ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
เห็ดนางรมฮังการีเป็นสายพันธุ์หนึ่งของเห็ดนางรมชนิดหนึ่ง คือ Pleurotus ostreatus (Jacquin ex Fries) Kummer เห็ดชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความคล้ายคลึงกัน ส ามารถแยกจากกันได้โดยสังเกตจากเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านั้น เอกลักษณ์ที่ใช้แยกสายพันธุ์ได้ค่อนข้างง่าย คือ สีของดอกเห็ด ลักษณะของสีของดอกเห็ดที่เป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เห็ดนางรมสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ชื่อสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับสีของดอกเห็ด เห็ดนางรมฮังการีมีลักษณะและธรรมชาติของการเจริญเติบโตตลอดจนการสร้างดอกเห็ดคล้ายคลึงกับเห็ดสายพันธุ์ต่าง ๆ ในกลุ่มของเห็ดนางรมชนิดนี้
การเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมฮังการีใช้วิธีการต้นแบบเช่นเดียวกับการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในชนิดเดียวกัน ด้วยเหตุที่เห็ดนางรมเป็นเห็ดที่เป็นสมาชิกของสกุลใหญ่ คือ Pleurotus ดังนั้นการศึกษาข้อมูลโดยทั่ว ๆ ไปของเห็ดสกุลนี้จึงมีประโยชน์ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและความต้องการปัจจัยต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตที่จะช่วยให้การศึกษาวิจัยในด้านต่าง ๆ ที่มีผลในการช่วยพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดสกุลนี้และชนิดนี้ได้ผลดียิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการหาทางออกสำหรับการดัดแปลงให้ได้เทคนิคสำหรับการเพาะเลี้ยงในสภาพท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับเกษตรกรได้มากขึ้นอีกด้วย
เห็ดนางรม
ในกลุ่มเห็ดเศรษฐกิจหรือเห็ดการค้าด้วยกันแล้วเห็ดนางรมนับว่าเป็นเห็ดเพาะเลี้ยงที่รู้จักกันมากที่สุดกลุ่มหนึ่งนอกเหนือไปจากเห็ดหอมและเห็ดหูหนูซึ่งผู้คนคุ้นเคยกันมานานเนื่องจากมีการนำเข้าจากต่างประเทศ คือ จีน และ ญี่ปุ่นในลักษณะของเห็ดแห้งและได้มีการใช้ประโยชน์ในการปรุงเป็นอาหารตลอดมา ก่อนหน้าที่จะมีการลดการนำเข้าเนื่องจากมีการผลิตในรูปของเห็ดสดที่นำสายพันธุ์จากต่างประเทศมาเพาะเลี้ยงกันเป็นอาชีพอย่างกว้างขวางในประเทศไทย
เห็ดนางรมเป็นเห็ดในสกุล Pleurotus ซึ่งเป็นสกุลที่ค่อนข้างใหญ่ เห็ดในสกุลนี้มีหลายชนิด มีทั้งที่พบในธรรมชาติในประเทศไทยและทั้งที่เป็นเห็ดนางรมชนิดที่พบในธรรมชาติในประเทศอื่น ๆ โดยทั่วไปเห็ดนางรมในป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติเป็นเห็ดที่นำมารับประทานได้ และสามารถนำดอกเห็ดจากธรรมชาติมาเลี้ยงเชื้อเพื่อได้เส้นใยบริสุทธิ์สำหรับนำไปเพาะเลี้ยงให้เกิดดอกเห็ดในปริมาณมากได้
เห็ดในสกุล Pleurotus ที่บริโภคได้มีมากมาย เห็ดนางรมเหล่านี้หลายชนิดมีชื่อสามัญไทยเนื่องจากได้มีการนำเชื้อเห็ดจากต่างประเทศมาเพาะเลี้ยงกันในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน เห็ด Pleurotus ที่มีรายงานว่านำมาบริโภคได้มีดังนี้
1. Pleurotus citrinopileatus Singer ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางรมสีทอง, Golden Oyster Mushroom, Tamogitake (ญี่ปุ่น), Il’mak (รัสเซีย) ; Elm Mushroom
2. Pleurotus cystidiosus O.K. Miller (Pleurotus abalous) ชื่อสามัญ คือ เห็ดเป๋าฮื้อ, Abalone Mushroom, Maple Oyster Mushroom, Miller’s Oyster Mushroom
3. Pleurotus djamor (Fries) Boedjin sensu lato ชื่อสามัญ คือ Pink Oyster Mushroom, Salmon Oyster Mushroom, Strawberry Oyster, Flamingo Mushroom, Takiiro Hiritake (ญี่ปุ่น), Tabang Ngungut (บอร์เนียวเหนือ)
4. Pleurotus eryngii (De Candolle ex Fries) Quelet sensu lato ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางรมหลวง, King Oyster, Boletus of the Steppes
5. Pleurotus flabellatus ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางนวล, Pink Oyster Mushroom
6. Pleurotus eous ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางฟ้าภูฐาน, Bhutan Oyster Mushroom
7. Pleurotus euosmus (Berkeley and Hussey) Saccardo ชื่อสามัญ คือ Tarragon Oyster Mushroom
8. Pleurotus ostreatus (Jacquin ex Fries) Kummer ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางรม, Oyster Mushroom, Oyster Shelf, Tree Oyster, Straw Mushroom, Hiratake (ญี่ปุ่น) ; Flat Mushroom, Tamoytake (ญี่ปุ่น)
9. Pleurotus pulmonarius (Fries) Quelet (Pleurotus sajor-caju (Fries.) Singer) ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางฟ้า, เห็ดอินเดีย, Indian Oyster, Phoenix Mushroom, Dhingri (อินเดีย)
10. Pleurotus tuberregium (Fries) Singer) ชื่อสามัญ คือ เห็ดนางรมหัว, King Tuber, Tiger Milk Mushroom, Omon’s Oyster Mushroom
