ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ด้วยเหตุที่เห็ดหลินจือกำลังมีบทบาทค่อนข้างสูงในวงการการผลิตและการใช้ประโยชน์ประกอบกับศักยภาพในการเป็นเห็ดเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าในอนาคตควบคู่ไปกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ในกลุ่มเห็ดหิ้งด้วยกันปรากฏค่อนข้างชัดเจนโดยเห็นได้จากการที่ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ทางชีวเคมีของเห็ดเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดเดาได้จากข้อมูลดังกล่าวว่าความต้องการผลผลิตดอกเห็ดหลินจือในอนาคตจะต้องเพิ่มมากขึ้นแล้วส่งผลให้การเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือในลักษณะที่สามารถเอื้ออำนวยให้เกษตรกรในระดับท้องถิ่นสามารถเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเพื่อลดความต้องการวัสดุการค้าที่ต้องใช้ในการเพาะเลี้ยงให้น้อยลง ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้จากการศึกษาดังกล่าวจะตกอยู่กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลที่โดยทั่วไปแล้วโอกาสในการเพาะเลี้ยงเห็ดสดชนิดต่าง ๆ มีน้อยเนื่องจากมีข้อจำกัดของปัจจัยที่เกี่ยวกับการผลิตและการเก็บรักษาผลผลิตตลอดจนการขนส่งผลผลิตสู่ตลาดในเมือง อย่างไรก็ตามการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือให้ได้ประโยชน์และประสบผลสำเร็จนั้นการทำความรู้จักและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเห็ดชนิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรตลอดจนนักวิจัยผู้ค้นคว้าและสนับสนุนกิจกรรมของเกษตรกร จึงควรมีการศึกษา เสาะหา และเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้ครอบคลุม
เห็ดหิ้งหรือเห็ดหมื่นรู
- ดอกมีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร มักจะขึ้นอยู่กับไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือแม้แต่ไม้ที่ตายแล้ว รวมทั้งตอไม้ กิ่งไม้ที่ร่วงหล่นลงบนพื้นดิน ชื่อของเห็ดกลุ่มนี้ได้จากลักษณะของการเกิดดอกที่เกิดออกมาจากด้านข้างของต้นไม้ ตอไม้ หรือ กิ่งไม้ ดอกเห็ดมีลักษณะคล้ายกับหิ้งวางของ (ภาพที่ 1) มีความหนาของหมวกดอกแตกต่างกันไป เห็ดหิ้งบางชนิดไม่สร้างหมวกดอก ไม่สร้างก้านดอก แต่เจริญปกคลุมกิ่งไม้ ผิวของท่อนไม้ มองเห็นเหมือนเป็นปลอกหุ้มไม้ที่เกาะอยู่เอาไว้

ภาพที่ 1 ลักษณะของเห็ดหิ้งเกาะอยู่บนท่อนไม้ในแนวนอน
เห็ดหิ้งหรือเห็ดหมื่นรูพบในประเทศไทยมากกว่า 30 สกุล สำหรับสกุลที่พบบ่อยได้แก่ Amauroderma (ภาพที่ 2), Bondazewia, Bjerkandera (ภาพที่ 3), Daedaleopsis (ภาพที่ 4), Fomitopsis (ภาพที่ 5), Ganoderma (ภาพที่ 6 และ 7), Gloeophyllum (ภาพที่ 8), Heterobasidion, Laetiporus, Lenzites (ภาพที่ 9), Polyporus (ภาพที่ 10 และ 11), Poria, Pycnoporus, Stereum (ภาพที่ 12) และ Trametes (ภาพที่ 13) เห็ดกลุ่มนี้มีลักษณะสำคัญคือด้านใต้หมวกดอกไม่มีครีบดอกแต่มีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ รูเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะตัวและสามารถใช้ในการจำแนกชนิดของเห็ดหิ้งได้ จากลักษณะของรูว่าเป็นรูเหลี่ยมหรือกลม ลึกหรือตื้น ตลอดจนขนาดของรูโดยวัดเป็นจำนวนรูต่อ 1 มิลลิเมตร เป็นต้น รูเหล่านี้ทำหน้าที่แทนครีบดอกในการเป็นที่สร้างสปอร์ ดอกของเห็ดหิ้งมีลักษณะเหนียวคล้ายหนังหรือแข็งเหมือนเนื้อไม้ แต่ภายในประกอบด้วยแผงเส้นใยซึ่งทำหน้าที่เป็นท่อลำเลียงน้ำและอาหารมาเลี้ยงดอกเห็ด แต่เห็ดหิ้งบางชนิดไม่มีรูที่ใต้หมวกดอกโดยด้านท้องของหมวกดอกมีลักษณะเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เช่น เห็ดหิ้งหนังหรือเห็ดหูไม้สีเหลือง (Sterum ostrea (Blum & Nees) Fries) (ภาพที่ 14) เป็นต้น






ภาพที่ 14 เห็ดหูไม้สีเหลือง (Stereum ostrea)
การที่หมวกดอกของเห็ดหิ้งมีลักษณะแข็งนั้นเกิดจากการที่เนื้อเยื่อของแผงใยบางส่วนรวมตัวกันสานกันทั้งแนวตามและแนวขวาง ในขณะเดียวกันแผงใยบางส่วนเกิดตายลงจึงทำให้เนื้อของดอกเห็ดบางชนิดหนาและแข็งมาก ดอกเห็ดกลุ่มนี้เจริญเติบโตช้าแต่คงทนอยู่ได้นาน ดอกของเห็ดหิ้งบางชนิดอาจจะคงอยู่ได้เพียง 1-3 เดือนแต่อีกหลายชนิดอยู่ได้นานข้ามปีหรือหลายปี ดอกของเห็ดหิ้งส่วนใหญ่มีสีสันที่ไม่สดใส มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีดอกเห็ดสีสด เช่น เห็ดหิ้งเหลืองกำมะถันท้องขาว (Laetiporus gilbertsonii Burds.) (ภาพที่ 15) มีดอกเห็ดสีเหลืองสด ด้านท้องดอกมีสีขาวหรือเหลือง และเห็ดหิ้งแดง (Pycnoporus sanguineus L. ex Fr.) (ภาพที่ 16) มีดอกสีส้มแดงทั่วทั้งดอก

