ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การเลี้ยงไก่เป็นการค้ามีการพัฒนาจากระบบการเลี้ยงสัตว์ของผู้เลี้ยงระบบย่อยมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ครบวงจร จึงต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงโดยการควบคุมโรคต่าง ๆ ด้วยการเสริมสารปฏิชีวนะในระดับต่ำลงไปในอาหารไก่ ตลอดจนการให้สารเสริมเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์จะได้ให้ผลผลิตเร็วขึ้น ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบและควบคุมการใช้สารปฏิชีวนะต่าง ๆ ในไก่ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าการใช้สารปฏิชีวนะเหล่านั้นเมื่อให้ไก่กินเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะยาวสารตกค้างในเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของไก่จะทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ทำให้เกิดการแพ้ยา ฟันและกระดูกเปลี่ยนสีไปจากธรรมชาติ เกิดโรคโลหิตจางและเป็นแผลในตับ นอกจากนี้สารตกค้างยังก่อให้เกิดการดื้อยาของเชื้อจนอาจจะเป็นปัญหาในระยะยาวกับการรักษาโรคของคนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากไก่เหล่านั้น
โรคไก่และการป้องกัน
โรคไก่มีหลายชนิด แต่ละชนิดก่อให้เกิดอาการและผลเสียต่อสุขภาพของไก่ได้แตกต่างกัน โรคที่พบกับไก่โดยทั่วไปรวมทั้งวิธีการป้องกันมีดังนี้
1. โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไปหรืออาจจะกินน้ำหรืออาหารที่มีเชื้อเข้าไป หรือติดจากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย และ สิ่งขับถ่ายอื่น ๆ ของไก่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ไก่ที่เป็นโรคจะมีอาการทางระบบหายใจ มีน้ำมูกไหล หัวสั่น กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต คอบิด เดินเป็นวงกลมเอาหัวซุกใต้ปีก ป้องกันโดยใช้วัคซีนลาโซตาเชื้อเป็นและลาโซตาเชื้อตาย ซึ่งผู้เลี้ยงไก่สามารถทำวัคซีนนี้เองได้
2. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะรุนแรงในลูกไก่และทำให้มีอัตราการตายของลูกไก่สูงมาก ไก่ที่ติดเชื้อมีอาการหายใจลำบากต้องอ้าปากและโก่งคอเมื่อหายใจ เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดในลำคอ มีอาการไอ น้ำมูกไหล ตาแฉะ เชื่องซึม เบื่ออาหาร ป้องกันโดยใช้วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
3. โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคจะมีอาการ หงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าอาการรุนแรงมากไก่อาจจะตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น การป้องกันใช้วัคซีน ส่วนการรักษาใช้ยาปฏิชีวนะดังนี้ คลอเตตร้าซัยคลีน หรือ ออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือ ซัลฟาเมทธารีน เป็นต้น
4. โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักจะเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น การอยู่รวมกันเป็นฝูงจะติดต่อกันได้รวดเร็วมาก มียุงเป็นพาหนะ โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคจะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามใบหน้า หงอน เหนียง และ ผิวหนัง เมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดสุกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายไป ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
5. โรคหวัดติดต่อหรือโรคหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจ มักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และ น้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว คือ มีอาการจาม มีน้ำตาและน้ำมูกอยู่ในช่องจมูก เมื่อเป็นมากจะเปียกเกรอะถึงปาก มีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรงตาแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม กินอาหารได้น้อยลง รักษาโดยใช้ยาประเภทซัลฟา ได้แก่ ซัลฟาไธรอะโซล ซัลฟาไดเมท๊อกซิน หรือ ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีเตตร้าซัยคลิน อิริโธรมัยซีน และ สเตรปโตมัยซีน การป้องกันคือการจัดการสุขาภิบาลและการเลี้ยงดูที่ดี จัดให้โรงเรือนมีการถ่ายเทอากาศ มีการฉีดวัคซีนป้องกัน
6. โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจ มักเป็นกับไก่ใหญ่อายุ 3-4 เดือนขึ้นไป เกิดจากเชื้อไวรัส ไก่ที่เป็นโรคแสดงอาการหายใจไม่สะดวก ยื่นคอและหัวตรงไปข้างหน้า อ้าปากเป็นระยะและหลับตา ไก่จะตายเพราะหายใจไม่ออก ป้องกันโดยการฉีดวัคซีน และจัดการสุขาภิบาลให้ดี ป้องกันไม่ให้โรงเรือนเลี้ยงไก่มีลมโกรก
7. โรคมาเร็กซ์ มักจะเป็นกับไก่รุ่น เกิดจากเชื้อไวรัสที่สะสมอยู่ที่หนังไก่บริเวณโคนขนของไก่ป่วย เป็นแผ่นเล็ก ๆ คล้ายรังแค ไก่ที่เป็นโรคมีอาการหงอย ซึม เจริญเติบโตไม่ได้ขนาด ในกรณีที่ไก่เป็นอัมพาตไก่จะอ่อนเพลีย กินน้ำและอาหารไม่ได้ดี การทรงตัวไม่ปกติ เดินขาลากจนถึงเดินไม่ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันได้ จัดการสุขาภิบาลให้ดี ควรเลี้ยงดูให้ดีและไม่ให้ไก่เครียด
8. โรคไข้หวัดนก (avian influenza) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด avian influenza virus type A ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดนี้มีเปลือกหุ้ม อาการของโรคไข้หวัดนกผันแปรตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เชื้อไวรัส สัตว์ที่ได้รับเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการป่วย แต่จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นในระยะแรก ดังนั้นเมื่อสัตว์ติดเชื้อแล้วจากนั้นเป็นเวลา 10-14 วัน จึงจะสามารถวินิจฉัยโรคได้ สัตว์อาจจะแสดงอาการ คือ กินอาหารน้อยลง ไอ จาม ขนร่วง มีไข้ หน้าบวม ซึม ท้องเสีย ถ้าติดเชื้อรุนแรงอาจจะตายกะทันหันและอัตราตายสูงถึง 100% แต่ไวรัสชนิดนี้ไม่ทำให้เป็ดป่วย ส่วนสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ ป่วยได้ เช่น ไก่งวง เป็นต้น สัตว์ปีกทุกชนิดมีความไวต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกนี้ สามารถแยกเชื้อได้จาก นกน้ำรวมทั้งนกชายทะเล นกนางนวล ห่านและนกป่า เป็ดป่าสามารถนำเชื้อได้แต่ไม่แสดงอาการป่วยจึงถือได้ว่าเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงของการระบาดของโรคไข้หวัดนกจากนกน้ำซึ่งได้แก่ได้แก่นกป่าและเป็ด นอกจากนี้ไก่งวงยังเป็นแหล่งกักโรคที่ก่อปัญหาได้มาก
