ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

การศึกษาทดลองสูตรอาหารโดยใช้วัสดุเพาะจอกหูหนูแห้งและ ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน

ปีที่เริ่มวิจัย
ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
สาขางานวิจัย

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

เห็ดเพาะเลี้ยงที่จำหน่ายอยู่ในตลาดทั่วไปในปัจจุบันเป็นเห็ดในกลุ่มของเห็ดนางรมหรือเห็ดในสกุล Pleurotus เสียเป็นส่วนใหญ่ เห็ดกลุ่มนี้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้าอย่างกว้างขวางและมีวางตลาดอยู่ตลอดปี เห็ดดังกล่าวถ้าไม่สังเกตให้ชัดเจนจะแยกไม่ออกว่าเป็นชนิดหรือสายพันธุ์ที่แตกต่างกันเนื่องจากรูปร่างของดอกเห็ดคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันเพียงที่สีของดอกเห็ดที่ช่วยให้แยกชนิดและสายพันธุ์ออกจากกันได้ง่ายขึ้น และแตกต่างกันที่บางสายพันธุ์เพาะเลี้ยงได้ในบางช่วงของปีเนื่องจากมีความต้องการจำเพาะด้านอุณหภูมิในช่วงที่แคบกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

 

เห็ดนางฟ้าภูฐาน

เห็ดนางฟ้าภูฐาน (Bhutan oyster mushroom) เป็นเห็ดที่แยกชนิดออกมาจากเห็ดนางรมโดยทั่วไป กล่าวคือ เป็นเห็ดชนิด Pleurotus eous (Berkeley) Saccardo ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น สามารถสังเกตความแตกต่างจากเห็ดนางรมอื่น ๆ ได้จากสีของดอกเห็ดซึ่งมีสีค่อนไปทางสีน้ำตาล (ภาพที่ 1) เห็ดนางฟ้าภูฐานนี้สามารถเพาะเลี้ยงได้ไม่ยากนักโดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงแบบเดียวกับเห็ดนางรมโดยทั่วไป แต่เพาะเลี้ยงได้ในช่วงเวลาที่แคบกว่าเห็ดนางรม เนื่องจากเห็ดนางฟ้าภูฐานต้องการอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียสในการเจริญเติบโต จึงต้องเริ่มเตรียมการเพาะเลี้ยงในช่วงปลายฤดูฝนเพื่อจะได้

ภาพที่ 3   ดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานในสภาพที่สมบูรณ์เต็มที่

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางฟ้าภูฐาน

ด้วยเหตุที่เห็ดนางฟ้าภูฐานเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศต้นกำเนิดซึ่งเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น เป็นสภาพภูมิอากาศในแถบอบอุ่น ดังนั้นเห็ดสายพันธุ์นี้จึงมีความต้องการสภาพพิเศษในการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตดอกเห็ดที่สมบูรณ์ในปริมาณที่คุ้มทุนในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางฟ้าภูฐานมีดังนี้

1. อุณหภูมิ ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดนางฟ้าภูฐานอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในช่วงนี้จะช่วยให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็ว ส่วนอุณหภูมิที่กระตุ้นให้เส้นใยพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถนำไปปรับใช้เพื่อดัดแปลงให้โรงบ่มก้อนเชื้อและโรงเปิดดอกเห็ดมีสภาพของอุณหภูมิตรงตามที่ต้องการในช่วงของการเจริญเติบโตช่วงต่าง ๆ

2. ความชื้น ปัจจัยของความชื้นที่มีผลต่อการเจริญและพัฒนาของเห็ดนางฟ้าภูฐานในการเพาะเลี้ยงมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ สภาพของความชื้นในก้อนเชื้ออันเป็นความชื้นของอาหารผสมที่ใช้เตรียมก้อนเชื้อ เมื่อเตรียมก้อนเชื้อเรียบร้อยแล้วภายในก้อนเชื้อควรจะมีความชื้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสภาพของความชื้นในช่วงเปิดดอกเห็ดนั้นภายในโรงเรือนเปิดดอกควรจะมีความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศเป็น 90 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ถ้าต่ำกว่านั้นหรือภายในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดมีความชื้นสัมพัทธ์ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ผลผลิตของดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานต่ำและมีโรคแมลงเข้ามารบกวนได้มาก

3. อากาศ เส้นใยของเห็ดนางฟ้าภูฐานเมื่อขาดกาซออกซิเจนในบรรยากาศจะไม่สามารถพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ ดอกเห็ดที่เกิดออกมาจากก้อนเชื้อที่บ่มและเปิดก้อนเชื้อภายในโรงเรือนเปิดดอกที่มีการระบายอากาศไม่ดีหรือมีการถ่ายเทอากาศไม่ดีจะมีลักษณะผิดปกติ และไม่ค่อยมีการสร้างดอกเห็ด จึงได้ผลผลิตดอกเห็ดสดต่ำ

4. แสงสว่าง ปัจจัยของแสงสว่างนี้แม้ว่าจะมีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยอื่น ๆ เพราะว่าเส้นใยของเชื้อเห็ดต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ซึ่งไม่มีแสง หรือมีแสงเพียงเล็กน้อย แต่การที่เส้นใยของเห็ดนางฟ้าภูฐานจะพัฒนาเป็นตุ่มดอกและออกดอกได้ดีนั้นจำเป็นจะต้องมีแสงสว่างในระดับหนึ่ง

5. สารอาหาร การเจริญเติบโตและพัฒนาของเส้นใยของเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐานต้องอาศัยสารอาหารที่เพียงพอ ดังนั้นในก้อนเชื้อจะต้องมีวัสดุที่เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของเส้นใยจนพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด

6. ความเป็นกรดเป็นด่าง เห็ดนางฟ้าภูฐานเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่มีสภาพความเป็นกรดเป็นด่างหรือ pH ในระดับ 5-7 คือ ค่อนข้างเป็นกรดไปจนถึงเป็นกลาง

 

วัสดุเพาะเลี้ยงเห็ด

กล่าวได้ว่าศักยภาพในการย่อยสลายเศษเหลือของวัสดุอินทรีย์แล้วหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์โดยผ่านการทำงานของเชื้อรา (fungi) เป็นศักยภาพที่ไร้ขอบเขต เห็ดราซึ่งเป็นเชื้อรากลุ่มหนึ่งนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนวัสดุที่แตกต่างไปจากชนิดที่มีในถิ่นกำเนิดของเห็ดราเหล่านั้น ดังเห็นได้จากเห็ดนางรม (oyster mushroom) ซึ่งโดยปกติแล้วในสภาพธรรมชาติพบขึ้นอยู่ในป่าผลัดใบ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงบนวัสดุอินทรีย์อื่น ๆ กลับเจริญเติบโตได้ไม่แพ้การเจริญบนไม้ผุ วัสดุอินทรีย์เหล่านั้นตัวอย่างเช่น ฟางของธัญพืช ซังข้าวโพด เปลือกเมล็ดของพืชต่าง ๆ กากเมล็ดกาแฟ ชานอ้อย กระดาษ และผลพลอยได้จากกระดาษ และวัสดุอื่น ๆ อีกมากมาย เห็ดราหลายชนิดสามารถขึ้นได้บนวัสดุอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเนื้อไม้ผุทำให้ผู้เพาะเลี้ยงเห็ดมีโอกาสค่อนข้างกว้างขวางในการเพาะเลี้ยงเห็ดราชนิดต่าง ๆ ที่รับประทานได้เป็นการค้าหรือเป็นอาชีพ วัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดได้และเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นทั่วไปมีดังนี้

1. เศษซากพืช บนพื้นฐานที่ว่าเห็ดราสามารถย่อยสลายวัสดุอินทรีย์หรือเศษซากของวัสดุอินทรีย์ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อพืชไปเป็นอาหารสำหรับการมีชีวิตนั้นทำให้ผู้คนที่มีสวนภายในบริเวณบ้านใช้วัสดุเศษเหลือภายในสวนหรือในบริเวณบ้านมาใช้เพาะเลี้ยงเห็ดบางชนิดเพื่อบริโภคภายในครอบครัว