เห็ดหิ้งเป็นเห็ดที่ทำให้ไม้เน่าเปื่อย เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวติที่มีบทบาทสำคัญในวงจรคาร์บอน (carbon cycle) ด้วยการย่อยสลายไม้ จึงพบได้ง่ายตามท่อนซุง ตอไม้ กิ่งไม้ หรือตามดินที่มีตอไม้ฝังอยู่ หรือบนต้นไม้ที่ยังมีชีวิต เห็ดหิ้งที่เกาะกินท่อนไม้ กิ่งไม้ที่อยู่เหนือผิวดินส่วนใหญ่ไม่มีก้านดอกหรือมีก้านสั้นมาก ส่วนเห็ดหิ้งที่ฝังในดินจะมีก้านดอกค่อนข้างยาวเพื่อส่งให้ดอกเห็ดขึ้นมาอยู่เหนือดินให้สามารถปล่อยสปอร์กระจายไปได้
- มีสรรพคุณทางสมุนไพรที่ดี เห็ดหิ้งทุกชนิดไม่เป็นพิษ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคตั้งแต่ยุคโบราณจนปัจจุบันซึ่งมีการศึกษาการใช้ประโยชน์เห็ดกลุ่มนี้กว้างขวางมากขึ้น เห็ดที่นำมาใช้ในทางการแพทย์กันค่อนข้างมาก คือ เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.) (ภาพที่ 17) เห็ดซากาไซบีเรีย (Inonotus obliquus (Fr.) Pilat) เห็ดหิ้ง (Phellinus linteus (Berkeley & M.A.Curtis) Teng) และ เห็ดหิ้งหลากสี (Trametes versicolor (L. : Fr.) Pilat.) ใช้ประโยชน์ในรูปของสมุนไพรที่ต่อต้านอาการป่วยไข้ที่มีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความสำคัญของเห็ดในกลุ่มเห็ดหิ้งหรือเห็ดหมื่นรูที่ตระหนักกันดีในปัจจุบันคือความสามารถในการสร้างสารโพลีแซคคาไรด์สะสมไว้ในดอกเห็ด เป็นชนิดที่สามารถต้านโรคสำคัญบางชนิด ซึ่งอาจจะมีคุณค่าในการเป็นยารักษาโรคชนิดใหม่ที่ต้านเชื้อโรคที่ดื้อยาในปัจจุบันได้ในอนาคต
เห็ดหิ้งบางชนิดใช้ประกอบอาหารได้อร่อย เช่น ชนิด Grifola frondosa Dicks. & Gray และ Laetiporus sulphureus (Bull.) Murrill ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวตะวันตก ส่วนเห็ดหิ้งของไทยที่รู้จักกันดีและใช้นิยมเป็นอาหารประเภทอาหารป่าได้แก่ เห็ดซิ่นโค่นหรือเห็ดเนื้อย่าง (Amauroderma subresinosum (Murrill) Corner) (ภาพที่ 18) ซึ่งเป็นเห็ดปรสิต (parasite) และแซพโปรไฟต์ (saprophyte) ขึ้นอยู่บนต้นนนทรีช่อห้อยหรือต้นอะราง ดอกเห็ดมีเนื้อสีขาวเมื่อนำมาย่างมีรสชาติคล้ายกับเนื้อสัตว์

เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือ (Ganoderma Lucidum (Wm. Curtis : Fries) Karsten) (ภาพที่ 19) เป็นเห็ดที่มีหลายชื่อ คนญี่ปุ่นเรียกเห็ดหลินจือว่า Reishi หรือ Mannentake ซึ่งแปลว่าเห็ดหมื่นปี คนจีนและคนเกาหลีเรียกว่า Ling Chi หรือ Ling Zhi ซึ่งแปลว่าเห็ดอมตะ ด้วยเหตุที่เห็ดหลินจือมีสรรพคุณทางยาและมีการใช้ประโยชน์เห็ดชนิดนี้มานานย้อนหลังไปถึงยุคโบราณ ดังเห็นจากการปรากฏชื่อและ/หรือภาพในศิลปะสมัยประวัติศาสตร์ของจีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น อยู่มากมาย เช่นในศิลปะบนแผ่นผ้าและงานปักด้วยเส้นไหมต่าง ๆ สำหรับเห็ดหลินจือในจีนนั้นกล่าวกันว่าใช้กันมานานกว่า 2,000 ปี นับตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นต้นมา ถือว่าเป็นของหายากที่มีคุณค่าทางสมุนไพรดังมีบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณ “เสินหนงเปินเฉ่า” ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน กล่าวถึงเห็ดหลินจือไว้ว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งชีวิต” มีพลังมหัศจรรย์ บำรุงร่างกาย ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ และรักษาโรคต่าง ๆได้กว้างขวาง โดยไม่เป็นพิษต่อร่างกายแต่อย่างใด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ความจำดี ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ชัดเจน ส่งเสริมการไหลเวียนของโลหิต รักษาโรคตับและโรคความดันโลหิตสูง

การจำแนกเห็ดหลินจือมีดังนี้ เป็นเห็ดที่อยู่ใน Class: Basidiomycetes ; Subclas : Holobasidiomycetidae ; Series : Hymenomycetes ; Order : Polyporales ; Family : Polyporaceae ; Genus : Ganoderma ; Species : lucidum โดยมีชื่อสามัญต่าง ๆ ดังนี้ Reishi (Japanese for ‘divine’ or ‘spiritual mushroom’) ; Ling Chi, Ling Chih, Ling Zhi (Chinese for ‘tree of life’ mushroom) ; Mannentake (Japanese for ‘10,000-year mushroom’, mushroom of immortality) ; Saiwai-take (Japanese for ‘good-fortune mushroom, Sarunouchituke (Japanese for ‘monkey’ s seat’) และ Panacea polypore