การติดต่อของโรคเกิดจากการสัมผัสกับอุจจาระของนกด้วยกัน นกป่าเป็นตัวนำเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไปยังโรงเรือนที่เปิดได้โดยผ่านการปนเปื้อนของอุจจาระ หรือติดเชื้อโดยการสัมผัสกับสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น มูลของนกเป็นแหล่งของเชื้อที่สำคัญ การขับเชื้อทางมูลใช้เวลา 7-14 วันหลังการติดเชื้อ ไวรัสนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 105 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง นอกจากนี้อาจจะติดเชื้อได้จากการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ตัวที่ป่วยเข้าไป
การรักษาโรคไก่แบบพื้นบ้าน
ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่คือโรคระบาดและทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดในฟาร์มไก่ก็จะสร้างความสูญเสียให้กับผู้เลี้ยงได้อย่างมาก และเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปยังไก่ที่เหลือในเล้าตลอดจนไก่ในฟาร์มข้างเคียง สาเหตุสำคัญของการระบาดคือสภาพของการเลี้ยงไก่จำนวนมากในพื้นที่จำกัดที่นอกจากจะสร้างความเครียดให้กับไก่แล้วยังทำให้ไก่กินอาหารน้อยลง มีภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง จึงติดเชื้อได้ง่าย การป้องกันที่ผู้เลี้ยงไก่ปฏิบัติตลอดมาคือการใช้ยาประเภทสารปฏิชีวนะผสมในน้ำหรือในอาหารให้ไก่กินเพื่อลดความเครียดของไก่ ทำให้ไก่กินอาหารได้มากขึ้นและมีภูมิต้านทานสูงขึ้น แต่การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เกิดสารตกค้างในไก่ได้ และทำให้เนื้อไก่ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นของไก่ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงมีแนวทางในการนำวิถีของการเลี้ยงไก่พื้นบ้านของไทยมาใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะกับไก่ โดยศึกษาการใช้สมุนไพรเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ
การเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้านมีการใช้สมุนไพรในการป้องกัน บำรุง และ รักษาโรคในไก่อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาค เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมามีรายงานการรักษาโรคหวัดของไก่โดยใช้หอมหัวแดงหั่นเป็นชิ้นหรือเป็นแว่น แล้วบีบ ขยี้ หรือ ทาที่จมูกไก่เพื่อแก้อาการน้ำมูกไหล และช่วยให้ไก่หายใจได้สะดวกขึ้น ทั้งยังช่วยลดอาการไข้ของไก่ได้ด้วย ส่วนการรักษาไก่ที่มีอาการหน้าบวมนั้นใช้ฟ้าทะลายโจรมาหั่นแล้วตากแดด คลุกกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนแบบยาลูกกลอนเมล็ดเล็ก ๆ ขนาดพอดีคำให้ไก่กิน แต่ถ้าไก่เป็นหวัดในช่วงอากาศร้อนห้ามรักษาด้วยวิธีนี้เนื่องจากน้ำผึ้งจะทำให้ไก่ร้อนและเป็นไข้หนักขึ้นกว่าเดิม
ในจังหวัดเชียงรายที่อำเภอพานมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่รักษาโรคไก่ด้วยสมุนไพรหลายวิธีด้วยกัน ได้แนะนำสมุนไพรเป็นสูตรใช้ผสมในอาหารไก่เพื่อสร้างภูมิต้านทานในไก่ ช่วยให้ไก่โตเร็วโดยมีส่วนผสมของพลูซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกและรักษากลาก ใบแมงลักซึ่งมีสรรพคุณในการแก้หลอดลมอักเสบและเป็นยาระบาย ไพลมีสรรพคุณแก้ปวดตามร่างกายและสมานลำไส้ ตะไคร้มีสรรพคุณช่วยขับลม ช่วยให้เจริญอาหารและบำรุงธาตุ ขมิ้นชันมีสรรพคุณแก้ท้องอืดและรักษาลำไส้ไก่ และ ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณแก้หวัด ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การเตรียมส่วนผสมของสมุนไพรสูตรนี้ทำโดยการเอาสมุนไพรชนิดที่กล่าวแล้วนั้นไปตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด นำมาอย่างละ 2 ช้อนโต๊ะผสมให้เข้ากัน แล้วคลุกลงไปในอาหารไก่สำเร็จรูปหนัก 150 กิโลกรัม ใช้เลี้ยงไก่ในช่วงเช้าและเย็น ให้ใช้กับไก่ที่มีอายุ 21 วันขึ้นไป
