ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

แนวทางและวัตถุประสงค์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ


จากพระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๖ สามารถสรุปแนวทางและวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนา ได้ดังนี้คือ

๑.ทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาทางด้านต่างๆให้เหมาะสมสอดคล้อง กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จึงเปรียบเสมือน “ตัวแบบ” ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางและตัวอย่างของผลสำเร็จให้แก่พื้นที่อื่นๆโดยรอบได้ทำการศึกษา

๒.การแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติ และประชาชน การศึกษา ค้น คว้า ทดลอง วิจัยต่างๆ ที่ได้ผลแล้วควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯควรเป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติ เป็นแหล่งความรู้ของราษฎร เป็นแหล่งศึกษาทดลองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างคน 3 กลุ่ม คือ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริม และราษฎร

๓.การพัฒนาแบบผสมผสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวความคิดแบบสหวิทยาการ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่นั้นๆ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯแต่ละแห่งจะเป็นแบบจำลองของพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่ควรจะเป็น เพื่อเป็นตัวอย่างว่าในพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ลักษณะหนึ่งๆนั้น จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้โดยวิธีใดบ้าง มิใช่การพัฒนาเฉพาะทางใดทางหนึ่งแต่พยายามใช้ความรู้มากสาขามากที่สุด แต่ละสาขาให้เป็นประโยชน์เกื้อหนุนกับการพัฒนาสาขาอื่นๆ และระบบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯควรเป็นการผสมผสานไม่เพียงเฉพาะเรื่องความรู้เท่านั้น แต่ต้องมีการผสมผสานการดำเนินงานและการบริหารที่เป็นระบบด้วย

๔.การประสานงานระหว่างส่วนราชการ เป็นแนวทางและวัตถุประสงค์ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง เนื่องจากกระบวนการพัฒนาและ ระบบราชการไทยมีปัญหานี้โดยพื้นฐาน เป็นสิ่งบั้นทอนประสิทธิภาพและผลสำเร็จของงานลงอย่างน่าเสียดาย แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯทุกแห่งจึงเน้นการประสานงาน การประสานแผน และการจัดการระหว่างกรม กอง และส่วนราชการต่างๆ

๕.เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) กล่าวคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ มีการศึกษาทดลอง และสาธิต ให้เห็นถึง ความสำเร็จของการดำเนินงานพร้อมๆกันในทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนการพัฒนาทางด้านสังคม และงานศิลปาชีพ ในลักษณะของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เมื่อผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงานโดยจะมีให้ดูได้ทุกเรื่องในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯทั้งหมด ผู้สนใจหรือเกษตรกรจะได้รับความรู้รอบด้าน อีกทั้งมีความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การได้รับประโยชน์สูงสุด

ผลการศึกษาของแต่ละศูนย์นั้น จะเป็นความรู้ที่นำไปส่งเสริมให้กับประชากรเป้าหมายและมีการสาธิตไว้ในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ประชากรที่อยู่ในหมู่บ้านรอบๆพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯจะเป็นประชากรเป้าหมายกลุ่มแรกที่จะได้รับประโยชน์ กล่าวคือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องงานส่งเสริมจะนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯที่ได้ผลดีไปแนะนำให้กับเกษตรกรหมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งก่อนนี้เรียกว่า “หมู่บ้านบริวาร” แต่ปัจจุบันได้เรียกว่า “หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ” แต่ละศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯจะมีประชากรหมู่บ้านรอบศูนย์ยู่ประมาณ ๑๐-๒๕ หมู่บ้าน ในการส่งเสริมนั้นทำหลายวิธีด้วยกัน ทั้งนี้แล้วแต่สภาพสังคมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เช่น ให้เกษตรกรเข้ามารับการอบรมในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯหลักสูตรต่างๆเช่น การเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ การขยายพันธุ์พืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมออกไปแนะนำส่งเสริมในหมู่บ้าน หรือเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯด้วยตนเองหรือเข้ามาเป็นหมู่คณะ

เมื่อการส่งเสริมให้หมู่บ้านรอบศูนย์ได้ผลในระดับหนึ่งแล้ว หมู่บ้านเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นหมู่บ้านตัวอย่างให้เกษตรกรพื้นที่อื่นๆ ที่ห่างออกไปได้เข้ามาศึกษาและดูงานได้และการขยายผลการส่งเสริมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯจะสามารถขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ

ของแต่ละภูมิภาคนั้นๆ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละภูมิภาคอาจจะมีเรื่องปลีกย่อยที่ควรจะได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม และพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่แยกออกไปในพื้นที่อื่น เพื่อให้การดำเนินงานเหล่านั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดให้มี “ศูนย์สาขา” เพื่อทำการศึกษาเป็นการเฉพาะเรื่อง เฉพาะพื้นที่นั้นๆ และผลที่ได้จากการศึกษาจักได้ส่งเสริมให้เกษตรนำไปใช้ในการประกอบอาชีพเช่นกัน