2. ขี้เลื่อย วัสดุที่นอกเหนือจากเศษซากพืชที่เหมาะสมในการใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมและเห็ดอื่น ๆ คือ ขี้เลื่อยของไม้ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะชนิดที่เนื้อไม้ย่อยสลายได้ง่าย เช่น ไม้ที่ไม่ทนต่อโรคและแมลง ไม้พวกนี้จะย่อยสลายได้เร็วและช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้รวดเร็ว การใช้ขี้เลื่อยเพาะเลี้ยงเห็ดนั้นผู้เพาะเลี้ยงมักจะชอบใช้ขี้เลื่อยของไม้เนื้อแข็งมากกว่าไม้เนื้ออ่อน และในบางครั้งโดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเห็ดบางชนิดขี้เลื่อยของไม้เพียงชนิดเดียวให้ผลดีน้อยกว่าเมื่อใช้ขี้เลื่อยของไม้หลายชนิดมาปนกัน ซึ่งขี้เลื่อยไม้ชนิดใดจะเหมาะสมต่อเห็ดชนิดใดนั้นเป็นสิ่งที่ต้องมีการทดลองเพื่อได้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จากข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่าเนื้อไม้ของไม้โตเร็วหลายชนิดให้ขี้เลื่อยที่เพาะเลี้ยงเห็ดได้ดีเนื่องจากว่าเป็นไม้ที่มีอัตราส่วนของกระพี้ที่เต็มไปด้วยแป้งมากกว่าแก่น ซึ่งน้ำตาลที่ได้จากแป้งจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกลุ่มเส้นใยทำให้มีการขยายปริมาณของเส้นใยให้เป็นกลุ่มก้อนได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้การศึกษาทดลองจะช่วยให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ว่าเห็ดชนิดใดจะเหมาะสมกับวัสดุเพาะขี้เลื่อยของไม้ชนิดใด

3. ฟางของธัญพืชต่าง ๆ ในการใช้วัสดุอินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนั้น เห็ดนางรมชอบฟางของธัญพืชมากกว่าวัสดุอื่น จะเป็นฟางข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต หรือ ข้าวไรย์ ก็ได้ วัสดุประเภทนี้เป็นวัสดุที่ซื้อหาได้ในราคาถูก และกองไว้ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดได้เป็นช่วงยาว การใช้ฟางเหล่านี้มักจะต้องนำฟางแห้งไปหมักให้มีการย่อยสลายเป็นบางส่วนเสียก่อนจึงจะนำไปเป็นวัสดุก้อนเชื้อ ด้วยการแช่ฟางแห้งที่สับเป็นท่อน ๆ ไว้แล้วในน้ำร้อน (71 องศาเซลเซียส) นาน 1-2 ชั่วโมง หรือหมักบนพื้นซีเมนต์โดยการวางฟางแห้งสับซ้อน ๆ กันไว้บนพื้นซีเมนต์หรือบนผ้าพลาสติกให้มีความหนาไม่เกิน 24 นิ้ว รดน้ำให้เปียก แล้วกลับกองฟางเป็นช่วง ๆ หมักไว้นาน 2-4 วัน จึงนำไปนึ่งฆ่าเชื้อก่อนใช้

4. กระดาษ ซึ่งรวมทั้งกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษแข็ง และ หนังสือต่าง ๆ การใช้กระดาษเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดเป็นที่นิยมกันในท้องที่ซึ่งขี้เลื่อยของไม้ต่าง ๆ หาได้ยาก เช่น ในท้องที่ซึ่งอยู่ไกลจากเมือง เป็นต้น กระดาษเป็นวัสดุซึ่งทำมาจากเส้นใยของ lignin และ cellulose ของเยื่อไม้ดังนั้นจึงสามารถเป็นแหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตให้กับเส้นใยของเห็ดที่ขึ้นตามท่อนไม้ในสภาพธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่การใช้กระดาษเป็นวัสดุทดแทนจะต้องคำนึงถึงพิษที่จะเกิดจากหมึกพิมพ์ด้วย

5. ซังข้าวโพดและก้านข้าวโพด ซึ่งย่อยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนั้นนับได้ว่าเป็นโครงสร้างที่ช่วยให้เส้นใยของเชื้อเห็ดขยายและเกาะแทรกไปตามช่องพรุนได้เป็นอย่างดี ทำให้เส้นใยเดินได้สะดวกและรวดเร็ว ผนังและหลุมที่เกิดจากการกะเทาะเมล็ดออกไปแล้วทำให้ซังข้าวโพดเป็นที่เกาะแทรกของเส้นใยที่แผ่ขยายได้อย่างเหมาะสม ในการเตรียมซังข้าวโพดเพื่อการเพาะเลี้ยงเห็ดทำโดยการนำซังเหล่านั้นมาย่อยให้เป็นชิ้น ๆ ขนาด 1-3 นิ้ว รดน้ำแล้วนำไปนึ่งที่ 71-82 องศาเซลเซียส นาน 2-4 ชั่วโมง

6. กาแฟและกล้วย กาแฟและกล้วยเป็นพืชที่ปลูกกันมากในเขตร้อนและกึ่งร้อนจึงมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือของกาแฟและกล้วยในการเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ด แต่การใช้เศษวัสดุจากพืช 2 ชนิดนี้เพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดในพื้นที่เขตร้อนนั้นปัญหาสำคัญมักจะมาจากการที่เศษวัสดุอินทรีย์ของพืชทั้ง 2 ย่อยสลายได้ในอัตราที่ค่อนข้างเร็วในสภาพที่มีอากาศร้อนและชื้น ซึ่งจะทำให้ก้อนเชื้อที่ทำจากวัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้หมดสภาพในการเป็นแหล่งอาหารให้กับเส้นใยได้รวดเร็วเกินไป และถ้าจะเลือกใช้เศษเหลือจากเมล็ดกาแฟและใบกล้วยจะต้องมีการนำเศษเหลือเหล่านั้นไปตากให้แห้งสนิทและเลือกใช้เฉพาะชิ้นส่วนที่ไม่มีเชื้อราต่าง ๆ ทั้งราสีดำและราสีเขียวเกาะอยู่บนเศษชิ้นส่วนเหล่านั้น เพราะจะทำให้การปนเปื้อนของก้อนเชื้อเกิดขึ้นได้ในอัตราที่สูงมากแม้ว่าจะมีการนึ่งฆ่าเชื้อก่อนก็ตาม เห็ดในสกุล Pleurotus ที่ชอบวัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ เช่น เห็ดนางรมสีทอง (Pleurotus citrinopileatus) เห็ดเป๋าฮื้อ (Pleurotus cystidiosus) เห็ดนางรมสีชมพู (Pleurotus djamor)
เห็ดนางรมทั่วไป (
Pleurotus ostreatus) และ เห็ดนางรมอินเดีย (Pleurotus pulmonarius) เป็นต้น

7. ชานอ้อย ชานอ้อยเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ที่มีมากมายในประเทศที่มีอุตสาหกรรมจากผลผลิตของอ้อย การใช้ชานอ้อยในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมทั้งหลายเป็นการใช้ชานอ้อยเพียงอย่างเดียวในการทำวัสดุก้อนเชื้อโดยไม่ต้องผสมวัสดุอื่น ๆ เพียงแต่นำไปนึ่งฆ่าเชื้อเท่านั้นก็เพียงพอ ทั้งนี้เป็นเพราะในชานอ้อยมีน้ำตาลหลงเหลืออยู่ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เส้นใยของเห็ดเติบโตเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นให้มีการพัฒนาเป็นตุ่มดอกเห็ดได้เร็วขึ้นด้วย สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่นที่จะต้องใช้ขี้เลื่อยการผสมเศษชานอ้อยแห้งลงไปด้วยจะช่วยเป็นอาหารเสริมให้กับก้อนเชื้อได้เป็นอย่างดี

8. เปลือกหุ้มเมล็ดของพืชต่าง เปลือกหุ้มเมล็ดพืชโดยเฉพาะเมล็ดฝ้ายซึ่งมีขนาดเป็นชิ้นส่วนที่พอเหมาะและเป็นวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ดีใช้เป็นวัสดุก้อนเชื้อที่ดีและถ้าผสมแคลเซียมซัลเฟต
และแคลเซียมคาร์บอเนตลงไป 5-7 เปอร์เซ็นต์แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อก็พร้อมที่จะนำก้อนเชื้อไปเขี่ยเส้นใยลงไปได้เลยโดยไม่ต้องใช้ส่วนผสมที่เป็นอาหารเสริมอื่น
ๆ อีกเลย เพราะในเปลือกเมล็ดฝ้ายมีไนโตรเจนในปริมาณที่มากกว่าในฟางของธัญพืช

เปลือกถั่วลิสงเป็นเปลือกเมล็ดพืชอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีไม่แพ้เปลือกเมล็ดฝ้ายเพราะในเปลือกมีไขมันและแป้งค่อนข้างสูงจึงสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยและดอกเห็ดได้ดี เมื่อจะใช้ให้นำเปลือกถั่วไปย่อยให้ได้ขนาด 1/4-3/4 นิ้ว รดน้ำแล้วนึ่งฆ่าเชื้อเป็นเวลานานหลายชั่วโมงก่อนนำไปใช้ เพราะว่าฝักถั่วลิสงเจริญเติบโตอยู่ใต้ดินจึงเสี่ยงต่อการมีเชื้อปนเปื้อนติดมา และถ้าใส่ยิปซัม 5 เปอร์เซ็นต์ลงไปในขณะเตรียมจะช่วยให้วัสดุก้อนเชื้อมีสภาพร่วนและมีช่องอากาศเพิ่มมากขึ้น

9. กากเต้าหู้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำเต้าหู้เป็นวัสดุอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการช่วยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มของเส้นใยของเชื้อเห็ดได้รวดเร็วขึ้น ใช้ได้ผลดีกับเห็ดหลายชนิดตั้งแต่เห็ดนางรมสายพันธุ์ต่าง ๆ ไปจนถึงเห็ดหลินเจือ (Ganoderma lucidum)

 

การสำรวจวัสดุเพาะเห็ดนางรมของโลก

การสำรวจวัสดุเพาะเห็ดนางรมของโลกมีความเป็นมาจากการวิเคราะห์ว่าประชากรโลกมีการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ในจำนวนที่มีการเพิ่มขึ้นนี้ครึ่งหนึ่งเป็นคนยากจน หิวโหย เจ็บป่วย หรืออยู่ในภาวะสงคราม ผู้คนเหล่านี้อยู่ในสภาวะขาดอาหารในรูปแบบต่าง ๆ จากการวิเคราะห์อีกเช่นกันแสดงให้เห็นข้อมูลว่าในพื้นที่เกษตรกรรมตามธรรมชาติ ตามท้องทุ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศต่าง ๆ นั้นมีเศษวัสดุเหลือทิ้งอยู่มากมาย วัสดุเหล่านั้นส่วนใหญ่จะถูกเผาเพื่อเป็นการกำจัดของเหลือ จึงมีการศึกษาและวิเคราะห์เศษซากเหลือจากภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมพบว่าฟางของธัญพืชที่ถูกเผาทิ้งไปในโลกร้อยละ 25 นั้นถ้านำมาเพาะเห็ดจะได้เห็ดสดปริมาณ 317 ล้านล้านกิโลกรัมต่อปี ทั้ง ๆ ที่ปริมาณการผลิตเห็ดสดที่เป็นตามจริงผลิตได้เพียง 6 ล้านล้านกิโลกรัมสำหรับคน 6 ล้านล้านคน การสำรวจในโครงการเดียวกันนี้ได้ระบุว่าวัสดุเหลือทิ้งในโลกซึ่งบันทึกในปี 2542 นั้นได้จากภาคเกษตรกรรมจำนวน 500 ล้านล้านกิโลกรัม และได้จากภาคป่าไม้ 100 ล้านล้านกิโลกรัม ซึ่งถ้าหากสามารถนำวัสดุแห้งเหลือทิ้ง 600 ล้านล้านกิโลกรัมนั้นมาเพาะเห็ดจะได้เห็ดสดมากถึง 360 ล้านล้านกิโลกรัมซึ่งสามารถกระจายให้ผู้ขาดแคลนอาหารได้เป็นจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้แล้วการสำรวจยังวิเคราะห์ไว้ด้วยว่าประเทศที่กำลังพัฒนาให้ความสนใจการเพาะเลี้ยงเห็ดด้วยมูลเหตุหนึ่งที่ว่าการเพาะเลี้ยงเห็ดเป็นการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจึงมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการหมุนเวียนเศษเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรเกษตรด้วยอีกประการหนึ่ง และในบรรดาเห็ดทั้งหลายที่มีการเพาะเลี้ยงกันนั้นเห็ดนางรมชนิดต่าง ๆ ตลอดจนเห็ดในสกุลเดียวกันเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็วเมื่อเพาะเลี้ยงในวัสดุเพาะที่เป็นเศษวัสดุอินทรีย์ที่เหลือใช้ จึงได้มีการสำรวจชนิดของวัสดุเพาะของเห็ดนางรมของโลกเพื่อเป็นข้อมูลให้ทราบถึงศักยภาพในการเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมของส่วนเหลือใช้ทางการเกษตรและป่าไม้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ ได้นำไปทดลองและปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

ผลของการสำรวจวัสดุเพาะเห็ดนางรมของโลกแยกออกตามกลุ่มของพืชได้ดังนี้

1. หญ้า มีการใช้หญ้าหลายชนิดในการเป็นวัสดุก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางรม เช่น ที่อินโดเนเซียมีการใช้หญ้า alang-alang หรือ Imperata cylindrica ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งของเอเชีย ส่วนในอินเดียมีการใช้หญ้าป่าซึ่งมีโปรตีน 3 เปอร์เซ็นต์ lignin 12 เปอร์เซ็นต์ hemicllulose 23% cellulose 18% ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมชนิด Pleurotus sapidus ในแซมเบียและแคมเมอรูนมีการใช้หญ้าช้าง (elephant grass : Pennisetum purpureum) ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรม

ในประเทศจีนมีการใช้หญ้าหลายชนิดในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรม ดังนี้

1.1 หญ้ายูงทองสีเทา (Neyrania reynaudiana)

1.2 หญ้าไม้กวาด (Miscanthus floridus)

1.3 หญ้า Miscanthus sinense

1.4 หญ้าดอกขาว (Themeda giganteam)

1.5 หญ้าคายชนิดต่าง ๆ เช่น หญ้าคายใหญ่และหญ้าคายหลวง (Arundinella hirta) หญ้าคายใหญ่และหญ้าคายหลวงชนิด Aonepalensis

1.6 หญ้าอาหารสัตว์ต่าง ๆ เช่น หญ้ากินนี หญ้าเนเปียร์ และ หญ้าขจรจบในสกุล Pennitum เดียวกัน และหญ้าซูดาน (Sorghum sudanese)

1.7 หญ้า Spartina cinglica, S. aticrniflora

1.8 หญ้าในสกุล Paspalum เช่น หญ้านมหนอน หญ้าเห็บ หญ้ากับแก หญ้าปล้องหิน หญ้าหวาย หญ้าสะกาดน้ำเค็ม หญ้าแพรกหางข้าว และ หญ้ารังตั๊กแตน เป็นต้น

1.9 หญ้าคา หญ้าคาหอม หญ้าจะใคร เชิงเกรย และ เหลอะเกรย (Cymbopogon citratus)

1.10 หญ้า Sorghum propinquum และ ข้าวฟ่างเลี้ยงนก ไข่มุก ข้าวฟ่างมิลเล็ต (Pennisetum spp.)

1.1.1 แขมหลวง แฝก แฝกน้ำ หญ้าโขมง โขมงแดง และ แพะทุ่ง (Themba giganteam)

1.12 กลุ่มอ้อ เช่น อ้อน้อย อ้อเล็ก และ อ้อลาย (Phragmistas communis)
อ้อหลวง และ อ้อใหญ่ (
Arundo donex)

1.13 กากอก จอก และ ผักกอก (Pistia stratiotee)

1.1.4 กูดชนิดต่าง ๆ เช่น กูดแต้ม กูดหมึก โจ้นเหล็ก และ โชน (Dicarnopteris dicnotoma)

1.15 อ้อย (Saccharum sinense) และ อ้อยป่า (Miscanthus sacchariflorus)

1.16 พืชกลุ่มอ้อย เช่น แขม ตะโปแตตรึง และ ปง (Saccharum arundinaceum)

2. ฟางของธัญพืชชนิดต่าง ๆ ฟางของธัญพืชชนิดต่าง ๆ มีแร่ธาตุในโตรเจน 0.5 เปอร์เซ็นต์ cellulose 38 เปอร์เซ็นต์ lignin 15 เปอร์เซ็นต์ C/N=90 ฟางของธัญพืชแต่ละชนิดมีพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน มีฟางธัญพืชไม่ต่ำกว่า 30 ชนิดที่สามารถใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางได้ ใช้เพาะเห็ดนางรมและเห็ด Stropharia ได้ดี

ฟางข้าว (rice straw : Oryza sativa) มีในโตรเจน 1.6 เปอร์เซ็นต์ cellulose 41 เปอร์เซ็นต์ lignin 13 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.25 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.3 เปอร์เซ็นต์ SiO2 6 เปอร์เซ็นต์ pH 6.9 และ C/N 58 ฟางข้าวสาลี (Buckwheat straw : Polygonum fagopyrum) ใช้เพาะเห็ดนางรมได้ดี มีโปรตีน 1 เปอร์เซ็นต์ lignin 13 เปอร์เซ็นต์ hemicelluloses 39 เปอร์เซ็นต์ cellulose 40 เปอร์เซ็นต์ ฟางข้าวบาร์เลย์ (barley straw : Hordeum valgarae) ให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมคิดเป็นร้อยละได้ 96 ฟางข้าวบาร์เลย์ประกอบด้วยไนโตรเจน 0.64 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.19 เปอร์เซ็นต์ โปแตสเซียม 0.07 เปอร์เซ็นต์ คาร์บอน 47 เปอร์เซ็นต์ C/N 72 โปรตีน 1 เปอร์เซ็นต์ lignin 14 เปอร์เซ็นต์ hemicellulose 36 เปอร์เซ็นต์ cellulose 43 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับการใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรม เห็ดฟาง เห็ดกระดุม และ เห็ด Stropharia ฟางข้าวโอ๊ต (oat straw : Avena sativa) มีโปรตีน 2 เปอร์เซ็นต์ lignin 20 เปอร์เซ็นต์ hemicellulose 32 เปอร์เซ็นต์ cellulose 48 เปอร์เซ็นต์ N 0.5 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.04 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.1 เปอร์เซ็นต์ SiO2 4.1 เปอร์เซ็นต์ pH 6.9 และ C/N 104 ใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดกระดุม และ เห็ดฟาง