พบเห็ดหลินจือทั่วไปในส่วนต่างๆของโลก จากลุ่มน้ำอะเมซอนไปจนถึงตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือและกระจายตลอดทวีปเอเชีย พบน้อยในแถบอบอุ่นแต่พบมากในแถบกึ่งร้อนของโลก เห็ดหลินจือที่มีการนำมาเพาะเลี้ยงและใช้ประโยชน์กันมากในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่มาจากจีนซึ่งมีต้นกำเนิดบนภูเขา จากความเชื่อของแพทย์จีนเห็ดหลินจือที่มีตัวยาที่มีประโยชน์มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน จำแนกออกตามสีของดอกเห็ดและสรรพคุณได้อย่างน้อย 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ หลินจือธรรมชาติสายพันธุ์สีแดง ขึ้นอยู่บนภูเขาสูง เกาะบนต้นไม้ ดอกเห็ดมีสีแดง คนจีนโบราณเรียกชื่อว่า ชื่อจื่อ คันจือ มีรสขม สรรพคุณบำรุงหัวใจ ปอดและสมอง เห็ดหลินจือสายพันธุ์สีม่วง หาได้ยาก ชาวจีนโบราณเรียกชื่อว่า จื่อจือ มู่จือ รสหวาน สรรพคุณบำรุงกระดูก หัวใจ และรักษาโรคริดสีดวงทวาร เห็ดหลินจือสายพันธุ์สีดำ ขึ้นอยู่กลางป่า ดอกเห็ดสีดำ ชื่อว่า เฮยจือ เอ๋าจือ มีรสเค็ม สรรพคุณบำรุงไตและทางเดินปัสสาวะ เห็ดหลินจือสายพันธุ์สีเขียว ขึ้นบนต้นไม้ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ชื่อว่าซิงจือ หลงจือ รสเปรี้ยว สรรพคุณบำรุงตับ สายตา และ ระบบประสาท เห็ดหลินจือสายพันธุ์สีเหลืองเกาะตามโคนต้นไม้ในป่าชื้น ชื่อ หวงจือ จินจือ รสหวาน บำรุงม้าม ระบบประสาท หัวใจ และเห็ดหลินจือสายพันธุ์สีขาว หายาก มีดอกเห็ดสีขาว ชื่อ ไบจือ วีจือ รสเผ็ด สรรพคุณบำรุงตับ ปอด หัวใจและระบบประสาท (ภาพที่ 20) ส่วนสายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้เป็นยา คือ สายพันธุ์สีน้ำตาลแดง มีลักษณะผิวหมวกดอกเหมือนมีแชลแลคเคลือบเงา สายพันธุ์นี้มีทั้งที่ดอกเห็ดมีก้านดอกและดอกเห็ดไม่มีก้านดอก เห็ดหลินจือสายพันธุ์นี้แพทย์จีนกล่าวว่ามีสรรพคุณพิเศษในการบำรุงตับและต้านมะเร็ง


ส่วนประกอบของเห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือสายพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงกันในประเทศไทย เป็นเห็ดหลินจือสีน้ำตาลแดง เห็ดหลินจือสายพันธุ์นี้การเกิดของดอกเห็ดอาจจะเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือเกิดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ดอก ที่โคนดอกติดกัน ส่วนประกอบของเห็ดหลินจือสายพันธุ์นี้ คือ มีหมวกดอก (cap) ดอกเห็ดหลินจือที่เพิ่งออกดอกมาใหม่ ๆ มีลักษณะเป็นแท่งสีเหลือง สีของดอกเห็ดจากยอดลงมามีสีขาว สีเหลือง และ สีน้ำตาล ตามลำดับ ต่อมาส่วนบนของหมวกดอกจะแผ่ออกคล้ายพัด ดอกเห็ดที่อ่อนอยู่จะมีสีขาวหรือสีเหลือง กลางหมวกดอกมีสีน้ำตาล แต่เมื่อดอกเห็ดขยายขนาดเต็มที่ขอบหมวกดอกจะงุ้มลง สีหมวกดอกเข้มมากขึ้น เนื้อเยื่อภายในดอกเห็ดมีแผงเส้นใยสีน้ำตาล ความหนาของดอกจากผิวหมวกดอกไปจนถึงรูที่อยู่ใต้หมวกดอก คือ 0.2-1.0 เซนติเมตร หมวกดอกมีลักษณะเป็นเงาสีน้ำตาลแดงหรือสีเชสนัท เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่ไม่มีครีบเห็ด (gill) อยู่ใต้หมวกเหมือนกับเห็ดโดยทั่วไป แต่ภายใต้หมวกเห็ดของเห็ดหลินจือนั้นเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ อยู่มากมาย รูเหล่านี้มีสีเหลืองหรือสีขาว ภายในรูเป็นแหล่งกำเนิดของสปอร์ โดยที่เมื่อดอกเห็ดเจริญเต็มที่จะมีการสร้างสปอร์ภายในรูเหล่านั้น จากนั้นจึงปล่อยสปอร์ออกมามากมาย สปอร์ส่วนหนึ่งปลิวตกลงบนพื้นแต่สปอร์บางส่วนลอยขึ้นไปปกคลุมผิวของหมวกดอก มีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาล เมื่อชิมดูมีรสขม สปอร์มีรูปร่างกลมรี ปลายด้านหนึ่งตัด มีผนัง 2 ชั้น ขนาด 9-12x5.5-8 ไมครอน ผนังชั้นนอกเรียบ ผนังชั้นในมีลักษณะคล้ายหนามยื่นออกมาชนผนังชั้นนอก เห็ดหลินจืออาจจะมีก้านดอกเห็ด (stalk) หรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่สภาพของการเจริญเติบโต กล่าวคือ ดอกเห็ดที่พบตามตอไม้หรือต้นไม้ กิ่งไม้บนดินไม่มีก้านดอกแต่ดอกเห็ดที่ขึ้นกับไม้ผุใต้ดินมีก้านดอกเพื่อชูดอกเห็ดขึ้นมาเหนือดิน ดอกเห็ดที่มีก้านดอกนั้นตำแหน่งของก้านดอกอาจจะอยู่กึ่งกลางของหมวกดอกหรือค่อนไปข้างใดข้างหนึ่งของหมวกดอก
คุณสมบัติในการรักษาโรคของเห็ดหลินจือ
สรรพคุณโบราณของเห็ดหลินจือ คือ ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง บำรุงร่างกาย เพิ่มพลัง เป็นยาอายุวัฒนะ มีความจำดี ช่วยการไหลเวียนของโลหิต รักษาและต้านมะเร็ง รักษาโรคตับ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดอุดตัน ขับปัสสาวะ แก้โรคภูมิแพ้ โรคประสาท ระงับลมบ้าหมู รักษาอัมพาต อัมพฤกษ์ ปวดเมื่อย ปวดข้อ โรคเก๊าต์ โรค SLE ตับแข็ง ตับอักเสบ อาหารเป็นพิษ แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