Paul Stamets นักเพาะเลี้ยงเห็ดสัญชาติอเมริกันซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับเห็ดป่าของอเมริกาและมีอาชีพในการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ เป็นการค้ากล่าวว่าในกลุ่มเห็ดที่รับประทานได้และนำมาเพาะเลี้ยงกันเป็นการค้านั้นเห็ดในสกุล Pleurotus หรือที่เรียกรวมกันไปว่าเห็ดนางรมนั้นเป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมสูงตลอดมาและเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงได้ง่ายที่สุดโดยใช้ต้นทุนในการเพาะเลี้ยงต่ำกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ มีเห็ดน้อยชนิดที่สามารถจะเทียบกับเห็ดนางรมได้ในแง่ของความแข็งแรงในการเจริญเติบโต ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพต่าง ๆ ของการเพาะเลี้ยง ตลอดจนการให้ผลผลิตที่สูง Stamets กล่าวด้วยว่าเห็ดนางรมเป็นเห็ดที่ขึ้นบนไม้ผุในสภาพธรรมชาติและสามารถเติบโตได้บนเศษซากของวัสดุที่ใช้ในการเกษตรหลายอย่างและคุณสมบัติดังกล่าวนี้พบได้น้อยกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ซึ่งคุณสมบัตินี้ทำให้เห็ดนางรมเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงได้ง่ายและประสบผลสำเร็จสูงในการผลิตเชิงการค้า
เห็ดนางรมขึ้นได้บนไม้ของต้นไม้เนื้อแข็งโดยทั่วไป เจริญเติบโตในอาหารเพาะเลี้ยงที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมไม้ คือ ขี้เลื่อย กระดาษ เยื่อกระดาษและเศษวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ฟางของธัญพืชชนิดต่าง ๆ ข้าวโพด ซังข้าวโพด ชานอ้อย เศษและซากเหลือจากกาแฟ เช่น ผงกาแฟ เปลือกกาแฟ กิ่งก้านและใบกาแฟ ใบกล้วย เปลือกเมล็ดฝ้าย เศษซากของว่านหางจระเข้ กากถั่วเหลือง และเศษซากจากวัสดุอินทรีย์อื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของ lignin และ cellulose
ลักษณะพิเศษของเห็ดชนิดต่าง ๆ ในสกุลเห็ดนางรม คือ ความสามารถในการเปลี่ยนมวลสารเริ่มต้น (substrate mass) หรือ วัสดุที่เห็ดขึ้นอยู่ให้เป็นดอกเห็ด ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้สูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (biological efficiency) เลยทีเดียวในกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่เป็นเห็ดด้วยกัน จากผลงานศึกษาวิจัยพบว่าการเปลี่ยนมวลของวัสดุอาหารโดยเห็ดนางรมนั้นสามารถเปลี่ยนฟางข้าวให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็น residual water เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นส่วนที่ย่อยสลายไป 20 เปอร์เซ็นต์ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นดอกเห็ด ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งดัชนีที่ได้นี้เมื่อเทียบเป็นการเปลี่ยนมวลเปียกของวัสดุอาหารไปเป็นดอกเห็ดสามารถแสดงดัชนีได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของการผันมวลอาหารเปียกให้เป็นดอกเห็ดสดในแง่ของน้ำหนักสดในระยะเก็บเกี่ยวดอกเห็ด
ในแง่ของน้ำหนักแห้ง เห็ดนางรมประกอบด้วยโปรตีน 15-35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีกรด
อะมิโนอิสระรวมไว้เป็นจำนวนมาก มีวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินซี (30-144 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้ง) วิตามินบีและไนอะซิน (109 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้ง) แต่ปริมาณของโปรตีน กรดอะมิโน และ วิตามิน ที่มีอยู่ในดอกเห็ดนางรมนั้นแปรเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดและผลผลิตเห็ดสดที่ได้จากการเพาะเลี้ยง
เห็ดนางรมที่เพาะเลี้ยงกันในปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์และมักจะมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากการสร้างสายพันธุ์ใหม่ของเห็ดนางรมทำได้ไม่ยาก ซึ่งทำได้โดยการนำเห็ดนางรมป่ามาเพาะเลี้ยงก็จะได้สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาไม่ยากนัก สีของเห็ดนางรมมีหลากหลาย เช่น ขาว ฟ้า เทา น้ำตาล เหลือง และ ชมพู ซึ่งเห็ดหลากสีของสกุลเห็ดนางรมนี้แต่ละชนิดและแต่ละสายพันธุ์จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวแตกต่างกันไป เช่น เห็ดนางรมชนิด Pleurotus pulmonarius หรือเห็ดนางฟ้านั้นเป็นชนิดที่ทนต่อสภาพของอุณหภูมิสูงได้ดีกว่าชนิดอื่น ๆ Pleurotus eryngii หรือเห็ดนางรมหลวงมีรสชาติดีที่สุด ในขณะที่เห็ดนางรมชนิดที่มีสีสวยงามกว่าชนิดอื่น ๆ คือ Pleurotus citrinopileatus หรือเห็ดนางรมสีเหลือง (สีทอง) และ Pleurotus djamor หรือเห็ดนางรมสีชมพู ส่วน Pleurotus ostreatus หรือเห็ดนางรมสีขาวและเห็ดนางรมสีเทานั้นเป็นเห็ดนางรมที่พบกระจายในวงกว้างที่สุด คือ พบทั่วไปในธรรมชาติในป่าต่าง ๆ ของเขตอบอุ่นไปจนถึงป่าในเขตร้อน