3. ข้าวโพด ส่วนประกอบของต้นข้าวโพดใช้เป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดได้หลายส่วน ได้แก่ ลำต้น ก้าน แกนของข้าวโพด เมื่อสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้เป็นวัสดุเสริมสำหรับเพาะเห็ดนางรมโดยให้ cellulose 48 เปอร์เซ็นต์ lignin 16 เปอร์เซ็นต์ N 0.8 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.35 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.4 เปอร์เซ็นต์ SiO2 1.8 เปอร์เซ็นต์ pH 7.2 และ C/N 63 ส่วนใบ ฝัก เปลือกของฝัก ก้านฝัก ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรม เห็ดหอม ให้โปรตีน 5 เปอร์เซ็นต์ lignin 19 เปอร์เซ็นต์ hemicellulose 31 เปอร์เซ็นต์ cellulose 18 เปอร์เซ็นต์ สำหรับซังข้าวโพดใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรม เห็ดหอมกันมากในฮังการี ให้ cellulose 40 เปอร์เซ็นต์ lignin 15 เปอร์เซ็นต์ N 0.4 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.1 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.25 เปอร์เซ็นต์ SiO2 0.05 เปอร์เซ็นต์ pH 7 และ C/N 63 กากข้าวโพดซึ่งรวมทั้งซังข้าวโพด ฝัก และ เปลือกฝักใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ดี ส่วนในญี่ปุ่นใช้เส้นใยจากข้าวโพดซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งข้าวโพดนำมาผสมกับรำข้าวใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดนาโมเกะ และ เห็ดซิเมจิ ได้ผลผลิตสูงกว่าวัสดุเพาะอื่น ๆ

4. ข้าวฟ่าง เปลือกข้าวฟ่างใช้เพาะเห็ดนางฟ้าในอัฟริกา โดยใช้อย่างเดียวหรือใช้ผสมกับขี้ฝ้าย

  1. มะพร้าว ในอินเดียใช้เปลือกมะพร้าว (coconut husk) เพาะเลี้ยงเห็ดเป๋าฮื้อและเห็ดฟาง และใช้เส้นใย (fiber) ไส้ในไม้ (pith) ใยเปลือกมะพร้าว (coir) มาหมักสำหรับเพาะเห็ดนางรมหรือเห็ดฟาง

6. ตะไคร้ (Cymbopogon citratus) ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละ113

7. อ้อย (Saccharum officinarum) ชานอ้อยและของเหลือทิ้งอื่น ๆ มี N 0.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นส่วนผสมในการหมักวัสดุเพาะเห็ดกระดุม ชานอ้อยใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ดี ชานอ้อยล้วน ๆ เป็นวัสดุเพาะที่ให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละ 15 ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าได้ดีด้วย

8. กล้วย ต้นกล้วยสับ ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าได้ดี ใบกล้วยแห้งใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรมได้ดีเช่นกัน ได้ N 1.45 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิตสูง

9. เฟิร์น เฟิร์นอะโซล์ล่า (azollo) เป็นเฟิร์นที่โตเร็วชนิดหนึ่งในเอเชีย เป็นเฟิร์นที่อยู่ใกล้แม่น้ำในเขตร้อน ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมและเห็ดกระดุมได้ดี ส่วนเฟิร์นต้นสูง เฟิร์นต้นเตี้ย เฟิร์น kukot ได้ผลเช่นกันแต่ไม่ดีเท่าเฟิร์นอะโซล์ล่า

10. อาร์ติโชคและพืชผักต่าง ๆ ของเสียหรือเศษเหลือจากต้นอาร์ติโชคซึ่งเป็นพืชมีใบหนามอย่างหนึ่งที่นำหัวและดอกมารับประทานได้ ส่วนที่เหลือทิ้งจากการบริโภค เมื่อนำไปตากแห้งใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดได้หลายชนิด พืชผักต่าง ๆ จำพวก บวบ น้ำเต้า พริก ฟักทอง มะเขือเทศ และ กระเจี๊ยบ ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าได้ผลดีในอินเดีย

11. ต้นพืชและผักที่ใช้สกัดน้ำมัน ต้นพืชตระกูลกระหล่ำในสกุล Brasica หลายชนิด เช่น B. napus หรือ rape นั้นใช้เมล็ดมาสกัดเอาน้ำมันแล้วใช้กากที่เหลือมาเพาะเห็ดนายางิในญี่ปุ่น และใช้เพาะเห็ดนางฟ้าในอินเดีย ได้โปรตีน 2 เปอร์เซ็นต์ lignin 11 เปอร์เซ็นต์ hemicellulose 28 เปอร์เซ็นต์ cellulose 47 เปอร์เซ็นต์ สำหรับต้น Melilotus ใช้เพาะเห็ดนางรม ต้น menthol (Menthaceae) หลังจากสกัดน้ำมันแล้วใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรม เห็ดหูหนู และเมื่อผสมกับฟางข้าวใช้เพาะเห็ดฟางได้ ส่วนฟางของต้น mustard (yellow mustard) ใช้เพาะเห็ดนางรม

12. ถั่ว ส่วนประกอบของต้นถั่วใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดได้หลายอย่าง การใช้ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ ของถั่วสกุล Pisum เป็นวัสดุเสริมวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดกระดุม และเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดนางรม ให้ cellulose 43 เปอร์เซ็นต์ lignin 19 เปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจน 0.9 เปอร์เซ็นต์ P2O5 15 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.3 เปอร์เซ็นต์ SiO2 1.01 เปอร์เซ็นต์ pH 6.8 และ C/N 45

13. สมุนไพร ส่วนประกอบของต้นสมุนไพรหลายชนิดใช้เพาะเลี้ยงเห็ดได้ ใบของต้นอบเชย (Cinnamon zeylanicum) และ เยื่อของกระวาน (Elettaria cardamomum) ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรม ให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้ง 82 และ 113 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนใบพริกไทย (Piper nigrum) ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละได้ 57

14. ฝ้าย อิสราเอลใช้ต้นฝ้าย (Gossypium hirsutum) สด สับเป็นชิ้นขนาด 3 เซนติเมตร เลี้ยงเห็ดนางรมหลังจากผ่านการหมักแล้ว ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีเศษเหลือของฝ้ายจากการปั่นฝ้ายในขั้นตอนต่าง ๆ เปลือกของเหลือจากการแยกเมล็ดฝ้ายออกจากเส้นใยโดยใช้เครื่องแยกเปลือกเมล็ดฝ้ายที่สามารถนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ กากฝ้ายมีโปรตีนอยู่ระหว่าง 0.25-1.45 เปอร์เซ็นต์

15. กาแฟ ขี้เลื่อยจากไม้กาแฟใช้เพาะเห็ดนางรมได้ดี เนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟที่ตากแดดจนแห้งเมื่อนำมาปรับความชื้นแล้วใช้เพาะเลี้ยงเห็ดหูหนูได้ดีในเม็กซิโก และได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าผสมชานอ้อยและซังข้าวโพดลงไปด้วย

16. เปลือกแห้งของผลไม้ในวงศ์ citrus เช่น ส้ม มะนาว เป็นต้น ใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรมได้

17. มันสำปะหลัง (Cassava manihotis) สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปหมัก ใช้เพาะเห็ดนางรมและเห็ดหูหนูได้

18. Euphorbia rayleana เป็นพืชที่ให้น้ำยางสีขาวน้ำนม ในอินเดียใช้กิ่งสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ สำหรับเพาะเห็ดนางรม

19. ป่าน (Linum usitatissimum) ใช้เส้นใยสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง

20. มันฝรั่ง ใบใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมและเห็ด Stropharia

21. Quinoa plant เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งในโบลิเวีย ใช้ต้นแห้งเป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรม

22. Ragi ฟางของต้น ragi ซึ่งเป็นธัญพืชที่ปลูกกันในอัฟริกาและเอเชีย ในอินเดียนำฟางของพืชนี้มาผสมกับเมล็ดฝ้ายใช้เพาะเห็ดนางนวล

23. หลิว ต้นตอของหลิวใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรม

24. งา ต้นและก้านของงาใช้เพาะเห็ดนางฟ้าได้ดี ให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละ 60

25. พืชในกลุ่ม Agave เช่น กระบองเพชร (cactus) อะกาเว (agave) และ ยัคคะ (yacca) เป็นพืชทนแล้งที่สามารถนำมาทำแห้งและใช้เป็นวัสดุเสริมวัสดุเพาะเห็ดได้