จากการศึกษาสารสกัดจากเห็ดหลินจือ มีรายงานว่าสารสกัดต่าง ๆ จากเห็ดหลินจือสามารถ
นำมารักษาโรคได้หลายชนิด เป็นสารพวก steroid อยู่ 2 ชนิด คือ cholestan และ ergosterol สารพวกคาร์โบไฮเดรตได้แก่ ganoderan สารประเภท triterpine ได้แก่ ganoderic acid และ lucidenic acid และ สารที่มีคุณสมบัติเป็น antibiotic และ polysaccharide เป็นต้น
สารในกลุ่ม triterpenoid ชนิดขมนั้นมีรายงานว่าเป็นสาร ganoderic A, B, C1, C2, D-K และ R-Z ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ปกป้องตับ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในตับ และช่วยต่อต้านสารที่มีพิษต่อตับ โดยที่ได้มีการจดสิทธิบัตรสาร ganodosterone ในลักษณะยาเม็ดซึ่งใช้ในการกระตุ้นการทำงานของตับในการเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการลดสารที่มีพิษต่อตับ ที่เกาหลีใช้เป็นยาบำรุงตับโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคตับแข็งและตับอักเสบ สารในกลุ่ม polysaccharide ในเห็ดหลินจือที่มีสรรพคุณทางยา คือ ganoderans A, B และ C และสาร beta-D-glucan สารทั้ง 2 ชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด B-cell และ T-cell ช่วยให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสาร immunoglobulin และสาร interleukins ซึ่งเป็นสารสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันในคน สารเหล่านี้มีสรรพคุณในการต้านมะเร็งและช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต่อต้านสารแพ้ ต่อต้านเชื้อไวรัสเริม งูสวัด และเชื้อ HIV ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เคมีบำบัดและการใช้รังสีบำบัด
มีนักวิจัยรายงานผลการศึกษาสารสกัดจากหมวกดอกเห็ดหลินจือว่ามีส่วนประกอบของ polysaccharide อยู่หลายชนิดโดยมีโครงสร้างหลักเป็น β-D-glucan มี triterpenoid ที่มีโครงสร้างเป็น lanostanoid มากกว่า 60 ชนิด มี steroid ที่สำคัญคือ ergosterol มีโปรตีนที่สำคัญคือ Ling Zhi-8 ที่มี amino acid 110 โมเลกุล มี nucleoside และ nucleotide มี lipid ต่างๆ เช่น behenic acid, lignoceric acid, linoleic acid, nonadicanoic acid, oleic acid, paimiyic acid, stearic acid และ tetradec-cis-enoic acid ส่วนสารกลุ่มอื่น ๆ ที่พบในหมวกดอกของเห็ดหลินจือเช่นกัน คือ sesquiterpene ต่างๆ เช่น 15-hydroxy acorenone ในกลุ่ม quinoid ต่าง ๆ ได้แก่ crysophanic acid, crysophic acid glucoside สารประกอบกำมะถัน เช่น cyclooctasulfur และ สารประกอบอินทรีย์ เช่น germanium เป็นต้น
ได้มีการนำสารสกัดที่ได้จากหมวกดอกเห็ดหลินจือไปทดสอบสรรพคุณและสรุปไว้ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 สารประกอบในเห็ดหลินจือที่มีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรค
ชนิดสารประกอบ
|
สรรพคุณ
|
Adenosic
Ganodemic acid R, S ganosterone glucon
Polysaccharides, glucans
Polysaccharides, alkaloids
Ganodemic acids, cyclooctasulfur
Ganodemic acids
Ganoderans
Ganoderol ganoderic
Polysaccharides, protien
Nucleic acids
Adenosine
Polysaccharides
Polysaccharides
|
แก้ปวด
ป้องกันตับ
ลดการอักเสบ
ควบคุมมะเร็ง
บำรุงหัวใจ
แก้แพ้
ลดไขมันในเลือด
ลดน้ำตาลในเลือด
ปรับความดันโลหิต
สร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค สร้าง interferon
ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด
ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด
สร้างโปรตีน ป้องกันรังสี
|
นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงการนำสมุนไพร คือ เห็ดหลินจือมาใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคไต กล่าวคือ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยโรคนี้ในระยะที่เสี่ยงกับอาการไตวายนั้นมาจากปัจจัยเสี่ยง คือ การเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งการรักษาส่วนหนึ่งมุ่งไปทางการรักษาเพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นโดยการให้สมุนไพรร่วมไปกับยาสังเคราะห์เพื่อช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วย และได้มีการเลือกใช้เห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีอาการดื้อยา โดยใช้ยาจากเห็ดหลินจือในแคปซูลร่วมกับยาขยายหลอดเลือดพบว่าสารที่เสริมการอักเสบมีภาวะลดน้อยลง สารต้านการอักเสบมีภาวะที่สูงขึ้นและช่วยให้การตายของเซลล์บุผิวหลอดเลือดลดลง จึงมีเลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น เพิ่มอัตราการกรองของเสีย ลดปริมาณโปรตีนและไข่ขาวที่รั่วออกมาในปัสสาวะ และช่วยฟื้นฟูสมรรถนะการทำงานของไตได้ดีขึ้น เป็นการยืดอายุการเข้าสู่ภาวะไตวายได้
