ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

          การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการ อีกทั้งความผันแปรเนื่องจากฝนตกไม่พอเหมาะกับความต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า

...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...


การพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักและวิธีการสำคัญๆ คือ
๑. การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใดต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศเสมอ

๒. การพัฒนาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ต้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีแต่ละท้องถิ่นเสมอ

๓. พิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กัลป์คนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้น จะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตามด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่ง จึงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่าราษฎรในหมู่บ้านซึ่งได้รับประโยชน์จะดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่มุ่งหวังให้ราษฎรสังคมของตนเอง และมีความหวงแหนที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย

 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาจแบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภทดังต่อไปนี้
๑. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภคได้แก่ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ

๒. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร

๓. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

๔. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม

๕. โครงการบรรเทาอุทกภัย

 

         

อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่มีการพัฒนาแหล่งน้ำหลายๆ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่างพร้อมกันไป อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแก้มลิง เป็นต้น

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พอสรุปได้ดังนี้
๑. ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยให้ได้ผลิตผลมากขึ้นและสามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ เป็นการช่วยให้ราษฎรมีรายได้มากขึ้น

๒. ในบางท้องที่เคยมีน้ำท่วมขัง จนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรโครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นที่แห้งจนสามารถจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าทำกินได้ ช่วยให้ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าหาที่ทำกินแห่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของธรรมชาติไว้ได้

๓. เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้ และมีการปล่อยพันธุ์ปลา ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงสามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัว หรือมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น

๔. ช่วยให้ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่างพอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย

๕. บางโครงการจะเป็นประเภทเพื่อเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชุมพร ซึ่งช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคเอชนและภาครัฐบาลเป็นอันมาก

๖. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จะช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดารได้มีไฟฟ้าให้สำหรับแสงสว่างในครัวเรือนได้

๗. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักบริเวณน้ำลำธารเป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธารทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธารเขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียกสำหรับป้องกันไฟป่าเป็นแนวกระจายไปทุ่งบริเวณต้นน้ำลำธาร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

กล่าวได้ว่างานพัฒนาแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำทุกอย่าง ทุกขั้นตอนดังที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด เล่าให้ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๕-๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๘ ดังนี้

...งานของพระองค์ท่านมีตั้งแต่ ถ้าน้ำขาดแคลนก็จัดหาน้ำ และเมื่อน้ำท่วม น้ำมากก็จัดการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อมีน้ำเน่าเสียก็จ้องจัดการทำงานด้านน้ำทั้งหมด ท่านจะทราบปัญหาอย่างละเอียด…


ตัวอย่างโครงการประกอบด้วย

โครงการแก้มลิง

...เมื่ออายุ ๕ ขวบ มีลิงเอากล้วยไปให้มันเคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง “โครงการแก้มลิง” นี้มีที่เกิด เมื่อเราอายุ ๕ ขวบ ก็นี่เป็นเวลา ๖๓ ปี มาแล้ว ลิงสมัยโน้นลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว เขาเคี้ยว แล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ “โครงการแก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้...

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘

 

         

โครงการแก้มลิงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยการขุดลอกคลองชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นคลองพักน้ำขนาดใหญ่หรือ “แก้มลิง” แล้วระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก หรือน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันโครงการแก้มลิงยังได้ขยายการดำเนินงานไปที่โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ (แก้มลิงหนองใหญ่) จังหวัดชุมพร และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย


เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

 ...เขื่อนป่าสัก ที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ ๑,๓๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ ๗๕๐ ล้านกว่าๆ ตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้ แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียว ก็พอ พอสำหรับการบริโภคแน่นอนไม่แห้ง...

         
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สร้างขึ้นเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในฤดูแล้ง และเป็นการป้องกันบรรเทาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูน้ำหลากและบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ในภาคกลาง อีกทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย


โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก

โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งคือที่แม่น้ำป่าสัก อีกแห่งหนึ่งที่แม่น้ำนครนายก       สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำเหมาะสมพอเพียง สำหรับการบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้...

โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย  แต่ถ้าดำเนินการไปเดี๋ยวนี้อีก ๕-๖ ข้างหน้า เราสบายและถ้าไม่ทำอีก ๕-๖ ปีข้างหน้า ราคาค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินการก็จะสูงขึ้น ๒ เท่า ๓ เท่า ลงท้ายก็จะประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไป ก็จะไม่ได้ทำ เราก็จะต้องอดน้ำแน่จะกลายเป็นทะเลทรายแล้วก็จะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้...

          โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภคโดยไม่ขาดแคลน ที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเพาะปลูกอีกด้วย