ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี


พระราชดำริ

แต่เดิมสภาพภูมิประเทศในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ภายหลังได้มีราษฎรเข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่า ทำลายป่า ทำการเกษตรอย่างผิดวิธี และใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียต่อดินและน้ำ ขาดการบำรุงรักษาคุณภาพดิน ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปรสภาพไปอย่างรวดเร็ว หน้าดินถูกชะล้างความอุดมสมบูรณ์ไปหมดสิ้น ดินกลายเป็นดินทรายและดินดานที่ไม่มีแร่ธาตุ ความสมดุลทางธรรมชาติถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงความแห้งแล้งของพื้นที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ความตอนหนึ่งว่า

“...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี: เดิมเป็น ป่าโปร่ง คนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและสำหรับเผาถ่าน ต่อจากนั้น มีการปลูกพืชไร่และสับปะรดจนดินจืดกลายเป็นทราย ถูกลมและน้ำชะล้างไปหมด จนเหลือแต่ดินดาน ซึ่งเป็นดินที่แข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ดินนี้ก็ไม่มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์...”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วยการปลูกป่า และจัดหาแหล่งน้ำโดยจัดให้ราษฎรที่ทำกินเดิมได้มีส่วนร่วมในการรักษาป่าไม้และ ได้ประโยชน์จากป่าไม้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาอาชีพ


หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมา โดยมีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหน่วยงานหลักประสานการดำเนินงานในพื้นที่


วัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ
๑. เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟู ปรับปรุง และรักษาป่าไม้และสภาพแวดล้อมให้เกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียงให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
๒. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทาง ตลอดจนวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
๓. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรในบริเวณศูนย์ฯ และใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
๔. เพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นสถานที่ให้ความรู้และศึกษาดูงานแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ตลอดจนสามารถปรึกษาขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ได้
๕. เพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นสถานที่สำหรับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ และอื่นๆ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดและประสานงานกัน อันจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานร่วมกัน


พื้นที่ดำเนินการ
๑. พื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตามประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๗ จำนวน ๒๒,๖๐๐ ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้รับมอบสิทธิครอบครองและทำประโยชน์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามแนวพระราชดำริ เพื่อใช้เป็นพื้นที่หลักในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และทำการศึกษาทดลองตามแนวพระราชดำริ มีบริเวณตั้งแต่แนวเขตด้านทิศตะวันตกจนถึงแนวสายไฟฟ้าแรงสูง จำนวน ๘,๗๐๐ ไร่
๒. พื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพื้นที่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้รับมอบอำนาจให้ดูแลและใช้ประโยชน์ตามพระราชประสงค์ จำนวน ๓๔๐ ไร่
๓. หมู่บ้านเป้าหมายในการขยายผล และถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวน ๔ ตำบล ๑๘ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลสามพระยา ตำบลห้วยทรายเหนือ ตำบลชะอำ และตำบลไร่ใหม่พัฒนา


การดำเนินการภายในศูนย์
เพื่อให้การดำเนินงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ บรรลุผลเป็นรูปธรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จึงได้พิจารณากำหนดงานเป็น ๕ แผนงานดังนี้

แผนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ

งานอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์
๑. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
๒. โครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้อนุรักษ์และป่าไม้เศรษฐกิจ
๓. โครงการปรับเปลี่ยนพันธุ์ไม้ในแปลงป่าปลูกเดิม
๔. โครงการเพาะกล้าไม้
๕. โครงการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า
๖. โครงการจัดการควบคุมไฟป่า
๗. โครงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๘. โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน
๙. โครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศน์


งานอนุรักษ์ดินและน้ำ
๑. โครงการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ

แผนงานศึกษาและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ
งานศึกษาและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
๑. โครงการศึกษาการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์เพื่อการอนุรักษ์
๒. โครงการศึกษาทดลองการใช้พลังงานธรรมชาติ
๓. โครงการศึกษาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
๔. โครงการศึกษาและสำรวจทรัพยากรป่าไม้

งานศึกษาและพัฒนาด้านความเป็นอยู่พื้นฐานและการประกอบอาชีพ
๑. โครงการศึกษาทดลองการใช้ประโยชน์จากต้นมะม่วงหิมพานต์
๒. โครงการศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมอาชีพ
๓. โครงการศึกษาทดลองรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืน
๔. โครงการศึกษาทดลองด้านพืชเพื่อส่งเสริมอาชีพ

แผนงานขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีตามแนวพระราชดำริ

งานขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสภาพแวดล้อม
๑. โครงการขยายผลการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก
๒. โครงการถ่ายทอดข้อมูลดินและการใช้ที่ดิน

งานขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านความเป็นอยู่พื้นฐาน และการประกอบอาชีพ
๑. โครงการถ่ายทอดและขยายผลเทคโนโลยีการเกษตร

แผนงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
ด้านเศรษฐกิจ
๑. โครงการส่งเสริมเกษตรกรเพาะชำกล้าไม้หายาก
๒. โครงการพัฒนาส่งเสริมการเลี้ยงโคนม
๓. โครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ
๔. โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน
๕. โครงการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร
๖. โครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ

ด้านสังคม
๑. โครงการพัฒนาเยาวชนและสตรี
๒. โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน
๓. โครงการสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
๔. โครงการพัฒนาสุขภาพอนามัย
๕. โครงการด้านการศึกษา

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
๑. โครงการจัดหาน้ำและบริการจัดการน้ำ
๒. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

แผนงานบริหารโครงการ

งานอำนวยการ
๑. โครงการบริหารจัดการ
๒. โครงการจัดการและจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน
๓. โครงการสำรวจข้อมูลดินและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
๔. โครงการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินและรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน
๕. โครงการรักษาความปลอดภัย

งานประชาสัมพันธ์
๑. โครงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
๒. โครงการพัฒนาและจัดการแหล่งท่องเที่ยว


ประโยชน์ที่ได้รับ

ผลของการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ นับเป็นรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสื่อมโทรมที่ประสบผลสำเร็จ อันเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกัน จากสภาพความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ดิน น้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกทำลายเปลี่ยนแปลงกลายเป็นไร่สับปะรด พื้นดินเสียหายเสื่อมโทรม ไม่สามารถเพาะปลูกพืชใด ๆ ได้ ณ บัดนี้ ผืนดินที่เคยแห้งแล้งดังกล่าว ได้พลิกฟื้นกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เช่นเดิมอีกครั้ง ทั้งป่าเขาต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า โดยเฉพาะเนื้อทราย แม้แต่ราษฎรที่ได้อาศัยอยู่ใน ผืนแผ่นดินนี้ ก็ได้รับการพัฒนาจนสามารถพึ่งตนเองได้ และมีความอยู่ดีมีสุขในวิถีชีวิตตามอัตภาพของตนเอง


แผนที่การเดินทาง

ตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ด้านตะวันตกของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯตามเส้นทางถนนสายเพชรเกษม ประมาณ 220 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 6,356.92 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,973,075 ไร่


แผนที่ศึกษาดูงาน


ติดต่อสอบถาม
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์ 0-3259-3252-3 โทรสาร 0-3259-3252   เว็บไซต์   https://huaysaicenter.org/

 Facebook :https://www.facebook.com/studycenterhuaysai