แนวคิดในการวิจัย
ประโยชน์ของเห็ดหลินจือในการเป็นเห็ดสมุนไพรเพื่อช่วยบำรุงร่างกาย ป้องกันโรคและรักษาโรคหลายชนิดทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้นเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน ผู้เพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือโดยทั่วไปให้ความเห็นว่าเห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่ยังคงผลิตเพื่อการจำหน่ายได้เรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นเห็ดที่ผลิตเพื่อการแปรรูปไม่ได้ผลิตเป็นเห็ดสดและถ้าหากได้เรียนรู้วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวดอกเห็ดแล้วจะยังคงยึดการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือเป็นอาชีพไปได้เรื่อย ๆ จากคุณสมบัติทั้ง 2 ด้านที่กล่าวนี้ คือ เป็นเห็ดที่ใช้การแปรรูปและเป็นเห็ดสมุนไพรที่ได้รับความนิยมตลอดมา จึงเล็งเห็นว่านอกจากจะมีการสนับสนุนให้มีการเพาะเห็ดชนิดนี้มากขึ้นในกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจแล้วยังมีแนวคิดว่าน่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชน การคมนาคมขนส่งไม่ค่อยสะดวกได้เริ่มการเพาะเห็ดหลินจือเพื่อเป็นกิจกรรมเสริมการเกษตรที่ทำอยู่หรือเป็นอาชีพเสริมการประกอบอาชีพอื่นของคนทั่วไปได้ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้จำหน่ายในลักษณะของเห็ดแห้งหรือเห็ดที่แปรรูปได้เองในครัวเรือนแล้วส่งจำหน่ายไปยังที่อื่น ๆ ทำให้ปัญหาด้านการขนส่งหมดไป แตกต่างจากเห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ซึ่งผลิตในรูปของเห็ดสดจึงต้องส่งสู่ตลาดโดยเร็วและตกค้างไม่ได้
เมื่อสร้างแนวคิดให้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือในที่ห่างไกลจึงต้องมีการศึกษาทดลองในการดัดแปลงวิธีการเลี้ยงเพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการเสาะหาวัสดุจำเป็นที่ต้องใช้ในการเพาะเลี้ยง เช่น วัสดุที่ใช้ประกอบเป็นอาหารสำหรับเพาะเชื้อเห็ดให้เป็นวัสดุที่หาง่ายและมีอยู่ในบริเวณท้องที่เพื่อเป็นการลดปัจจัยจำกัดของการผลิต และวัสดุที่จะต้องศึกษาเพื่อหาสิ่งอื่นมาทดแทนนั้นเป็นวัสดุที่ต้องใช้ในปริมาณมาก เช่น วัสดุที่เป็นส่วนประกอบของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเส้นใยให้เจริญไปเป็นดอกเห็ด ซึ่งในที่นี้คือวัสดุเนื้อไม้ซึ่งเป็นวัสดุอาหารโดยตรงของเห็ดหลินจือ จึงต้องศึกษาทดลองศักยภาพของชนิดของขี้เลื่อยที่สามารถหาได้ในพื้นที่ของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของโครงการ
-
วิธีดาเนินการ
การศึกษาทดลองครั้งนี้เป็นการทดสอบการใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาเพื่อเป็นวัสดุหลักในก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือร่วมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นขี้เลื่อยชนิดที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยมีจุดมุ่งหมายในการสังเกตผลของการทดแทนของขี้เลื่อยไม้ฉำฉากับขี้เลื่อยไม้ยางพารา ในแง่ของการให้ผลผลิตดอกเห็ดเป็นประการหลัก
วิธีการดำเนินการวิจัยมีดังนี้
1. การเตรียมหัวเชื้อบริสุทธิ์
เตรียมหัวเชื้อบริสุทธิ์เพื่อเลี้ยงเส้นใยเห็ดหลินจือ โดยใช้สูตรการเตรียมอาหารวุ้น potato-dextrose-agar หรืออาหาร PDA ตามวิธีการมาตรฐานโดยทั่วไป ส่วนผสมที่ใช้คือ มันฝรั่ง 200 กรัม ผงวุ้น 20 กรัม น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม และน้ำสะอาด
การเตรียมเริ่มจากนำหัวมันฝรั่งไปล้างให้สะอาด ปอกเปลือก หั่นเป็นแว่น แล้วนำไปชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม ตั้งน้ำสะอาดปริมาตร 1.2 ลิตรบนเตาจนน้ำเดือด ใส่มันฝรั่งที่เตรียมไว้ลงไป ต้มจนมันฝรั่งเปื่อย ยกลง กรองเอาแต่น้ำ ตวงให้ได้ปริมาตร 1 ลิตร แล้วนำไปตั้งบนเตาอีกครั้งจนเดือด ชั่งผงวุ้นหนัก 20 กรัมเติมลงไปในน้ำมันฝรั่งต้มนั้นพร้อมกับน้ำตาลกลูโคส 20 กรัม ต้มต่อจนกระทั่งทุกส่วนละลายเป็นเนื้อเดียวกันจึงนำไปกรอกลงขวดแก้วแบน