สำหรับการจำแนกเห็ดนั้นเห็ดในสกุล Pleurotus นับได้ว่าเป็นสกุลของเห็ดที่จำแนกได้ค่อนข้างลำบาก นักอนุกรมวิธานเห็ดชื่อ Singer จัดเห็ดที่อยู่ในสกุลนี้ไว้ในตระกูล Polyporaceae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับสกุล Lentinus ส่วนนักอนุกรมวิธานเห็ดท่านอื่น ๆ เห็นว่า Pleurotus ควรจะอยู่ในตระกูล Tricholomataceae ซึ่งต่อมาเมื่อมีการศึกษาโดยละเอียดถึงระดับ DNA จึงลงความเห็นกันว่า Pleurotus ไม่ควรจัดไว้ในตระกูลใดตระกูลหนึ่งในสองตระกูลที่กล่าวไว้นั้นน่าจะจัดไว้ในตระกูลที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ ตระกูลเห็ดนางรมหรือ Pleurotaceae ทำให้อนุกรมวิธานของเห็ดสกุลต่าง ๆ ในตระกูลใหม่นี้ได้รับการทบทวนใหม่และแม้ว่าจะมีการเสนออนุกรมวิธานของตระกูลนี้อย่างถูกต้องโดย Thom et al. แต่ก็ยังไม่ค่อยมีการยอมรับ และยังคงมีการใช้อนุกรมวิธานแบบเดิมต่อไปจนกว่าจะมีการศึกษาและตกลงกันใหม่ให้ลงตัว
ธรรมชาติของเห็ดนางรม
เห็ดนางรมเป็นเห็ดที่มีวงจรชีวิตแบบ heterothallic ดอกเห็ดที่เจริญเติบโตเต็มที่จะสร้าง basidiospore ซึ่งเมื่อปลิวไปตกในบริเวณและสภาพที่เหมาะสมจะงอกเส้นใยขั้นที่หนึ่งหรือ primary mycelium ออกมา เส้นใยนี้มีนิวเคลียสเพียงอันเดียวจึงเป็น haploid จากนั้นเส้นใยขั้นที่หนึ่งที่เจริญมาจากสปอร์ที่มีพันธุกรรมต่างกัน จะรวมตัวกันแล้วพัฒนาไปเป็นเส้นใยขั้นที่สอง (secondary mycelium) มีนิวเคลียสสองอัน เป็น diploid เรียกเส้นใยนี้อีกชื่อว่า dikaryotic mycelium เส้นใยเหล่านี้เจริญเติบโตรวดเร็ว ในแต่ละเซลล์มีข้อยึดระหว่างเซลล์ คือ clamp conncetion เส้นใยขั้นที่สองเมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนจะพร้อมสร้างดอกเห็ด เรียกเส้นใยขั้นนี้ว่า เส้นใยขั้นที่สาม หรือ tertiary mycelium เส้นใยกลุ่มนี้จะค่อย ๆ พัฒนาไปเป็น fruiting body แล้วเจริญต่อไปเป็นดอกเห็ด
จากธรรมชาติของการเจริญเติบโตเห็ดนางรมเรียกได้ว่าเป็นเห็ดที่มีการดำรงชีพแบบ saprophytic fungi เจริญเติบโตบนวัสดุที่มีชีวิต แต่ในบางครั้งก็จัดไว้เป็นพวก parasitic fungi เนื่องจากเห็ดเหล่านี้เมื่อมีการเติบโตบนต้นไม้หรือตอไม้แต่ตอไม้เกิดผุพังไปแทนที่เห็ดจะตายตามก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปอีกบนซากไม้เหล่านั้น การดำรงชีพตามธรรมชาติของเห็ดนางรมนั้นเกิดต่อเนื่องได้ด้วยการที่เห็ดเหล่านี้มีความสามารถในการย่อยสารประกอบที่มีโมเลกุลซับซ้อนได้ดีกว่าเห็ดหลายชนิด กล่าวคือ ย่อย lignin และ cellulose ได้โดยที่เนื้อเยื่อของเนื้อไม้ไม่ต้องผ่านการผุสลายเสียก่อน เห็ดสามารถย่อยเองได้โดยใช้เอ็นไซม์ที่ปลดปล่อยออกมา และถ้าจำเป็นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต เห็ดนางรมก็ยังคงอยู่รอดได้โดยการสร้าง chlamydospore เกาะไว้ตามตอไม้ ต่อเมื่อสภาพอากาศดีขึ้น มีความชุ่มชื้นเพียงพอก็จะงอกเส้นใยออกมาจาก chlamydospore เหล่านั้นแล้วพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด แพร่พันธุ์โดยสร้างสปอร์ตามปกติต่อไปได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรม คือ 30-32 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการพัฒนาของดอกเห็ด คือ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เส้นใยของเห็ดนางรมมีความสามารถในการเจริญเติบโตและมีการเชื่อมต่อของเส้นใยได้รวดเร็วมาก จึงเจริญเติบโตได้เร็วกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ
เห็ดนางรมไทยในธรรมชาติ
เห็ดนางรมที่พบในธรรมชาติของไทยจัดไว้ในกลุ่มเห็ดหิ้งครีบ (Gilled Polypores) ซึ่งมีสมาชิกของกลุ่มเพียงไม่กี่ชนิด ประกอบด้วย 2 สกุลด้วยกัน คือ สกุล Lentinus และสกุล Pleurotus สำหรับสมาชิกกลุ่ม Lentinus นั้นมีอยู่ 7 ชนิด ในขณะที่ Pleurotus มีเพียงชนิดเดียว
Lentinus ที่พบในธรรมชาติของไทย ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดขอนนวล เห็ดบดหรือเห็ดลม เห็ดขอนลายลูกฟูก เห็ดขอนขาว เห็ดขอนกรวยม่วง และ เห็ดขอนขนน้ำตาล ในขณะที่ Pleurotus ที่พบในธรรมชาติของไทยมีเพียงชนิดเดียว คือ เห็ดนางรม ลักษณะของเห็ดป่าในกลุ่มเห็ดหิ้งครีบของไทยมีดังนี้
1. Lentinula edodes (Bull.) Singer (เห็ดหอม) เป็นเห็ดที่มีหมวกดอกโค้งนูน สีน้ำตาลแดง หมวกดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ผิวมีขนและเกล็ดรูปเหลี่ยมสีน้ำตาลกระจายทั่วหมวกดอก ครีบดอกมีสีขาวเรียงถี่และยึดติดกับก้านดอก สปอร์มีลักษณะกลมรี มีสีน้ำตาล ขนาด 2-3x5-7 ไมโครเมตร ก้านดอกเห็ดมีสีน้ำตาลอ่อน ติดอยู่กลางดอก ไม่มีวงแหวน ขนาดก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.0 เซนติเมตร ก้านดอกมีขนหยาบสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ เนื้อในมีสีขาวและเหนียว (ภาพที่ 1) เป็นเห็ดหอมป่าชนิดที่บริโภคได้

2. Lentinus connalus Berk. (เห็ดขอนนวล) ดอกเห็ดมีรูปทรงคล้ายกรวย ตรงกลางหมวกดอกเว้ากว้างและลึก หมวกดอกมีสีครีมออกเหลืองจาง ๆ หรือน้ำตาลอ่อน มีขนสีน้ำตาลเทากระจายตามรัศมีหมวกดอก มีขนาดหมวกดอกส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8 เซนติเมตร ขอบหมวกดอกบาง ม้วนเล็กน้อย เมื่อแก่หมวกดอกบานออกและขอบหมวกดอกฉีกเล็กน้อย ครีบดอกสีขาวนวล เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทา ครีบถี่และเกยก้าน สปอร์มีรูปรีปลายโค้งเล็กน้อย สีขาวใสผิวเรียบ ขนาด 2.0-2.5.0x5.5-7.5 ไมโครเมตร ก้านดอกมีรูปทรงกระบอก ก้านโค้งเล็กน้อย ยาว 2-6 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1 เซนติเมตร สีขาวครีมและมีขนสีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่เป็นสีเทา สีน้ำตาลหรือสีดำ จากโคนก้านถึงปลายก้านมีขนคล้ายเขม่าไฟหรือขนหนาเป็นเกล็ดสีน้ำตาลอมเทา (ภาพที่ 2)