ยาพื้นบ้านที่ใช้ดูแลไก่พื้นเมืองที่เป็นไก่ชนนั้นมีมานานแล้ว มีสูตรแตกต่างกันและน่าจะสามารถนำไปใช้กับไก่ประเภทอื่นได้ ยาเหล่านั้นมีตัวอย่างเช่น ยาถ่ายไก่ เป็นยาโบราณที่ยังมีการนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยส่วนผสม คือ เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มะขามเปียก 1 หยิบมือ ไพล 5 แว่น บอระเพ็ดยาว 2 นิ้วหั่นเป็นแว่นบาง น้ำตาลปีบ 1 ช้อนโต๊ะ ใบจากซึ่งเอาไปเผาไฟจนเป็นถ่านจากใบจากสด 1 กำวงแหวน แล้วตำในครกให้ละเอียด ผสมส่วนผสมทั้งหมดแล้วคลุกให้เข้ากัน ตำในครกอีกครั้งให้ละเอียด ปั้นเป็นยาลูกกลอน ให้ไก่กินในตอนเช้าเวลาท้องว่าง เมื่อยาออกฤทธิ์ไก่จะถ่ายเป็นน้ำ จากนั้นเอาข้าวให้ไก่กินเพื่อให้ยาหยุดฤทธิ์
การป้องกันไก่จากการเป็นหวัดหรือการรักษาอาการหวัดในระยะเริ่มแรกนั้น มีการใช้สมุนไพรและรักษาแบบพื้นบ้านมานานแล้ว เช่น ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเจ้าของฟาร์มไก่ใช้วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ของเขาโดยใช้ฟ้าทะลายโจรและบอระเพ็ดบดเป็นผงผสมกันในอัตราส่วนฟ้าทะลายโจร 100 กิโลกรัมผสมกับบอระเพ็ด 200 กรัม แล้วใส่ลงในอาหารไก่โดยใช้สมุนไพรสูตรดังกล่าวผสมลงไปในอาหารไก่ 15 กิโลกรัมต่ออาหาร 1,000 กิโลกรัม ให้ไก่กินทุกวัน ฟ้าทะลายโจรผสมบอระเพ็ดจะช่วยป้องกันหวัดและควบคุมอหิวาต์ ทำให้ไก่แข็งแรงมีสุขภาพดี ต้านทานไวรัสหวัดและเชื้ออหิวาต์ได้ นอกจากนี้ยังมีการป้องกันเชื้อโรคที่มากับน้ำที่ไก่กิน เนื่องจากเชื้อมักจะมากับน้ำได้ด้วยเช่นกัน การฆ่าเชื้อในน้ำแทนที่จะใช้ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนหรือเพนนิซิลลีนก็ใช้ตะไคร้มาต้มในน้ำให้ไก่กินน้ำต้มแทน ในขณะที่ต้มน้ำตะไคร้เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของไก่มักจะใช้ไอน้ำจากการต้มตะไคร้ไล่เข้าไปในเล้าไก่ แต่ต้องทำความสะอาดเล้าไก่ให้ดีเสียก่อน แล้วต่อท่อเข้าไป ผ่านไอน้ำเข้าไปในท่อเพื่อให้ไอตะไคร้ไล่เชื้อหวัดในเล้าไก่อีกทางหนึ่ง
การศึกษาการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคไก่
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคที่เกิดกับไก่เพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้เกิดสารตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารจากไก่ จากผลงานวิจัยในชุดโครงการ การใช้สมุนไพรในการผลิตสัตว์ พบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคในไก่ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน พริก ใบอ่อนหรือผลอ่อนของฝรั่ง เป็นต้น แต่การศึกษาวิจัยยังไม่ถึงขั้นที่จะนำมาใช้อย่างจริงจังในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ จึงยังคงต้องศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อให้สามารถใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต
สำหรับการศึกษาวิจัยในระดับการสังเกตุนั้นพบว่าในการใช้สมุนไพรช่วยลดความเครียดและช่วยการย่อยอาหารของสัตว์นั้น สมุนไพรชนิดฟ้าทะลายโจรและขมิ้นชันใช้ได้ผลกับไก่ ส่วน พริก ใบฝรั่ง และ กระเทียม มีผลเพียงช่วยทำให้สัตว์มีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นเท่านั้น
การศึกษาเกี่ยวกับชนิดของสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรซึ่งน่าจะเป็นสารที่มีผลในการป้องกันและรักษาโรคไก่นั้นมีรายงานว่า ในต้นฟ้าทะลายโจร (Andrographia paniculata Wall. ex Nees) มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นสารประเภท diterpane lactone จำพวก andrographolide, neoandrographolide, dehydroandrographolide และ deoxyandrographolide ซึ่งออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคระบาดในทางเดินอาหาร เช่น เชื้อ Esherichia coli และ Samonella typhi และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ เช่น เชื้อ Staphylococcus aureus และมีสรรพคุณในการแก้ไข้ แก้หวัด แก้โรคบิด โรคท้องร่วง และแก้แผลบวมอักเสบด้วย ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวเหล่านี้น่าจะมีผลในการช่วยป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับไก่บางโรคได้ เช่น โรคอุจจาระขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Salmonella pullorum เป็นต้น
จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคไก่โดยคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าการผสมฟ้าทะลายโจรในอาหารไก่ซึ่งมีฟ้าทะลายโจรเข้มข้น 4 ระดับ คือ 0, 0.5, 1.0 และ 1.5 เปอร์เซ็นต์ แล้วให้ไก่กินอาหาร 4 กรรมวิธีนั้น จากนั้นสุ่มให้ไก่ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum โดยฉีดเชื้อเข้าปากสู่ทางเดินหายใจโดยตรง จากนั้นสังเกตอาการของไก่ พบว่าหลังจากการเลี้ยงอาหารและฉีดเชื้อได้ 14 สัปดาห์และในขณะนั้นไก่มีอายุ 16 สัปดาห์ ฟ้าทะลายโจรในระดับ 1.0 เปอร์เซ็นต์ในอาหารไก่เหมาะสมที่สุด ทำให้ไก่โตเร็วและป้องกันโรคอาการของโรคได้ จึงสรุปได้ว่าความเข้มข้นของฟ้าทะลายโจรในอาหารไก่ที่ควรใช้คือ 1.0 เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่าในระยะที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรงถ้าให้ไก่กินอาหารผสมฟ้าทะลายโจรอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการให้สมุนไพรชนิดนี้เพิ่มด้วยการนำฟ้าทะลายโจรที่มีน้ำหนักแห้ง 10 กรัมผสมในน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินสม่ำเสมอจะช่วยลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ได้ โดยมีอัตราการตายของไก่ลดลงและเหลือเพียง 7 เปอร์เซ็นต์
วัตถุประสงค์ของโครงการ
-
วิธีดำเนินการ
ศึกษาผลของสมุนไพรชนิดฟ้าทะลายโจรกับไก่ที่เป็นโรคหวัดหน้าบวมเปรียบเทียบกับการไม่บำบัดด้วยสมุนไพรซึ่งเป็นกรรมวิธีควบคุม วิธีการคือ คัดไก่ที่ติดเชื้อหวัดหน้าบวมมาทดสอบประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจร โดยการแบ่งไก่เหล่านั้นออกเป็นกลุ่ม แล้วให้ไก่ทดลองได้รับกรรมวิธีการทดสอบ อันเป็นการให้ไก่กินอาหารที่มีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรผสมอยู่ การใส่ฟ้าทะลายโจรผสมลงไปในอาหารนั้นใช้อัตรา 0.25-0.5 กรัมต่อตัวต่อวัน จากนั้นสังเกตและบันทึกอาการของไก่ในแต่ละกรรมวิธีรวมทั้งบันทึกอัตราการตายของไก่ร่วมไปด้วย
ผลการศึกษาทดลองวิจัย
การศึกษาทดลองครั้งนี้ได้ผลขั้นต้นเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเห็นถึงคุณสมบัติของการเป็นยารักษาโรคของฟ้าทะลายโจรได้ค่อนข้างชัดเจน และมีแนวโน้มว่าเมื่อมีการศึกษาต่อไปให้ละเอียดและเป็นขั้นตอนน่าจะเห็นศักยภาพของสมุนไพรชนิดนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนอกเหนือจากการเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคหวัดได้ผลแล้วก็น่าจะป้องกันโรคอื่น ๆ ได้ด้วย โดยการศึกษาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่มีการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ด้วยการเริ่มต้นจากตำรับแผนโบราณที่รักษาโรคของคน แล้วดัดแปลงเพื่อใช้กับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีกเนื่องจากเป็นสัตว์เล็กซึ่งสังเกตอาการของโรคได้ง่ายทำให้สรุปผลได้รวดเร็วกว่าเมื่อศึกษากับสัตว์ใหญ่
สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบสังเกต เป็นการคัดไก่ที่ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วมารักษาโดยมีกรรมวิธีควบคุมซึ่งเป็นไก่ติดเชื้อแล้วแต่ไม่ได้รับการบำบัดมาเปรียบเทียบ อัตราของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรซึ่งบดแล้วผสมลงไปในอาหารให้ไก่ทดลองกินนั้นใช้อัตรา 0.25-0.50 กรัมต่อตัวต่อวัน
ผลการศึกษาพบว่าไก่ที่แสดงอาการของการเป็นโรคหวัดหน้าบวมที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยฟ้าทะลายโจรมีอัตราการตายซึ่งบันทึกในสัปดาห์ที่ 2 ของการทดลอง เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ส่วนไก่ที่ได้รับอาหารฟ้าทะลายโจร 0.25 กรัมต่อตัวต่อวันนั้นมีอัตราการตาย 10 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์ที่ 1 ของการทดลอง ในขณะที่ไก่ที่ได้รับอาหาร 0.50 กรัมต่อตัวต่อวันไม่มีการตายเลย ดังนั้นผลที่ได้ในครั้งนี้แสดงถึงความเป็นไปได้ในการใช้ฟ้าทะลายโจรมารักษาโรคหวัดหน้าบวมในไก่ และเมื่อมีการปรับปรุงวิธีการก็น่าจะได้ผลมากขึ้น อนึ่งการให้ฟ้าทะลายโจรกับไก่ในครั้งนี้เป็นการให้แบบบำบัดรักษาเนื่องจากไก่เป็นโรคนี้ไปแล้วจึงให้ได้รับสาร ดังนั้นถ้าหากเริ่มให้ตั้งแต่ระยะที่ไก่ยังไม่ได้แสดงอาการ คือ ให้ในลักษณะของการป้องกันหรือเสริมความต้านทานต่อโรคก็น่าจะเห็นผลที่น่าพอใจได้
ในเมื่อการทดลองครั้งนี้ได้ผลที่น่าพอใจก็ควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติมให้ละเอียดแล้วเสนอเป็นวิธีการที่สามารถจะนำไปปฏิบัติได้เพื่อการเผยแพร่ต่อไป ควบคู่ไปกับการศึกษาทดลองกับสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรต่อไป
สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
การศึกษาการใช้สมุนไพรชนิดฟ้าทะลายโจรในการรักษาบำบัดโรคหวัดหน้าบวมให้กับไก่ที่แสดงอาการติดเชื้อแล้ว โดยใช้สมุนไพรชนิดนี้บดแล้วผสมลงไปในอาหารให้ไก่กินในอัตรา 0.25-0.50 กรัมต่อตัวต่อวัน พบว่าสมุนไพรชนิดนี้สามารถใช้บำบัดรักษาไก่ที่เป็นโรคหวัดหน้าบวมได้ผลระดับหนึ่งและเป็นที่น่าพอใจ สำหรับอัตราที่ได้ผลค่อนข้างดีในการให้ไก่ได้รับสมุนไพรคือระดับ 0.50 กรัมต่อตัวต่อวัน