26. ท่อนไม้ ท่อนไม้เนื้อแข็งสามารถนำมาใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ ไม้ที่ใช้ท่อนไม้มาเพาะเห็ดได้นี้มีไม่ต่ำกว่า 75 ชนิดที่ใช้เพาะเห็ดนางรม มีประมาณ 10 ชนิดที่ใช้เพาะเห็ดหอม Stamets และ Chilton (2526) ได้วิเคราะห์ผลเฉลี่ยเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบระหว่างฟางข้าวสาลี ไม้สน และ ไม้ในกลุ่มสน (pine and spruce) และให้ค่าวิเคราะห์ของท่อนไม้ว่ามี N0.8 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.02 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.1 เปอร์เซ็นต์ hemicellulose 11 เปอร์เซ็นต์ cellulose 56 เปอร์เซ็นต์ lignin 27 เปอร์เซ็นต์ resin 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไม้บีชและเบิร์ช (beach and birch) มี N 0.13 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.02 เปอร์เซ็นต์ K2O 0.2 เปอร์เซ็นต์ hemicellulose 11 เปอร์เซ็นต์ cellulose 53 เปอร์เซ็นต์ lignin 22 เปอร์เซ็นต์ resin 1.7 เปอร์เซ็นต์ เปลือกไม้ (treebark) สับจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ เป็นเปลือกของท่อนไม้ที่ลอกออกมาก่อนจะลอกเยื่อใยอีกชั้นหนึ่งนั้นเมื่อเอามาสับแล้วหมักใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรมและเห็ดกระดุมได้

27. ขี้เลื่อยของไม้ทั่วไป (wood sawdust) นำมาเป็นส่วนเสริมวัสดุหมักเพื่อเพาะเห็ดได้หลายชนิด โดยเสริมกับฟางข้าวหมัก เช่น เห็ดกระดุม เห็ดนางรม เห็ดหูหนู เห็ดหูหนูขาว เห็ดเข็มทอง เห็ดหัวลิง เป็นต้น ขี้เลื่อยของไม้โอ๊คและไม้บีช (oak and beech) มี lignin 26 เปอร์เซ็นต์ cellulose 44 เปอร์เซ็นต์ N 0.2 เปอร์เซ็นต์ P2O5 0.001 K2O 0.003 เปอร์เซ็นต์ SiO2 0.9 เปอร์เซ็นต์ pH 6.8 และ C/N 244 ขี้เลื่อยจากต้น poplar ก็ใช้เพาะเห็ดนางรมได้ ขี้เลื่อยจากไม้ที่ให้ยางเหนียว (gum-wood) ใช้เพาะเห็ดนางรมได้ ในอินเดียใช้กิ่งไม้แห้งจากไม้พุ่มมาใช้เพาะเห็ดนางฟ้า

28. ขี้กบ (wood shavings) ขี้กบของไม้ต่าง ๆ ที่มี N 0.3 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดนามิโกะ เห็ดเข็มทอง เห็ดหูหนู และ เห็ดหัวลิง

29. ทานตะวัน ต้นและรากของทานตะวันเมื่อสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้เพาะเห็ดนางรมได้ดี และใช้เป็นส่วนเสริมการหมักวัสดุเพาะเห็ดกระดุม เปลือกของเมล็ดใช้เพาะเห็ดนางรมได้โดยไม่ต้องนึ่งฆ่าเชื้อ ในยูโกสลาเวียใช้เปลือกเมล็ดทานตะวันร่วมกับฟางข้าวหรือต้นข้าวโพดในการเพาะเห็ดนางรมได้ผลผลิตสูง

30. กากที่เหลือจากการหมักเหล้า tequila ซึ่งที่เม็กซิโกมีอุตสาหกรรมกลั่นเหล้าชนิดนี้จากต้น อะกาเว่ (Agave tequilana) ใช้เพาะเห็ดนางรมได้ดี ให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละ 60

31. ของเหลือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ จากการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ (card sweeping, card drips, blow gutter, chimney, testing-hard waste) ใช้สำหรับเพาะเห็ดนางรมได้

32. ก้อนเชื้อหรือวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ หลังจากที่เก็บเกี่ยวดอกเห็ดไปหมดแล้วสามารถนำไปใช้เพาะเห็ดฟางได้อีก เช่น ก้อนเชื้อที่เพาะเห็ดกระดุมเมื่อใช้แล้วสามารถนำมาผสมกับ
ขี้ฝ้ายแล้วใช้เพาะเห็ดฟางได้ วัสดุที่ใช้เพาะเห็ดฟางเสร็จแล้วก็นำมาผสมกับก้อนเชื้อที่เพาะเห็ดนางรมไปแล้วในอัตราส่วน 1:1 แล้วผสมกับรำข้าว 20 เปอร์เซ็นต์ ใช้เพาะเห็ดนางรมได้ ส่วนวัสดุที่เคยใช้เพาะเห็ดฟางแล้วนำไปใช้เพาะเห็ดนางฟ้าได้ซึ่งจะให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุแห้งคิดเป็นร้อยละ 80

33. ชา ในอินเดียใช้ใบชาเป็นวัสดุเพาะเห็ดนางฟ้าได้ผลปานกลาง

34. ผักตบชวา (Echhornia crassipes) นำมาเพาะเห็ดนางรมและเห็ดฟางในฟิลิปปินส์
อินโดเนเซีย บังคลาเทศ และ บางประเทศในอัฟริกา ส่วนในอินเดียใช้เพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละ 40

 

วัสดุที่ใช้เพาะเห็ดในประเทศไทย

นับตั้งแต่อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ได้ค้นคว้าวิธีการเพาะเห็ดฟางได้เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2492 นั้น ได้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้กว้างขวางออกไปมากมาย และได้เริ่มมีการนำเข้าเชื้อเห็ดชนิดอื่น ๆ มาทดลองเพาะเลี้ยงและได้ผลกับเห็ดหลายชนิด จึงได้มีการสำรวจชนิดของวัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้ผลดังนี้

1. ปลายฟางและตอซังของต้นข้าว ใช้เป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง เห็ดกระดุม เห็ดถั่ว เห็ดตีนแรด เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดขอนดำ เห็ดนายางิ เห็ดหูหนู เป็นต้น แต่ผลผลิตที่ได้มักจะต่ำกว่าที่ได้จากก้อนเชื้อที่ประกอบด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา จึงมีการดัดแปลงเพิ่มขี้เลื่อยไม้ยางพาราผสมลงไปด้วย โดยพบว่าฟางข้าวผสมกับขี้เลื่อยที่ใช้เพาะเห็ดแล้วเมื่อนำมาเพาะเห็ดนางรมจะได้ผลผลิตไม่แตกต่างจากก้อนเชื้อที่ใช้ขี้เลื่อยใหม่

2. ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดนางรมสีทอง เห็ดหูหนู เห็ดหอม เห็ดหลินจือ เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดหัวลิง เห็ดนายางิ เห็ดแครง เห็ดเข็มทอง เป็นต้น การทดลองใช้วัสดุอื่น ๆ ผสมกับขี้เลื่อยเป็นวัสดุก้อนเชื้อนั้นพบว่าขี้เลื่อยไม้ยางพาราสดและผักตบชวาในอัตราส่วน 2:1 ใช้เพาะเห็ดฟางให้ผลผลิตเห็ดสดต่อวัสดุเพาะแห้งคิดเป็นร้อยละ 15.2

3. ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวา ใช้เป็นวัสดุเสริมในการเพาะเห็ดฟางกลางแจ้ง และใช้เป็นวัสดุเพาะโดยตรงในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน สามารถใช้ผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพื่อเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมได้ เนื่องจากขี้ฝ้ายมีราคาสูงมาก จึงมีการนำมาใช้ร่วมกับเปลือกถั่วเขียว โดยนำส่วนผสมทั้ง 2 ในอัตราส่วน 1:1 หมักผสมกันแล้วปูทับบนตอซังข้าวเพื่อเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน พบว่าได้ผลผลิตเท่ากับการเพาะด้วยขี้ฝ้ายกับฟางแต่ลดต้นทุนการผลิตลงได้ 1 เท่าตัว นอกจากนี้วัสดุที่สามารถใช้ทดแทนขี้ฝ้ายได้แก่ หญ้า ผักตบชวา ตอซัง ต้นกล้วย ผักบุ้ง ขี้เลื่อยที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดไปแล้ว เหล่านี้นำมาหมักและใช้เพาะเห็ดฟางได้ในโรงเรือนได้

4. เปลือกมันสำปะหลัง ใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางกลางแจ้ง และใช้เป็นวัสดุเสริมและวัสดุเพาะโดยตรงในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพื่อเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมได้ สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ดได้สังเกตพบว่ามีเห็ดฟางขึ้นบนกากมันสำปะหลังที่นำไปทำปุ๋ย จึงมีการทดลองเพาะเห็ดฟางด้วยเปลือกมัน พบว่าได้ผลดีทัดเทียมกับการเพาะด้วยฟางข้าวและเปลือกถั่วเขียว