3. Lentinus polychorus Lev. (เห็ดบดหรือเห็ดลม) พบขึ้นเป็นกลุ่มในธรรมชาติ พบในป่าเต็งรัง ชอบขึ้นบนไม้จิก บนขอนหรือโคนต้นไม้ที่ตายแล้ว ออกดอกช่วงปลายของฤดูกาลออกดอกเห็ดหรือเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว ดอกเห็ดมีขนาด 5-10 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร กว้าง 0.4-1.5 เซนติเมตร หมวกดอกรูปทรงกรวย เว้าลึกตรงกลางคล้ายปากแตร ดอกอ่อนมีสีขาวอมเทา เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวหมวกดอกมีขนสีน้ำตาล รวมกันคล้ายเกล็ดเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง และเรียงกระจายอกไปทางขอบหมวกดอก ขอบหมวกดอกโค้งงอเล็กน้อย ครีบดอกถี่ มีสีขาวเทา ครีบเกยก้าน เมื่อแก่ครีบดอกเป็นสีน้ำตาลแดง สปอร์มีรูปร่างรี โค้งเล็กน้อย ผิวเรียบสีขาว ขนาด 2.5-3.0x6.0-9.0 ไมโครเมตร ก้านดอกเป็นทรงกระบอก โค้ง มีสีเทา เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล มีขนขนาดเล็ก แน่นและเหนียว ก้านดอกอยู่กลางดอกหรือเยื้องไปข้างใดข้างหนึ่ง (ภาพที่ 3)

4. Lentinus similis Berk. & Br. (เห็ดขอนลายลูกฟูก) เป็นเห็ดที่ขึ้นเป็นดอก
เดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่ม หมวกดอกขนาดใหญ่ เป็นรูปปากแตรสีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลางหมวกดอก 3-15 เซนติเมตร ตรงกลางหมวกดอกเว้าลึก มีร่องยาวขนาดเล็กจากกลีบขอบหมวกดอกถึงกลางหมวกดอก มีขนละเอียดสีน้ำตาลเป็นลายลูกฟูกตามแนวร่อง ปลายริมขอบหมวกดอกมีขนเล็กแหลม ขอบหมวกดอกโค้งลงเล็กน้อย ดอกอ่อนมีครีบดอกสีน้ำตาลเทา เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล ครีบถี่ชิดก้านดอก สปอร์มีสีขาวใส รูปรี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 2.5-3.0x5.0-6.0 ไมโครเมตร ก้านดอกทรงกระบอกสูง โค้งงอเล็กน้อยหรือตรง ก้านดอกยาว 2-15 เซนติเมตร กว้าง 0.2-1.5 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีขนเล็ก ๆ สีน้ำตาลอยู่เต็มก้าน ก้านแข็งและเหนียว อยู่กลางดอกหรือเยื้องไปด้านใดด้านหนึ่ง ที่โคนก้านมักมีก้อน sclerotium ติดอยู่ (ภาพที่ 4)

5. Lentinus squarrosulus Mont. (เห็ดขอนขาว) เห็ดชนิดนี้ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่ม ดอกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางของหมวกดอก 2-10 เซนติเมตร ก้านดอกทรงกระบอก ยาว 2-5 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.0 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เป็นรูปทรงกระบอก ตรงกลางหมวกดอกเว้าตื้น ปลายขอบโค้งลงเล็กน้อย ผิวบาง หมวกดอกมีขนและเกล็ดรูปเหลี่ยมสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อนเรียงกระจายทั่วดอก ครีบดอกมีสีขาว เรียงถี่ ชิดแน่น แนวครีบลู่ลงมาและยึดติดกับก้านดอก สปอร์มีรูปรีทรงกระบอก ผิวเรียบ ขนาด 2.0-2.5.0x5-8 ไมโครเมตร มีสีขาว ก้านดอกอยู่กลางดอกหรือเยื้องเล็กน้อยไปด้านใดด้านหนึ่ง ก้านดอกมีเกล็ดเช่นเดียวกับที่หมวกดอก ไม่มีวงแหวน (ภาพที่ 5) พบดอกเห็ดขอนขาวทั่วไปในป่าทึบและป่าเสื่อมโทรม

6. Lentinus velutinus Fries (เห็ดขอนกรวยม่วง) ขึ้นเป็นดอกเดี่ยว เจริญออกมาจากก้อน sclerotium ที่เกาะอยู่ที่ขอนไม้หรือตอไม้ผุ ดอกเห็ดมีขนาด 2-8 เซนติเมตร ก้านดอกกว้าง 0.2-1 เซนติเมตร ยาว 2-15 เซนติเมตร ดอกเห็ดมีรูปทรงกรวยหรือรูปแตร สีม่วง หมวกดอกอ่อนมีร่มขอบโค้งและม้วนลง ตรงกลางเว้าลึก เมื่อดอกบานสีหมวกดอกจะจางลง ริมขอบหมวกดอกบางและฉีกขาดได้ มีขนเล็กสีเทาที่ผิวของหมวกดอก สปอร์มีสีใส รูปทรงกลมรี ผนังบาง ผิวเรียบ ขนาด 3.0-3.7.0x5.0-7.0 ไมโครเมตร ก้านดอกเป็นทรงกระบอก สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ ปลายก้านพองออก (ภาพที่ 6)

7. Lentinus zeyheri Berk. (เห็ดขอนขนน้ำตาล) ดอกเห็ดเป็นรูปทรงกรวย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหมวกดอก 1-5 เซนติเมตร ผิวหมวกดอกมีลายเนื่องจากมีกลุ่มขนสีน้ำตาลเทาขึ้นเป็นกระจุก ๆ เมื่อหมวกดอกขยายตัวออกกลุ่มขนจึงเรียบลงโดยเฉพาะที่กลางหมวกดอก ใต้หมวกดอกมีครีบดอกถี่ ครีบเกยก้าน ครีบดอกมีสีขาวหรือขาวอมเหลือง สปอร์มีขนาด 1.5-2.5x5.0-7.5 ไมโครเมตร รูปร่างรียาว โคนมน ปลายแหลม ด้านหนึ่งตัดตรงหรือโค้งเล็กน้อย ก้านดอกมีขนสีขาว เนื้อในสีเหลืองนวล ก้านดอกค่อนข้างเหนียว (ภาพที่ 7) พบขึ้นบนไม้เนื้ออ่อนที่อยู่ติดกับพื้นดิน หรือตามเศษไม้ กิ่งไม้เล็ก ๆ

8. Pleurotus ostreatus Fries (เห็ดนางรม) พบขึ้นเป็นกลุ่ม ดอกเห็ดมีขนาด
