พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแก่ปวงราษฎรไทยทั้งหลาย ในระยะต้นแห่งการ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัตินั้น เป็นพระราชดำริด้านการแพทย์และงานสังคมสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในระยะต้น รัชกาลนั้นกิจการด้านการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร และการบริการสาธารณสุขในชนบทยังมิได้แพร่หลาย เฉกเช่นปัจจุบัน
พระราชกรณียกิจช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓- ๒๕๐๕ จะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีลักษณะเป็นโครงการเต็มรูปแบบอย่างปัจจุบัน เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ วัณโรค มีอุบัติการณ์สูงและยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ปีหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นจำนวนไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยมีพระราชปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ความว่า
คุณหลวง วัณโรค สมัยนี้มียารักษากันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการฉันจะหาให้อีก ฉันอยากเห็นกิจการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ
จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้สร้างอาคาร “มหิดลวงศานุสรณ์” ในบริเวณสถานเสาวภา สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์และ ผลิตวัคซีน บี ซี จี ซึ่งผู้คนยุคนั้นกำลังประสบปัญหาจากวัณโรคอย่างร้ายแรงทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ขึ้น ที่รู้จักกันในนามว่า “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” จัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้บริจาค โดยเสด็จพระราชกุศลนำมาช่วยเหลือพสกนิกรด้านต่าง ๆเช่น
๑.สร้างตึกวชิราลงกรณ์สภากาชาดไทย
๒.อาคารทางการแพทย์โรงพยาบาลภูมิพล
เมื่อคราวที่โรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรงในเมืองไทย ซึ่งโรคนี้ต้องใช้ “น้ำเกลือ” เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะนั้นการให้ น้ำเกลือแก่ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องสั่งจากต่างประเทศ และน้ำเกลือที่ผลิตได้ในประเทศไทยตอนนั้นยังขาดคุณภาพ จนกล่าวกันว่า “ใส่ใครไปก็ช็อค” จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยและสนับสนุนในการค้นหาวิธีสร้างเครื่อง กลั่นน้ำเกลือใช้เอง จนมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบันนี้
โครงการแพทย์หลวงพระราชทาน “เรือเวชพาหน์” เพื่อใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำน้ำ โดยพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการมาจนทุกวันนี้
พระราชจริยวัตรเช่นนี้ได้กลายเป็นการขยายวงกว้าง ของปรัชญาการสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทย โดยฝังลึกจิตใจคนไทยลงไปถึงระดับล่างทุดพื้นที่ในเรื่องของการช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน จะเห็นได้ขากยามที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น คนไทยทั้งหลายจะช่วยเหลือกันบริจาคโดยมิต้องร้องขอแต่อย่างใด
ด้วยความห่วงใยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเป็นต้นมา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน อยู่ในภูมิภาคต่างๆ มากกว่าประทับอยู่ในพระราชวังที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อทรงค้นหาข้อมูลที่แท้จริงจากประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำพื้นที่ และทรงสังเกตการณ์ สำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ไปพร้อมๆกันด้วย ทั้งนี้เพื่อทรงรวบรวมข้อมูลไว้เป็นแนวทางที่จะพระราชทานพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อไป
พระราชดำริเริ่มแรกอันเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจากปีนัง ซึ่งได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้าไปเลี้ยงในสระน้ำพระที่นั่งอัมพรสถาน และเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศ นี้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธุ์แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตน เพื่อจักได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น
โครงการพระราชดำริที่นับว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรถบลูโดเซอร์ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ (ปัจจุบันคือ ตำบลทับใต้) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น
จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง เดือดร้อนของราษฎรและสร้างเสร็จใช้ประโยชน์ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นับเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านชลประทานแห่งแรกของพระองค์