศจากความรอบคอบในการวางแผนการใช้ที่ดี ท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถปกป้องธุรกิจของตนเองได้ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจน นั่นคือ การลดขนาดธุรกิจของ SCG ที่จากเดิม 10 กลุ่มเหลือเพียง 5 กลุ่ม พร้อมเงินกู้สุทธิที่เพิ่มสูงขึ้นและผลกำไรติดลบจำนวนมหาศาล ในภาวการณ์ดังกล่าวนี้เอง SCG จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยเบื้องต้นได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อประคับประครองให้ธุรกิจอยู่รอดและดำเนินต่อไปได้ในอนาคต