นำขวดแก้วแบนที่ล้างสะอาดแล้วมากรอกส่วนผสมของอาหารวุ้นที่เตรียมไว้แล้วลงไปในขวดให้แต่ละขวดมีอาหารวุ้นบรรจุอยู่สูงจากก้นขวดขึ้นมา 2-3 เซนติเมตร ปิดปากขวดด้วยจุกสำลีแล้วทับด้วยแผ่นกระดาษ รัดด้วยยาง จากนั้นนำขวดอาหารทุกขวดไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 30 นาที เมื่อครบกำหนดนำขวดอาหารออกจากหม้อนึ่งแล้ววางลงบนโต๊ะหรือบนพื้นให้ขวดเอียงประมาณ 15 องศา เพื่อให้มีพื้นที่ของอาหารวุ้นให้มากขึ้น ทิ้งไว้จนอาหารวุ้นในขวดเย็นลงและแข็งตัวจึงนำไปดำเนินการเขี่ยเชื้อต่อไป
2. การเลี้ยงเชื้อเห็ดหลินจือบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อดอกเห็ด
เลือกดอกเห็ดหลินจือที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ ดอกเห็ดนั้นต้องเป็นดอกที่หมวกดอกยังไม่บานหรือบานเล็กน้อย เมื่อได้ดอกเห็ดตามที่ต้องการจึงนำไปเขี่ยเชื้อในตู้ปลอดเชื้อที่เตรียมอุปกรณ์การเขี่ยเชื้อไว้ภายในตู้เรียบร้อยแล้วพร้อมกับขวดอาหารวุ้น PDA ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ
เช็ดผิวนอกของดอกเห็ดด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ ใช้มีดคมที่ลนไฟแล้วเฉือนดอกเห็ด ฉีกแยกดอกเห็ดออก ใช้เข็มเขี่ยที่ผ่านการลนไฟจิกเนื้อเยื่อดอกเห็ดด้านในออกมาแล้ววางลงไปบนผิวหน้าอาหารวุ้นในขวด PDA ที่เปิดจุกรอไว้แล้ว ปิดจุกไว้ดังเดิม นำขวดอาหารที่มีแผงเส้นใยอยู่ภายในไปบ่มในห้องที่มีอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส แล้วคอยสังเกตการเดินของเส้นใยบนผิวอาหารวุ้น เส้นใยที่เจริญเป็นปกติจะมีสีขาวในระยะแรกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน รอจนกระทั่งเส้นใยเต็มผิวอาหารแล้วจึงนำเส้นใยในขวดอาหารไปขยายเชื้อในอาหารเมล็ดธัญพืชต่อไป
3. การขยายเชื้อ
การขยายเชื้อเห็ดหลินจือจากเชื้อบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้น PDA เป็นการขยายเส้นใยในอาหารเมล็ดธัญพืช ซึ่งในการทดลองนี้ใช้เมล็ดข้าวฟ่างเป็นอาหารขยายเชื้อ ทำโดยการคัดเมล็ดข้าวฟ่าง แช่ไว้ในน้ำ ทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำไปต้มให้พอสุกแต่ด้านนอก สังเกตได้จากการที่เปลือกเมล็ดข้าวฟ่างปริออกเห็นเนื้อด้านในของเมล็ดเป็นสีขาว จากนั้นนำออกไปผึ่งบนตะแกรงพอหมาดแล้วจึงบรรจุลงขวดกลมหรือแบน บรรจุเมล็ดลงไปเพียง 2 ใน 3 ของความจุของขวด อุดปากขวดด้วยจุกสำลี ปิดกระดาษทับก่อนรัดปากขวดด้วยยาง นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 30 นาที เมื่อครบเวลานำขวดออกมาวางทิ้งไว้ให้เย็นลง แล้วนำไปเขี่ยเชื้อจากขวดอาหารวุ้น PDA ลงขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่าง การเขี่ยเชื้อทำในตู้เขี่ยเชื้อเช่นกันด้วยอุปกรณ์และวิธีเขี่ยเชื้อแบบเดียวกัน เขี่ยเชื้อโดยการใช้เข็มเขี่ยที่ลนไฟแล้วจิกวุ้นที่มีเส้นใยคลุมอยู่หนาแน่นออกมาจากขวดอาหารวุ้น ถ่ายลงไปในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ใส่ชิ้นวุ้นที่มีขนาดปริมาณ 1 ตารางเซนติเมตรลงไปตรงกลางขวด ปิดจุกขวดกลับคืน รัดยางแล้วเขย่าขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายและชิ้นวุ้นตกลงไปอยู่บริเวณกลางขวด
นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่เขี่ยถ่ายเส้นใยลงไปแล้วนั้นไปบ่มไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส นาน 10-15 วัน คอยสังเกตว่าภายในขวดมีเส้นใยของเห็ดหลินจือเดิน
อยู่เต็มขวดแล้วจึงนำไปเขี่ยลงก้อนเชื้อเพื่อเลี้ยงเส้นใยให้เป็นดอกเห็ดต่อไป
4. การเตรียมก้อนเชื้อ
อาหารที่ใช้เลี้ยงเส้นใยของเห็ดหลินจือเพื่อให้พัฒนาเป็นดอกเห็ดนั้นเป็นก้อนเชื้อที่ใช้วัสดุเป็นขี้เลื่อย 2 ชนิด คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นขี้เลื่อยชนิดที่ใช้กันโดยทั่วไป ส่วนขี้เลื่อยอีกชนิดหนึ่ง คือ ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาซึ่งนำมาทดลองเพื่อการทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา โดยมีกรรมวิธีของขี้เลื่อยในก้อนเชื้อดังนี้
กรรมวิธีที่ 1
|
ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นส่วนผสมคือขี้เลื่อยไม้ยางพารา
|
100 เปอร์เซ็นต์
|
กรรมวิธีที่ 2
|
ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นส่วนผสมคือขี้เลื่อยไม้ยางพาราและไม้ฉำฉา
|
75 : 25 เปอร์เซ็นต์
|
กรรมวิธีที่ 3
|
ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นส่วนผสมคือขี้เลื่อยไม้ยางพาราและไม้ฉำฉา
|