4-12 เซนติเมตร ก้านดอกกว้าง 0.5-3.0 เซนติเมตร ยาว 0.5-4.0 เซนติเมตร บ่อยครั้งที่ไม่พบก้านดอก หมวกดอกมีลักษณะคล้ายรูปพัดหรือรูปครึ่งวงกลม ผิวหมวกดอกเรียบ ชื้นหรือแห้ง หมวกดอกมีสีขาวนวล สีครีม สีเทา หรือสีน้ำตาลอ่อน ครีบดอกมีแนวลู่ลงมายึดติดกับก้านดอก สปอร์มีสีขาวครีม รูปกลมรี ผิวเรียบ ขนาด 3-4x8-10 ไมโครเมตร ก้านดอกสีเดียวกับหมวกดอก อยู่เยื้องไปทางด้านใดด้านหนึ่งของหมวกดอก โคนก้านมีขนเล็ก ๆ (ภาพที่ 8) พบขึ้นอยู่ทั่วไปในป่า

ภาพที่ 8 เห็ดนางรม
เห็ดนางรมฮังการี
เห็ดนางรมฮังการี มีชื่อสามัญว่า Tree Oyster Mushroom เป็นสายพันธุ์หนึ่งของเห็ดนางรมชนิด Pleurotus ostreatus (Fries) Kummer หรือเห็ดนางรมทั่วไปเห็ดนางรมทั่วไปนี้เท่าที่มีการนำมาเพาะเลี้ยงกันเป็นการค้าในประเทศไทยมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ 1) เห็ดนางรมสีขาวเป็นสายพันธุ์ white type หรือ Florida type 2) เห็ดนางรมสีเทา เป็นสายพันธุ์ grey type หรือ winter type
3) เห็ดนางรมดอย เป็นสายพันธุ์ blue type และ 4) เห็ดนางรมฮังการี เป็นสายพันธุ์ tree oyster mushroom
เห็ดนางรมสายพันธุ์ฮังการีนี้มีลักษณะและส่วนประกอบของดอกเห็ดคล้ายคลึงกับเห็ดนางรมสายพันธุ์อื่นๆ อีก 3 สายพันธุ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดอกเห็ดมีหมวกดอกที่โค้งนูนเมื่อบานเต็มที่ ตรงกลางหมวกดอกเว้าลงตื้น ๆ ขอบหมวกดอกม้วนเข้าด้านใต้ของหมวกดอก สีของดอกเห็ดค่อนข้างขาว คล้ายกับสายพันธุ์สีขาวแต่สีออกขาวอมเทาหรืออมน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 9-11) วิธีการเพาะเลี้ยงเป็นวิธีการเดียวกันกับเห็ดนางรมสายพันธุ์อื่น ๆ


วัสดุที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ด
การเพาะเลี้ยงเห็ดในปัจจุบันเกิดมาจากการสังเกตและทดลองนำเห็ดที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ มาเพาะเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ และความพยายามดังกล่าวสำเร็จได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีของการผลิตเชื้อและการขยายเส้นใยของเห็ดในสภาพปลอดเชื้อเพื่อได้มาซึ่งเส้นใยของเชื้อบริสุทธิ์ที่ผ่านการสกัดจากดอกเห็ดและการขยายเชื้อเพื่อบ่มเส้นใยที่ผ่านขบวนการเพาะเลี้ยงที่ปลอดเชื้อจนถึงระยะที่นำเส้นใยบริสุทธิ์มากระตุ้นให้เกิดการสร้าง fruiting body ที่สามารถพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดบนอาหารเพาะเลี้ยงซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานและให้สารชีวเคมีที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเส้นใยจนเป็นดอกเห็ด
อาหารและสารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดในขั้นตอนของการแยกเชื้อบริสุทธิ์นั้น เป็นขั้นตอนมาตรฐานที่ไม่สามารถดัดแปลงสูตรอาหารได้มากมายนัก ด้วยเหตุที่เป็นอาหารพื้นฐาน คือ อาหารที่มีแหล่งของคาร์โบไฮเดรท วิตามิน และ สารเร่งการเจริญเติบโตที่จำเป็น ดังนั้นส่วนประกอบของอาหารพื้นฐานในขั้นตอนนี้จึงเป็น น้ำต้มมันฝรั่งและน้ำตาลกลูโคส โดยมีวุ้นผงเป็นตัวกลางที่ให้พื้นที่ในการเกาะยึดเพื่อการแผ่ขยายของเส้นใย โดยดำเนินการในสภาพปลอดเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่เกิดจากเชื้อที่ไม่เป็นที่ต้องการ
เมื่อถึงขั้นตอนของการขยายเชื้อเพื่อเพิ่มเส้นใยบริสุทธิ์นั้น ก็เป็นการเลี้ยงเชื้อในสภาพปลอดการปลอมปนอีกเช่นกัน ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงก็เป็นวัสดุที่ไม่สามารถดัดแปลงได้มากเช่นกัน เนื่องจากต้องเป็นแหล่งที่ให้คาร์โบไฮเดรตและสารชีวเคมีสำหรับการเจริญเติบโตอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งวัสดุที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือ เมล็ดธัญพืชชนิดต่าง ๆ
การดัดแปลงชนิดของวัสดุเพาะเลี้ยงในส่วนประกอบของอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนั้นจึงสามารถทำได้เฉพาะในขั้นตอนของการเลี้ยงเส้นใยเพื่อกระตุ้นให้มีการรวมตัวของเส้นใยขั้นที่ 1 ไปเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 และ ขั้นที่ 3 จนเกิด fruiting body ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นดอกเห็ดภายในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด ขั้นตอนดังกล่าวนี้ คือ ขั้นตอนของการเป็นอาหารในสภาพของก้อนเชื้อนั่นเอง
ส่วนใหญ่แล้วการพิจารณาส่วนประกอบของอาหารก้อนเชื้อได้มาจากการสังเกตว่าเห็ดชนิดที่ต้องการจะเพาะเลี้ยงนั้นมีธรรมชาติของการเจริญเติบโตเป็นแบบใด เป็นเห็ดที่ขึ้นตามขอนไม้หรือขึ้นตามเศษผุสลายของวัสดุอินทรีย์ เช่น เห็ดที่ขึ้นตามขอนไม้ก็ใช้วัสดุหลักในก้อนเชื้อเป็นเศษไม้หรือขี้เลื่อยโดยที่ให้ผ่านขั้นตอนของการหมักเศษไม้หรือขี้เลื่อยก่อนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดและต้องศึกษากับเห็ดแต่ละชนิดเป็นชนิด ๆ ไป เนื่องจากเห็ดบางชนิดมีความสามารถในการย่อยเนื้อไม้สดได้โดยไม่ต้องนำเศษไม้นั้น ๆ ไปหมักเสียก่อน ในขณะที่เห็ดบางชนิดต้องการให้เศษไม้มีการย่อยสลายเป็นบางส่วนเสียก่อน ส่วนเห็ดที่ขึ้นตามวัสดุอินทรีย์ที่กำลังผุพังนั้นก็สามารถใช้วัสดุเหล่านั้นนำไปหมักแล้วใช้เพาะเห็ดได้ ทั้งนี้เส้นใยของเห็ดแต่ละชนิดจะเจริญเติบโตได้หรือไม่ในวัสดุต่าง ๆ ที่เตรียมเป็นก้อนเชื้อจะขึ้นอยู่กับความต้องการจำเพาะของเห็ดแต่ละชนิด จะต้องมีการทดสอบก่อนจึงจะทราบได้ว่าเห็ดที่นำมาเพาะเหล่านั้นต้องการอาหารในก้อนเชื้อที่เฉพาะตัวอย่างไรบ้าง
สำหรับเห็ดนางรมนั้นมีรายงานว่านอกจากเส้นใยของเห็ดดังกล่าวจะเจริญเติบโตได้ในขี้เลื่อยของไม้ชนิดต่าง ๆ ดังเช่นในสภาพธรรมชาติแล้วยังสามารถเจริญเติบโตได้บนเศษซากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย เนื่องจากสามารถปล่อยเอ็นไซม์ออกมาย่อยสลายวัสดุเหล่านั้นแล้วแปลงให้เป็นอาหารและพลังงานเพื่อการเจริญเติบโตได้ ดังที่เห็นได้จากผลผลการสำรวจการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้เพาะเห็ดนางรม โดยการศึกษาของการเกษตรและป่าไม้ของโลก ซึ่งกล่าวว่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรนานาชนิดนั้นมีสัดส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจนหรือ C/N อยู่ระหว่าง 72-600 และมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.0-7.5
วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีรายงานไว้ว่ามีการใช้ในการนำมาเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมมีตัวอย่างเช่น เศษเหลือของหญ้าชนิดต่าง ๆ เฟิร์นบางชนิด ต้น artichoke กล้วย ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ถั่ว กระหล่ำชนิดต่าง ๆ พืชอวบน้ำในกลุ่มกระบองเพชร กระวาน อบเชย พืชตระกูลส้ม มะพร้าว กาแฟ ข้าวโพด ฝ้าย พืชในกลุ่ม Euphorbia ป่าน ตะไคร้ มันสำปะหลัง ผักกาดชนิดต่าง ๆ พริกไทย มันฝรั่ง อ้อ หลิว อ้อย ทานตะวัน ชา ผักตบชวา ผักโขมน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการประยุกต์ใช้เศษซากหญ้าในการเพาะเลี้ยงเห็ดในจีนโดยใช้หญ้าหลายชนิด อาทิ กูด หญ้ายูงทอง อ้อ แขม หญ้าไม้กวาด หญ้าดอกขาว กากอก จอก หญ้าดาย หญ้าอาหารชนิดต่าง ๆ สำหรับเลี้ยงสัตว์ หญ้าคา ข้าวฟ่างเลี้ยงนก เป็นต้น
จอกหูหนู
จอกหูหนู (ภาพที่ 12) เป็นวัชพืชลอยน้ำที่พบทั่วไปตามคลองระบายน้ำ หนองน้ำ และ บ่อน้ำ รวมทั้งบริเวณที่มีน้ำขัง พืชน้ำชนิดนี้เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งในวงศ์ Salviniaceae มีชื่อสามัญว่า จอกหูหนู Schwimmfarne, water spangle และ floating moss ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Salvinia culcullata Roxb. ex Bory มีลักษณะเป็นพืชที่มีลำต้นแบบเหง้ากลม แตกกิ่งก้านสาขาทอดขนานไปกับผิวน้ำ รากแตกออกจากลำต้นตามข้อ รากมีรากขนเป็นจำนวนมาก ใบแตกออกตามข้อของลำต้น ใบมีทั้งใบที่จมน้ำและใบที่ลอยน้ำ ใบที่ลอยน้ำหรือใบที่ปรากฏอยู่เหนือผิวน้ำมีเพียงข้อละ 1 คู่ เนื้อใบหนาและนุ่ม รูปร่างกลมหรือรี มีขนาด 1.0-1.8 เซนติเมตร ขอบใบห่อ โค้งขึ้น ดูคล้ายหูหนู ขอบใบเรียบ ตัวใบไม่เปียกน้ำ ผิวใบด้านบนมีตุ่มขนคลุมไว้จนแน่น เรียงตัวเป็นแถวที่ไม่เป็นระเบียบ ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบอีกแถวหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำ เรียกว่าใบราก (root-like leaf) แตกกิ่งก้านสาขาได้ มีสีขาว มีขนสีน้ำตาลปกคลุม เป็นส่วนที่สร้างกระเปาะเก็บสปอร์ (sporcarp) ขยายพันธุ์จอกหูหนูได้ด้วยการแยกเหง้าแบ่งก่อหรือใช้สปอร์
การใช้ประโยชน์จอกหูหนูนอกจากจะใช้เป็นไม้ประดับในอ่างเลี้ยงปลาแล้วยังมีการนำไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์และอาหารเสริมในการเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง จอกหูหนูมีประโยชน์ในการใช้เป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นในการวัดคุณภาพของแหล่งน้ำ เนื่องจากสีของใบของจอกหูหนูเปลี่ยนไปตามปริมาณของออกซิเจนในน้ำที่จอกเหล่านั้นอาศัยอยู่ โดยที่จอกหูหนูที่ลอยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนเพียงพอจะมีใบสีเขียวอมฟ้า แต่น้ำที่มีออกซิเจนน้อยจะทำให้ใบของจอกหูหนูมีสีเขียวอมเหลือง จึงสามารถคาดเดาคุณภาพของน้ำได้จากสีใบของจอกหูหนู

แนวคิดในการวิจัย
อ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณลุ่มสุดภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นผิวน้ำที่กว้างขวาง มีจอกหูหนูเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์จนคลุมพื้นผิวน้ำไว้เป็นบริเวณที่กว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยาและผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในอ่างนี้ค่อนข้างมาก กลุ่มงานศึกษาและทดสอบการปลูกพืชจึงได้นำจอกหูหนูเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ แนวคิดหนึ่งคือการนำไปทดสอบเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง ซึ่งพบว่าได้ผลค่อนข้างดี จึงมีแนวคิดต่อเนื่องในการนำจอกหูหนูไปใช้เพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่น ๆ บ้างโดยเฉพาะเห็ดในกลุ่มเห็ดนางรมเนื่องจากเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงได้ง่ายและเส้นใยของเห็ดเหล่านั้นสามารถย่อยสลายวัสดุอินทรีย์หลายชนิดให้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเป็นดอกเห็ดได้เป็นอย่างดี การทดลองครั้งนี้จึงได้นำเอาเห็ดหูหนูจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมาตากแห้ง แล้วนำไปทดสอบคุณสมบัติในการเป็นวัสดุก้อนเชื้อร่วมกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา ผลการศึกษาทดลองที่ได้จะได้นำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติและขยายผลสู่เกษตรกรต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