5. เปลือกฝักถั่วเขียวและถั่วเหลือง ใช้เป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดฟางกลางแจ้ง ใช้เป็นวัสดุเสริมและวัสดุเพาะโดยตรงสำหรับเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน สามารถนำมาผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราใช้เพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเปลือกถั่วพุ่มก็ใช้ได้ดีเช่นกัน

6. กาบมะพร้าว ใช้เป็นวัสดุเสริมในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้น

7. กากทะลายปาล์มน้ำมัน ใช้เพาะเห็ดฟางได้ผลดีและได้มีการพัฒนาเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางกลางแจ้งและใช้หมักร่วมกับอาหารเสริมอื่น ๆ เพื่อเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

8. ชานอ้อย ใช้เป็นวัสดุเพาะหรือวัสดุเสริมในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ใช้เป็นวัสดุเพาะโดยตรงหรือผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราใช้เพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรม ได้มีการทดลองนำชานอ้อยผสมกับอาหารเสริมแล้วเพาะเห็ดนางฟ้า พบว่าก้อนเชื้อมีการปนเปื้อนมากและได้ผลผลิตต่ำกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพารา แต่เมื่อดัดแปลงนำชานอ้อยมาหมักกับเปลือกถั่วเขียวและขี้เลื่อยที่ผ่านการใช้เพาะเห็ดมาแล้ว พบว่า ได้ผลผลิตของเห็ดนางรมทัดเทียมกับที่ได้จากก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพาราอย่างเดียว ส่วนการใช้ชานอ้อยเพาะเห็ดนางฟ้านั้นพบว่าได้ผลดีเท่ากับการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา

9. ซังข้าวโพด ใช้เป็นวัสดุเพาะหรือวัสดุเสริมในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ใช้เป็นวัสดุเพาะโดยตรงหรือผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราสำหรับเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม และ เห็ดเข็มทอง การใช้ซังข้าวโพดผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราส่วน 0, 20, 30 และ 40 มีแนวโน้มในการให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเพาะเห็ดเข็มทองและเห็ดชิเมจิ

10. หญ้าแขม หญ้าเลา และ หญ้าก๋ง ใช้เพาะเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า ให้ผลผลิตสูงกว่าใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา หญ้าทั้ง 3 ชนิดนี้เมื่อใช้โดยไม่หมักจะเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานได้ดี หญ้าแขมและหญ้าเลาถ้าจะใช้เพาะเห็ดนางรมควรจะหมักเสียก่อนจึงจะได้ผลดี หญ้าแขมเพาะเห็ดหอมได้ดีเท่าขี้เลื่อยไม้ยางพารา และหญ้าทั้ง 3 ชนิดไม่เหมาะกับการใช้เพาะเห็ดขอนขาว

11. ไมยราบยักษ์ ขี้เลื่อยสดของไม้ไมยราบยักษ์ใช้เพาะเห็ดได้ทุกชนิดโดยเฉพาะเห็ดขอนขาวและเห็ดหอม ซึ่งจากการทดลองพบว่าให้ผลดีกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือใช้ผสมเป็นอาหารเสริมกับวัสดุเพาะอื่น ๆ ก็ให้ผลดีเช่นกัน

12. ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ ใช้เพาะเห็ดลมได้ดีโดยมีรำละเอียด ปูนขาว และ น้ำตาลทรายเป็นวัสดุเสริม

13. ขี้เลื่อยไม้มะขาม ใช้เพาะเห็ดหอมได้ดีทัดเทียมกับไม้ยางพารา ส่วนขี้เลื่อยไม้กระถินณรงค์และไม้ยูคาลิปตัส ก็มีแนวโน้มดีในการใช้เพาะเลี้ยงเห็ดหอม

14. ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา ผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา 1:1 ผสมด้วยรำละเอียด 3-5 กิโลกรัม ปูนขาว 0.2 กิโลกรัม และ น้ำตาลทราย 2-3 กิโลกรัม ใช้เลี้ยงเห็ดลมได้ผลผลิตดอกเห็ด 200-300 กรัมต่อถุง เกษตรกรที่ลำปางใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา ไม้ยางพารา และ ไม้กระถินณรงค์ รวมกัน 100 กิโลกรัม ผสมรำข้าว 12 กิโลกรัม ปูนขาว 2 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม ใช้เพาะเห็ดลมได้ ไม้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา 120 กิโลกรัม ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำข้าว 6 กิโลกรัม ปูนขาว 2 กิโลกรัม ยิปซัม 2 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ใช้เพาะเห็ดนางฟ้าได้ผลดี

 

 

15. ขี้เลื่อยไม้มะม่วง ใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และ เห็ดขอนขาว

16. ขี้เลื่อยไม้กระถินณรงค์ ใช้เพาะเห็ดนางรมโดยใช้ขี้เลื่อยนี้หมักกับฟางข้าวไว้นาน 1 เดือน แล้วนำมาตีให้เข้ากัน ผสมรำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์ ปูนขาว 1 เปอร์เซ็นต์ ยิปซัม 2 เปอร์เซ็นต์ แป้งข้าวเหนียว 1 เปอร์เซ็นต์ น้ำตาลทราย 1 เปอร์เซ็นต์ ดีเกลือ 0.2 เปอร์เซ็นต์

17. กิ่งหม่อน สับเป็นชิ้นขนาด 2-3 เซนติเมตร ผสมกับรำข้าวใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหอม เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ เห็ดขอนขาว เห็ดกระด้าง ได้ผลผลิตดีเท่ากับเพาะในขี้เลื่อยไม้ยางพารา

18. เศษกิ่งไม้ ของไม้โตเร็ว เช่น ไมยราบยักษ์ใช้เพาะเห็ดหอมได้ผลผลิต 87.99 กรัม/ก้อนเชื้อ กิ่งไม้กระถิ่นยักษ์ให้ผลผลิต 67.3 กรัม/ก้อนเชื้อ ไม้กระถินเทพาให้ผลผลิต 57.7 กรัม/ก้อนเชื้อ ไม้ก่อให้ผลผลิตเห็ด 55.8 กรัม/ก้อนเชื้อ ไม้ยูคาลิปตัสให้ผลผลิตเห็ด 50.6 กรัม/ก้อนเชื้อ ไม้ยางนาให้ผลผลิตเห็ด 35.3 กรัม/ก้อนเชื้อ นอกจากนี้ไม้โสน กระถิน มะม่วง สะแก มะขาม ก็ให้ผลดีเช่นกัน

19. ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ขนุน มะม่วง น้อยหน่า หางนกยูง และ นนทรี ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมให้ผลผลิตสูง

20. เปลือกไม้ยูคาลิปตัส ใช้เพาะเห็ดฟางในโรงเรือนได้ดี ได้ดอกเห็ดขนาดใหญ่และเก็บรักษาดอกเห็ดได้ยาวนานกว่าปกติ

21. หญ้าแฝก ใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดเป๋าฮื้อ ได้

22. เปลือกเมล็ดสบู่ดำ ใช้เพาะเห็ดฟางได้ดี

23. ก้อนเชื้อที่ใช้แล้ว ใช้เพาะเห็ดฟางได้ดี ถ้าใช้ผสมกับขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวา จะได้ผลดียิ่งขึ้น ก้อนเชื้อที่ใช้แล้วถ้าไม่นำมาหมุนเวียนใช้อีกจะก่อให้เกิดปัญหาถ้ากองสุมทิ้งไว้เพราะเป็นแหล่งระบาดของศัตรูเห็ด ควรฉีกถุงออกแล้วเอาก้อนเชื้อไปหมักให้เกิดราขาว นำมาผสมกับอาหารเสริมแล้วนึ่งฆ่าเชื้อได้ก้อนเชื้อที่นำไปเพาะเลี้ยงเห็ดได้อีกครั้ง ใช้เพาะเห็ดฟางในโรงเรือนได้ดี หรือถ้านำไปผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา 10 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับอาหารเสริมตามปกติจะใช้เลี้ยงเห็ดนางรมได้ผลดีเท่า ๆ กับการเลี้ยงในก้อนเชื้อขี้เลื่อยไม้ยางพารา ก้อนเชื้อที่ใช้เลี้ยงเห็ดหูหนูเมื่อนำมาผสมกับรำละเอียด 65 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ก้อนเชื้อ 20 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับขี้เลื่อยสด 80 เปอร์เซ็นต์ จะใช้เลี้ยงเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และเห็ดนางฟ้าภูฐานได้ดี

24. วัสดุที่ผ่านการใช้เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย เมื่อนำมาหมักด้วยวิธีการเดียวกันกับหมักฟางใหม่ จะใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมได้ดี ถ้าเป็นวัสดุที่ใช้มานานให้ผสมขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราส่วน 50:50 แล้วใส่รำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์ ปูนขาว 1 เปอร์เซ็นต์ ใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และ เห็ดเป๋าฮื้อได้