50 : 50 เปอร์เซ็นต์
|
กรรมวิธีที่ 4
|
ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นส่วนผสมคือขี้เลื่อยไม้ยางพาราและไม้ฉำฉา
|
25 : 75 เปอร์เซ็นต์
|
กรรมวิธีที่ 5
|
ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นส่วนผสมคือขี้เลื่อยไม้ยางพาราและไม้ฉำฉา
|
0 : 100 เปอร์เซ็นต์
|
ส่วนวิธีการเตรียมวัสดุที่เป็นส่วนผสมของอาหารก้อนเชื้อนั้นทำโดยการผสมส่วนผสมซึ่งประกอบด้วยขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม ปูนขาว 1 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม และน้ำสะอาดสำหรับปรับความชื้นของอาหารผสมให้เป็น 50-60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นส่วนผสมนั้นใช้สัดส่วนของขี้เลื่อยไม้ยางพาราและขี้เลื่อยไม้ฉำฉาตามที่ระบุไว้ในกรรมวิธีทั้ง 5 ดังกล่าวแล้วข้างต้น
เมื่อผสมส่วนประกอบของวัสดุก้อนเชื้อตามที่กำหนดไว้แล้ว จึงนำไปบรรจุลงในถุงพลาสติกทนร้อนที่มีความจุวัสดุก้อนเชื้อถุงละ 800 กรัม อัดวัสดุให้แน่นแล้วใส่คอขวดที่เป็นพลาสติกไว้ที่ปลายถุงก้อนเชื้อ อุดด้วยจุกสำลี ปิดทับด้วยกระดาษ แล้วรัดยางให้แน่น นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งไอน้ำแบบพื้นบ้าน หลังจากน้ำในหม้อนึ่งเดือดเต็มที่ให้นึ่งต่อไปจนครบ 3 ชั่วโมงตามกำหนดแล้วจึงนำก้อนเชื้อออกมาเรียงไว้ในห้องจนถุงก้อนเชื้อเย็นลงจึงนำไปถ่ายเชื้อจากขวดอาหารเมล็ดข้าวฟ่าง
การถ่ายเส้นใยจากขวดเมล็ดข้าวฟ่างทำในห้องสะอาดที่ไม่มีลมโกรกใช้อุปกรณ์การเขี่ยเชื้อเหมือนกับที่เขี่ยถ่ายเชื้อทุกครั้งถ่ายเส้นใยโดยการเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเส้นใยคลุมจนมิดลงไปในก้อนเชื้อ 15-20 เมล็ด รีบปิดจุกถุงก้อนเชื้อดังเดิม แล้วนำก้อนเชื้อที่ถ่ายเส้นใยแล้วไปบ่มเชื้อในห้องหรือโรงเรือนที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ภายในห้องหรือโรงเรือนควรมีอากาศถ่ายเทดี และค่อนข้างมืด บ่มไว้จนกระทั่งก้อนเชื้อมีเส้นใยเดินจนเต็มก้อนซึ่งเส้นใยเห็ดหลินจือจะเดินจนเต็มก้อนเชื้อในเวลา 1 เดือนครึ่งจนถึง 2 เดือน
5. การเปิดดอกเห็ด
นำก้อนเชื้อที่พร้อมสำหรับการเปิดดอกไปไว้ในโรงเรือนเปิดดอกที่รักษาความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนไว้ 75-85 เปอร์เซ็นต์ เมื่อจะเปิดดอกจึงดึงจุกสำลีออกแล้วสังเกตการออกดอกจากปากถุงก้อนเชื้อ
6. การบันทึกข้อมูลผลผลิตดอกเห็ด
บันทึกข้อมูลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนของการพัฒนาขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ระยะที่เส้นใยเดินในก้อนเชื้อไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเห็ดวิเคราะห์ผลการทดลองที่ได้จากกรรมวิธีต่าง ๆ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม
ผลการศึกษาทดลองวิจัย
การทดลองใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาแทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราในส่วนผสมหลักของวัสดุก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือโดยใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา 0, 25, 75 และ 100 เปอร์เซ็นต์ นั้นได้ผลดังนี้
1. ระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญของเส้นใย จากวันถ่ายเชื้อเส้นใยจนถึงวันที่เส้นใยเดินจนเต็มถุงก้อนเชื้อ แสดงไว้ในตารางที่ 2 จากตารางจะเห็นว่าเส้นใยใช้เวลาในการเจริญจนเต็มถุงก้อนเชื้อด้วยระยะเวลาที่แตกต่างกัน กรรมวิธีที่ใช้เวลาน้อยที่สุด คือ กรรมวิธีที่มีขี้เลื่อยไม้ฉำฉา 100 เปอร์เซ็นต์ในส่วนผสม โดยใช้เวลาเพียง 24 วันโดยเฉลี่ย ส่วนกรรมวิธีที่ใช้ระยะเวลานานที่สุดคือกรรมวิธีที่มีขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นส่วนผสม 75 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กรรมวิธีที่มีส่วนผสมขี้เลื่อยทั้ง 2 ชนิดในสัดส่วนที่แตกต่างกันนั้นพบว่าก้อนเชื้อที่มีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ฉำฉาในสัดส่วนที่มากกว่าเป็นกรรมวิธีที่ใช้เวลาน้อยกว่า ซึ่งจากผลการทดลองที่ได้นี้จะเห็นว่าขี้เลื่อยไม้ฉำฉาให้ผลในการเป็นวัสดุอาหารในก้อนเชื้อดีกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพารา
2. ผลผลิตดอกเห็ดสด ข้อมูลของการบันทึกปริมาณรวมของเห็ดหลินจือที่เก็บเกี่ยวจากก้อนเชื้อของกรรมวิธีต่าง ๆ แสดงไว้ในตารางที่ 2 ซึ่งจะเห็ดได้ว่าก้อนเชื้อที่มีขี้เลื่อยไม้ฉำฉาเป็นส่วนผสมในอัตราส่วน 25, 50 และ 100 เปอร์เซ็นต์ นั้นแสดงผลชัดเจนว่าให้ผลผลิตดอกเห็ดดีกว่ากรรมวิธีควบคุมซึ่งไม่มีขี้เลื่อยไม้ฉำฉาเป็นส่วนผสม และกรรมวิธีที่มีขี้เลื่อยทั้ง 2 อย่างผสมรวมกันให้ผลดีกว่าการใช้ขี้เลื่อยแต่ละชนิดแต่เพียงอย่างเดียว
3. การปนเปื้อนของก้อนเชื้อ จากตารางที่ 2 จะเห็นว่ามีการปนเปื้อนในก้อนเชื้อของทุกกรรมวิธี โดยที่ก้อนเชื้อกรรมวิธีควบคุมมีการปนเปื้อนในอัตราที่สูงกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ คือ สูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์
4. ช่วงความยาวนานในการให้ผลผลิตดอกเห็ด ผลการบันทึกแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกรรมวิธีในแง่ของความยาวนานในการให้ผลผลิต กล่าวคือ สามารถเก็บเกี่ยวดอกเห็ดจากก้อนเชื้อในทุกกรรมวิธีได้นานเท่ากัน คือ 90 วัน (ตารางที่ 2)
ตารางที่2
|
ระยะเวลาเฉลี่ยในการเจริญของเส้นใยจนเต็มก้อนเชื้อ ผลผลิตดอกเห็ด เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนของก้อนเชื้อและความยาวนานของช่วงให้ผลผลิตของเห็ดหลินจือที่เพาะเลี้ยงในก้อนเชื้อกรรมวิธีต่าง ๆ
|
กรรมวิธี
|
ระยะเวลา
การเดินเส้นใย (วัน)
|
ผลผลิตดอกเห็ด
กิโลกรัม/ก้อนเชื้อ 100 ก้อน
|
เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อน
|
ช่วงการเก็บเกี่ยว
ผลผลิต (วัน)
|
1
2
3
4
5
|
32
37
32
28
24
|
1.0
2.4
2.4
2.5
2.0
|
62
19
28
4
34
|
90
90
90
90
90
|
ผลที่ได้จากการทดลองครั้งนี้แสดงแนวโน้มของศักยภาพในการใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาเพื่อแทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราในการเป็นวัสดุหลักของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือ เนื่องจากก้อนเชื้อที่มีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ฉำฉาให้ผลดีกว่าก้อนเชื้อที่มีขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นส่วนผสมในทุก ๆ ด้านของการบันทึกผลยกเว้นช่วงความยาวนานของการให้ผลผลิตดอกเห็ดซึ่งไม่แตกต่างกัน ทำให้สามารถวิเคราะห์และให้ความเห็นว่าในพื้นที่ซึ่งมีการใช้ประโยชน์ไม้ฉำฉาในเชิงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก/ใหญ่นั้นสามารถเสาะหาขี้เลื่อยซึ่งเป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมหลักนั้น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการทำวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือ โดยที่ขี้เลื่อยของไม้ฉำฉาไม่ได้เป็นที่ต้องการในการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ดังนั้นจึงไม่มีความต้องการขี้เลื่อยไม้ฉำฉาเป็นจำนวนมากจนเกิดการขาดแคลน ทำให้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉานี้หาได้ไม่ยากและราคาไม่แพงเหมือนกับขี้เลื่อยของไม้ยางพาราซึ่งมีความต้องการใช้กันค่อนข้างสูงและมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ
เมื่อเป็นเช่นนี้แนวโน้มในการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือในท้องที่ซึ่งมีปัจจัยข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้นจึงมีความเป็นไปได้สูง สามารถพัฒนาจนถึงขั้นของการขยายผลได้ในเวลาต่อไป ทั้งนี้การศึกษาทดลองในลักษณะนี้ซึ่งเป็นการทดสอบความเป็นไปได้และศักยภาพในการใช้วัสดุที่หาง่ายภายในท้องถิ่นมาเป็นวัสดุทดแทนส่วนที่หายากและราคาแพงจึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ ต่อไป
สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
การศึกษาศักยภาพของการใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราในการเตรียมก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือนั้นพบว่าขี้เลื่อยไม้ฉำฉาสามารถใช้แทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราได้เป็นอย่างดีและให้ผลในทุกด้านที่ศึกษาเหนือกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพารา ทั้งในแง่ของการให้ผลผลิตดอกเห็ด การเร่งการเจริญของเส้นใยในก้อนเชื้อและการลดการปนเปื้อนของก้อนเชื้อ มีเพียงแต่ความยาวนานในการให้ผลผลิตของดอกเห็ดเท่านั้นที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ผลการทดลองสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงและผลิตดอกเห็ดหลินจือเพื่อการค้าในท้องถิ่นที่มีการใช้ไม้ฉำฉาในเชิงอุตสาหกรรมเนื่องจากขี้เลื่อยไม้ชนิดนี้ซึ่งเป็นผลพลอยได้มีในปริมาณมากพอที่จะให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดได้นำมาใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย