ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จุดประสงค์หลักของการศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ที่ดำเนินการโดยกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์นั้น เป็นการพัฒนาวิธีการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับการเกษตรในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ซึ่งอ่อนไหวต่อการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติซึ่งสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดกับพื้นที่ต้นทาง อันย่อมมีผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปลายทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเลี้ยงสัตว์ที่ไม่รบกวนต่อสภาพแวดล้อมและไม่สร้างมลภาวะให้กับพื้นที่ต้นน้ำลำธารย่อมเกิดประโยชน์นานัปการ สำหรับพื้นที่บนที่สูงที่มีความลาดชันที่ได้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปมากแล้วนั้น การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าว ถ้าดำเนินการในรูปแบบที่เหมาะสมโดยร่วมกับระบบการปลูกพืชที่ถูกวิธีย่อมจะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมได้ด้วยการหมุนเวียนวัสดุอินทรีย์ให้ดินและพืชในพื้นที่นั้นได้รับประโยชน์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็จะช่วยให้สภาพดีขึ้นได้ แม้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ก็ตามที ดังนั้นการศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาวิธีการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างการฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจึงมีการดำเนินการตามจุดประสงค์ภายในพื้นที่สนามของกลุ่มงานฯ และในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบางส่วนภายในศูนย์ฯ ผลการดำเนินการได้พัฒนาต่อไปเป็นงานสาธิตและฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดและขยายผลสู่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
-
วิธีดำเนินการ
ดำเนินการศึกษาการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ แพะ สุกร และ กระต่าย และสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่ และ เป็ด ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อได้วิธีการเลี้ยงที่เหมาะสมต่อระบบเกษตรกรรมต่าง ๆ ที่เกษตรกรในพื้นที่ดอนและพื้นที่ลุ่มรับน้ำปฏิบัติกันอยู่ โดยเป็นวิธีที่เหมาะสมและรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นการเน้นการเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรผสมผสาน เป็นหลัก รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เสื่อมโทรมโดยให้มีการใช้เศษเหลือและมูลสัตว์ในการปรับปรุงบำรุงดิน
ผลที่ได้จากการศึกษาได้พัฒนาต่อในรูปของงานสาธิตตามจุดต่าง ๆ ตามคอกของสัตว์เลี้ยงชนิดต่าง ๆ เพื่อการขยายความรู้ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน นอกจากนี้ผลการศึกษายังได้ถ่ายทอดไปยังเกษตรกรผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่กลุ่มงานฯ จัดไว้ในแต่ละปีตามฤดูกาลและธรรมชาติของงาน
ผลการศึกษาทดลองวิจัย
ผลของการศึกษาสรุปได้ตามชนิดของสัตว์ดังนี้
1. การเลี้ยงแพะ
แพะที่เลี้ยงเพื่อการศึกษาทดลองคือแพะนมพันธุ์ซาเนน พบว่าแพะพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงได้ผลดี โดยเลี้ยงในโรงเรือน มีการต้อนให้ออกไปกินอาหารธรรมชาติรวมทั้งเลี้ยงด้วยหญ้าจากแปลงปลูกหญ้าอาหารสัตว์ โดยมีใบกระถินปะปนอยู่ด้วย มีการให้อาหารเสริมตามสูตรที่เหมาะสมกับพันธุ์ซาเนน (ภาพที่ 1-7) แพะมีการเจริญเติบโตดีและให้นมดีมาก นมที่รีดได้นอกจากจะใช้เป็นนมสดแล้วยังสามารถนำไปทำไอศครีมที่มีคุณภาพดีได้ด้วย


2. การเลี้ยงสุกร
การศึกษาทดลองการเลี้ยงสุกรได้รูปแบบที่เหมาะสมทั้งการเลี้ยงสุกรเนื้อ การผลิตลูกสุกร การเลี้ยงสุกรพันธุ์พื้นเมืองและสุกรพันธุ์ป่ารวมทั้งการเลี้ยงสุกรในหลุม คอกสุกรส่วนใหญ่จัดเป็นคอกสาธิตเพื่อการศึกษาดูงานและเยี่ยมชมของเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ผลที่ได้จากการศึกษาได้มีการนำไปใช้ในการขยายผลสู่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และในหมู่บ้านอื่น ๆ (ภาพที่ 8-26)



3. การเลี้ยงกระต่าย
กระต่ายที่ทดลองเลี้ยงมีหลายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์เนื้อและพันธุ์ที่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม การเลี้ยงกระต่ายจะต้องมีการดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด เพราะเป็นกระต่ายพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งค่อนข้างจะอ่อนแอ และต้องการความสะอาด ผลการทดสอบพบว่ากระต่ายหลายพันธุ์สามารถเลี้ยงให้เติบโตดีและให้ผลผลิตดี (ภาพที่ 27-34) แต่มีหลายพันธุ์ที่เจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรและอ่อนแอต่อโรค




4. การเลี้ยงไก่
ทดลองเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ ซึ่งเป็นไก่พันธุ์เศรษฐกิจ และ เลี้ยงไก่พื้นเมืองในรูปแบบต่าง ๆ
ซึ่งได้ผลดี และมีคอกไก่สาธิตเพื่อเผยแพร่งานทดลอง นอกจากนี้มีการใช้ผลการทดลองถ่ายทอดสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปผ่านการฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์ปีก (ภาพที่ 35-42)



5. การเลี้ยงเป็ด
การเลี้ยงเป็ดโดยเฉพาะเป็ดเทศเพื่อผลิตไข่ได้ผลดีมาก ในขณะที่การเลี้ยงเป็ดในลักษณะกึ่งพื้นบ้านก็ได้ผลดีเช่นกัน นอกจากนี้ผลการทดสอบการเลี้ยงรวมกับไก่พื้นเมืองและปลาก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (ภาพที่ 44-59)



ในการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีอุปสรรคในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านโรคต่าง ๆ ที่รบกวนแต่ก็ได้มีการป้องกันและรักษาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ความรู้จากการปฏิบัติดังกล่าวนั้นและได้แปลงให้เป็นวิธีการป้องกันและรักษาในหลักสูตรการฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์เฉพาะทางเป็นชนิด ๆ ไป
สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
การศึกษาทดลองและทดสอบการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กซึ่งได้แก่ แพะ สุกร และ กระต่าย และการเลี้ยงสัตว์ปีก คือ ไก่และเป็ด ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้พัฒนาวิธีการเลี้ยงสัตว์เหล่านั้น โดยดัดแปลงให้เข้ากับสภาพการเลี้ยงตามปัจจัยกำหนด ทั้งนี้ผลการทดลองและการทดสอบปลีกย่อยในขั้นตอนต่าง ๆ ของการเลี้ยงสัตว์ได้พัฒนาให้เป็นวิธีการสำหรับเผยแพร่ในการฝึกอบรมเฉพาะทางของสัตว์แต่ละชนิด ผลพลอยได้ที่ได้จากการศึกษาและทดสอบได้แปลงไว้ในรูปของคอกสัตว์สาธิตภายในพื้นที่ปฏิบัติงานของกลุ่มศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานสำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ทั้งนี้การศึกษาทดลองยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาและทดสอบเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต การอยู่รอด ตลอดจนผลผลิตของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เหล่านั้น โดยมีการศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดกับสัตว์เหล่านั้นไปพร้อมกัน