 

จอกหูหนู

จอกหูหนู (ภาพที่ 4) เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง เป็นพืชน้ำ และเป็นพืชหลายฤดู แพร่กระจายได้รวดเร็ว พบตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำขังหรือน้ำไหลเอื่อย ตามหนองตามบึงทั่วไปที่เปิดโล่งและได้รับแสงแดดเต็มที่ นอกจากนี้ยังพบในนาข้าวได้อีกด้วย

ภาพที่ 4   จอกหูหนู

          เฟิร์นจอกหูหนูนี้มีการกระจายในพื้นที่เขตร้อนทั่วไปของโลกตั้งแต่อินเดีย  อินโดจีน  มาเลย์  และ  สุมาตรา  มีชื่อสามัญอื่นว่า water spangles, Schwimmfarne, cuculate salvinia, floating moss  จัดอยู่ในวงศ์ Salviniaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salvinia cucullata Roxb. & Bory เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กที่เจริญเติบโตเกาะกันเป็นแพแน่น  ลอยอิสระอยู่ตามผิวน้ำ  ลำต้นเป็นเหง้า  มีลักษณะเป็นเส้นกลมขนาดเล็ก  ทอดขนานไปกับผิวน้ำ  เหง้าแตกเป็นกิ่งสาขาอย่างอิสระ  มีขนปกคลุม  ไม่มีระบบราก  แต่มีใบที่แปรรูปไปเป็นส่วนที่ทำหน้าที่แทนรากเป็น root-like structure หรือ protostelic  ใบออกตามข้อของลำต้น  แต่ละข้อมีใบ 3 ใบ  จัดเรียงเป็น 3 แถวรอบลำต้น  ใบ 2 แถวบนลอยอยู่เหนือน้ำ (floating leaf) มีลักษณะเป็นใบรูปร่างกลม  ขอบใบม้วนเข้า ดูคล้ายหูหนู  ขอบใบเรียบไม่เปียกน้ำ (ภาพที่ 5)  ใบอีก 1 ใบ จมอยู่ใต้น้ำ (submerged deaf) ใบนี้เป็นใบที่แปรรูปไปทำหน้าที่แทนรากดังกล่าวไว้ข้างต้น  มีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน  มีลักษณะเป็นเส้นมีขนอ่อนปกคลุมอยู่ทั่ว (ภาพที่ 6)  ใบรากหรือใบใต้น้ำเหล่านี้บางใบสร้างสปอร์ซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ  สปอร์เป็นแบบที่ไม่มีคอลโรฟิลล์ เป็น heterospore คือมีสปอร์ 2 เพศ  เป็นสปอร์เพศผู้และสปอร์เพศเมีย  อับสปอร์ทั้ง 2 ชนิดบรรจุอยู่ในกระเปาะ (sporocarp) ที่แยกออกมาจากใบราก  อับสปอร์ในกระเปาะนี้มีก้านอับสปอร์  และมีเยื่อหุ้มบาง ๆ หุ้มอยู่  แต่ไม่มีเยื่อรัดสปอร์  กระเปาะสปอร์มี 2 ชนิด คือ microsporocarp ที่บรรจุ microsporangia เอาไว้มากมาย  และอีกชนิดหนึ่ง คือ megasporocarp ที่บรรจุ megaspore เพียงอันเดียว

เนื่องจากจอกหูหนูแพร่กระจายได้รวดเร็วก่อให้เกิดปัญหาด้านนิเวศวิทยาแหล่งน้ำและสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะต่าง ๆ จึงทำให้จอกหูหนูเป็นวัชพืชน้ำชนิดสำคัญชนิดหนึ่งเนื่องจากกำจัดได้ยากลำบากและกำจัดได้ไม่ทันกับอัตราการขยายและแพร่พันธุ์ของจอกชนิดนี้ ซึ่งหากมีในปริมาณที่ไม่มากเกินไปก็มีประโยชน์ได้ในแง่ของการเป็นที่อาศัยของลูกปลาและสัตว์อื่น ๆ ได้หาอาหารจากบริเวณกลุ่มใบรากของจอกชนิดนี้ และนอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านการเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของน้ำได้ด้วย เนื่องจากจอกหูหนูนี้ถ้าลอยอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอใบของจอกจะมีสีเขียวอมน้ำเงิน แต่ถ้าอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนน้อยใบของจอกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งของจอกหูหนู คือ มีความสามารถในการดูดซับและสะสมโลหะหนักบางชนิด คือ ตะกั่วและแคทเมียม จึงอาจจะมีประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียได้บ้าง แต่ประโยชน์ที่มีต่อภาคเกษตรกรรม คือ จอกหูหนูสามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ยหมักได้ จึงน่าจะนำไปทดสอบความสามารถในการเป็นวัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดต่าง ๆ

 

แนวคิดในการวิจัย

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอ่างเก็บน้ำภายในศูนย์ฯ หลายอ่าง และในอ่างสุดท้ายซึ่งอยู่ลุ่มสุดของศูนย์ฯ นั้นเป็นอ่างขนาดใหญ่ มีจอกหูหนูเจริญเติบโตและแพร่กระจายอยู่จนเกือบเต็มอ่าง จึงมีนักวิจัยจากสถานีวิจัยพืชไร่ จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าไปศึกษาผลกระทบของการแพร่กระจายของจอกหูหนูในอ่างเก็บน้ำอ่างนี้ในปี พ.ศ. 2547 และรายงานไว้ว่า จอกหูหนูในอ่างเก็บน้ำเจริญเติบโตได้รวดเร็วจาก 0.09 เป็น 1.00 ลูกบาศก์เมตรภายในเวลา 2 สัปดาห์ การเก็บเกี่ยวจอกหูหนูโดยแรงงานได้จอกหูหนูสด 3,600 กิโลกรัมต่อแรงงาน 1 คน คิดเป็นต้นทุน 0.33 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากตากแดดให้แห้งเป็นเวลา 96 ชั่วโมง พบว่าจอกหูหนูมีน้ำหนักสด:น้ำหนักแห้ง เท่ากับ 25,600:3,200 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นอัตราส่วน 8:1 และได้ปริมาตรสด:ปริมาตรแห้ง เท่ากับ 64.5:32.3 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ คิดเป็นอัตราส่วน 2:1 เมื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนะของจอกหูหนูเหล่านั้นพบว่ามีคุณค่าสูงโดยเฉพาะโปแตสเซียมมี 4.10 เปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจน 1.2 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.1 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่หมักเป็นปุ๋ยไว้ 50 วัน พบว่าปริมาณธาตุอาหารเพิ่มขึ้นเป็น โปแตสเซียม 5.5 เปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจน 1.34 เปอร์เซ็นต์ และ ฟอสฟอรัส 0.1 เปอร์เซ็นต์

งานศึกษาข้างต้นยังวิเคราะห์ไว้ด้วยว่าจอกหูหนูสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุที่ช่วยอุ้มน้ำและเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพสูงได้เป็นอย่างดี กลุ่มงานศึกษาและทดสอบการปลูกพืชของศูนย์ฯ จึงมีแนวคิดในการนำจอกหูหนูซึ่งเป็นวัสดุอินทรีย์ที่ได้รับการวิเคราะห์จากการทดลองข้างต้นแล้วว่ามีคุณค่าทางการให้ธาตุอาหารที่สำคัญ คือ N P K ค่อนข้างสูง เมื่ออยู่ในสภาพแห้งและเมื่อผ่านการย่อยสลายโดยการหมัก จึงน่าจะเป็นวัสดุอินทรีย์ที่เป็นแหล่งอาหารให้กับเส้นใยของเห็ดชนิดต่าง ๆ ได้ใช้ในการเจริญเติบโต โดยการนำไปเป็นส่วนผสมของวัสดุก้อนเชื้อเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ ดังนั้นกลุ่มงานฯ จึงได้มีแนวคิดในการนำจอกหูหนูจากอ่างเก็บน้ำมาตากแห้งแล้วนำไปทดลองเป็นส่วนผสมของอาหารในก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมภูฐาน โดยคาดหมายว่าจอกหูหนูแห้งจะสามารถทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้โดยทั่วไปในการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเห็ดในกลุ่มเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า (Pleurotus spp.)

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

-

วิธีดาเนินการ

การศึกษาทดลองใช้จอกหูหนูแห้งสับละเอียดเป็นวัสดุก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นเป็นการทดลองใช้ร่วมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราโดยผสมวัสดุทั้ง 2 อย่างให้มีอัตราส่วนแตกต่างกันรวม 5 กรรมวิธี โดยมีอัตราส่วนของจอกหูหนูแห้งและขี้เลื่อยไม้ยางพารา ดังนี้

 

กรรมวิธีที่ 1

คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา

100 : 0

กรรมวิธีที่ 2

คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา

75 : 25

กรรมวิธีที่ 3

คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา

50 : 50

กรรมวิธีที่ 4

คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา

25 : 75

กรรมวิธีที่ 5

คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา

0 : 100

 

การเตรียมก้อนเชื้อใช้ส่วนผสมตามตารางที่ 1 โดยที่ปริมาณของวัสดุหลักแต่ละชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในแต่ละกรรมวิธีนั้นผันแปรไปตามที่ได้กำหนดเป็นอัตราส่วนของจอกหูหนูแห้งและ
ขี้เลื่อยไม้ยางพาราดังแสดงแล้วข้างต้น

 

ตารางที่ 1 ส่วนผสมของวัสดุชนิดต่าง ๆ ในก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐาน

 

วัสดุ

ปริมาณ

จอกหูหนูแห้งและขี้เลื่อยไม้ยางพารา

รำละเอียด

ปูนขาว

ดีเกลือ

น้ำสะอาด

100 กิโลกรัม

5 กิโลกรัม

1 กิโลกรัม

0.2 กิโลกรัม

50-60 เปอร์เซ็นต์

เตรียมเส้นใยของเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางฟ้าภูฐานโดยการสกัดเนื้อเยื่อบริเวณด้านในของส่วนฐานของดอกเห็ดส่วนที่เชื่อมต่อกับก้านดอกเห็ด นำไปเลี้ยงบนผิวของอาหารวุ้น PDA (potato-dextrose-agar) รอจนกระทั่งได้เส้นใยของเชื้อบริสุทธิ์เดินจนเต็มผิวหน้าของอาหารวุ้นจึงนำไปเลี้ยงในอาหารเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อขยายปริมาณเส้นใย

นำก้อนเชื้อของ 5 กรรมวิธีไปรับเชื้อโดยการเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเส้นใยของเชื้อบริสุทธิ์คลุมอยู่ทั่วเมล็ดลงไปในถุงก้อนเชื้อถุงละ 10 เมล็ดโดยประมาณ แล้วนำถุงไปบ่มไว้ในห้องบ่มเชื้อที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส จนกระทั่งเชื้อเดินเต็มถุงจึงนำไปบ่มต่อในโรงเปิดดอกและเปิดดอกเห็ดในโรงเรือนนั้น โดยควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้เป็น 25 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

สังเกตและบันทึกการเจริญเติบโตของเส้นใยของเชื้อในก้อนเชื้อ บันทึกผลผลิตดอกเห็ดสด และวิเคราะห์ผลที่ได้จากการทดลองเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวดอกเห็ดในชุดสุดท้าย

ผลการศึกษาทดลองวิจัย

ผลการทดลองใช้จอกหูหนูแห้งผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นวัสดุก้อนเชื้อสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานรวม 5 กรรมวิธีได้ผลดังสรุปไว้ในตารางที่ 2

จากตารางที่ 2 จะเห็นว่ากรรมวิธีต่าง ๆ ของก้อนเชื้อมีผลต่อการกระตุ้นให้เส้นใยมีการเจริญเติบโตแผ่ขยายภายในก้อนเชื้อได้ไม่แตกต่างกันมากนัก ก้อนเชื้อมีเส้นใยเดินจนเต็มภายในเวลา 28-32 วัน หลังจากเขี่ยเชื่อลงไปในก้อนเชื้อ แต่ผลของความแตกต่างแสดงออกอย่างชัดแจนในแง่ของการปนเปื้อนของก้อนเชื้อและผลผลิตดอกเห็ดสด กรรมวิธีที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่มีจอกหูหนูแห้งแต่เพียงอย่างเดียวมีการปนเปื้อนในก้อนเชื้อสูงถึง 58 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กรรมวิธีที่มีขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นส่วนผสมร่วมด้วย ไม่ว่าจะในอัตราส่วนที่สูงหรือต่ำก็ตาม มีอัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อต่ำกว่ามาก คืออยู่ระหว่าง 6-10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลผลิตดอกเห็ดสดที่เก็บเกี่ยวได้จากก้อนเชื้อแต่ละรุ่นนั้นก็แสดงแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ กรรมวิธีที่ 1 ให้ผลผลิตเห็ดสดเฉลี่ยต่อก้อนเชื้อต่ำกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ คือ 2.1 กรัม/ก้อนเชื้อ ในขณะที่กรรมวิธี 4-5 ให้ผลผลิตสูงกว่ามาก คือ 4.0-5.4 กรัม/ก้อนเชื้อ โดยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงตามปริมาณของขี้เลื่อยไม้ยางพาราในก้อนเชื้อเหล่านั้น (ภาพที่ 7-9) สำหรับความยาวนานของช่วงที่เก็บเกี่ยวดอกเห็ดได้นั้นพบว่ากรรมวิธีที่ 1 เก็บเกี่ยวได้เพียง 10 วัน ในขณะที่กรรมวิธีอื่น ๆ เก็บเกี่ยวได้ยาวนานกว่าคือ 20-27 วัน

 

ตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่ใช้ในการเจริญของเส้นใยจนเต็มก้อนเชื้อ อัตราการปนเปื้อนของ

ก้อนเชื้อ จำนวนวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และ ค่าเฉลี่ยของผลผลิตดอกเห็ดสดต่อก้อนเชื้อ

ที่ได้จากกรรมวิธีต่าง ๆ ของการเตรียมวัสดุเพาะเลี้ยงในก้อนเชื้อ

 

กรรมวิธี

จำนวนวันที่ใช้ในการเจริญของเส้นใยในก้อนเชื้อ

อัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อ (เปอร์เซ็นต์)

จำนวนวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ผลผลิตดอกเห็ดสดต่อก้อนเชื้อ (กรัม)

1

2

3

4

5

30

32

32

30

28

58

10

10

9

6

10

20

28

24

27

2.1

4.0

4.4

5.2

5.4

การทดลองครั้งนี้แสดงแนวโน้มที่ดีของการใช้จอกหูหนูแห้งเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานว่าเป็นไปได้ถ้าใช้ร่วมกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา แม้แต่ในกรรมวิธีที่มีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพาราน้อย คือ เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ของส่วนผสมทั้งหมดก็ยังให้ผลผลิตที่น่าพอใจ รวมทั้งอัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อก็ไม่สูงมากด้วย จึงทำให้โอกาสในการใช้จอกหูหนูมาทำประโยชน์มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงแทนที่จะเป็นเพียงวัชพืชที่สร้างปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามเนื่องจากขั้นตอนของการเลี้ยงเส้นใยและบ่มเส้นใยในก้อนเชื้อเพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นดอกเห็ดนั้นเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนดังนั้นก่อนที่จะสรุปประสิทธิภาพของจอกหูหนูในการเป็นวัสดุก้อนเชื้อนั้นควรจะต้องมีการทดลองซ้ำเพื่อให้เกิดความมั่นใจเสียก่อนที่จะดำเนินการไปจนถึงขั้นขยายผลการทดลองไปสู่การปฏิบัติและการส่งเสริม มิเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาตามมาในลักษณะต่าง ๆ ได้

 

สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ

การศึกษาผลของการใช้จอกหูหนูแห้งในการเป็นวัสดุก้อนเชื้อเพื่อใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานร่วมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราส่วนแตกต่างกัน 5 กรรมวิธี พบว่า การใช้จอกหูหนูแห้งผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราส่วนต่าง ๆ ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานได้ผลค่อนข้างดีไม่แตกต่างเท่าใดจากการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราอย่างเดียว แต่การใช้จอกหูหนูแต่เพียงอย่างเดียวนั้นได้ผลต่ำกว่าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกระตุ้นให้เส้นใยเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณในก้อนเชื้อ หรือด้านอัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อ ตลอดจนผลผลิตของดอกเห็ดสดต่อก้อนเชื้อ

 

 

 

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Download (1)

บทคัดย่อ

การศึกษาทดลองความเป็นไปได้ของการใช้จอกหูหนูแห้งในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐานเป็นการนำจอกหูหนูแห้งมาเป็นวัสดุหลักในการเตรียมก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฐาน โดยใช้ร่วมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราการผสมเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกัน 5 กรรมวิธี โดยมีจอกหูหนูแห้งผสมอยู่ในอัตรา 100, 75, 50, 25 และ 0 เปอร์เซ็นต์ ผลการศึกษาทดลองพบว่าจอกหูหนูแห้งมีคุณสมบัติในการเป็นวัสดุก้อนเชื้อด้อยกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพาราในทุกทางโดยเฉพาะในแง่ของการปนเปื้อนของก้อนเชื้อและผลผลิตของดอกเห็ดสดที่เก็บเกี่ยวจากก้อนเชื้อตลอดการทดลอง
ผู้วิจัย / คณะวิจัย
ดำเนินการ
ระยะเวลา
งบประมาณ
พระราชทานพระราชดำหริ