-
วิธีดาเนินการ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการทดสอบคุณสมบัติของจอกหูหนูแห้งในการเป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมฮังการี โดยการนำจอกหูหนูแห้งมาผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในสัดส่วนต่าง ๆ เป็นส่วนผสมหลักของก้อนเชื้อที่ใช้เลี้ยงเส้นใยของเห็ดนางรมสายพันธุ์นางรมฮังการี โดยมีกรรมวิธีของสัดส่วนของส่วนผสมทั้ง 2 รวม 5 กรรมวิธี ดังนี้
กรรมวิธีที่ 1
|
คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
|
100 : 0
|
|
กรรมวิธีที่ 2
|
คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
|
75 : 25
|
|
กรรมวิธีที่ 3
|
คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
|
50 : 50
|
|
กรรมวิธีที่ 4
|
คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
|
25 : 75
|
|
กรรมวิธีที่ 5
|
คือ จอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
|
0 : 100
|
|
เตรียมก้อนเชื้อโดยการผสมจอกหูหนูแห้งสับละเอียดและขี้เลื่อยไม้ยางพาราตามสัดส่วนที่กำหนดแล้วเติมส่วนผสมอื่น ๆ ตามระบุไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ส่วนผสมของก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมฮังการี
วัสดุ
|
ปริมาณ
|
ขี้เลื่อยไม้ยางพาราและจอกหูหนูแห้ง
รำละเอียด
ปูนขาว
ดีเกลือ
น้ำ
|
100 กิโลกรัม
5 กิโลกรัม
1 กิโลกรัม
0.2 กิโลกรัม
50-60 เปอร์เซ็นต์
|
บรรจุส่วนผสมของก้อนเชื้อตามกรรมวิธีต่าง ๆ ลงในถุงพลาสติก ปิดคอขวดแล้วนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 90-100 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง ทิ้งให้เย็นก่อนเขี่ยเชื้อลงก้อนเชื้อ
สำหรับการเตรียมเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางรมฮังการีนั้นใช้วิธีเตรียมอาหารวุ้น PDA (potato-dextrose-agar) ตามวิธีมาตรฐาน แล้วเขี่ยเส้นใยจากดอกเห็ดฉีกกลางในตู้ปลอดเชื้อ เลี้ยงจนกระทั่งได้เส้นใยเดินเต็มพื้นผิวอาหาร การขยายเส้นใยทำในอาหารเมล็ดข้างฟ่าง เมื่อเส้นใยเจริญจนเต็มขวดอาหารข้าวฟ่างแล้วจึงเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเส้นใยคลุมอยู่ลงไปในขวดก้อนเชื้อทุกกรรมวิธี บ่มก้อนเชื้อไว้จนกระทั่งเส้นใยเดินเต็มก้อนเชื้อแล้วจึงนำไปเปิดดอกในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดที่มีอุณหภูมิ 20-28 องศาเซลเซียสและมีความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 เปอร์เซ็นต์ บันทึกการเจริญเติบโตของเส้นใยในก้อนเชื้อและพฤติกรรมการเกิดดอกเห็ดตลอดจนผลผลิตของดอกเห็ดสดจากกรรมวิธีการทดลองทั้ง 5กรรมวิธี แล้วประเมินคุณสมบัติของจอกหูหนูแห้งในการเป็นวัสดุก้อนเชื้อเพื่อใช้เลี้ยงเห็ดนางรมฮังการี
ผลการศึกษาทดลองวิจัย
การบันทึกข้อมูลของผลการทดลองทำโดยการสังเกตและบันทึกลักษณะการเจริญเติบโตของเส้นใยของเชื้อเห็ดนางรมฮังการีในระยะที่บ่มเชื้อและระยะที่เริ่มมีการออกดอกเห็ด จากการสังเกตการเจริญเติบโตพบว่ากรรมวิธีที่ 1 ซึ่งเป็นอาหารก้อนเชื้อที่ประกอบด้วยจอกหูหนูแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพาราเลยนั้นก้อนเชื้อฝ่อและแห้งยุบไปในเวลาไม่นานหลังจากที่ย้ายก้อนเชื้อไปไว้ในโรงเปิดดอกเห็ด มีการออกดอกเห็ดจากก้อนเชื้อเหล่านั้นในอัตราที่ต่ำมาก และคุณภาพของเห็ดต่ำกว่ามาตรฐานมากจนไม่สามารถบันทึกผลผลิตได้ ดังเห็นได้จากผลการทดลองแสดงไว้ในตารางที่ 2 จากตารางนี้จะเห็นว่าก้อนเชื้อที่มีส่วนผสมของจอกหูหนูแห้งในอัตราที่ค่อนข้างสูงมีผลทำให้เกิดการปนเปื้อนในก้อนเชื้อในอัตราที่แตกต่างกันไปตามสัดส่วนของจอกหูหนูแห้ง โดยที่กรรมวิธีที่ 1 ซึ่งเป็นจอกหูหนูแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์นั้น อัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อสูงถึง 96 เปอร์เซ็นต์ และอัตราดังกล่าวนี้ลดลงเป็นลำดับตามการลดลงของสัดส่วนของจอกหูหนูแห้ง เมื่อเทียบกับก้อนเชื้อในกรรมวิธีที่ 5 ซึ่งมีส่วนผสมของจอกหูหนูแห้ง : ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 0:100 นั้นอัตราการปนเปื้อนในกรรมวิธีที่ 5 ต่ำกว่าของกรรมวิธีอื่นทุกกรรมวิธียกเว้นกรรมวิธีที่ 4 ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 25:75 จากข้อมูลที่ได้นี้พอสรุปได้ในขั้นต้นว่าจอกหูหนูแห้งมีคุณสมบัติด้อยกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพาราในแง่ของการปนเปื้อน ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าจอกหูหนูแห้งที่นำมาเตรียมก้อนเชื้อยังแห้งไม่สนิทจึงยังคงมีความชื้นอยู่ภายใน ทำให้มีเชื้อราที่ไม่เป็นที่ต้องการอยู่ส่วนหนึ่งในชิ้นส่วนของจอกหูหนูแห้งเหล่านั้น นอกจากนี้การนึ่งก้อนเชื้อเพียง 2 ชั่วโมงอาจทำลายเชื้อปนเปื้อนได้ไม่สมบูรณ์ จึงควรที่จะต้องมีการทดลองซ้ำโดยปรับปรุงวิธีการเป็นการใช้จอกหูหนูที่ตากจนแห้งสนิทและเพิ่มความยาวนานในการนึ่งก้อนเชื้อ จึงจะสรุปผลที่แสดงถึงศักยภาพและคุณภาพที่แท้จริงของจอกหูหนูแห้งได้
