ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ

สำหรับการส่งเสริมอาชีพนั้น หากเป็นโดยทางอ้อมแล้วโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ เมื่อได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วจะทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้งหลายนั้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะให้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง

   

ส่วนโครงการประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรงนั้นมีจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ดังเช่น โครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โครงการศิลปาชีพพิเศษทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการอื่นๆ อีกมาก ซึ่งโครงการเหล่านี้ผลสุดท้ายของโครงการคือประชาชนที่อยู่ในเป้าหมายโครงการสามารถที่จะนำความรู้ไปประกอบอาชีพจนทำให้เกิดรายได้กับครอบครัว อาทิ

ศิลปาชีพพิเศษ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะประจำชาติยิ่งนัก จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปะให้คงอยู่ โดยทรงให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ที่มีรายได้น้อยเพราะต้องเผชิญอุปสรรคในการเพาะปลูกอันเนื่องมาจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่แปรปรวนอยู่เสมอทำให้รายได้จากผลผลิตมีไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว

ในขณะเดียวกัน ศิลปะหัตถกรรมของไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาลกำลังเสื่อมสูญไปเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน

    โครงการศิลปาชีพได้จัดตั้งขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีมากกว่า ๑๕๐ แห่ง เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ดังเมื่อครั้งอดีต พระองค์ทรงเน้นการนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ทางหัตถกรรมเป็นหลัก และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ ทรงคัดเลือกสมาชิกศิลปาชีพจากครอบครัวราษฎรที่ยากจน ไร้ที่ทำกินและมีบุตรมากจากทั่วทุกภาคของไทยเข้ามารับการฝึกศิลปหัตถกรรมในศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ เช่น ที่โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา อันเป็นโรงฝึกศิลปาชีพที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการสอนงานด้านศิลปะในแขนงต่างๆ เช่น เครื่องถม เครื่องเงิน แผนกทอผ้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำในการใช้ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผ้าไหม เครื่องจักรสาน ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากชุดฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่ในโอกาสต่างๆ อีกด้วย


โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี

   โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่โครงการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยให้ราษฎรได้อยู่อาศัย และทำกินร่วมกันตามหลักการฟื้นฟูและสร้างสมดุลในระบบนิเวศน์ ด้วยการปลูกพืชผสมผสานและปลูกผักกางมุ้ง ลดการใช้สารเคมี การเลี้ยงไก่ และการประกอบอาชีพหัตถกรรมเพื่อให้ราษฎรดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน