ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

เรื่องเดิม
     พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ ความโดยสรุปว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจังหวัดจันทบุรี”

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาจากยอดเขาสู่ท้องทะเลนอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ ความโดยสรุปว่า “ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล” และวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑ ความโดยสรุปว่า “คุ้งกระเบนเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชายทะเล ต้นไม้ต่าง ๆ ชายทะเลและปลา การประมง”

ผลการดำเนินงาน
     ๑. งานศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา ดำเนินการศึกษาทดลองวิจัย
ด้านการพัฒนา การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การพัฒนาการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการศึกษา ทดลอง วิจัย ในลักษณะเป็นการพัฒนาที่มุ่งแก้ไข ความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่ราษฎรในพื้นที่ โดยพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง คือ จากยอดเขา
สู่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการศึกษาวิจัยที่คำนึงถึงพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทรงงาน
ภูมิสังคม ทั้งนี้ งานศึกษาวิจัย ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ได้แก่ การศึกษาความหลากหลายของแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติในบริเวณพื้นที่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น จากนั้นจะมีการ
นำผลการศึกษาวิจัย ไปขยายผลสู่เกษตรกรและผู้สนใจและยังมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการรวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไป

๒. งานขยายผล โดยนำองค์ความรู้ที่มีความสอดคล้องกับภูมิสังคม นำมาขยายผลให้กับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพและการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนให้สามารถนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติภายในครัวเรือน สร้างเป็นอาชีพได้ในอนาคต จำนวน ๓๓ ครัวเรือน โดยได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

    ๒.๑ โครงการผลิตจุลินทรีย์ ปม. ๑ ชนิดน้ำ จำนวน ๗,๕๗๕ ขวด และโปรไบโอติก จำนวน ๒๒๑ ขวด แจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานน้ำเค็ม ระหว่างการเลี้ยงเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อวิบริโอ และแบคทีเรียต่างๆ รวมทั้งนำโปรไบโอติคผสมในอาหารให้สัตว์น้ำกินเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์น้ำ

    ๒.๒ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาสแก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านน้ำแดง ซึ่งเมื่อเลี้ยงได้ระยะเวลา ๒ เดือน นักเรียนนำสาหร่ายขึ้นมาล้างทำความสะอาดและนำไปเป็นอาหารกลางวัน อีกส่วนหนึ่งนำไปจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง

    ๒.๓ โครงการช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ใกล้เคียง
ให้สามารถมีวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ถูกต้องและสร้างรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพในปัจจุบันดำเนินการผลิตและสนับสนุนพันธุ์กุ้งกุลาดำแก่เกษตรกรในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี
จำนวน ๓๐ คน

    ๒.๔ โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนโรงเรียนในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ได้แก่
ก้อนเห็ด เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว ไก่ไข่และเป็ด พันธุ์กบ และพันธุ์ปลาดุก แก่โรงเรียนในพื้นที่ดำเนินการของศูนย์ฯ จำนวน ๑๗ โรง

    ๒.๕ โครงการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการหมักต้นกล้วยเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกวาง จำนวน ๕ คน พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ใช้สำหรับผลิตอาหารต้นทุนต่ำ เช่น ถังพลาสติก และน้ำตาลทรายแดง

    ๒.๖ โครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรจำนวน ๓๐ คน พร้อมทั้งสนับสนุนไก่ไข่จำนวน ๑๐ ตัว รวมถึงอาหารสำเร็จรูป ๑๐ กิโลกรัม แก่เกษตรกร

 

     

 

ประโยชน์ที่ได้รับ
     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้สนองพระราชดำริ ในการเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี ๒๕๒๕ โดยทำการศึกษา วิจัยหารูปแบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ในพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพที่อุดมสมบูรณ์มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปอีกทั้งปัจจุบันยังมีบทบาทเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ให้ความรู้ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งแก่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมสามารถสรุปได้ ดังนี้

      ๑. การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า บริเวณแนวเขาครอบคลุมพื้นที่ป่าบก ๑๑,๓๗๐ ไร่ และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน รวม ๑,๓๐๐ ไร่ พบว่าปัจจุบันป่าชายเลนบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรีและเป็นคลังทรัพยากรที่สำคัญของท้องถิ่น

      ๒. การส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม
ซึ่งเป็นระบบที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่รวมประมาณ ๑
,๐๙๙ ไร่ ผลผลิตกุ้งที่ได้
มีมูลค่าสูงราวปีละ ๒๐๐ ล้านบาท และ
ผลิตจุลินทรีย์ ปม.๑ ชนิดน้ำ และโปรไบโอติก แจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานน้ำเค็ม และพื้นที่รอบศูนย์ฯ คุ้งกระเบน จำนวน ๗,๗๙๖ ขวด

       ๓. การฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านโดยจัดทำ ธนาคารปูไข่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำการประมงปูม้าได้ผลผลิตเฉลี่ยวันละ ๑๒ - ๑๔ กิโลกรัม ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ ๑,๘๐๐ - ,๑๐๐ บาทต่อวัน และยังสามารถทำการประมงปูม้านอกอ่าวคุ้งกระเบนได้เพิ่มขึ้นด้วย

       ๔. การพัฒนาการเกษตร ได้มีการเตรียมการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ในเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ เพื่อให้เป็นแนวทางที่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการคำนึงถึงต้นทุนและผลกำไรนอกจากนี้ได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดต้นทุนช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ จำนวน ๑๒ ศูนย์ อาทิ ศูนย์เรียนรู้การผลิตเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร ศูนย์เรียนรู้การผลิตผักและผลไม้ปลอดภัยสารพิษ และศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงผึ้งชันโรง เป็นต้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มเกษตรกร
มีหลายชนิด อาทิ กะปิคุณภาพดี ข้าวเกรียบหอยนางรม น้ำผึ้งชันโรง น้ำมังคุด ระกำผง เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ จึงสามารถนำไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและอื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย

      ๕. การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ COVID – ๑๙ ที่เกิดขึ้น ในปี ๒๕๖๓ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนจากการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นการสนับสนุนชุดปลูกผักสวนครัว และปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID - ๑๙ จำนวน ๗๙๖ คน

       ๖. การเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีต่อประชาชน แก่ผู้มาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตแห่งนี้ ในปี ๒๕๖๓ รวม ๔๖๔,๐๓๕ คน

 

 

สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่นี่