ในแง่ของการเจริญเติบโตแผ่ขยายของเส้นใยเชื้อเห็ดนางรมฮังการีในก้อนเชื้อทั้ง 5 กรรมวิธี พบว่า เส้นใยเดินในก้อนเชื้อของกรรมวิธีที่ 5 ได้เร็วกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ ซึ่งแสดงถึงผลในการเป็นแหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตของขี้เลื่อยไม้ยางพาราว่าเหนือกว่าจอกหูหนูแห้งอย่างชัดเจน โดยที่กรรมวิธีที่ 5 ใช้เวลาเพียง 28 วันเชื้อก็เดินจนเต็มก้อนเชื้อในขณะที่กรรมวิธีอื่น ๆ อีก 4 กรรมวิธีซึ่งเป็นกรรมวิธีที่มีจอกหูหนูแห้งผสมอยู่ด้วยนั้นใช้เวลายาวนานกว่า ดังเห็นได้จากกรรมวิธีที่ 1-3 ซึ่งมีจอกหูหนูแห้งผสมอยู่ 100, 75 และ 50 เปอร์เซ็นต์ นั้นใช้เวลายาวนานถึง 39, 34 และ 34 วันตามลำดับ ในขณะที่กรรมวิธีที่ 4-5 มีจอกหูหนูแห้งปนอยู่ 25 และ 0 เปอร์เซ็นต์ใช้เวลา 31 และ 28 วันตามลำดับ และในแง่ของความยาวนานของช่วงที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเห็ดสดจากก้อนเชื้อในกรรมวิธีที่
1-5 นั้นพบว่าให้ผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (ตารางที่ 2)
สำหรับผลผลิตของดอกเห็ดสดพบว่าผลผลิตของดอกเห็ดสดเฉลี่ยที่บันทึกได้จากกรรมวิธีที่ 2-5 นั้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณของจอกหูหนูแห้งในก้อนเชื้อ กล่าวคือ ได้ผลผลิตเฉลี่ยเป็น 3.3, 4.7, 6.9 และ 7.5 ในกรรมวิธีที่ 2, 3, 4 และ 5 ตามลำดับ (ตารางที่ 2 และ ภาพที่ 13-15) ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงข้อเสียเปรียบของการใช้จอกหูหนูแห้งในก้อนเชื้อที่ใช้เลี้ยงเห็ดนางรมฮังการีในครั้งนี้
ตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่ใช้ในการเจริญของเส้นใยจนเต็มก้อนเชื้อ ความยาวนานที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากก้อนเชื้อ ผลผลิตดอกเห็ดสดต่อก้อนเชื้อ และ อัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อกรรมวิธีต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมฮังการี
กรรมวิธี
|
จำนวนวันที่ใช้ในการเจริญของเส้นใย
|
ช่วงความยาวนานที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ (วัน)
|
ผลผลิตต่อก้อนเชื้อ (กก.)
|
อัตราการปนเปื้อนของก้อนเชื้อ (%)
|
1
2
3
4
5
|
39
34
34
31
28
|
15
18
13
29
28
|
0
3.3
4.7
6.9
7.5
|
96
39
21
8
19
|

ผลของการศึกษาทดลองในครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่าการใช้จอกหูหนูแห้งเป็นวัสดุหลักในก้อนเชื้อนั้นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมและแก้ไขปัญหาที่รวบรวมได้จากการศึกษาทดลองครั้งนี้ดังกล่าวไว้แล้วในข้างต้นว่า การปนเปื้อนของก้อนเชื้อที่มีจอกหูหนูแห้งเป็นส่วนผสมนั้นอาจจะอยู่ที่โครงสร้างของจอกหูหนูซึ่งเป็นพืชน้ำที่มีความอวบน้ำอยู่มาก เมื่อนำขึ้นมาตากแห้งหากการตากไม่สมบูรณ์จะทำให้มีเชื้อราติดมากับจอกหูหนูเป็นจำนวนมากและมากชนิด ย่อมก่อให้เกิดปัญหาของการปนเปื้อนได้มากและในหลายรูปแบบ จึงต้องมีการให้ความสำคัญในแง่นี้ให้มาก อีกประการหนึ่งคือการยุบตัวของจอกหูหนูซึ่งเป็นวัสดุอินทรีย์ที่อวบน้ำเมื่อยังสดอยู่ ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในสภาพแห้งย่อมยุบตัวมากจึงทำให้ก้อนเชื้ออยู่ในลักษณะหลวมและมีวัสดุให้อาหารน้อยกว่าปกติ จึงต้องแก้ไขในจุดนี้ด้วยก่อนที่จะลงความเห็นว่าจอกหูหนูไม่ใช่วัสดุที่เหมาะสมในการทำก้อนเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดต่าง ๆ
สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
การศึกษาการใช้จอกหูหนูแห้งในการเป็นส่วนผสมหลักในก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมฮังการี ได้ผลว่า จอกหูหนูแห้งแสดงคุณสมบัติที่ด้อยกว่าขี้เลื่อยไม้ยางพาราในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการให้ผลผลิตต่ำ การเกิดการปนเปื้อนที่สูงมากในก้อนเชื้อ การใช้เวลายาวนานในการกระตุ้นให้เส้นใยของเชื้อเห็ดนางรมฮังการีเดินจนเต็มก้อนเชื้อ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเห็ดได้เพียงช่วงสั้น ๆ แต่เมื่อคำนึงถึงโครงสร้างของจอกหูหนูซึ่งเป็นพืชอวบน้ำจึงมีข้อเสนอว่าควรจะมีการทดลองซ้ำและศึกษาวิธีการแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ ก่อนที่จะสรุปว่าพืชชนิดนี้ไม่มีศักยภาพในการเป็นส่วนผสมหลักในก้อนเชื้อที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดนางรมฮังการี