ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องเดิม
      พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ ความโดยสรุปว่า “... ให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน การปลูกป่าและการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบให้ราษฎรในพื้นที่โครงการให้เข้าอยู่อาศัย และทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจน  ได้อาศัยผลผลิตจากป่าและเพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป

ผลการดำเนินงาน
     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการ
สนองพระราชดำริโดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้น

การจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรดินและป่าไม้ การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการนำผลสำเร็จจากแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปเผยแพร่ขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น เกษตรกร เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้ และมีความสุขอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปผลการดำเนินงานดังนี้

๑. ด้านการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา
     ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย ตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ รวมถึงแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน ๘๓ เรื่อง ซึ่งได้จัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน ๘ หลักสูตร จัดทำเป็นเอกสารประกอบการฝึกอบรม จำนวน ๑๑ เรื่อง และจัดทำเป็นเอกสารองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ จำนวน ๔๘ เรื่อง ซึ่งผลงานล่าสุด ได้แก่ เกษตรทันสมัย นวัตกรรมง่าย ๆ ทำเองได้ไม่ยาก การผลิตน้ำส้มควันไม้ การผลิตน้ำหมักชีวภาพ เทคนิควิธีการปลูกหญ้าแฝก ในการปรับปรุงและพัฒนาดินที่แข็งเป็นดานเพื่อการปลูกพืชและถ่านชีวภาพ
     
ปัจจุบันกำลังดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน ๑ โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัยการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และการพัฒนาการป่าไม้บนพื้นฐานทรัพยากรชีวภาพบนพื้นที่เสื่อมโทรมตามแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ๗ โครงการย่อย ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๔ โครงการ ได้แก่ ความหลากหลายและการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลวัตของป่าในแปลงตัวชี้วัดด้านการพัฒนาป่าไม้บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภูมิอากาศใกล้ผิวดินและสมดุลน้ำ บริเวณพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการตอบสนองทางสรีรวิทยาของกล้าไม้ป่าภายใต้สภาพแห้งแล้ง

๒. ด้านการขยายผลการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้

๒.๑ การฝึกอบรม
    ดำเนินการถอดบทเรียนองค์ความรู้จากการดำเนินงานสนองพระราชดำริที่ได้ศึกษา ทดลอง และพัฒนาจนประสบผลสำเร็จ รวมถึงผลของโครงการศึกษาวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้ว มาขยายผลสู่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจโดยการจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรม โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ มีผู้ได้รับการขยายผลด้วยวิธีการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น ๘๐๑ คน หลักสูตรการอบรม ได้แก่ หลักสูตรการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ระบบการให้น้ำพืชอย่างถูกต้อง หลักสูตรการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรเบื้องต้น หลักสูตรการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร  หลักสูตร      การเลี้ยงสัตว์ปีก และหลักสูตรเกษตรผสมผสานและการแปรรูปผลผลิต
๒.๒ การจัดชุดเจ้าหน้าที่ขยายผลประจำตำบล
     ดำเนินการสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามที่ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อครั้งเสด็จ ฯ     ไปติดตามผลการดำเนินงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ ด้วยการจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยโสกและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ต่อมา ได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. และศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทานด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้การเลี้ยงไก่และสูตรอาหารไก่ไข่ให้แก่ครู นักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยโสกและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึกเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และเจ้าหน้าที่ของโครงการศึกษาและฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มจังหวัดราชบุรี ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ โดยเป็นการอบรมในลักษณะการให้ความรู้ทางวิชาการ พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติผสมอาหารไก่ไข่ และให้การสนับสนุนยานพาหนะในการขนส่งพันธุ์ไก่ไข่ไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั้งสองโรงเรียนดำเนินการจัดชุดเจ้าหน้าที่ขยายผล จำนวน ๔ ชุด ๆ ละ ๕ คน ลงพื้นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ขยายผลหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จำนวน ๔ ตำบล ๒๙ หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ และแนะนำสนับสนุนเกษตรกร ส่งเสริมเกษตรกรให้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ การทำวนเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกผักหมุนเวียน การเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงโคเนื้อ - โคนม การเลี้ยงไก่ไข่ การทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย จำนวน ๑๑๔ ครั้ง ๑๗๒ คน

๓. ด้านการบริหารจัดการองค์กร

     ดำเนินการพัฒนาองค์กรเพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริและศูนย์กลางการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ โดยการจัดฝึกอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมในการถ่ายทอดขยายผลความรู้และเทคโนโลยี และปรับปรุงเอกสารองค์ความรู้เพื่อแจกจ่าย รวมถึงปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ผ่านทาง Social Network ได้แก่ เว็บไซต์ www.huaysaicenter.org  มีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์จำนวนรวมทั้งสิ้น ๔๓๑,๙๒๖ คน

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้รับประโยชน์โดยตรงจำนวน ๒๙ หมู่บ้าน ๔,๗๑๙ ครัวเรือน โดยการดำเนินงานจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและขยายผลองค์ความรู้รวมถึงเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ รวมถึงเป็นศูนย์กลาง การจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯเพื่อเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่งจะเห็นได้จากจำนวนผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมศูนย์ฯ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ มีจำนวนถึง ๖๑,๓๗๘ คน และมีความหลากหลายทั้งเกษตรกร เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และชาวต่างประเทศ มีพื้นที่ป่าเต็งรังเพิ่มขึ้น ๔,๐๑๘ ไร่ และพื้นที่ป่าเบญจพรรณเพิ่มขึ้น ๕,๑๖๘ ไร่

 

สามารถดาวโหลดไฟล์ PDF ได้ที่นี่